posttoday

ทริปฮาลาล โอกาสทองธุรกิจท่องเที่ยว

22 พฤษภาคม 2561

แม้ไทยจะเป็นเมืองพุทธ แต่โผติดอันดับ 2 ของกลุ่มประเทศที่ไม่ใช่มุสลิมที่ได้รับความนิยมจากนักเดินทางชาวมุสลิมมากที่สุด

เรื่อง กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย ภาพ ปฏิภัทร จันทร์ทอง
 
แม้ไทยจะเป็นเมืองพุทธ แต่โผติดอันดับ 2 ของกลุ่มประเทศที่ไม่ใช่มุสลิมที่ได้รับความนิยมจากนักเดินทางชาวมุสลิมมากที่สุด อันแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม การเติบโตของตลาดนักท่องเที่ยวชาวมุสลิม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งศักยภาพของการท่องเที่ยวไทย
 
ผลการสำรวจดัชนีการท่องเที่ยวของชาวมุสลิมทั่วโลกประจำปี 2561 (GMIT-The Mastercard-Crescent Rating Global Muslim Travel Index) ซึ่งสำรวจประเทศจุดหมายปลายทางทั้งสิ้น 130 ประเทศทั่วโลกทั้งประเทศมุสลิมและประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม พบว่ามาเลเซียครองอันดับ 1 ของประเทศที่เป็นมุสลิม (ติดต่อกันเป็นปีที่ 8) ส่วนสิงคโปร์ติดอันดับ 1 ของประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม
 
ฟาไซ บาฮาร์ดีน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เครสเซนต์เรตติ้งและฮาลาลทริป ผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวแบบฮาลาลกล่าวว่า “เราเริ่มเห็นผลจากการที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกลงทุนปรับปรุงและความทุ่มเทเพื่อพัฒนาตลาดการท่องเที่ยวสำหรับชาวมุสลิม จนมีการพัฒนาแบบก้าวกระโดดและการขยับอันดับ ตัวอย่างของประเทศที่ร่วมมือกันจนประสบความสำเร็จด้วยดี คือ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และไต้หวัน ซึ่งนำข้อมูลจากผลการสำรวจในปีที่ผ่านมามาใช้พัฒนาการท่องเที่ยวจนสามารถขยับเข้าใกล้อันดับต้นๆ ได้ดี”
 
5 อันดับประเทศในกลุ่มประเทศมุสลิม ได้แก่ มาเลเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอินโดนีเซีย (ครองอันดับ 2 ร่วมกัน) ตุรกี ซาอุดิอาระเบีย และกาตาร์ ส่วน 5 อันดับประเทศที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศมุสลิม ได้แก่ สิงคโปร์ ไทย สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่นและไต้หวัน
 
สำหรับประเทศไทยพบว่าเมื่อปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมเดินทางมาเยือนราว 3.6 ล้านคน หรือเกือบร้อยละ 10 ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด โดยทางมาสเตอร์การ์ดมองว่าเหตุผลหนึ่งเนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาลไทย เช่น แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ และการพัฒนามาตรฐานคิวอาร์โค้ด ที่ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวอย่างปลอดภัยและสะดวกสบายยิ่งขึ้น รวมถึงความพยายามอย่างต่อเนื่องของหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวของไทย ที่พยายามเพิ่มจำนวนร้านอาหารฮาลาลและส่งเสริมให้ไทยเป็นประเทศจุดหมายปลายทางให้เป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวชาวมุสลิม

ทริปฮาลาล โอกาสทองธุรกิจท่องเที่ยว

 
ด้าน นิธี สีแพร ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมสินค้าการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่เป็นมิตรของชาวมุสลิม ด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่รองรับความต้องการของชาวมุสลิมโดยเฉพาะ ทั้งโรงแรมฮาลาล ร้านอาหารฮาลาล มัสยิด และมีสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในแหล่งท่องเที่ยว
 
