posttoday

จิตวิญญาณ ภูมิปัญญาผ้าทอพื้นเมือง ยกระดับสู่สากล

21 พฤศจิกายน 2559

การทอผ้าเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่สืบทอดกันมา นอกจากคุณค่าทางศิลปะแล้วยังเป็นการแสดงถึงแบบแผนความเป็นอยู่ในสังคม

โดย...พริบพันดาว

การทอผ้าเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่สืบทอดกันมา นอกจากคุณค่าทางศิลปะแล้วยังเป็นการแสดงถึงแบบแผนความเป็นอยู่ในสังคม กรรมวิธีและเทคนิคในการทอผ้าให้เกิดลวดลายต่างๆ จึงเป็นเทคนิคและความสามารถของแต่ละคน แต่ละกลุ่ม ซึ่งผู้ทอสามารถจดจำลวดลายที่ตนคิดประดิษฐ์ได้ถึง แม้แต่ละลวดลายจะมีความซับซ้อนและหลากหลาย แต่เขาก็สามารถนำมาประสานกันได้อย่างเหมาะเจาะ งดงามแสดงถึงภูมิปัญญา และความสามารถของชาวชนบทเป็นอย่างดี ผ้าทอมือจึงมีเทคนิคการทอและความสวยงามเป็นที่สุด

ปัจจุบัน แม้จะมีหน่วยงานของภาครัฐและเอกชนพยายามเข้ามาอนุรักษ์และสนับสนุนผ้าทอพื้นเมืองให้ยกระดับกลายเป็นสินค้าร่วมสมัย และสามารถประยุกต์ออกแบบกับแฟชั่นสมัยใหม่ได้ แต่ก็ข้ามหนีไม่พ้นมายาคติเรื่องความเชยเก่าคร่ำครึไปไม่พ้น เพราะฉะนั้นการก้าวข้ามจุดนี้คือการสร้างแบรนด์ผ้าทอพื้นเมืองให้เข้มแข็งและยั่งยืน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำต่างขายอย่างที่เป็นมา

การส่งเสริมผ้าพื้นเมืองในอดีตและปัจจุบัน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 21 ได้มีการกล่าวถึงการส่งเสริมผ้าพื้นเมืองในอดีตและปัจจุบันว่า ในประเทศไทยมีประวัติการทอผ้าใช้กันในหมู่บ้านและในเมืองโดยทั่วไปมาตั้งแต่โบราณกาล แต่การทอผ้าด้วยมือตามแบบดั้งเดิมนั้นก็เกือบจะสูญหายไปโดยสิ้นเชิง หากไม่ได้มีการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาได้ทันกาล ทั้งนี้ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเปิด มีการค้าขายกับต่างประเทศมาเป็นเวลานาน สามารถซื้อผ้านอกที่สวยงาม แปลกใหม่ และราคาถูกได้ง่าย มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

หลังจากที่มีการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่งกับอังกฤษในปี 2398 ไทยก็สั่งสินค้าผ้าจากต่างประเทศมาใช้มากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการสำรวจพบว่า ไทยสั่งผ้าจากต่างประเทศเข้ามาเป็นจำนวนมากขึ้นทุกปี ทำให้สิ้นเปลืองเงินตราปีละมากๆ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ริเริ่มฟื้นฟูส่งเสริมการเลี้ยงไหมและทอผ้าไทยกันอย่างจริงจัง ในปี 2452 โปรดฯ ให้สถาปนากรมช่างไหมขึ้น และโปรดฯ ให้ตั้งโรงเรียนช่างไหมที่วังสระปทุม ซึ่งต่อมาขยายสาขาออกไปยัง จ.นครราชสีมา และบุรีรัมย์ ทรงจ้างครูชาวญี่ปุ่นมาสอนชาวบ้าน แต่การส่งเสริมได้ผลไม่คุ้มทุน ต่อมาจึงเลิกจ้างครูญี่ปุ่น และชาวบ้านก็หันมาทอผ้าตามวิธีพื้นบ้านเช่นเดิม

