ความรู้เรื่องโรคผมบาง จากพันธุกรรม (ศีรษะล้าน)
พญ.ชินมนัส ตั้งจาตุรนต์รัศมี หัวหน้ากลุ่มงานเส้นผมและเล็บ สถาบันโรคผิวหนัง และประชาสัมพันธ์สมาคมแพทย์ผิวหนัง
พญ.ชินมนัส ตั้งจาตุรนต์รัศมี หัวหน้ากลุ่มงานเส้นผมและเล็บ สถาบันโรคผิวหนัง และประชาสัมพันธ์สมาคมแพทย์ผิวหนัง เล่าให้ฟังเกี่ยวกับวิธีการดูแลหนังศีรษะ
คุณหมอชินมนัส บอกว่า อาการผมร่วงหรือผมบางมีหลายสาเหตุด้วยกันมีทั้งโรคผมบางจากพันธุกรรม หรือที่เราเรียกสั้นๆ ว่า โรคศีรษะล้านเป็นภาวะที่เกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรมร่วมกับภาวะฮอร์โมนเพศชาย(Androgen) ที่มากกว่าปกติ ซึ่งชัดเจนมากกว่าในผู้หญิง ส่วนในผู้หญิงนั้นสาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัดคาดว่าอาจจะมาจากหลายปัจจัยนอกเหนือจากพันธุกรรม ดังนั้นปัจจุบันนี้ในทางสากลจึงนิยมเรียกโรคผมบางจากพันธุกรรมในชื่อใหม่ว่า โรคผมบางที่มีรูปแบบเฉพาะ มากกว่าจะใช้ชื่อเดิมคือ โรคผมบางจากพันธุกรรม
โรคผมบางที่มีรูปแบบเฉพาะ เกิดในผู้ป่วยวัยกลางคน มักเริ่มมีอาการตั้งแต่หลังวัยรุ่น โดยเพศชายมีโอกาสเกิดภาวะนี้ในอายุน้อยมากกว่าเพศหญิงที่พบภาวะนี้ในคนสูงวัยกว่า และในชายผิวขาวพบว่าอัตราการเกิดผมบาง 50% อยู่ที่อายุ 50 ปี ส่วนในหญิงผิวขาวพบมีผมบาง 40% ที่อายุ 70 ปี โดยคนเอเชียจะพบน้อยกว่าในคนผิวขาวหรือคนผิวดำ ส่วนชายไทยที่มีการศึกษาพบอัตราการเกิดผมบางประมาณ 38.52%
สำหรับการรักษาในผู้ชาย สามารถใช้ยาทาและยารับประทาน ในคนที่เป็นยังไม่มากควรเริ่มรักษาด้วยยาทา คือ 2-5% Minoxidil Lotion เพียงอย่างเดียวก่อน ส่วนในคนที่เป็นมาก เช่น คนที่มีผมบางมากจนเห็นหนังศีรษะเป็นบริเวณกว้าง อาจให้การรักษาด้วยยาทา 2-5% Minoxidil Lotion ร่วมกับยารับประทาน Finasteride 1 มิลลิกรัม/วัน
ส่วนในผู้หญิงควรรักษาด้วยยาทา 2-5% Minoxidil Lotion เพียงอย่างเดียวโดยการรักษาด้วยยารับประทานสำหรับผู้หญิงนั้นยังไม่อยู่ในแนวทางการรักษาที่เป็นมาตรฐาน เนื่องจากยา Finasteride 1 mg/day พบว่าใช้ไม่ได้ผลในผู้หญิง ซึ่งจำเป็นจะต้องรอผลการศึกษาให้มากขึ้น นอกจากนี้ผู้ป่วยหญิงที่ต้องการรับประทานยาจำเป็นต้องป้องกันการตั้งครรภ์เนื่องจากยาก่อให้เกิดความผิดปกติกับทารกในครรภ์ได้ และควรอยู่ในความดูแลของแพทย์
ส่วนการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การรักษาทางศัลยกรรมด้วยการย้ายปลูกถ่ายรากผม เหมาะสมกับผู้ป่วยที่มีผมบางมากและอาจทำได้ในผู้ป่วยบางราย การใช้เลเซอร์หรือหมวกเลเซอร์เพื่อกระตุ้นให้มีผมมากขึ้นมีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าใช้ได้ผล เหมาะกับผู้ป่วยที่ผมบางไม่มาก ในกรณีที่ผู้ป่วยยังมีผมร่วงมาก ควรจะใช้เสริมกับการรักษาแบบอื่น
ในส่วนของผลข้างเคียงของยาทา Minoxidil และยารับประทานFinasteride ยาทา Minoxidil อาจทำให้มีอาการระคายเคืองหนังศีรษะ (7%) มีขนขึ้นที่ใบหน้า (5%) และปวดศีรษะ (3%) ยาสามารถก่ออันตรายให้กับทารกในครรภ์ได้ ส่วนยารับประทาน Finasteride ในเพศชาย อาจทำให้การแข็งตัวของอวัยวะเพศลดลง (1-2%) ส่วนในผู้หญิงนอกจากยาอาจใช้ไม่ได้ผลแล้ว ยานี้สามารถก่ออันตรายแก่ทารกในครรภ์ได้ และต้องระวังในการใช้ยากับผู้ป่วยโรคตับ