ครูยุคใหม่ กับ ‘ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ’
เรื่อง : ทีม@Weekly
เรื่อง : ทีม@Weekly
นวัตกรรมใหม่ที่ครูยุคปัจจุบันจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นครูยุคใหม่จะต้องทราบ คือ Professional Learning Community (PLC) โดยที่ PLC ย่อมาจาก Professional Learning Community ซึ่งหมายถึง Community of Practice (CoP) ในการทำหน้าที่ครูนั่นเอง
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง เป็นการรวมตัวกันทำงานไปพัฒนาทักษะและการเรียนรู้เพื่อปฏิบัติหน้าที่ครูเพื่อศิษย์ ไป โดยรวมตัวกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (ลปรร.) จากประสบการณ์ตรง ทำให้การทำหน้าที่ครูเพื่อศิษย์เป็นการทำงานเป็นกลุ่มหรือเป็นทีม ซึ่งอาจเป็นทีมในโรงเรียนเดียวกันก็ได้ ต่างโรงเรียนกันก็ได้ หรืออาจจะอยู่ห่างไกลกันก็ได้ โดย ลปรร. ผ่านไอซีที
กล่าวโดยสรุป คือ PLC มีพัฒนาการมาจากกลยุทธ์ระดับองค์กรที่มุ่งเน้นให้องค์กรมีการปรับตัวต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเริ่มพัฒนาจากแนวคิดองค์กรแห่งการเรียนรู้และปรับประยุกต์ให้มีความสอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนและการเรียนรู้ร่วมกันในทางวิชาชีพ ที่มีหน้างานสำคัญคือความรับผิดชอบการเรียนรู้ของผู้เรียนร่วมกันเป็นสำคัญ
จากการศึกษาหลายโรงเรียนในประเทศสหรัฐอเมริกา การดำเนินการในรูปแบบ PLC พบว่าเกิดผลดีทางวิชาชีพครู และผู้เรียนที่มุ่งพัฒนาการของผู้เรียนเป็นสำคัญ
หากย้อนกลับไปดูถึงความพยายามในการที่จะพัฒนาครูไทยให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคใหม่ ในปี 2558 หรือเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์ นักวิจัยอาวุโส โครงการสถาบันวิจัยการเรียนรู้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้เขียนถึง “3 ข้อเสนอปฏิรูปคุณภาพครูและการสอน ในช่วงการเกษียณอายุราชการของครูขนานใหญ่ 10 ปีข้างหน้า” โดยชี้ว่าในช่วงปี 2556-2567 ครูในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวนไม่น้อยกว่า 1.9 แสนคน หรือครึ่งหนึ่งของครูทั้งหมดจะเกษียณอายุราชการ
โรงเรียนจะต้องคัดเลือกครูใหม่ประมาณ 1.56 แสนคน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 47 ของจำนวนครูทั้งหมดในปี 2568 เพื่อให้เพียงพอกับจำนวนนักเรียนในโรงเรียน สพฐ. ซึ่งคาดการณ์ว่าจะลดลงเป็น 6.2 ล้านคน ความหวังในการปฏิรูปการเรียนรู้ขึ้นอยู่กับคุณภาพการสอนของครูรุ่นใหม่นี้ ภาครัฐจึงควรวางแผนรองรับการเกษียณขนานใหญ่นี้ โดยเร่งดำเนินนโยบายด้านบุคลากรครูตามข้อเสนอ 3 ประการ ดังนี้
ข้อเสนอที่ 1 ปรับปรุงระบบการคัดเลือกเพื่อเลือกสรรครูเก่งตรงกับความต้องการของโรงเรียน
ข้อเสนอที่ 2 จัดสรรครูให้เพียงพอกับความต้องการของนักเรียนในโรงเรียนแต่ละแห่ง