“นักท่องเที่ยวชาวมุสลิมเป็นตลาดที่น่าสนใจเพราะเป็นตลาดขนาดใหญ่ ทั่วโลกมีชาวมุสลิมประมาณ 1,600 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของประชากรทั่วโลก ในอาเซียนมีชาวมุสลิมมากกว่า 240 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มตลาดที่มีศักยภาพสูง โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมเป้าหมายของไทย คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน”
 
แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวมุสลิมยังคงเป็นในหัวเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ พระนครศรีอยุธยา พัทยา เกาะช้าง (ตราด) เชียงใหม่ ภูเก็ต พังงา และกระบี่
 
“ลักษณะของนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมเป็นกลุ่มครอบครัวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยว ติดต่อธุรกิจ และมารักษาพยาบาล ซึ่งจะใช้เวลาท่องเที่ยวนานประมาณหนึ่งสัปดาห์ และมีการใช้จ่ายสูงนอกจากนี้อีกกลุ่มหนึ่งคือชาวมุสลิมที่เดินทางไปยังนครเมกกะที่จะแวะท่องเที่ยวในไทยก่อนเดินทางต่อไปยังประเทศซาอุดิอาระเบีย ทำให้ประเทศไทยมีกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมเพิ่มขึ้นทุกปี”
 
ผู้อำนวยการนิธี ยังกล่าวด้วยว่า ด้วยความที่ประเทศไทยมีประชากรหลากหลายศาสนา จึงทำให้เกิดบรรยากาศของความหลากหลายทางวัฒนธรรม และทางด้านผู้ประกอบการก็มีการสร้างธุรกิจที่ตอบสนองศาสนิกชน

ทริปฮาลาล โอกาสทองธุรกิจท่องเที่ยว

 
ยกตัวอย่าง โรงแรมอัล มีรอซ โรงแรมฮาลาลขนาดใหญ่ที่สุดในไทย ที่เปิดให้บริการเมื่อปี 2559 มีเจ้าของเป็นคนไทยมุสลิมและเป็นโรงแรมฮาลาลเต็มรูปแบบ 100%
 
สัญญา แสงบุญ กรรมการผู้จัดการและผู้จัดการทั่วไป โรงแรมอัล มีรอซ กล่าวว่า หลักการประกอบธุรกิจโรงแรมฮาลาลต้องทำตามกฎของหลักศาสนาอิสลาม เช่น ไม่ขายของต้องห้าม เช่น หมู หรือเครื่องดื่มมึนเมาทุกชนิด อาหารและข้าวของเครื่องใช้ต้องมาจากแหล่งผลิตที่
ถูกต้อง เช่น เนื้อสัตว์ต้องถูกเชือดอย่างถูกต้องตามหลักศาสนา พืชผักไม่ได้ปลูกด้วยปุ๋ยที่ทำจากซากสัตว์ และของใช้ในห้องน้ำไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
 
ภายในห้องพักจะมีปฏิทินเวลาการละหมาด ผ้าสำหรับใช้ในการละหมาด มีทิศทางบ่งบอกทิศตะวันตกอันเป็นที่ตั้งของนครเมกกะ มีคัมภีร์อัลกุรอาน 2 ภาษา ได้แก่ ภาษาอาหรับและภาษาอังกฤษ (หรือภาษาไทย) ขนมขบเคี้ยวในมินิบาร์ต้องมีตราฮาลาล
กำกับหรือมีเอกสารยืนยัน และผ้าทุกชนิดที่ใช้ในห้องพักนั้นต้องไม่ถูกซักร่วมกับผ้าของคนป่วยจากโรงพยาบาล
 
สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในโรงแรมต้องมีห้องละหมาดแยกหญิงและชาย สระว่ายน้ำหากไม่ได้แยกสระสำหรับหญิงและชาย ต้องแบ่งตามเวลาอย่างช่วงเช้าสำหรับผู้หญิงและช่วงบ่ายสำหรับผู้ชาย เช่นเดียวกับห้องออกกำลังกายที่แบ่งเวลาในการใช้บริการเช่นกัน
 
