posttoday

วิถีคนเมือง ชีวิตป่วน สังคมป่วย

19 กันยายน 2558

วิถีของการเป็นสังคมเมืองกำลังแผ่ขยายไปทั่วประเทศไทย วันนี้ใน กทม.มีอะไร หัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัดก็มีไม่แพ้กัน

โดย...วราพงษ์ ป่านแก้ว

วิถีของการเป็นสังคมเมืองกำลังแผ่ขยายไปทั่วประเทศไทย วันนี้ใน กทม.มีอะไร หัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัดก็มีไม่แพ้กัน หรือคน กทม.จะมีไลฟ์สไตล์เช่นไร คนเมืองในต่างจังหวัดก็มีไลฟ์สไตล์ในแบบเดียวกัน เป็นเพราะประสิทธิภาพของการสื่อสารผ่านระบบออนไลน์ที่รวดเร็วทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล และในไม่ช้าสังคมต่างๆ จะถูกหลอมรวมกลายเป็นเนื้อเดียวกัน

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น สังคมของเมืองใหญ่กลับเสื่อมโทรมลง ผู้คนในเมืองเสมือนคนแปลกหน้าที่อยู่รอบตัว เพราะต่างดิ้นรนขวนขวาย เพื่อความอยู่รอดของตัวเองในวิถีของสังคมเมือง  จนกระทบมาถึงสังคมในครอบครัวที่เกิดปัญหาขึ้นมากมาย   

ในวงสัมมนา “ชุมชนน่าอยู่ สำหรับคนทุกวัย” จัดโดย บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเม้นท์  ร่วมกับ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) ได้หยิบยกปัญหาที่เกิดขึ้นในครอบครัวของสังคมเมือง ผ่านการวิจัยในหัวข้อสถานการณ์ครอบครัวไทยในเขตเมืองที่สถาบัน RLG ร่วมกับ สสส. และสมาคมครอบครัวศึกษา ทำขึ้นจาก 2,040 ครอบครัว ทั่วประเทศที่อยู่ในเมือง มาเป็นกรณีศึกษาถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอย่างน่าสนใจ

วิถีคนเมือง ชีวิตป่วน สังคมป่วย สัมพันธภาพของครอบครัวในเมืองน่าห่วง

 

สุภาภรณ์  ก่อวาณิชกุล ผู้จัดการอาวุโส ศูนย์วิจัย สถาบัน RLG กล่าวเริ่มต้นที่เรื่องของสถานภาพของครอบครัว พบว่า 1 ใน 3 มีสถานภาพของครอบครัวที่น่าเป็นห่วง โดยประมาณ 40% ไม่ค่อยได้เล่าอะไรให้ครอบครัวฟัง โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นอยู่กับคนในบ้านไม่รู้จะคุยกับใคร 33% ของครอบครัวมีการด่าทอ ทำร้ายร่างกาย ทำร้ายจิตใจกัน และ 10% ทำร้ายร่างกายถือว่าน่าเป็นห่วงมาก

ข้อเสนอแนะในเรื่องของสถานภาพครอบครัว จะต้องมีการศึกษาในเรื่องของครอบครัวศึกษาอย่างแท้จริงในทุกที่ ทุกโอกาส และทุกช่วงวัย และเรื่องที่น่าสนใจคือ วันนี้ครอบครัวต้องการพื้นที่ในการพูดคุยกัน เพราะ 1 ใน 3 ไม่มีการพูดคุยกันในครอบครัว เราจะทำอย่างไรเพื่อสร้างชุมชนใหม่เพื่อสร้างพื้นที่ครอบครัวบ้าง คุยกับเพื่อนบ้างเป็นการระบายความเครียดของครอบครัวได้

คราวนี้มาดูกันในเรื่องของการบริหารจัดการการเงินในครอบครัวจะพบว่า ครอบครัวในเมืองถึง 2 ใน 3 รู้เรื่องการจัดการทางการเงินปานกลางถึงน้อยมาก 65% มีหนี้สิน อีก 50% มีรายรับน้อยกว่าหรือเท่ากับรายจ่าย ที่น่าตกใจคือ 20% ไม่รู้ว่าจะใช้หนี้ได้หมดหรือเปล่า เรากำลังพูดถึงครอบครัวคนในเมืองที่มีการศึกษาค่อนข้างสูง แต่ทำไมยังมีการจัดการเรื่องการเงินไม่ดีเท่าไร

