posttoday

บำบัดจิต ด้วยศิลปะการเคลื่อนไหว

03 มีนาคม 2559

เรามักได้ยินหลายคนพูดว่า โลกทุกวันนี้อยู่ยากขึ้นทุกวัน ด้วยสังคมที่แข่งขัน รีบเร่ง แย่งชิง ทำให้ผู้คนจิตใจแห้งแล้ง เห็นแก่ตัว คนจึงรู้สึกโดดเดี่ยวได้ง่าย

โดย...อณุสรา-ภาดนุ ภาพ... โรงพยาบาลมนารมย์/วิศิษฐ์ แถมเงิน/วีรวงศ์ วงศ์ปรีดี

เรามักได้ยินหลายคนพูดว่า โลกทุกวันนี้อยู่ยากขึ้นทุกวัน ด้วยสังคมที่แข่งขัน รีบเร่ง แย่งชิง ทำให้ผู้คนจิตใจแห้งแล้ง เห็นแก่ตัว คนจึงรู้สึกโดดเดี่ยวได้ง่าย ทำให้เกิดความเครียดและป่วยทางใจกันมากขึ้น ยิ่งเทคโนโลยีทันสมัยมากเพียงใด ก็ยิ่งส่งให้คนรู้สึกอ้างว้างโดดเดี่ยวมากขึ้น จนเกิดโรคทางใจที่เทคโนโลยีก็ไม่อาจจะช่วยได้ จึงมีการคาดการณ์ในวงการแพทย์ว่า ในอนาคตโรคทางใจอย่าง โรคเครียด โรคซึมเศร้า และปัญหาทางจิตใจของผู้คนในสังคมจะมีสูงขึ้น

เป็นธรรมดาเมื่อเกิดความเครียดหรือป่วยทางใจ เรามักจะนึกถึงแต่จิตแพทย์เพื่อการพูดคุยบำบัดรักษา แล้วถ้าคนเหล่านี้ไม่อยากพูดคุยและไม่อยากจะไปหาจิตแพทย์ล่ะ ยังมีวิธีการอื่นใดในการเยียวยาจิตใจอีกหรือไม่? ขอบอกให้ดีใจว่า “มีสิ” เพราะที่ต่างประเทศตอนนี้มีศาสตร์แห่งการมูฟเมนต์ร่างกาย ทั้งการเต้น การเคลื่อนไหว และการใช้ละคร มาเป็นตัวช่วยในการอ่านภาษากายเพื่อใช้ในการบำบัดจิตใจกันแล้ว เพราะเมื่อใดที่คนเราได้เรียนรู้พลังแห่งการเยียวยาตัวเอง เมื่อนั้นสังคมก็อาจจะได้รับการเยียวยาด้วยอีกต่อหนึ่ง

เรื่องนี้ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักจิตบำบัดด้วยการเคลื่อนไหว (Dance Movement Psychotherapist) ให้ความเห็นว่า การเต้นและการเคลื่อนไหวร่างกายนั้น สามารถนำไปใช้ในการบำบัดจิตใจคนเราได้ เพราะถือเป็นสาขาหนึ่งของศิลปะบำบัดที่แตกต่างจากจิตบำบัดทั่วไป ที่มักจะใช้วิธีการนั่งพูดคุยกัน หรือใช้ภาษาพูดเป็นสื่อกลางในการสื่อสารและช่วยแก้ปัญหาทั้งหมด

แต่การใช้ศิลปะนั้นสามารถเข้าไปมีส่วนช่วยเยียวยาจิตใจในกรณีที่คนไข้ไม่อยากพูด ไม่อยากเล่า ตกอยู่ในอาการช็อก หรือเสียใจจนพูดไม่ออกได้ ในทำนองเดียวกันศิลปะการเคลื่อนไหวร่างกายก็สามารถเป็นสื่อกลางช่วยในการสื่อสารบำบัด หรือใช้ในการพัฒนาศักยภาพของคนไข้ด้วย เพราะการบำบัดไม่ใช่ว่าเมื่อพบหน้ากันแล้วจะสามารถบำบัดได้เลย แต่จำเป็นต้องมีกระบวนการทำความรู้จักกันก่อน

บำบัดจิต ด้วยศิลปะการเคลื่อนไหว

 