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนับเป็นโชคอันประเสริฐอย่างหนึ่งสำหรับผ้าพื้นเมืองของไทย ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงสนพระราชหฤทัยผ้าพื้นเมืองเกือบทุกประเภทอย่างแท้จริง ต่อเนื่องมากว่า 20 ปี ทรงตั้งมูลนิธิศิลปาชีพ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ขึ้น เพื่อส่งเสริมการทอผ้าของชาวบ้านในชนบท ทรงเป็นผู้นำในการใช้สอยผ้าพื้นเมืองของไทยในชีวิตประจำวัน และในงานพระราชพิธีต่างๆ ทรงนำผ้าไทยไปเผยแพร่ในต่างประเทศ ลวดลายที่ชาวบ้านได้สืบทอดกันมาแต่โบราณนั้นก็ได้ทรงเก็บตัวอย่างไว้เพื่ออนุรักษ์และเพื่อศึกษา สืบทอดต่อไป ดังนั้นในเดือน ม.ค. 2535 องค์การยูเนสโกจึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองบุโรพุทโธ และประกาศพระเกียรติคุณ ในฐานะที่ทรงเป็นผู้นำในการส่งเสริมศิลปหัตถกรรมการทอผ้าพื้นเมืองไทยเป็นตัวอย่างที่ดีในโลก

เห็นได้ว่าในปัจจุบันนี้ ผ้าพื้นเมืองของไทยในภาคต่างๆ กำลังได้รับการอนุรักษ์ฟื้นฟูและพัฒนา รวมทั้งได้รับการส่งเสริมให้นำมาใช้สอยในชีวิตประจำวันกันอย่างกว้างขวางมาก ดังนั้น จึงเกิดมีการผลิตผ้าพื้นเมืองในลักษณะอุตสาหกรรมโรงงาน โดยมีบริษัทจ้างช่างทอ ทำหน้าที่ทอผ้าด้วยมือ ตามลวดลายที่กำหนดให้โรงงานหรือบริษัทจัดเส้นไหม หรือเส้นด้าย ที่ย้อมสีเสร็จแล้วมาให้ทอ เพื่อเป็นการควบคุมคุณภาพ บางแห่งจะมีคนกลางรับซื้อผ้าจากช่างทออิสระ ซึ่งเป็นผู้ปั่นด้าย ย้อมสี และทอตามลวดลายที่ต้องการเองที่บ้าน แต่คนกลางเป็นผู้กำหนดราคาตามคุณภาพและลวดลายของผ้าที่ตลาดต้องการ ในบางจังหวัดมีกลุ่มแม่บ้านช่างทอผ้าที่รวมตัวกันทอผ้าเป็นอาชีพเสริม และนำออกขายในลักษณะสหกรณ์ เช่น กลุ่มทอผ้าของศิลปาชีพ อย่างไรก็ตามในสภาพที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น เป็นการทอเพื่อขายเป็นหลัก ดังนั้นจึงได้มีการปรับปรุงพัฒนาสีสัน คุณภาพ และลวดลาย ให้เข้ากับรสนิยมของตลาด

จิตวิญญาณ ภูมิปัญญาผ้าทอพื้นเมือง  ยกระดับสู่สากล

ประวัติศาสตร์บนผืนผ้าพื้นเมืองในโลกสมัยใหม่

การเพิ่มมูลค่าด้านคุณค่าทางประวัติศาสตร์ให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือพื้นเมือง รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ กล่าวว่า ผ้าทอพื้นเมืองจะแสดงถึงกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย มีลักษณะผสมผสานและปรากฏอยู่บนลวดลายผ้า กลายเป็น
อัตลักษณ์ของตัวเอง และมีการธำรงรักษาไว้ได้อย่างต่อเนื่อง

“ความต้องการซื้อผ้าทอพื้นเมืองจากคนภายนอกเป็นกระแสที่เกิดขึ้นในช่วงหลัง ซึ่งมาจากการโหยหาอดีตที่สูญหายไปแล้ว ทำอย่างไรจึงจะสัมผัสอดีตนั้นได้ สามารถอยู่เป็นส่วนหนึ่งของมันได้ ที่ผ่านมาในอดีตไม่ว่าผ้าพื้นเมืองก็เป็นผ้าพื้นเมือง ไม่มีอะไรสำคัญไปมากกว่านั้น คิดว่าความพยายามที่โดดเด่นและเป็นนวัตกรรมสำคัญคือความพยายามสร้างแบรนด์ขึ้นมา ตรงนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ผ้าพื้นเมืองในเมืองไทยเลย เป็นความพยายามยกระดับให้เกิดการรับรู้ว่า ผ้าพื้นเมืองของไทยสามารถที่จะมีมาตรฐานที่เชื่อถือได้ที่ชัดเจน ตรงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งเป็นเรื่องของต้นทุนที่ดี”

