"รักตนิล" ชื่อพระราชทานพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก
หลายคนเคยเห็นต้น หรือผักกระสัง (Peperomia) พรรณไม้ล้มลุกที่ลำต้นมีความเปราะหักง่าย ความสูงประมาณ 15-30 ซม.
โดย...วรธาร
หลายคนเคยเห็นต้น หรือผักกระสัง (Peperomia) พรรณไม้ล้มลุกที่ลำต้นมีความเปราะหักง่าย ความสูงประมาณ 15-30 ซม. ลำต้นและใบสีเขียวและอวบน้ำ พบได้ทั่วไปในเขตร้อนทั่วโลก ในประเทศไทยมีสิบกว่าชนิด ซึ่งพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ
ทว่าเมื่อปีที่แล้วมีการค้นพบพืชสกุลผักกระสังชนิดใหม่ของโลกในพื้นที่ของประเทศไทย โดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) บางเขน
รักตนิล คือ พรรณไม้ชนิดใหม่ของโลกที่กล่าวถึง ซึ่งทางผู้วิจัยได้ค้นพบขณะการดำเนินการวิจัยโครงการการพัฒนาพืชสกุลผักกระสังให้เป็นไม้ประดับเชิงการค้า โดย ผศ.ดร.เฉลิมพล สุวรรณภักดี ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มก. หัวหน้าโครงการฯ ร่วมกับ รศ.ดร.ประศาสตร์ เกื้อมณี ภาควิชาพฤกษศาสตร์ ผศ.ดร.พัชรียา บุญกอแก้ว ผศ.ดร.เฌอมาลย์ วงศ์ชาวจันทร์ ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มก. ดร.ปิยะเกษตร สุขสถาน นักวิชาการพฤกษศาสตร์ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ จ.เชียงใหม่ และ ศ.ดร.ประนอม จันทรโณทัย ศูนย์วิจัยอนุกรมวิธานประยุกต์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ผศ.ดร.เฉลิมพล
ก่อนมาเป็น ‘รักตนิล’ ชื่อพระราชทาน
ผศ.ดร.เฉลิมพล หัวหน้าวิจัยโครงการการพัฒนาพืชสกุลผักกระสังให้เป็นไม้ประดับเชิงการค้า เล่าว่า จากการเดินทางสำรวจและเก็บรวบรวมวัตถุดิบในพื้นที่ต่างๆ เพื่อใช้ในโครงการวิจัย ก็ได้พบพืชชนิดนี้บริเวณภูเขาหินปูน ที่ จ.เลย มีลักษณะแตกต่างไปจากพืชสกุลผักกระสังชนิดอื่นๆ ที่เคยเจอ โดยจะมีความสวยงามแปลกตาจากพันธุ์อื่น กล่าวคือลำต้นและก้านเป็นสีแดง ส่วนใบออกเขียวมรกต ความสูงอยู่ที่ประมาณ 10-20 ซม.
หัวหน้าโครงการวิจัย เล่าต่อว่า พอเห็นว่าเป็นชนิดที่สวยงามและเหมาะกับการพัฒนาให้เป็นไม้ประดับเชิงการค้าเป็นไปตามโครงการฯ จึงพยายามสืบค้นดูว่าก่อนนี้มีใครค้นพบพรรณไม้ชนิดนี้แล้วหรือยัง ครั้นพอรู้ว่ายังไม่มี ผักกระสังตัวนี้จึงกลายเป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก
หลังจากนั้นจึงร่วมตั้งชื่อกับ ศ.ดร.ประนอม จันทรโณทัย อาจารย์จากศูนย์วิจัยอนุกรมวิธานประยุกต์ ภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยขอนแก่น จากนั้นได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระนามสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาตั้งเป็นชื่อวิทยาศาสตร์
“มีชื่อว่า Peperomia sirindhorniana C. Suwanph. & Chantar. ทั้งนี้เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เนื่องในวันครบรอบพระชนมายุ 5 รอบ และเพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีแก่วงการพฤกษศาสตร์
“เนื่องจากทรงเป็นผู้ริเริ่มโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชโดยมีพระราชประสงค์ให้ประชาชนหันมาสนใจและให้ความตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรพืช พร้อมกันนี้พระองค์ท่านมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อไทยว่า ‘รักตนิล’ ซึ่งมีความหมายว่า แดง-เขียว เนื่องจากพืชชนิดนี้มีลำต้นและก้านใบสีแดง มีใบสีเขียวเข้ม หรือ สีมรกต”
ปัจจุบันรักตนิลพืชชนิดใหม่ของโลกนี้ได้รับการตีพิมพ์แล้วในวารสารคิว (Kew Bulletin) ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นวารสารที่เก่าแก่ทางด้านอนุกรมวิธานพืช
หัวหน้าโครงการพูดถึงรักตนิลว่าเป็นพืชล้มลุกที่ไม่สูงมากอยู่ที่ประมาณ 10-20 ซม. ความโดดเด่นที่เป็นเสน่ห์ของมันคือลำต้นและก้านสีแดง ส่วนใบสีเขียวมรกต ตัดกันสวยงาม เป็นพืชที่ต้องการน้ำน้อย สองสามวันรดน้ำก็ได้ ชอบอยู่ในสภาพพื้นที่ที่เป็นภูเขาหินปูน