“ในต่างประเทศเป็นที่รู้กันว่า มีศิลปะบำบัดที่นำเอาศิลปะต่างๆ เช่น การวาดรูป เล่นดนตรี เล่นละคร การเต้น และเคลื่อนไหวร่างกายมาช่วยบำบัดเยียวยาจิตใจกันแล้ว แต่ในบ้านเราเรื่องพวกนี้ยังถือว่าใหม่มาก การจะอธิบายว่าใช้และช่วยได้อย่างไรบ้างเป็นเรื่องยาก เพราะมันละเอียดอ่อน ต้องมีการให้ความเคารพซึ่งกันและกัน การไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน เพราะคนไข้แบกอะไรมามากมายหลายปี จิตใจเขาก็เปราะบางอยู่แล้ว การทำอะไรไม่ตรงจุดอาจจะยิ่งเป็นการไปสะกิดแผลของเขาได้ เราจึงต้องสร้างบรรยากาศที่ไว้เนื้อเชื่อใจกันได้ บางทีต้องนั่งรอเป็นวันๆ เพื่อให้เขายอมรับที่จะสื่อสารกับเราด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง”

ดุจดาว บอกว่า เนื่องจากภาษากายสื่อสารได้ดีกว่าการพูด ในกระบวนการสื่อสารนั้นภาษาพูดทำงานเพียงแค่ 7% เท่านั้น แต่เป็น 7% ที่สำคัญมาก เพราะเป็นการให้ข้อมูลล้วนๆ แต่นอกจากนั้นยังมีอันเดอร์ไลน์ที่เป็นน้ำเสียง โทนเสียงอีก 38% และอีก 55% ซึ่งเป็นภาษากายนั้นเป็นเรื่องสำคัญและเสแสร้งได้ยากกว่าการพูด และการไม่อยากพูดไม่ได้แปลว่าเขาไม่ได้สื่อสาร คนที่แบกความรู้สึกบางอย่างมา แล้วต้องมาเล่าให้คนที่เพิ่งมาเจอกันฟัง เราต้องทำให้เขาไว้วางใจก่อน ต้องสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันก่อน

“หากเกิดสภาวะทางอารมณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ หรือเกิดความเครียด แต่ไม่สามารถที่จะเข้าพบนักวิชาชีพโดยตรง ก็ขอแนะนำวิธีง่ายๆ ที่สามารถทำได้ที่บ้านให้ได้ฝึกปฏิบัติกัน โดยนำหลักการที่มีในห้องจิตบำบัดมาใช้กับตัวเองก่อน เช่น ไม่ตัดสินกับตัวเองว่าอะไรถูกอะไรผิด เวลาที่ทำอะไรลงไป แล้วรู้ว่ามันเป็นมารยาททางสังคมที่ไม่ดี แต่อะไรที่ขับเคลื่อนตัวเองให้ทำอย่างนั้น ก็ต้องมานั่งทบทวนตัวเอง การป่วยเครียดทางจิตใจและการที่เราอนุญาตให้ตัวเองรู้สึกและเผชิญหน้ากับความรู้สึกนั้นตรงๆ โดยที่ไม่วิ่งหนีหรือหลบเลี่ยง ก็ถือว่าเป็นกระบวนการหนึ่งของการเยียวยา แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ยาก แต่ก็ไม่มีหนทางอื่นหากเราต้องการจะผ่านมันไปให้ได้”

บำบัดจิต ด้วยศิลปะการเคลื่อนไหว

ดุจดาว เสริมว่า เราสามารถเป็นผู้ฟังที่ดีให้กับคนรอบข้างได้ ไม่ต้องตัดสินเขา แค่รับฟังเขาจากใจจริง ห้ามนำเรื่องของคนหนึ่งไปเล่าให้อีกคนหนึ่งฟัง เพราะการที่เขาเล่าให้คุณฟังเพราะเขาไว้ใจคุณ แต่ถ้าคุณนำเรื่องไปเล่าต่อ นั่นคือการทำร้ายเขาซ้ำ เรารับฟังโดยที่เรื่องของเขายังเป็นเรื่องของเขา อย่าตัดสินให้เขาทำอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะเมื่อเรียนรู้พลังในการเยียวยาตัวเองได้ เมื่อนั้นสังคมก็จะได้รับการเยียวยาไปด้วยเช่นกัน