วิถีคนเมือง ชีวิตป่วน สังคมป่วย ครอบครัวในเมืองผูกติดกับการเคลื่อนตัวทางการเงินที่รวดเร็ว

 

ในส่วนของหนี้สินที่เกิดขึ้นและอาจจะใช้ไม่หมดนั้นส่วนใหญ่เป็นหนี้จากบัตรเครดิต บัตรเงินสด ซึ่งการสำรวจพบว่า คนที่เป็นหนี้ตั้งใจจะเก็บเงินจ่ายหนี้เต็มจำนวน แต่สุดท้ายก็เอาไปใช้จ่ายอย่างอื่น จนต้องจ่ายแค่ขั้นต่ำดอกเบี้ย 28% ทุกที เป็นวงจรแบบนี้ในทุกๆ เดือน ของครอบครัวคนเมือง จึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องของการจัดการการเงิน การเริ่มทำบัญชีรายรับรายจ่ายในครอบครัว แต่ส่วนใหญ่พบว่า ไม่ค่อยอยากจะทำ เพราะเห็นเป็นเรื่องยุ่งยาก

มาถึงเรื่องสุขภาวะของครอบครัวในเมือง ซึ่งจริงๆ แล้วครอบครัวมีความใส่ใจเรื่องยาเสพติดอยู่มาก ประมาณ 80% แต่ว่าในทางปฏิบัติ ครอบครัวในเมืองประมาณ 70% ยังพบว่า สูบบุหรี่ ดื่มเหล้าอยู่ และ 80% เล่นการพนัน เล่นหวย และการพนันในแบบอื่นๆ ทำให้ในชุมชนมียาเสพติดระบาด มีแหล่งอบายมุข และอาชญากร และ 30% ยอมรับว่า ในชุมชนของตัวเองมีคนป่วยทางสุขภาพจิตอยู่ด้วย นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ในสังคมเมือง

มาถึงปัญหาที่เจอกันบ่อยๆ สำหรับคนเมืองคือ ไม่มีเวลา ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบหลายอย่าง เช่น เมื่อไม่มีเวลาก็จะไม่มีการวางเป้าหมายครอบครัวร่วมกัน ครอบครัวไม่ทำกิจกรรมร่วมกัน ปัญหาสำคัญที่ทำให้คนเมืองไม่มีเวลา คือเรื่องของการเดินทาง คนในเมืองเดินทางประมาณ 2-3 ชั่วโมง ถ้าวันไหนฝนตกก็จะใช้เวลาเดินทาง 4-5 ชั่วโมง ก็เคยเจอมาแล้ว  ที่หนักหนาก็คือ ค่าใช้จ่ายในแต่ละวันมี 18% เป็นค่าเดินทางแต่ละวัน ดังนั้นระบบขนส่งมวลชน เช่น รถไฟฟ้า จึงเป็นเรื่องที่จะต้องเร่งปรับปรุงให้ทั่วถึง เพียงพอ และที่สำคัญราคาต้องไม่แพงด้วย

วิถีคนเมือง ชีวิตป่วน สังคมป่วย สุขภาวะของครอบครัวในเมือง

 

จากผลการวิจัย มีข้อเสนอแนะในเรื่องของระบบการขนส่งสาธารณะว่าทำอย่างไรให้มันเพียงพอทั่วถึง เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้คนเมืองมีเวลามากขึ้นที่จะทำอะไรร่วมกัน  และต้องมีพื้นที่ที่สามารถคุยกันได้ อีกด้านที่สำคัญคือเรื่องการเรียนรู้ เรื่องครอบครัวศึกษา การพูดคุยกัน และการจัดการด้านการเงิน หากสามารถปรับปรุงแก้ไขได้ก็จะทำให้คุณภาพชีวิตของครอบครัวคนเมืองดีขึ้น

สุภาวดี  หาญเมธี  ประธานกรรมการบริหาร สถาบัน RLG กล่าวเสริมว่า จากการที่สถาบัน RLG ทำงานที่เกี่ยวกับการค้นคว้างานวิจัย ได้พบข้อมูลว่า ผลที่เกิดขึ้นจากการอยู่ตึกสูงซึ่งเป็นงานวิจัยของแคนาดา บอกว่าคนแก่ที่ชอบเข้าสังคม หรือปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นจะมาอยู่ในตึกสูงมากขึ้น ซึ่งเป็นแนวโน้มในต่างประเทศ ส่วนภาวการณ์ของการอยู่อาศัยบนอาคารสูง ได้มีการทำวิจัยพบว่า ถ้าอยู่อาศัยบนคอนโดมิเนียมสูง มีความหนาแน่นมาก คนจะเครียดมากกว่า ที่สำคัญยังพบว่า เด็กที่อยู่คอนโดมิเนียมจะมีปัญหาพฤติกรรมมากกว่า งานวิจัยของญี่ปุ่นบอกว่าเด็กบนตึกสูงจะมีการพัฒนาทักษะในการทำงาน การทำกิจกรรมต่างๆ ช้ากว่าคนที่อยู่ข้างล่าง

ครอบครัวสำคัญที่สุด สุขภาวะที่ดีต้องเริ่มต้นที่ครอบครัว เด็กจะมีสุขภาพดีหรือไม่ดี เริ่มที่พ่อแม่ ขณะที่พ่อแม่หลายคนจะโยนไปเป็นความรับผิดชอบของโรงเรียน แต่บอกเลยว่าไม่จริง เพราะพ่อแม่มีหน้าที่โดยตรงที่ทำให้เด็กมีสุขภาพดี โรงเรียนเป็นแค่ส่วนประกอบ แน่นอนเด็กถูกบังคับให้อยู่โรงเรียนตั้งแต่ 10 กว่าขวบ อะไรไม่ดีในโรงเรียนเกิดผลกระทบกับเขาแน่นอน แต่ว่าพ่อแม่อยู่กับลูกทุกวัน จึงไม่สามารถโยนภาระไปได้

วิถีคนเมือง ชีวิตป่วน สังคมป่วย ครอบครัวในเมืองไม่มีเวลา

 

โครงสร้างครอบครัวที่เปลี่ยนไปไม่ได้กระทบเฉพาะเด็ก เด็กที่ต้องไปอยู่กับย่า ยาย เราเรียกว่าครอบครัวแบ่งกลาง ครอบครัวพ่อแม่ลูกที่สมบูรณ์มีน้อยมาก คนโสดถือว่ามีครอบครัวเหมือนกัน  เพราะคำว่าครอบครัวไม่ใช่ว่าจะมีแต่ครอบครัวที่เป็นคู่แบบสามีภรรยาที่มีลูก แต่ครอบครัวมีทั้งที่เป็นพ่อแม่ มีพี่น้อง ขณะนี้ก็มีปัญหาของคนแก่ก็คืออยู่กัน 2 คนตายาย ลูกอยู่ไหนก็ไม่รู้ ก็เป็นปัญหาอีกแบบหนึ่งของครอบครัว

ถึงแม้โครงสร้างอาจจะเปลี่ยนไปแต่ความเป็นครอบครัวยังอยู่ เพราะเมื่อไรก็ตามที่เรารู้สึกทุกข์ใจ เราก็จะกลับไปหาพ่อแม่ หรืออย่างน้อยเงินทองขาด มีปัญหา เราก็จะไปหาพี่น้อง ต่อให้อยู่ไกลแค่ไหนเขาก็คือพ่อแม่เรา เป็นพี่น้องเรา บางทีเราต้องไปรับพลังชีวิตกับเขา หลายคนกลับบ้าน หยุดหลายๆ วันอยากกลับบ้าน กลับไปบ้านนอนหนุนตักแม่ ไปกินข้าวแกงแม่ ไปเดินสวนกับพ่อ เพราะฉะนั้นความเป็นครอบครัวมันกำลังถูกทำให้หายไปในชีวิตเมือง แต่ถ้าเราตระหนักเราคิดถึงมันเราสามารถรักษาเอาไว้ได้

