วี โอภารัตน์ ‘สโตร์ฮับ’ธุรกิจติดตั้งระบบหลังบ้านให้ร้านค้า
วี โอภารัตน์ รั้งตำแหน่ง Country Manager ของบริษัท สโตร์ฮับ (ไทยแลนด์) เธอคือนักบริหารหญิงผู้มีวิสัยทัศน์ยาวไกล
เรื่อง : ภาดนุ ภาพ : วิศิษฐ์ แถมเงิน
ล่าสุดสาวเก่งผู้ชอบเทคโนโลยีคนนี้กำลังปลุกปั้นธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีชื่อว่า สโตร์ฮับ (StoreHub) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยควบคุมสินค้าคงคลังด้วยระบบ POS (Point of Sale System) เพื่อให้นักธุรกิจกลุ่มสตาร์ทอัพสามารถบริหารจัดการร้านค้า หรือธุรกิจของพวกเขาได้ง่ายยิ่งขึ้น
“สโตร์ฮับเป็นบริษัทที่ค่อนข้างใหม่ เพราะเพิ่งเข้ามาเมืองไทยได้ปีกว่าๆ เองค่ะ สโตร์ฮับเป็นระบบบริหารจัดการ POS ถ้าเป็นเมืองไทยก็คือระบบแคชเชียร์ ที่ไม่ใช่แคชเชียร์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นแคชเชียร์ที่ผูกดาต้าเบสเอาไว้ที่หลังบ้านด้วย ถ้าใช้แคชเชียร์ระบบของเรา ลูกค้าก็จะทราบความเป็นไปในสต๊อก แคชเชียร์นี้ใครเป็นคนเปิดกะ-ปิดกะ ลูกน้องคนไหนถอนเงินก้อนไหนไปใช้รึเปล่า ลูกค้าคนไหนเป็นลูกค้าประจำของเรา
คือสามารถบันทึกได้ภายในเครื่อง POS หรือระบบ Point of Sale System ได้ทั้งหมดเลย หลายคนอาจเคยเห็นเครื่องเก็บเงินสีดำๆ ตามห้างทั่วไปมาบ้าง อันนั้นเป็นเครื่องบันทึกเงินจริงๆ มีหน้าที่บันทึกเงินสดในบัญชีของตัวเครื่อง แต่เซอร์วิสหรือเครื่อง POS ของเราก้าวไปไกลกว่านั้นค่ะ
ยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจนก็คือ ถ้าเป็น POS เครื่องสีดำธรรมดา ก็จะแค่บันทึกว่าขายอะไรไปเท่าไร กี่โมงแค่นั้น แต่ระบบของเราจะเก็บฐานข้อมูลเอาไว้เยอะกว่านั้น เราก็จะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นระหว่างวันบ้าง แถมยังเป็นวิธีการเก็บดาต้าเบสไปพร้อมกันในตัวด้วย”
วี บอกว่า สำหรับหน้าที่ของเธอก็คือ ดูแลบริหารจัดการทีมงานและดูแลลูกค้าที่ใช้ระบบ POS ของสโตร์ฮับ ซึ่งที่จริงระบบนี้มีมานานมากแล้ว แต่สมัยก่อนราคายังแพงอยู่ คนยังเข้าถึงยาก แต่ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวไปไกล ทำให้ราคาถูกลงได้ ลูกค้าจึงสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
“เนื่องจากสโตร์ฮับมีบริษัทแม่อยู่ที่มาเลเซีย การทำให้บริษัทแม่เข้าใจว่าจริงๆ แล้วการตลาดในประเทศไทย ต้องการแบบไหนนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก อย่างที่มาเลเซียเขาจะแข่งกันในเรื่องอี-วอลเล็ต หรือการจ่ายค่าสินค้าและบริการผ่านแอพพลิเคชั่น แต่ที่ไทยยังไม่ใช่ บ้านเรายังเป็นคิวอาร์โค้ดอยู่ ก็เป็นความแตกต่างเล็กๆ น้อยๆ จึงทำให้การดีไซน์โปรดักต์ในแต่ละที่ไม่เหมือนกัน