 รศ.ดร.สุเนตร ชี้ว่า ลายผ้าต่างๆ เป็นลายที่สืบทอดมาจากโบราณ ซึ่งสะท้อนความเป็นตัวตนของพื้นถิ่น คนกับธรรมชาติที่ได้สัมผัสอย่างใกล้ชิด

“ไม่ได้แค่เห็นลายทอผ้าว่าสวยเท่านั้น แต่เห็นความหมายที่สร้างอยู่หลังลายผ้าทอนั้น เป็นเรื่องราวความเป็นมา แสดงถึงความเก่าแก่ แสดงถึงความประณีตและต้องการให้ผู้ซื้อสินค้าพอใจทั้งในสิ่งที่เข้าจับต้องได้ ทั้งลวดลาย เนื้อผ้า และความหมายที่ซ่อนเร้นอยู่ในเนื้อผ้านั้น เห็นจิตวิญญาณของผ้า เห็นถึงความงามพร้อมของทั้งสองส่วน ซึ่งทำให้คนซื้อรู้สึกได้ว่าของที่อยู่ในมือมีคุณค่าสูงกว่าปกติ”

 ผลลัพธ์จากการนำคุณค่าทางประวัติศาสตร์เข้ามาเพิ่มมูลค่าให้ผ้าทอมือพื้นเมือง รศ.ดร.สุเนตร ย้ำว่า ต้องสร้างแบรนด์ที่มีทั้งคุณภาพและคุณค่าในความเป็นพื้นเมือง รวมถึงจิตวิญญาณของผู้ที่คิดค้นและถักทอ เป็นประวัติศาสตร์ของผ้าพื้นเมืองที่ถูกยกระดับขึ้นเป็นแบรนด์ที่มีคุณค่าน่านำมาสะสมและสวมใส่

“จังหวัดต่างๆ ก็มีจุดเด่นจุดแข็งในผ้าพื้นเมืองของตัวเอง ต้องรู้จักว่าตัวเองคือใคร ผ้าคือผลิตภัณฑ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นมา เป็นวัฒนธรรมทางวัตถุที่สะท้อนผ่านตัวเองออกมา”

ประสบการณ์สร้างแบรนด์ ‘น่านเน้อเจ้า'

ผ้าทอพื้นเมืองน่าน นับเป็นอีกหนึ่งมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชุมชนเมืองน่าน ด้วยลวดลายที่งดงาม เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น โดยในปี 2558 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ได้ดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนาผ้าทอพื้นเมืองน่าน ภายใต้ตราสัญลักษณ์ แบรนด์ “น่านเน้อเจ้า” เพื่อนำเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของเมืองน่านมาต่อยอดสร้างงาน สร้างเงิน สร้างคุณค่าสู่ชุมชน ให้เห็นเป็นรูปธรรม ผ่านผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยมีสมาชิกกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองในเขตพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน เช่น กลุ่มทอผ้าโฮงเจ้าฟองคำ กลุ่มทอผ้าบ้านซาวหลวง กลุ่มทอผ้าบ้านหนองเต่า ฯลฯ เข้าร่วมกิจกรรมการพัฒนาดังกล่าว

การยกระดับผ้าทอมือพื้นเมืองของชุมชน สู่แบรนด์น่านเน้อเจ้า ถือเป็นการพัฒนาตามวิถีชุนชน โดยนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสานต่อเพื่อสร้างชีวิต สร้างความเป็นอยู่ สร้างรายได้ให้ชุมชน ดร.ชุมพล มุสิกานนท์ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน ผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) (อพท.) บอกว่า การสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมให้กับชุมชนที่เขาทำเรื่องของการทอผ้าอยู่แล้ว ให้เขาเห็นและตระหนักถึงความสำคัญของการที่ต้องมียี่ห้อ (แบรนด์) เพราะว่าการแข่งขันในปัจจุบันนั้นต้องมีแบรนด์