ด้าน ชนาภัณฑ์ ธรรมรัฐ นักจิตบำบัดด้วยละคร ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ใหม่มากในเมืองไทย กล่าวว่า ละครเป็นศาสตร์หนึ่งที่ทำให้จิตใจเรารู้สึกเชื่อมโยงกับร่างกาย ทำให้เข้าใจความคิดและความเป็นไป การที่เราจะทำความเข้าใจในความเป็นคนด้วยศาสตร์การละครได้นั้น ขอยกตัวอย่างเคสคนแก่คนหนึ่งในบ้านพักคนชราที่มีความกังวลมากๆ ว่าวันนี้เป็นวันครบรอบที่จะต้องไปจ่ายค่าไฟ ซึ่งความเป็นจริงเขาไม่ต้องไปจ่ายค่าไฟแล้ว แต่ด้วยอาการของโรค ทำให้เขาไม่อยู่กับปัจจุบัน แต่เขาจะอยู่ในช่วงเวลาที่ต่างกับเราซึ่งเป็นภาพในอดีต เขาจึงพยายามที่จะบอกทุกคนว่า วันนี้จะต้องไปจ่ายค่าไฟ แล้วเขาจะเริ่มมีพฤติกรรมก้าวร้าวเมื่อทุกคนห้ามไม่ให้เขาไป

“สิ่งที่ละครบำบัดทำงานก็คือ เราจะสร้างซีนของการจ่ายค่าไฟเพื่อให้เขาปลดล็อกความกังวลนั้น ต้องบอกว่ามันมีกระบวนการที่ซับซ้อน สมมติเราสร้างซีนการจ่ายค่าไฟเสร็จ ก็จะค่อยๆ ดึงเขาให้มาอยู่กับเวลาปัจจุบัน บอกเขาว่า ตอนนี้เขาอยู่ที่ไหน คือมันไม่มีความจำเป็นที่จะจ่ายค่าไฟแล้ว เราต้องเข้าไปอยู่ในช่วงเวลาที่เขาอยู่ เราจะต้องจำลองสถานการณ์หรือสร้างเป็นซีนสั้นๆ โดยให้สมาชิกคนอื่นที่มีบทบาทอยู่ในนั้น ทำให้เขาเล่าถึงความกังวล แล้วเราก็ดึงเขามาอยู่กับปัจจุบัน บอกเขาว่า ไม่ต้องไปจ่ายค่าไฟแล้วนะ เพราะค่าไฟถูกจ่ายโดยครอบครัวของเขาทุกเดือนอยู่แล้ว

บำบัดจิต ด้วยศิลปะการเคลื่อนไหว

 

เหมือนเวลาเราทำงาน เราต้องเจอคนไข้ของเราในจุดที่เขาอยู่ เพราะถ้าเราไม่ได้มองเห็นเขาในจุดที่เขาอยู่จริงๆ สิ่งที่เขาจะแสดงออกมาคือ ความก้าวร้าว โวยวาย ความเครียด ความกังวล แต่ด้วยการละคร มันมีศักยภาพของการจำลองสถานการณ์ มันมีการเปิดพื้นที่จินตนาการ เราสามารถสร้างซีนสร้างความเป็นไปได้ แล้วค่อยๆ ดำเนินเรื่องมากับเขา การเยียวยาบำบัดด้วยละครคือการที่ย้อนกลับไปในเวลาตรงนั้น แล้วทำให้สิ่งที่มันคั่งค้างในใจเขาให้มันจบลง ในละครบำบัดเราย้อนกลับไปในอดีตได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ไม่สามารถแก้ไขอดีตได้นะ เราสามารถที่จะสร้างกระบวนการทำความเข้าใจกับมันขึ้นมาแทน”