“ตอนนี้กำลังทำเรื่องการขยายพันธุ์และปรับปรุงพันธุ์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมถึงศึกษาเรื่องการปลูกเลี้ยง เนื่องจากเป็นพืชป่าเวลาเอามาปลูกเลี้ยงจะยากนิดหนึ่ง ต้องใช้เวลาในการศึกษาธรรมชาติของเขาสักพักหนึ่ง คาดว่าปีหน้าน่าจะเปิดตัวเป็นไม้ประดับชนิดใหม่ได้ พร้อมกันนี้ก็เชื่อว่าคนไทยจะได้ประโยชน์ กล่าวคือได้ไม้ประดับชนิดใหม่ทดแทนการนำเข้าในอนาคตอย่างแน่นอน”
ผศ.ดร.พัชรียา บุญกอแก้ว
การขยายพันธุ์คือการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน
ผศ.ดร.พัชรียา บุญกอแก้ว ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร และรองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะเกษตร รับผิดชอบด้านการขยายพันธ์ุและการปลูกเลี้ยง เล่าว่า ด้วยความที่เป็นโครงการพัฒนาพืชสกุลผักกระสังให้เป็นไม้ประดับเชิงการค้า
ดังนั้น จึงไม่ใช่การสำรวจค้นพบแล้วจบตรงนั้น แต่อาจารย์เฉลิมพลมองถึงการขยายพันธุ์ การปลูกเลี้ยงและการปรับปรุงพันธุ์ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์ในเชิงการค้าได้ในอนาคต
“ดิฉันดูในเรื่องการเพิ่มจำนวน ก็คือในส่วนของการขยายพันธ์ุและการปลูกเลี้ยง ทำให้คนได้รู้จักการปลูกเลี้ยงอย่างกว้างขวางโดยที่ไม่ต้องไปนำต้นมาจากป่าจนมันสูญพันธุ์ไป ซึ่งถ้าเราช่วยให้เขารู้วิธีการขยายพันธุ์และวิธีการปลูกเลี้ยงก็ถือเป็นวิธีการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนและสามารถตอบโจทย์ในเชิงการค้าได้ด้วย”
สำหรับเทคนิคการขยายพันธ์ุและการปลูกเลี้ยงนั้น ผศ.ดร.พัชรียา ได้นำกิ่งของต้นรักตนิลมาขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำ จากนั้นต้นรักตนิลจะแตกยอดใหม่ เลี้ยงจนได้ต้นที่มีลักษณะแข็งแรง แล้วนำมาขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (Tissue Culture) โดยนำยอดอ่อนมาฟอกฆ่าเชื้อและเลี้ยงบนอาหารสังเคราะห์เพื่อเพิ่มจำนวนต้น ซึ่งเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อนี้สามารถเพิ่มจำนวนต้นได้มากในเวลาอันรวดเร็ว
“อาจารย์เฉลิมพลจะให้ตัวอย่างมาหนึ่งก้านยาวประมาณ 15 ซม. เราก็เอามาทำพอให้รอดชีวิตโดยการปักชำ พอเขาแตกยอดใหม่ก็นำยอดใหม่นั้นมาขยายพันธุ์ โดยใช้เทคนิคการขยายพันธุ์ที่เรียกว่า Tissue Culture หรือการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ นำใบออกเอามาฟอกแต่ข้อของรักตนิล มาขยายพันธ์ุเลี้ยงในอาหารวิทยาศาสตร์ คล้ายอยู่ในสภาพปลอดเชื้อเพื่อไม่ให้เชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียไปทำลาย
“จากกิ่งก้านเดียวนี้เราสามารถเพิ่มจำนวนได้เป็นร้อยเป็นพันเป็นหมื่นเป็นแสนต้นตามที่เราต้องการได้ แต่ก็ต้องดูว่าเพิ่มแล้วต้องมีพื้นที่ในการปลูกเลี้ยงเขาอย่างเพียงพอ ตอนนี้มีต้นอยู่ประมาณ 500 ต้น เพื่อที่จะทดสอบในการปลูก ส่วนต้นที่เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อนั้นเพิ่มจำนวนในขวดไปเรื่อยๆ ได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราสามารถเพิ่มจำนวนในสภาพปลอดเชื้อได้สำเร็จ ได้สูตรอาหารที่เหมาะสมกับเขา”
อาจารย์พัชรียา กล่าวต่อว่า ตอนที่รักตนิลอยู่ในขวดเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อนั้น ลำต้นยังเป็นสีเขียวเหมือนพืชทั่วไปยังไม่ออกสีแดง เวลาเอาออกไปปลูกจึงต้องหาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้เพื่อที่รักตนิลจะเติบโต และมีสีสันเหมือนธรรมชาติของมัน แต่ตอนนี้อยู่ในช่วงการทดสอบปลูกในโรงเรือนและหาเทคนิคการปลูกที่เหมาะสม
“ปัจจุบันมีแผนส่งรักตนิลที่เราได้ขยายพันธุ์ส่งไปให้ ดร.ปิยะเกษตร สุขสถาน องค์การสวนพฤกษ์ แม่ริม จ.เชียงใหม่ หนึ่งในผู้คณะวิจัยโครงการฯ ปลูกที่เชียงใหม่ เพื่อเปรียบเทียบความเจริญเติบโตของรักตนิลในเขตภาคกลางกับภาคเหนือ
“นอกจากนี้ เราก็จะส่งต้นรักตนิลจากการเพาะเนื้อเยื่อให้กับอาจารย์เฌอมาลย์ วงศ์ชาวจันทร์ ทำให้เกิดการกลายพันธุ์หรือปรับปรุงพันธุ์ให้หลากหลายขึ้น ซึ่งอาจารย์อาจใช้เทคนิคการฉายรังสี หรืออาจรอให้ต้นโตแล้วผสมกับพันธ์ุอื่นเพื่อพัฒนาเป็นพันธุ์ใหม่ขึ้นมา ดิฉันเชื่อว่าในอนาคตคนไทยเราได้ประโยชน์แน่นอนจากการวิจัยโครงการนี้”