นพ.ยงยุทธ  วงศ์ภิรมย์ศานติ์  ประธานบริหารแผนคณะ 4 สสส. หัวหน้าทีมโฆษกกรมสุขภาพจิต และที่ปรึกษา สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า วิถีชีวิตของคนในเมืองลำบาก ทุกข์ยาก พอสมควร ถึงแม้จะมีรายได้มากกว่าคนชนบท แต่ก็มีรายจ่ายมาก วิถีชีวิตหมดไปกับเวลาส่วนใหญ่ คือเวลาทำงาน และเวลาในการเดินทาง และมีความเครียดสูง  สิ่งที่พอจะจรรโลงใจคนเมืองคือเอนเตอร์เทนผ่านสื่อต่างๆ ทั้งสื่อเก่า และสื่อใหม่ ซึ่งแน่นอนเหมือนจะช่วยลดความเครียด แต่จริงๆ แล้ว ยิ่งสร้างปัญหามากไปอีก

วิถีคนเมือง ชีวิตป่วน สังคมป่วย

 

เช่นเมื่อให้ลูกเล่นเกมนานๆ จะได้รับผลกระทบสูง และยิ่งเด็กเล็กเล่นเกมมาก คุณภาพชีวิตก็จะทำให้ตกต่ำอย่างรวดเร็ว พัฒนาการด้านสังคมเสีย พัฒนาการเรียนรู้เสีย สมาธิสั้น ทำให้ธรรมชาติของวัย ประถมวัยในเรื่องการพัฒนาก็สูญเสียไป ผลกระทบกับครอบครัวพ่อแม่เองในเรื่องของความสัมพันธ์ก็น้อยลง ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก ความสัมพันธ์ระหว่างคู่ก็น้อยลง นี่จึงเป็นปัญหาที่เป็นวิกฤต

ดังนั้น การมีสุขภาพกายและจิตที่ดีเริ่มต้นจากพ่อแม่ลูกใกล้ชิดกัน แต่ที่เป็นปัญหามากคือ พ่อแม่ไม่มีเวลา มีพื้นที่น้อย และก็กลัวว่าลูกตัวเองจะประสบปัญหาเรื่องความปลอดภัย ก็ทำให้ในที่สุดที่เข้ามาแทนที่ก็คือเกม ไม่ว่าเป็นเกมออนไลน์  ออฟไลน์  ครอบครัวต้องเรียนรู้โดยเรามีหลักที่ทำอยู่ เช่น พ่อแม่ต้องเรียนกติกาการใช้สื่อกับลูกในวัยอนุบาลหรือในวัยเรียน เช่น ต้องกำหนดเวลา ต้องกำหนดโปรแกรม และเล่นกับลูกในพวกของกิจกรรมเกม ไม่เป็นตัวอย่างในทางที่ผิด สุดท้ายไม่ใช้สื่อเวลาครอบครัว เช่น เวลากินข้าว ถ้าพ่อแม่เขารู้วิธีการเหล่านี้ก็สามารถจัดการบริหารครอบครัวได้ดี

แต่อย่างไรก็ตาม บางทีเรารู้ว่าเราควรจะเล่นกับลูกอย่างไร เราควรจะพูดคุยกับลูกอย่างไร แต่ถึงเวลานั้นก็ทำให้คนเราไม่ทำในสิ่งที่คนเราควรจะทำคือมันมาจากสภาวะภายใน ความเครียด จริงๆ แล้วถ้าได้มีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาภายในของตัวเองจะเป็นรากฐานของความสุขที่ยั่งยืน โดยการฝึกง่ายๆ ให้เราสงบลง ฝึกสติง่ายๆ ที่ทำให้เราทำกิจกรรมอย่างมีสติ เมื่อเรามีสติ ก็จะช่วยให้วิถีชีวิตของเรามีความสุขมากขึ้น

วิถีคนเมือง ชีวิตป่วน สังคมป่วย