“เมื่อพูดถึงจิม ทอมป์สัน ก็ไม่ต้องพูดต่อว่าคืออะไร ไม่ต้องอธิบาย เมื่อพูดถึง น่านเน้อเจ้า ขึ้นมา ก็จะรู้ว่าเป็นผ้าทอเมืองน่านหรือผลิตภัณฑ์ที่มาจากผ้าทอเมืองน่านและมีคุณภาพดี ซึ่งทำมาแล้ว 2 ปีที่ผ่านมา เมื่อมีส่วนร่วมจากชุมชนและผู้ประกอบการแล้ว ปีหน้าเราจะทำเรื่องส่งเสริมการขายและสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักกันในวงกว้างมากขึ้น นักท่องเที่ยวที่มาเมืองน่านสวมใส่เสื้อผ้าน่านเน้อเจ้าไปทานอาหารก็จะมีการลดราคาให้ เพื่อให้เป็นที่นิยมมากขึ้น”

ดร.ชุมพล ขยายความถึงการทำงานร่วมกับชุมชนว่า เครือข่ายและชุมชนทำงานกันแบบ โค-ครีเอชั่น เป็นการชวนมาร่วมคิดร่วมวางแผนร่วมปฏิบัติร่วมรับผิดชอบ และสุดท้ายก็ร่วมรับประโยชน์ ทำให้เป็น
กระบวนการคิด กระบวนการสร้างสรรค์ที่เกิดมาจากตัวกลุ่มของชุมชน ทุกคนรู้สึกว่าตัวเองมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ เพราะฉะนั้นก็ต้องขับเคลื่อนให้สำเร็จ ทาง อพท.แค่เข้าไปช่วยส่งเสริม

จิตวิญญาณ ภูมิปัญญาผ้าทอพื้นเมือง  ยกระดับสู่สากล

สำหรับลายผ้าต่างๆ ซึ่งเป็นลายที่สืบทอดมาจากโบราณ สะท้อนความเป็นตัวตนของพื้นถิ่นเมืองน่าน มีลายเอกลักษณ์ 5 ลาย ได้แก่

+ ลายน้ำไหลหยดน้ำ แห่งโฮงเจ้าฟองคำ ต.ในเวียง อ.เมือง แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติของเมืองน่าน เป็นลวดลายที่สะท้อนบุคลิกภาพชาวน่านที่มีความเป็นศิลปินอยู่ในเลือดเนื้อ ผู้ใดที่ได้เป็นเจ้าของผ้าลายน้ำไหลหยดน้ำราวกับได้ครอบครองศิลปะชิ้นเอกที่ศิลปินได้รังสรรค์ขึ้น

+ ลายบ่อสวก แห่งกลุ่มทอผ้าบ้านซาวหลวง ต.บ่อสวก อ.เมือง แกะลวดลายมาจากปากไหโบราณอายุกว่า 700 ปี เชื่อกันว่าผ้าลายบ่อสวกจะนำมาซึ่งความมั่งคั่งเจริญรุ่งเรืองแก่ผู้สวมใส่

+ ลายดาวล้อมเดือน แห่งกลุ่มทอผ้าบ้านนาปงพัฒนา ต.บ่อสวก อ.เมือง แสดงถึงความประณีตในการทอผ้าของหญิงสาวจนมีชายหนุ่มมาหมายปอง อันเป็นภาพสะท้อนความงามของหญิงน่านที่มีความอ่อนหวานนุ่มนวล หากใครได้สวมใส่จะช่วยเสริมบุคลิกภาพให้มีเสน่ห์ตรึงใจแก่ผู้พบเห็น

+ ผ้าตาโก้งที่ใช้ในวิถีชีวิตชาวน่านมานานกว่า 100 ปี แห่งกลุ่มส่งเสริมอาชีพบ้านเชียงราย ต.ดู่ใต้ อ.เมือง ผืนผ้าที่เคียงคู่วิถีชีวิตชาวน่านทุกชนชั้นมาหลายร้อยปี ผู้ที่มีผ้าลายตาโก้งไว้ใช้บ่งบอกว่าได้เข้าถึงความเป็นน่านอย่างแท้จริง

+ ลายแมงมุมอ้อมยุ้มตีนหมี แห่งกลุ่มทอผ้าบ้านหนองเต่า ต.ม่วงตึ๊ด อ.ภูเพียง ขาแมงมุมที่กางออกไปทุกทิศทางสื่อถึงการปกปักรักษาดูแลไว้เท่าชีวิต เชื่อกันว่าผ้าลายนี้จะช่วยป้องกันสิ่งชั่วร้ายไม่ให้มากล้ำกลายเด็กเล็ก หรือหญิงมีครรภ์ที่สวมใส่

จากผ้า 5 ลายหลักของน่าน ดร.ชุมพล บอกว่า การพัฒนาสินค้าในเรื่องของคุณภาพของวัตถุดิบมีการทำไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะมีการอนุรักษ์ทำแบบดั้งเดิมทั้งหมดเลย

“ทั้งเทคนิคการทอเดิม ลายเดิม แต่รักษาคุณค่าเอาไว้ให้ได้มาตรฐาน ซึ่งก็มีวางขาย พร้อมกับอีกรูปแบบหนึ่งคือออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น ดึงแค่ลายผ้าบางส่วนออกมาแล้วมาทำเป็นทีเชิ้ตหรือแฟชั่นร่วมสมัยหรือทันสมัยแปลกตา แต่ทั้งหมดจะผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนด้วย ชาวบ้านที่น่านจะทอผ้าไว้ใช้เองและเป็นอาชีพเสริม ซึ่งจะทำเป็นอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบไม่ได้ ซึ่งต้องกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างเต็มที่ ไม่รวยกระจุกจนกระจาย ซึ่งต้องดึงผู้ประกอบการเข้ามาช่วยให้เป็นตัวส่งสู่ตลาด และพัฒนาเมืองน่านอย่างมีทิศทาง เอาแนวความคิดของแบรนด์ไปให้แรงงานท้องถิ่นผลิตขึ้นมา จึงเป็นการจับมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน กลายเป็นพันธะทางสังคมขึ้นมาในชุมชน รวมตัวกันด้วยใจ

“ลายผ้าจะเป็นอัตลักษณ์ของน่าน ส่วนการออกแบบก็จะทำให้ทันสมัย และมีช่องทางการขาย ตัวเลขและผลตอบรับจะเห็นในปีนี้ ผลทดสอบออกมาก็มีความน่าพอใจอยู่ที่ระดับดีมาก ทำให้มีความมั่นใจในแบรนด์นี้ ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะมีคนรับผิดชอบในแต่ละส่วนไป พยายามจะให้มีการตรวจสอบคุณภาพที่ดี และให้พูดกันปากต่อปาก แล้วเอาไม้ไผ่ยักษ์เมืองน่านนำมาเป็นแพ็กเกจจิ้งเพื่อบรรจุผลิตภัณฑ์ด้วย

จุดแข็งผ้าทอมือชุมชนเมืองน่านที่มีเอกลักษณ์เฉพาะทางด้านประวัติศาสตร์ รวมถึงการนำกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเข้ามาดำเนินงานโครงการ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม สร้างความเป็นเจ้าของ และสร้างเครือข่ายให้ชุมชน อาทิ หน่วยงานราชการ ผู้ประกอบการ พาณิชย์จังหวัด เป็นต้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน

“อพท.ต้องการให้ชุมชนพึ่งพาตัวเองได้ เมื่อแผนแม่บทสิ้นสุด ชุมชนต้องพึ่งตัวเองได้อย่างยั่งยืน สินค้าเป็นแฮนด์เมด ทอมือทั้งหมด แต่จะนำผ้าไปออกแบบใหม่เพิ่มขึ้นทำให้มีมูลค่าเพิ่ม และพยายามสร้างนวัตกรรมในการทอผ้าให้เพิ่มขึ้น”

แน่นอน นอกจากที่น่าน ซึ่งมีแบรนด์ผ้าทอพื้นเมือง “น่านเน้อเจ้า” สุโขทัยกับกำแพงเพชร ก็มีแบรนด์ผ้าทอพื้นเมืองชื่อ “มรดกพระร่วง” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวในความพยายามที่จะยกระดับผ้าพื้นเมืองไทยให้เป็นที่จดจำของผู้คนในฐานะแบรนด์ที่มีคุณภาพและทรงคุณค่าทางจิตวิญญาณและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น