ชนาภัณฑ์ ทิ้งท้ายว่า สิ่งที่ต้องทำคือ สร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อที่เขาจะได้ใช้ชีวิตในปัจจุบันได้อย่างมีความสุขมากขึ้น...“บางอย่างเราจบไม่ได้หรอก อย่างเช่น อาจจะมีการสูญเสียบางอย่าง ละครบำบัดก็จะทำงานร่วมกับสภาวะความรุนแรง ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่อารมณ์ความรู้สึก เราอาจจะเปิดพื้นที่ส่วนที่สามารถเศร้ากับมันได้ ร้องไห้กับมันได้ ผิดหวังหรือคร่ำครวญกับมันได้ จนกระทั่งเขาอยู่ในภาวะพร้อมที่จะยอมรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วนำไปสู่การปรับตัวและใช้ชีวิตในปัจจุบัน ละครบำบัดทำงานอ้างอิงกับจิตวิทยามาก เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความสมดุลให้กับตัวเอง ละครบำบัดมีกระบวนการที่เน้นหนักก็คือที่ตัวเขา ซึ่งจะต้องทำให้เกิดความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตเขา แล้วเขาจะต้องหาทางเลือกให้กับตัวเองยังไง

สำหรับ พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ จากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ให้ความเห็นว่า ในเบื้องต้นต้องแยกก่อนว่าผู้ที่มีปัญหาทางใจเหล่านี้ป่วยเป็นโรคหรือไม่ป่วยเป็นโรค เพราะหากป่วยเป็นโรค เช่น โรคสมาธิสั้น โรคซึมเศร้า มีปัญหาการเรียน พฤติกรรม หรือพัฒนาการ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเด็ก หรือโรคจิตเภท โรคอารมณ์แปรปรวน (ไบโพลาร์) โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคย้ำคิดย้ำทำ ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นกับผู้ใหญ่ เหล่านี้ก็ควรต้องได้รับการรักษาหลักโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นสำคัญ

บำบัดจิต ด้วยศิลปะการเคลื่อนไหว

 

“คนเหล่านี้ถ้าได้รับการวินิจฉัยตามเกณฑ์ของโรคจากแพทย์แล้วพบว่าเข้าเกณฑ์การเป็นโรคดังที่กล่าวมา ก็จะต้องมีการไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา ต้องมีการทำจิตบำบัด รวมทั้งกินยาตามแพทย์สั่งควบคู่ไปด้วย ซึ่งถือเป็นการรักษาหลัก โดยผู้ป่วยอาจทำกิจกรรมบำบัดโดยใช้ศิลปะ ดนตรี การแสดงละคร และการเต้นรำ ควบคู่ไปกับการรักษาหลักด้วยก็ได้

สำหรับคนที่มีปัญหาทางใจ แต่ยังไม่ถึงขั้นป่วยเป็นโรคดังที่กล่าวมา พวกเขาอาจจะแค่มีปัญหาในเรื่องการปรับตัว การเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง หรือกำลังเครียดกับบางเรื่องในชีวิต จนทำให้รู้สึกวุ่นวายใจ ไม่สบายใจ เหล่านี้ถือว่ายังไม่ได้ป่วยเป็นโรค ฉะนั้นการใช้ศิลปะการเคลื่อนไหวต่างๆ จึงสามารถช่วยให้พวกเขาปลดปล่อยความเครียดได้ เพราะหลักสำคัญของกิจกรรมเหล่านี้ก็คือ ช่วยให้ผ่อนคลาย ทำให้ใจสงบขึ้น จิตนิ่งขึ้น ได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น แทนที่จะเอาสมองไปคิดวนเวียนอยู่กับปัญหาหรือเรื่องเครียด ก็เอาสมองมาโฟกัสอยู่กับสิ่งที่กำลังทำอยู่แทน

วิธีการเหล่านี้มีทฤษฎีหรือขั้นตอนสอดแทรกอยู่ในกิจกรรมด้วย เช่น ปลดปล่อยความรู้สึกผ่านการเปล่งเสียง ผ่านเส้นสายของการวาดรูป หรือผ่านการเคลื่อนไหวร่างกายด้วยการเต้นและการแสดงละคร ซึ่งก็มีทฤษฎีรองรับและพิสูจน์แล้วว่าสามารถช่วยได้จริง พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นการฝึกให้อยู่กับตัวเองมากขึ้น รู้สึกสนุกมากขึ้น หรือทำให้จิตใจสงบและมีสมาธิมากขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาหรือสิ่งที่ไม่สบายใจที่จะเข้ามาในชีวิตได้มากขึ้นนั่นเอง”