สิทธิเด็ก ในภาพถ่ายและเคลื่อนไหว
สิทธิเด็กเป็นเรื่องที่ถูกมองข้ามเสมอมา โดยเฉพาะเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เกี่ยวกับตัวเด็กอย่างรู้เท่าถึงการณ์บ้างหรือไม่รู้บ้าง
โดย...พริบพันดาว ภาพ : คลังภาพโพสต์ทูเดย์, อีพีเอ
สิทธิเด็กเป็นเรื่องที่ถูกมองข้ามเสมอมา โดยเฉพาะเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เกี่ยวกับตัวเด็กอย่างรู้เท่าถึงการณ์บ้างหรือไม่รู้บ้าง ด้วยเพียงการมองเพียงมิติเดียวว่า เด็กนั้นไร้เดียงสา จึงมองข้ามมิติและองค์ประกอบอื่นๆ ในฐานะของความเป็นมนุษย์คนหนึ่งไปอย่างน่าเสียดาย
เสวนา “คลิปเด็ก” ถ่าย โพสต์ แชร์...มองให้ลึกกว่าความน่ารัก? จัดโดยสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว และเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ มีประเด็นและแนวทางที่น่าสนใจในการมองปัญหา และมีแนวทางการแก้ไขเพื่อเป็นมาตรฐานต่อไปในสังคมที่มักจะอ้างความรู้เท่าไม่ถึงการณ์อยู่เสมอ
ดาบสองคมโซเชียลมีเดีย
ปัจจุบันมีการถ่ายภาพและคลิปของเด็กแล้วนำไปเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์เป็นจำนวนมาก หลายคนอาจโพสต์หรือแชร์คลิปเด็กเพราะความน่ารัก น่าเอ็นดู แต่การกระทำเหล่านี้กลับเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของเด็กและเป็นการกระทำที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย
อัญญาอร พานิชพึ่งรัถ ประธานเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ กล่าวว่า จากปรากฏการณ์ถ่ายคลิปเด็ก โพสต์และแชร์ในโลกออนไลน์ที่นิยมทำกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ตัว ผู้ปกครอง ญาติ เพื่อน แม้จะมองเป็นเรื่องขำขัน ตลก น่ารัก แต่ลืมไปหรือไม่ว่าจะกลายเป็นดาบสองคม ส่งผลร้ายแรงต่อเด็ก เพราะไม่ต่างอะไรกับการประจานเด็ก เช่น กรณีคลิปครูให้นักเรียนขอโทษเพื่อน คลิปครูให้เด็กสะกดคำว่าผีแต่ออกเสียงเพี้ยน คลิปแม่กราบลูก ผู้ปกครองโพสต์รูปเด็กไม่ใส่เสื้อผ้า และอีกหลายๆ คลิปที่เป็นการละเมิดสิทธิเด็กในโลกออนไลน์
“ขอเรียกร้องให้สังคมทบทวนการถ่ายคลิป โพสต์ แชร์ ที่ละเมิดสิทธิ ควรหยุดพฤติกรรมเหล่านี้ เพราะนอกจากให้คนไม่ประสงค์ดีได้รับรู้ข้อมูล ยังทำร้ายเด็กสร้างความอับอายในระยะยาว ยิ่งถ้าเด็กไม่เข้มแข็งพอจะนำมาสู่ความสูญเสียได้ เช่น ในต่างประเทศที่มีการถ่ายคลิปท้าทาย กดดันให้ฆ่าตัวตายจนนำมาสู่ความสูญเสียในที่สุด ดังนั้น ผู้ใหญ่ควรมองถึงอนาคตเด็ก เพราะเป็นทรัพยากรที่มีค่า ควรปกป้องรักษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ควรนำสถานการณ์เหล่านี้ออกเป็นมาตรการที่ชัดเจน”