โรงแรมฮาลาลต้องถูกตรวจสอบความถูกต้องและมาตรฐานด้านอาหารจากหน่วยงานในสำนักจุฬาราชมนตรีทุกเดือน และทุกปีจะถูกตรวจสอบมาตรฐานด้านการบริการฮาลาลโดยหน่วยงานจากดูไบ
 
“ช่วงนี้อยู่ในช่วงเดือนรอมฎอน ทางโรงแรมจะมีบริการเฉพาะเพื่อผู้เข้าพักที่เป็นชาวมุสลิม” สำนักจุฬาราชมนตรีประกาศให้วันที่ 1 ของเดือนรอมฎอน ฮิจเราะห์ศักราช 1439 ตรงกับวันที่ 17 พ.ค. 2561

ทริปฮาลาล โอกาสทองธุรกิจท่องเที่ยว

 
“ทางโรงแรมจะมีบริการอาหารเช้าหรือที่เรียกว่า ซูโฮร์ ตอนเวลาประมาณตี 3 โดยจะให้บริการประมาณ 45 นาที จากนั้นในตอนค่ำหรือที่เรียกว่า อิฟตาร์ จะเปิดให้บริการอาหารแบบบุฟเฟ่ต์ในช่วงละศีลอด เวลาประมาณใกล้ๆ 1 ทุ่มไปจนถึงเวลาประมาณ 4 ทุ่ม ซึ่งในช่วงนี้จะมีการจัดพิธีละหมาด โดยทางโรงแรมจะเชิญผู้นำละหมาดมาทำพิธีตั้งแต่วันแรกไปจนถึงวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน” ผู้จัดการทั่วไปกล่าวเพิ่มเติม
 
อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นโรงแรมฮาลาลแต่ก็เปิดให้บริการแก่คนทุกศาสนา โดยผู้เข้าพักต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ ข้อสำคัญคือห้ามนำหมูและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เข้ามาในโรงแรม
 
ปีที่ผ่านมาโรงแรมมีลูกค้าประมาณ 9.7 หมื่นคน แบ่งเป็นชาวมุสลิมจำนวนกว่าครึ่ง โดยชาวจีนมุสลิมอยู่อันดับ 1 ของลูกค้าทั้งหมดรองลงมา คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ รวมถึงชาวตะวันออกกลาง ปากีสถานตุรกี ซาอุดิอาระเบีย อียิปต์ โมร็อกโก และชาวยุโรปบ้างประปราย เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ส่วนคนไทยมุสลิมส่วนใหญ่จะเป็นคนไทยจากสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล
 
“เป็นความท้าทายในการเปิดโรงแรมฮาลาลในเมืองพุทธ แต่จากการดำเนินงานย่างเข้าปีที่ 3 ปรากฏว่าเรามีจำนวนผู้เข้าพักเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยเมื่อเทียบจำนวนผู้เข้าพัก 4 เดือนแรกของปีนี้กับปีที่ผ่านมา เราโตขึ้นประมาณร้อยละ 3-4 คือมีจำนวนผู้เข้าพักประมาณร้อยละ 94 มากกว่าที่ตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 85
 
สาเหตุที่ทำให้ตัวเลขผู้เข้าพักเพิ่มมากขึ้นนอกจากโรงแรมจะเป็นที่รู้จักมากขึ้นแล้วยังเป็นเพราะทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยพยายามเปิดตลาดไปสู่ชาวมุสลิม โดยวางคอนเซ็ปต์ประเทศไทยให้เป็น Muslim Friendly Destination เพราะยังมีชาวมุสลิมในอีกหลายประเทศที่มองว่าไทยเป็นเมืองพุทธทำให้มีความกังวลในเรื่องของอาหารการกินหรือเรื่องความสะดวกในการทำละหมาดหรือประกอบพิธีทางศาสนา ซึ่งการโปรโมทในแนวทางนี้จะทำให้เกิดความมั่นใจและชักชวนชาวมุสลิมจากประเทศต่างๆ ให้เดินทางมาเที่ยวในไทยมากขึ้น