ข้อเสนอที่ 3 ปรับปรุงสภาพการทำงานและสัญญาการจ้างงาน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการสอน และสร้างขวัญกำลังใจให้กับครูที่รับผิดชอบต่อผลการเรียนของนักเรียน
หากหยิบเอารายงานดัชนีทุนมนุษย์ของธนาคารโลกประจำปีนี้ ซึ่งเป็นการวัดผลรวมของทุนมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ 18 ปี โดยให้ความสำคัญกับความเสี่ยงด้านสุขภาพและคุณภาพทางการศึกษาในประเทศ ที่เด็กอาศัยอยู่ โดยพิจารณา 3 ปัจจัยด้วยกัน ได้แก่ การอยู่รอด คือเด็กที่เกิดวันนี้และมีชีวิตรอดจนถึงวัยเรียน โรงเรียน คือเด็กๆ ได้รับการศึกษากี่ปีและได้เรียนรู้อะไรบ้าง และสุขภาพ คือเด็กๆ มีสุขภาพดี ในวันที่จบการศึกษาขั้นพื้นฐาน และพร้อมจะเรียนต่อหรือเข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะผู้ใหญ่เต็มตัวหรือไม่
ดัชนีนี้สะท้อนให้เห็นว่า ทุกวันนี้เด็กไทยโดยเฉลี่ยจะสามารถเข้าเรียนในระบบการศึกษาเป็นเวลารวม 12.4 ปี จนถึงอายุ 18 ปี แต่เมื่อพิจารณาถึงคุณภาพการเรียนรู้แล้ว เท่ากับเด็กได้รับการศึกษาเพียง 8.6 ปีเท่านั้น โดย 3.8 ปี ที่หายไปเป็นเพราะคุณภาพการศึกษาที่ยังไม่ได้มาตรฐาน
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีประสบการณ์ในการสอนและทำวิจัยด้านการศึกษามานานกว่า 30 ปี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงปัญหาการศึกษาของไทยยังเกิดจาก 4 ปัจจัยหลัก 1.นโยบายการศึกษาไม่มีความต่อเนื่อง มีการเปลี่ยนทุกๆ 6 เดือน เนื่องจากรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการยึดความสนใจของตัวเองและของพรรคการเมืองเป็นหลัก
2.ระบบการศึกษาของไทยเต็มไปด้วยกฎระเบียบมากเกินไป ทำให้บุคลากรในกระทรวงศึกษาฯ รวมถึงครู เกิดการยึดติดในกรอบ ไม่กล้าคิดแตกต่าง เนื่องจากต้องยึดในระเบียบกฎเกณฑ์ จนในที่สุดครูมีการปล่อยปละละเลยการเรียนการสอน
ข้อ 3.การศึกษาของไทยไม่มีระบบการเรียนรู้ ไม่เน้นดิจิทัล ไม่เน้นการค้นหาเรียนรู้ด้วยตัวเอง เพื่อให้เกิดการคิด
แตกต่างสร้างสรรค์ แต่ไปเน้นเรื่องเนื้อหาสาระ การท่องจำ เมื่อเด็กเรียนจบสอบผ่านก็จะทิ้งสิ่งที่ท่องจำไป ทำให้เป็นคนยึดติดแต่กรอบ กลายเป็นพลเมืองเฉื่อยชา ซึ่งนับวันเด็กไทยจะถูกทำลายจากหลักสูตรที่ออกแบบล้าหลัง ให้ครูสอนแบบบรรยาย เน้นให้เด็กเรียนมากๆ
และข้อ 4.ไทยไม่มีปรัชญาการศึกษา มีแต่การแข่งขัน ซึ่งจะเห็นการติววิชาต่างๆ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากเพื่อการสอบแข่งขัน มีการประกันเรื่องคุณภาพการศึกษา จนเป็นสาเหตุทำให้ครูออกจากห้องเรียนมากถึง 66 วัน จึงถือเป็นความล้าหลังอย่างมาก