สำหรับภาพถ่ายของเด็กที่ไม่ควรโพสต์ลงโซเชียลมีเดียให้ถูกแชร์ออกไปในเครือข่ายออนไลน์เหล่านี้ ก็มี “ภาพถ่ายร่วมกับเด็กคนอื่น” เพราะจะเป็นการล่วงละเมิดสิทธิเด็กคนอื่นที่อยู่ในภาพ “ภาพถ่ายโรงเรียนของเด็ก” เพราะอาจจะมีมิจฉาชีพหรือบุคคลไม่หวังดีกำลังแอบดูความคืบหน้าของเด็ก ที่สำคัญ อย่าแชร์โลเกชั่นเป็นอันขาด เพราะนั่นหมายถึงเด็กอาจกำลังตกอยู่ในอันตรายได้โดยที่ไม่รู้ตัว “ภาพถ่ายเด็กตอนอาบน้ำ” อาจจะเป็นภาพช่างดูน่ารักน่าชัง แต่อาจจะมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีหรือคนโรคจิตบางคนคิดไม่ดีกับเด็ก “ภาพถ่ายที่เด็กไม่อยากให้แชร์” เพราะละเมิดความเป็นส่วนตัวของเด็ก อาจทำให้รู้สึกอับอายและเสียใจได้ “ภาพถ่ายที่ดูแล้วทำให้รู้สึกว่าเด็กๆ ไม่ปลอดภัย” เช่น ภาพถ่ายที่ให้ลูกนั่งตักในขณะที่พ่อหรือแม่กำลังขับรถอยู่ สะท้อนว่าพ่อแม่กำลังประมาท และ “ภาพถ่ายเด็กที่ไม่ควรโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย” ซึ่งขึ้นอยู่กับจิตสำนึกและวิจารณญาณของพ่อแม่และผู้ปกครอง
จ่าพิชิต ขจัดพาลชน เจ้าของเพจดัง Drama-addict ระบุถึงปรากฏการณ์คลิปเด็กว่า ทุกวันนี้ทุกคนเป็นสื่อที่สามารถผลิตเนื้อหาของตัวเองได้ หรือผู้ปกครองที่เห็นว่าบุตรหลานของตัวเองน่ารักก็อยากจะเผยแพร่ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่ปัญหาคือบุคคลเหล่านี้ไม่รู้ถึงผลกระทบที่จะตามมา เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์มันไม่สามารถควบคุมได้ หรืออาจมีผู้ไม่หวังดีนำภาพหรือคลิปไปเผยแพร่ต่อในทางที่จะก่อให้เกิดความเสียหาย ซึ่งคลิปเด็กถือเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่ผู้ไม่หวังดีจะนำไปบิดเบือนข้อมูลในเพจของตัวเองเพื่อเรียกยอดวิวและเรียกคนเข้ามากดไลค์
“การโพสต์ภาพและคลิปของเด็กลงสื่อสังคมออนไลน์ เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เรียกให้อาชญากรเข้ามาหาตัวเด็กได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์เรื่องราวในชีวิตประจำวัน รวมถึงการ “เช็กอิน” ตามสถานที่ต่างๆ ขณะที่ปัจจุบันมีคลิปเด็กจำนวนมากที่ถูกเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งผู้เผยแพร่กลับเป็นคนที่ทำงานอยู่กับเด็กและเป็นผู้ใกล้ชิดเด็กโดยตรง อย่างกรณีที่ครูถ่ายคลิปเด็กชายร้องไห้ขอโทษเพื่อนที่ถูกตัวเองต่อยจนปากแตก ก็ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์และมีการแชร์คลิปกันเป็นจำนวนมาก จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกวดขันจริยธรรมวิชาชีพให้มากขึ้น”
แง่มุมทางกฎหมายเรื่องสิทธิเด็ก