ก่อนจะมาทำงานที่สโตร์ฮับ เคยมีประสบการณ์ในการทำงานด้านมาร์เก็ตติ้งมาก่อน จากนั้นก็ทำงานในแผนกเซลส์ของบริษัท ยูนิลีเวอร์ (ประเทศไทย) โดยดูแลในส่วนของผลิตภัณฑ์แบรนด์วาสลีนและโดฟ ก่อนที่จะย้ายไปดูแลผลิตภัณฑ์โอโม่ในฐานะผู้จัดการแบรนด์ จนสามารถทำให้แบรนด์โอโม่มีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ตอนนั้นก็รู้สึกภูมิใจมากค่ะ
จากนั้นก็ไปศึกษาต่อปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจที่ MIT Sloan ในช่วงนั้นก็ได้ค้นพบโลกที่น่าสนใจของอินเทอร์เน็ต จนทำให้มีโอกาสได้เข้าไปร่วมงานกับ Google และ Facebook ในเวลาต่อมา ซึ่งการทำงานกับสองแพลตฟอร์มนี้ ทำให้กลายเป็นที่ปรึกษาด้านการตลาดแก่ผู้ลงโฆษณาหลายร้อยราย”
กระทั่งตลาดออนไลน์เริ่มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เธอได้ประสบการณ์ในช่วงเวลานั้นถึงการตลาดหรือมาร์เก็ตติ้งยุคใหม่ในโลกดิจิทัล
“ตอนทำงานที่บริษัทกูเกิลใหม่ๆ ออนไลน์เพิ่งจะเริ่มเข้ามา ตอนนั้นยังคิดเลยว่า นี่เราจะเริ่มทำออนไลน์ มาร์เก็ตติ้งอย่างไรดี ด้วยความใหม่ของดิจิทัลด้วย บวกกับธุรกิจหลักของกูเกิลคือการขายโฆษณาออนไลน์ กูเกิลก็อยากรู้ว่าคนที่มาซื้อโฆษณากับกูเกิลนั้นทำธุรกิจแบบไหน ไม่งั้นกูเกิลจะเก็บได้แต่ตัวเลข แต่จะไม่ทราบที่มาที่ไป จึงทำให้ทราบว่าธุรกิจที่มาซื้อโฆษณาในกูเกิล
มีทุกแบบเลย ทั้งขายประกัน ขายอาหารนก ขายทัวร์ ฯลฯ เรียกว่าคนเสิร์ชคำว่าอะไร คำนั้นจะสามารถขายโฆษณาได้เลย ทำงานอยู่ที่กูเกิล 2 ปีครึ่งได้”
วี เล่าว่า จากการทำงานตรงนั้นถือเป็นการเปิดประสบการณ์และเปิดโลกทางด้านเทคโนโลยีให้เธออย่างมาก จากที่แต่ก่อนไม่เคยสนใจก็เริ่มศึกษาหาความรู้ขึ้นเรื่อยๆ และในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกันนั้นเอง ก็เป็นช่วงที่คนส่วนใหญ่เริ่มหันมาใช้เฟซบุ๊กกัน เรียกว่าตอนที่เธอเรียนต่อปริญญาโทอยู่ที่เมืองนอก เป็นช่วงเริ่มต้นของเฟซบุ๊กพอดี
“ข้อดีของการมีอินเทอร์เน็ตเข้ามาก็คือ ช่วยทำให้ธุรกิจหลายอย่างเข้าถึงโฆษณาได้รวดเร็วมากขึ้น กระชับขึ้น ต่อมาดิฉันได้มีโอกาสเข้าทำงานที่บริษัทเฟซบุ๊ก การทำงานที่นี่ต่างจากบริษัทกูเกิลมาก แม้กูเกิลจะเป็นบริษัทใหญ่และดีมาก แต่มันก็ไม่ใช่ภาพทั้งหมดของ Advertising ไม่ใช่ภาพทั้งหมดของอินเทอร์เน็ต
เราก็เลยอยากเปิดโลกของตัวเองให้มากขึ้น พอได้ไปทำงานที่เฟซบุ๊ก ก็พบว่าโจทย์ของสองบริษัทนี้คล้ายกันมาก ตรงที่ว่าเขาเห็นตัวเลข แต่เขาไม่รู้ที่มาที่ไป อีกอย่างคนไทยเองก็มีวิธีใช้เฟซบุ๊กที่ไม่เหมือนคนประเทศอื่นด้วย
อย่างเช่นทุกวันนี้เป็นเรื่องปกติมากที่คนไทยจะซื้อของผ่านเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรม ซึ่งจริงๆ แล้วประเทศอื่นเขาไม่ทำกัน คนไทยชอบขอคุยกับแม่ค้าก่อนซื้อ ถ้าสหรัฐหรือญี่ปุ่นจะคุ้นชินกับการซื้อของผ่านเว็บไซต์หรือผ่านแอพพลิเคชั่น นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เราสอนเฟซบุ๊กว่า เมืองไทยมันไม่เหมือนที่อื่น
เพราะมีธุรกิจบนเฟซบุ๊กที่คาดไม่ถึงเยอะแยะ เช่น ขายเสื้อผ้า ขายอาหารเดลิเวอรี่ ซึ่งมันจะต่างกับกูเกิลในเรื่องประเภทของธุรกิจด้วย พอมาทำงานที่เฟซบุ๊กเราก็ได้ดูแลทีม เพราะว่าตอนที่ทำนั้นย้ายจากสิงคโปร์มาที่เมืองไทยด้วย จึงต้องมาสร้างทีมใหม่ที่นี้ ดิฉันทำงานที่เฟซบุ๊กประมาณ 3 ปีได้ค่ะ”
วี บอกว่า ด้วยความที่เธอชื่นชอบเทคโนโลยี และมีความสนใจในธุรกิจสตาร์ทอัพเป็นอย่างมาก รวมถึงเคยร่วมงานกับ ไว ฮง ฟง ผู้ก่อตั้ง StoreHub ระหว่างที่เธอทำงานอยู่ที่เฟซบุ๊ก ซึ่งทั้งสองคนมีแนวคิดและเป้าหมายการทำงานที่คล้ายกัน จึงทำให้เธอมีโอกาสได้เข้ามาร่วมงานกับสโตร์ฮับซึ่งเป็นบริษัทที่มีโมเดลธุรกิจและเทคโนโลยีที่น่าสนใจ เพื่อร่วมขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี โดยช่วยให้ธุรกิจไทยสามารถบริหารจัดการและควบคุมสินค้าคงคลังด้วยระบบ POS ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
“ระบบ POS เป็นระบบหลังบ้านที่ช่วยตรวจสอบทั้งเรื่องเงินและสินค้าในสต๊อกของคนทำธุรกิจในกลุ่มสตาร์ทอัพ ซึ่งส่วนใหญ่เวลาทำธุรกิจจะคิดแค่ว่า จะหาสินค้าอะไรมาขายเพื่อให้อินเทรนด์ หรือให้โดนใจลูกค้า โลเกชั่นไหนเวิร์กสุด หรือจะทำการตลาดอย่างไรดี แต่อาจจะไม่เคยเช็กว่าเงินในลิ้นชักหายไปไหน 2,000 บาท ใครเอาไปใช้ หรือว่าเรามีร้านอยู่ตรงนี้ แต่โกดังอยู่ตรงนั้น
เราขนย้ายเสื้อมา 2,000 ตัว แต่เสื้อหายไป 100 ตัว เป็นต้น พูดง่ายๆ ว่าเราขายระบบ POS ซึ่งเป็นการเช็กเงิน เช็กกะ หรือเช็กสต๊อกนั่นเอง หรืออย่างเวลาเราไปกินอาหารที่ไหน พนักงานมักถามว่าเราเป็นสมาชิกไหม ถ้าไม่มีเขาก็จะยื่นกระดาษใบหนึ่งให้เรา พอเรากรอกข้อมูลในกระดาษแล้ว ก็จะมีคนทำหน้าที่นำข้อมูลในกระดาษนั้นไปลงในดาต้าเบสอีกที
กระบวนการทั้งหมดนี้ ถ้าจะย่นเวลาทั้งหมดเราก็ต้องผูกข้อมูลทุกอย่างไว้ด้วยกัน ตั้งแต่การทำสต๊อกว่าสินค้าตัวนี้ขายที่ไหน ราคาเท่าไร ใครเป็นคนซื้อ คือสโตร์ฮับตั้งใจจะมาตอบโจทย์ในส่วนนี้ ถ้าคุณเป็นลูกค้าของเรา คุณก็จะรู้ได้ทั้งหมดเลย เรียกว่ามันคือกระบวนการหลังบ้านที่ละเอียดมากๆ เมื่อเจ้าของธุรกิจตัดสินใจซื้อระบบของเรา ก็จะมีเจ้าหน้าที่ไปเซตอัพระบบให้ถึงที่เลยค่ะ”
วี เสริมว่า ตอนนี้ตลาดไทยยังไม่เข้าใจสโตร์ฮับเหมือนที่ตลาดมาเลเซียเข้าใจ เนื่องจากที่มาเลเซียเป็นธุรกิจแม่ ดังนั้นวิธีที่จะทำให้คนไทยเข้าใจธุรกิจติดตั้งระบบ POS ของสโตร์ฮับก็คือ การทำให้เจ้าของร้านเห็นภาพว่า ถ้ามีเครื่องนี้อยู่ในร้านแล้วชีวิตเขาจะง่ายขึ้นยังไงบ้าง
“ปัจจุบันสโตร์ฮับได้เข้ามาเริ่มธุรกิจที่เมืองไทยได้เกือบ 2 ปีแล้ว ก็มีลูกค้าเข้ามาหาเราตลอด ส่วนมากเป็นธุรกิจรีเทล เช่น ขายเสื้อผ้า ขายกระเป๋า พวกนี้จะค่อนข้างเยอะ ส่วนใหญ่จะเป็นร้านที่มีหน้าร้าน ร้านค้าออนไลน์เราก็พอมีบ้าง เพราะเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างยูนีคสำหรับประเทศไทย
สำหรับทิศทางการทำธุรกิจของสโตร์ฮับเราก็อยากให้มันเติบโตเยอะขึ้น อย่างออฟฟิศทุกวันนี้ที่เห็นก็มีพนักงานอยู่ 20 กว่าคน จากเดือนแรกที่ดิฉันเข้ามามีอยู่ 10 คนเท่านั้น ตอนนี้เราก็เริ่มทำมาร์เก็ตติ้ง จนเริ่มมีลูกค้าสนใจและอยากจะเข้ามาชมระบบ อยากทดสอบระบบ
ลูกค้าบางคนเริ่มบอกต่อเพื่อนๆ ให้มาใช้บริการของระบบเราด้วย เรียกว่าเราโตขึ้นมาประมาณ 2 เท่าในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ส่วนช่องทางที่เราใช้โปรโมทธุรกิจติดตั้งระบบของเราก็คือช่องทางออนไลน์ รวมทั้งการทำออนไลน์ มาร์เก็ตติ้ง ตามยุคสมัยปัจจุบันอีกด้วย”
วี บอกต่อว่า ตอนนี้ในเมืองไทยมีลูกค้าที่เข้ามาซื้อระบบ POS ของสโตร์ฮับไปใช้ประมาณ 400 ร้านค้าแล้ว แต่ภายในสิ้นปีนี้ เธออยากจะได้ลูกค้าเพิ่มเป็น 1,000 ราย จากนั้นก็ค่อยๆ ขยับไปเรื่อยๆ นี่แหละคือสิ่งที่เธอคาดหวังไว้
“เนื่องจากงานของเราเป็นการติดตั้งระบบตรวจสอบรายการหลังบ้าน ทุกอย่างจะถูกเซตมาอยู่แล้ว เรียกว่าการใช้อุปกรณ์หน้าร้านของเราน่าจะใช้ง่ายที่สุดแล้วในตอนนี้ แน่นอนว่าเรามีงานหลังบ้านที่ต้องไปเซตอัพให้ละเอียดต่อไป อย่างร้านอาหารที่นำระบบเราไปใช้ ก็จะเช็กได้ว่าสินค้าเมนูเซตนี้ ราคาเท่านี้ โต๊ะนี้สั่งกี่ชุดก็ว่าไป
คือเรา Input ข้อมูลผ่านจุดนี้ได้จริง โดยที่หลังบ้านได้รับการผูกข้อมูลเอาไว้แล้วว่า เบอร์เกอร์ไก่ชุดนี้ต้องใช้ไก่ 100 กรัม ใช้ผัก 1 ถ้วย คือเราจะผูกข้อมูลทุกอย่างได้อย่างละเอียดยิบเลย ซึ่งเมื่อก่อนระบบนี้บ้านเรายังไม่มี ถ้ามีก็จะแพงและไม่ละเอียดเท่านี้ค่ะ
สิ่งสำคัญอีกอย่างคือข้อมูลทุกอย่างของลูกค้าจะถูกเก็บไว้บนคลาวด์ โดยเราคิดตามสตอเรจที่ลูกค้าใช้ เริ่มต้นที่ปีละ 1 หมื่นบาท เฉลี่ยเดือนหนึ่งไม่ถึงพันบาท และเสียอีก 1 หมื่นบาท เฉพาะค่าซอฟต์แวร์ ถ้าลูกค้าจะใช้ก็ต้องมีไอแพดที่สามารถลิงค์กับเครื่องได้ หรือจะซื้อพรินเตอร์เพิ่มก็ไม่แพงอยู่ดี
รวมๆ แล้วก็อาจจะอยู่ที่ 3-4 หมื่นบาท ถ้าเปรียบเทียบกับสมัยก่อนที่เป็นเครื่องสีดำก็ต้องมีหลักแสนบาท แถมยังเก็บข้อมูลไม่ละเอียดเท่า และยังไม่มีการเก็บข้อมูลให้เอ็กซ์ปอร์ตหรือนำไปใช้ต่อได้เลย”
วี ทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันสโตร์ฮับเติบโตและได้รับความไว้วางใจจากลูกค้ามากกว่า 3,700 ร้าน ใน 15 ประเทศ ด้วยการบริการที่มีคุณภาพ ทั้งการสร้างระบบบริหารคลังสินค้าอัจฉริยะ การบริหารลูกค้าด้วยแพลตฟอร์มบนระบบคลาวด์ ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานหน้าร้านและหลังร้านที่มีความทันสมัยมากขึ้น รวมถึงสร้างโอกาสการเติบโตของ SMEs และช่วยให้ธุรกิจก้าวหน้าไปในอนาคตอีกด้วย… อัพเดทได้ที่ www.storehub.com/th และ FB : StoreHubTH