เพราฉะนั้น ในปัจจุบันแนวคิดการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community) หรือ PLC ถูกมองว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย และกำลังถูกจับตามองจากนักวิชาการด้านการศึกษาว่าจะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อครูไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ผ่านไป 3 ปี จากการขับเคลื่อนเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2559 ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการ โดยสถาบันคุรุพัฒนา ได้นำแนวคิดดังกล่าวมาปรับใช้กับครูไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้วยวิธีการสร้างแรงจูงใจให้ครูที่เข้าร่วมประชุมในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ PLC จำนวน 50 ชั่วโมง หรือมากกว่า 5 ปี ติดต่อกัน และสามารถนำส่งเป็นผลงานไปยังกระทรวงศึกษาธิการเพื่อขอปรับเลื่อนวิทยฐานะได้
ดร.เกศรา อมรวุฒิวร ผู้จัดการอาวุโส สถาบันคีนันแห่งเอเซีย หนึ่งในคณะกรรมการกำกับและดูแลสะเต็มศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ เล่าว่า ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) เกิดขึ้นครั้งแรกช่วงปลายปี 2533 โดยหน่วยงานภาคเอกชนด้านการศึกษาของสหรัฐอเมริกา
“นักวิชาการด้านการศึกษาปรับแนวคิดมาจากทฤษฎีการเรียนรู้ในการบริหารองค์กร ที่เชื่อว่าการทำงานเป็นทีมและการทำงานร่วมกันนั้นจะนำไปสู่การเพิ่มผลผลิตที่ดีขึ้น ซึ่งต่อมาหลายประเทศทั่วโลกก็ได้นำไปปรับใช้ หากแต่ละที่อาจมีชื่อเรียกที่ต่างกันไป
แต่ทุกที่มองเป็นทางเดียวกันว่า วัฒนธรรมการเรียนรู้ของชุมชนวิชาชีพครูจะมีส่วนสำคัญในการกำหนดความสำเร็จของการจัดการเรียนการสอนของครูและสร้างผลลัพธ์ที่ดีขึ้นให้แก่นักเรียน เพราะจะช่วยกระตุ้นครูให้เกิดการติดตามว่าเด็กเรียนรู้เพิ่มขึ้นอย่างไร เกิดการประเมินผลและแบ่งปันองค์ความรู้ด้านการจัดการเรียนรู้ระหว่างครูด้วยกันต่อเนื่อง”
สำหรับในประเทศไทย ดร.เกศรา ขยายภาพให้เห็นว่าการขับเคลื่อน “ชุมชนแห่งการเรียนรู้” นอกจากภาครัฐอย่างกระทรวงศึกษาธิการ ที่นำเข้ามาบรรจุในนโยบายเพื่อเป็นหนึ่งในแนวทางปฏิรูปการศึกษาแล้ว สถาบันคีนันแห่งเอเซีย ในฐานะองค์กรวิชาการที่ดำเนินงานพัฒนาการศึกษาในไทยมากว่า 20 ปี ได้ขานรับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ โดยนำแนวทางการส่งเสริม PLC ของสถาบันคุรุพัฒนามาปรับใช้กับโครงการ Chevron Enjoy Science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต
“หากสามารถสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้จริง จะช่วยให้เกิดการติดตาม ประเมินผล และแบ่งปันองค์ความรู้ระหว่างครูด้วยกันอย่างต่อเนื่อง อันจะส่งผลสัมฤทธิ์ต่อการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา หนึ่งในภารกิจหลักเพื่อร่วมยกระดับและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของโครงการ
กระบวนการสำคัญที่สถาบันคีนันฯ นำมาใช้ในโครงการ นั่นคือจัดอบรมให้ครูรู้จักใช้เทคนิควิธีในการจัด PLC ที่มีประสิทธิภาพ และสร้างเครือข่ายสังคมแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ซึ่งจะมีการเปิดชั้นเรียน หรือ Open Classroom Approach เพื่อให้ครูร่วมกันอภิปรายถึงผลการเรียนรู้ของนักเรียนที่สังเกตเห็น โดยครูจะตั้ง
เป้าหมายในการปรับปรุงบทเรียน วางแผน บทเรียนร่วมกันและเยี่ยมชมห้องเรียนของกันและกัน สังเกตการณ์และสะท้อนถึงวิธีที่นักเรียนเรียนรู้ เพื่อนำไปปรับปรุงบทเรียนและกระบวนการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง”
ปัจจุบันหลังดำเนินงานไปแล้วกว่า 3 ปี ดร.เกศรา ประเมินผลว่า โครงการสามารถสร้างเครือข่ายชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพไปแล้วมากกว่า 60 เครือข่าย จากโรงเรียนเข้าร่วมประมาณ 240-300 โรงเรียนทั่วประเทศ
“ผลลัพธ์ที่เริ่มเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากการที่ได้เข้าไปร่วมสร้าง PLC คือ ครูเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ว่าเป็นหนทางหนึ่งที่ครูสามารถรวมตัวเพื่อช่วยกันแก้ปัญหา และหาทางออกเรื่องการเรียนรู้ของนักเรียนที่พบเหมือนๆ กันได้ ทั้งยังช่วยเพิ่มพูนทักษะการสอนของตนเองให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงแก้ปัญหาหนักอกที่ครูบางท่านอาจพบบ่อย แต่ยังหาทางออกไม่ได้
สิ่งที่เกิดขึ้นแม้เป็นเพียงขั้นเริ่มต้น แต่ก็ช่วยให้เห็นภาพที่ชัดขึ้นว่า การที่ครูนำกระบวนการของชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือ PLC ไปปรับใช้นั้น ไม่เพียงช่วยให้ครูแก้ปัญหาของตนเองได้เท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยเติมเต็มอุดช่องว่างให้เพื่อนครูด้วยกันได้ด้วย ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาทางโครงสร้างการศึกษาไทยได้อีกหลายประการ”
ดร.เกศรา ชี้ว่า ประการแรก PLC จะเปลี่ยนศูนย์กลางการทำงานของครู จากการทำงานคนเดียว เป็นการสร้างสังคมการทำงานแบบร่วมคิดร่วมแก้ไขเป็นหมู่คณะ โดยมีเป้าหมายในการสร้างองค์ความรู้แก่เด็กในชั้นเรียนเป็นสำคัญ
ประการที่ 2 ช่วยเสริมสร้างแนวคิดการทำงานเป็นทีม และสร้างความรับผิดชอบร่วมกัน ทำให้ครูเกิดการแลกเปลี่ยนปัญหาที่พบบ่อยในโรงเรียน และหาทางแก้ไขร่วมกัน
ประการที่ 3 ช่วยแก้ไขปัญหาของครูในโรงเรียนขนาดเล็กของไทยกว่า 1.5 หมื่นแห่ง ให้ได้รับคำแนะนำและการสนับสนุนองค์ความรู้และเทคนิคการสอน โดยครูจากโรงเรียนอื่นในพื้นที่เดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ของการสร้าง PLC ดร.เกศรา บอกว่าท้ายสุดนั้นจะไม่ได้เกิดขึ้นกับครูเพียงฝ่ายเดียว เพราะทุกกระบวนการมีส่วนร่วมของครู จะต้องเน้นผลลัพธ์ในสิ่งที่นักเรียนจะได้รับจากการปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนในห้องเรียนของครูเป็นสำคัญด้วย
“เพราะกระบวนการมีส่วนร่วมต่อ PLC ถูกบรรจุเป็นปัจจัยสำคัญต่อการประเมินเลื่อนวิทยฐานะของครูไทยในปัจจุบันด้วย ทำให้ครูต้องมีการบันทึกผลลัพธ์และความเปลี่ยนแปลงในห้องเรียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปอ้างอิงต่อการประเมินผลความก้าวหน้าทางวิชาชีพของพวกเขาผ่านการเปลี่ยนแปลงผลการเรียนของนักเรียนต่อไป”