พ่อแม่บางคนที่อยากผลักดันลูกให้เข้าวงการ จะมีการนำเสนอภาพ/คลิปของเด็กอยู่แทบจะตลอดเวลา ทุกอิริยาบถ และบอกว่าจะไปไหนทำอะไร หรืออยู่ที่ไหน ซึ่งเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของเด็ก และทำให้มิจฉาชีพเข้าถึงตัวเด็กได้ ก็เป็นภัยต่อเด็กอีก หากเด็กเป็นที่รู้จักก็จะเริ่มอึดอัดจากการที่มีคนมาขอถ่ายรูป ผู้ปกครองก็คาดหวังให้เด็กน่ารักเหมือนที่คนเห็นบนโลกโซเชียลมีเดีย ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว เด็กทุกคนมีมุมที่ไม่น่ารัก งอแง เอาแต่ใจ ซึ่งเป็นธรรมชาติของเด็กที่กำลังเรียนรู้และมีพัฒนาการตามวัย ความกดดันจากคนรอบข้างๆ สามารถทำให้เด็กกลายเป็นคนก้าวร้าวได้
ณัฐวุฒิ บัวประทุม หัวหน้างานกฎหมาย มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เน้นปกป้องคุ้มครองและเคารพสิทธิของเด็กอย่างรอบด้าน ทั้งดูแลให้เติบโตตามพัฒนาการ ปกป้องคุ้มครองเด็กจากภาวะต่างๆ ทั้งจากการถูกทำร้าย การละเมิดในทุกรูปแบบ อีกทั้งการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ต้องรับฟังเสียงของเด็ก โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ
“สำหรับประเทศไทย มีกฎหมายตาม พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับเด็กมากกว่า 200 ฉบับ แต่ที่สำคัญที่สุด คือ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ที่ใช้มามากกว่า 10 ปี และนำหลักตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กมาบัญญัติไว้ในกฎหมาย เช่น มาตรา 22 การคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก มาตรา 23 ที่บัญญัติถึงบทบาทของผู้ดูแลเด็กในการพัฒนาและการปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ มาตรา 26 ที่บัญญัติถึงการห้ามมิให้บุคคลต่างๆ กระทำต่อเด็ก ทั้งการทำร้ายร่างกาย การไม่ดูแลจนเด็กมีความประพฤติไม่เหมาะสม ฝ่าฝืนถือเป็นความผิดที่มีโทษ เช่นเดียวกับมาตรา 27 ที่มีโทษทางอาญา หากเปิดเผยหรือเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเด็กจนส่งผลกระทบต่อเด็ก นอกจากนี้ ยังเป็นความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์อีกด้วย ดังนั้น กฎหมายถือว่าบัญญัติไว้ครอบคลุม แต่ยังขาดการบังคับใช้ที่เป็นรูปธรรมหรือกระบวนการต่างๆ ยังมีความล่าช้า”
ณัฐวุฒิ ย้ำว่า สังคมไทยยังขาดความเข้าใจในหลักสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คุณค่าของความเป็นคน เช่น การเปิดเผยใบหน้า ชื่อผู้ปกครอง นำเสนอภาพบ้านและที่อยู่ ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิที่ร้ายแรง สามารถฟ้องร้องเอาผิดได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างสังคมที่ดีขอให้คิดว่าเด็กเสมือนผ้าขาว การแชร์ภาพต่างๆ ต้องระมัดระวัง ขอให้เห็นใจญาติผู้เสียหายหรือผู้ที่ถูกกระทำ เพราะนั่นเป็นการซ้ำเติม ผลักให้เขาไม่มีที่ยืนในสังคม ซึ่งในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เขาชัดเจนมากว่าห้ามละเมิดสิทธิ และดำเนินการเอาผิดอย่างเฉียบพลันทันที แม้บางอย่างเป็นการทำผิดในประเทศอื่น เช่น การละเมิดทางเพศต่อเด็ก นอกจากจะรับโทษในประเทศนั้นๆ แล้ว จะต้องถูกดำเนินคดีอาญาในประเทศเขาด้วย ดังนั้น ภาครัฐควรมีกระบวนการยกระดับจัดการปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน
หลักจิตวิทยาเด็กผู้ตกเป็นไวรัล
การโพสต์รูปภาพและคลิป ซึ่งมีลักษณะท่าทางต่างๆ เช่น การร้องไห้ การโดนทำโทษ โดนแกล้ง ความรู้สึกกลัว การแสดงความเห็นของเด็กที่มีมุมมองต่อเรื่องต่างๆ หรือแม้แต่การแกล้งและล้อเลียนเด็ก เช่น เด็กที่พูดไม่ชัด เด็กชาติพันธุ์ เป็นต้น ซึ่งคนในสังคมมักจะแค่มองว่าน่ารัก ขำๆ แต่จริงๆ แล้วมักจะมองข้ามกรณีของผลกระทบในด้านลบของเด็กที่ถูกกลั่นแกล้งออนไลน์ (Cyber Bullying) โดยปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น
พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ผู้ใหญ่ควรเข้าใจสิทธิเคารพในตัวตนของเด็ก ไม่ทำร้ายเด็ก อย่ามองว่าเด็กคือคนที่มีอำนาจต่ำกว่า เราจะทำอย่างไรก็ได้ เด็กทุกคนมีสิทธิ ไม่ใช่ตัวตลก หรือของสร้างความบันเทิงให้กับผู้ใหญ่ จนผู้ใหญ่กลายเป็นรังแกเด็กในโลกออนไลน์ ซึ่งการนำภาพหรือคลิปการกระทำในทางไม่ดีไปเปิดเผย
“จะส่งผลทำให้เกิดความเครียด อับอาย รู้สึกไม่ดีกับตัวเองความนับถือในตัวเองลดลง ส่งผลต่อสภาพจิตใจเกิดความรู้สึกแย่ ถูกล้อเลียนจากกลุ่มเพื่อน ถูกมองเป็นเรื่องตลกขำขัน ต้องกลายเป็นคนที่รู้จักของสังคม ไม่มีความเป็นส่วนตัว นอกจากนี้ คลิปที่โพสต์ประจานการกระทำของลูกหลานจะส่งผลลบต่อความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ซึ่งสถานการณ์ทุกกลุ่มอายุถือว่าน่าเป็นห่วง ดังนั้น ผู้ใหญ่ต้องมีความคิดที่รอบคอบ หากรักลูกก็อย่าละเมิดสิทธิ มองถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นให้มาก”
เบื้องต้น พญ.จิราภรณ์ บอกว่า การนำเข้าภาพ/คลิปถือว่าเป็นข้อมูลส่วนตัวของเด็กอยู่แล้ว ซึ่งจะผิดกฎหมายคุ้มครองเด็กที่ป้องกันไม่ให้มีการเผยแพร่ข้อมูลที่สามารถเข้าถึงตัวเด็กได้ และการนำภาพ/คลิปของเด็กไปลงโดยไม่ได้ขออนุญาตเด็กก็ถือว่าขัดต่อหลักสิทธิเด็ก ขณะเดียวกันแม้จะขออนุญาตเด็กแล้วก็ตาม แต่ในความเป็นจริง เด็กก็อาจจะยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอที่จะเข้าใจและรู้ทันถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
ผศ.มรรยาท อัครจันทโชติ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การโพสต์คลิปเด็ก ไม่รู้ว่าคนที่เข้ามาดูเป็นใครบ้าง? มีวัตถุประสงค์อะไร? และเมื่อเด็กโตขึ้นเขาจะรู้สึกแย่ รู้สึกว่า
ตัวเองกลายเป็นตัวตลก
“ยกตัวอย่างคลิปที่ประเทศแคนาดา เด็กถือไม้กอล์ฟเล่นเป็นยอดมนุษย์ถูกเพื่อนแอบนำมาโพสต์ และเกิดการแชร์กว่า 50 ล้านวิว จนเด็กเกิดความเครียด เพราะถูกเพื่อนล้อเลียน สุดท้ายกลายเป็นโรคซึมเศร้าและต้องออกจากโรงเรียน อย่างไรก็ตาม การโพสต์หรือแชร์ภาพเด็กต้องใช้วิจารณญาณ พึงระมัดระวัง รู้เท่าทันสื่อ อย่ามองเป็นเรื่องตลกขำขัน ที่สำคัญ อย่ามองว่าเด็กเป็นสมบัติของตัวเองจะทำอะไรก็ได้
“การที่ภาพ/คลิปของเด็กถูกนำไปตัดต่อ ดัดแปลง เป็นที่สนุกสนานบนอินเทอร์เน็ต บางครั้งถูกนำไปแชร์ต่อและปรับเปลี่ยนเจตนาที่ดีให้กลายเป็นเรื่องไม่ดีเพื่อเรียกยอดไลค์ของแฟนเพจ ซึ่งมีเด็กหลายกรณีที่เด็กกลายเป็นโรคซึมเศร้าจากการโดนล้อเลียนบนอินเทอร์เน็ต กลายเป็นแผลในใจที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน เช่น ต้องย้ายโรงเรียน เพราะโดนล้อ อึดอัดเพราะกลายเป็นคนดังและมีแต่คนมาพูดคุยหรือล้อเลียน หวาดระแวง เกิดภาวะความเครียด หรือแม้แต่คิดฆ่าตัวตายก็มี”
แนวทางในการแชร์ภาพลูกหลานหรือเด็กๆ ในโซเชียลมีเดีย
การดำเนินการในการปกป้องเด็กและโพสต์ภาพ/คลิปโดยไม่ให้กลายเป็นปัญหาการละเมิดสิทธิเด็ก ได้แก่
เพิ่มความเห็นอกเห็นใจ เอาใจใส่ เอาใจเขามาใส่ใจเราก่อนที่จะโพสต์ภาพ/คลิปเด็ก อย่าคิดว่าแค่ขำๆ เพราะเด็กอาจจะไม่ขำ ไม่ตลก หรืออาย ก็ไม่ควรนำไปเผยแพร่ ส่งต่อ หรือโพสต์ลงโซเชียล มีเดีย
อย่าโพสต์คลิปและภาพเด็กลงโซเชียลมีเดียอยู่ตลอดเวลา เพราะเด็กจะขาดความเป็นส่วนตัวและมิจฉาชีพสามารถเข้าถึงตัวได้
พ่อแม่ควรทำหน้าที่พ่อแม่ ไม่ใช่เป็นสื่อถ่ายคลิปเวลาที่เด็กร้องไห้และต้องการคนปลอบใจ
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลควรมีมาตรการในการดูแลที่จริงจัง เช่น กสทช. หน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลวิชาชีพอันเกี่ยวข้องกับสิทธิเด็ก เช่น ครู หรือเจ้าหน้าที่สถานสงเคราะห์
สื่อและประชาชนควรร่วมกันรณรงค์ ห้ามปราม และให้ความรู้ในเรื่องการเผยแพร่ภาพ/คลิปที่ไม่ละเมิดสิทธิเด็ก เพื่อเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรมของคนในสังคม ให้มีความยั้งคิดและชั่งใจถึงผลกระทบที่ตามมามากขึ้น โดยเฉพาะสื่อก็ไม่ควรเป็นตัวอย่างในการสร้างความคุ้นชินในการเผยแพร่ภาพ/คลิปเด็กในรูปแบบที่เป็นการละเมิดเด็กด้วยเช่นเดียวกัน
กฎหมายของประเทศไทยในเรื่องการปกป้องคุ้มครองเด็กนั้นมีความเข้มแข็งไม่แพ้ประเทศอื่นๆ แต่ขึ้นอยู่กับจะนำมาใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเด็กและสร้างแนวคิดที่ดีต่อสังคมต่อไป