ทริปฮาลาล โอกาสทองธุรกิจท่องเที่ยว

 
นอกจากนี้ กลุ่มคู่แต่งงานชาวมุสลิมก็เป็นตลาดที่น่าสนใจ เพราะลักษณะการจัดงานแต่งงานที่ยิ่งใหญ่ มีการเชิญแขกจำนวนหลายพันคน และใช้บริการจัดเลี้ยงมากกว่า 1 คืน ทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้และผู้เข้าร่วมงานยังจะเดินทางท่องเที่ยวในไทยต่อด้วย”
 
เขาคาดว่าไทยน่าจะมีโรงแรมฮาลาล ร้านอาหารฮาลาล รวมถึงธุรกิจนำเข้าและส่งออกอาหารฮาลาลมากขึ้น เพื่อรองรับตลาดชาวมุสลิมที่เติบโตและมีความนิยมเดินทางมายังไทยมากขึ้น
 
“ชาวมุสลิมเป็นตลาดนักท่องเที่ยวที่น่าจับตามอง เพราะเป็นกลุ่มที่จับจ่าย และมีบุคลิกที่เป็นมิตร รักความสงบ จึงเป็นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ และจะสร้างรายได้มหาศาลให้แก่ประเทศไทย”
 
ในฐานะที่เป็นชาวมุสลิมและคลุกคลีกับงานด้านการท่องเที่ยวมานานกว่า 30 ปี สัญญาแสดงความคิดเห็นว่า ประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศเดียวในโลกที่คนมุสลิมและคนพุทธอาศัยอยู่ร่วมกันมาเป็นเวลานานกว่า 300 ปี ซึ่งได้รับการดูแลอย่างดีภายใต้การปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
 
“ผมคิดว่าคนไทยมุสลิมโชคดีที่เกิดบนแผ่นดินนี้ เพราะเป็นสังคมที่ไม่แบ่งแยกศาสนา ในชุมชนเดียวกันมีทั้งวัด สุเหร่า และโบสถ์คริสต์อยู่ด้วยกัน ทุกคนไม่รู้สึกแตกต่าง แต่รู้สึกว่าเป็นเครือญาติกัน เป็นพี่น้องกัน และให้เกียรติซึ่งกันและกัน ซึ่งนี่จะ
เป็นเสน่ห์และจุดเด่นให้ชาวมุสลิมทั้งในและต่างประเทศเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย” สัญญา กล่าวทิ้งท้าย
 
ในปี 2560 มีนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมทั่วโลกออกเดินทางประมาณ 131 ล้านคนเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาคิดเป็นร้อยละ 10 ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลก และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 156 ล้านคน ภายในปี 2563 ซึ่งสามารถคาดการณ์ได้ว่าตลาดการท่องเที่ยวของชาวมุสลิมจะสร้างเม็ดเงินกว่า 6,900 ล้านล้านบาท ภายในปี 2563 และจะขยับขึ้นไปถึงกว่า 9,500 ล้านล้านบาทในปี 2569
 
สำหรับไทยอยู่อันดับที่ 16 ในการสำรวจทั้งสิ้น 130 ประเทศยอดนิยมของชาวมุสลิมนับว่าเป็นอันดับที่น่าพอใจในฐานะเมืองท่องเที่ยวอย่างไทย (ขยับขึ้นมา 2 อันดับจากปีที่ผ่านมา) แต่เหนือสิ่งอื่นใดยังเป็นเรื่องที่น่าดีใจในฐานะประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม