ธุดงค์ธรรมยาตราพุทธภูมิ ฝึกขันติ ขัดเกลาจิตใจ เผยแผ่ศาสนา
พระพุทธศาสนาถือกำเนิดในสาธารณรัฐอินเดีย สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลล่วงผ่านมาถึง 2,600 กว่าปียังปรากฏหลักฐานให้เห็น
เรื่อง วรธาร ทัดแก้ว
พระพุทธศาสนาถือกำเนิดในสาธารณรัฐอินเดีย สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลล่วงผ่านมาถึง 2,600 กว่าปียังปรากฏหลักฐานให้เห็น ชาวพุทธทั่วโลกจึงมักเดินทางไปแสวงบุญ กราบไหว้สังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่ง คือ ลุมพินีวัน สถานที่ประสูติ (ปัจจุบันอยู่ในเขตเนปาล) ต้นพระศรีมหาโพธิ์ สถานที่ตรัสรู้ อยู่ที่พุทธคยา สารนาถ สถานที่แสดงปฐมเทศนา อยู่พาราณสี และกุสินารา สถานที่ปรินิพพาน
นอกจากไปแสวงบุญแล้ว ยังมีโครงการอุปสมบทพระภิกษุ ณ ประเทศอินเดีย ในความรับผิดชอบกองงานพระธรรมทูตสายอินเดียและเนปาล โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ที่วัดไทยพุทธคยา และโดยการจัดขึ้นของ สมเด็จพระธีรญาณมุนี เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส ณ วัดป่าพุทธคยา ซึ่งทั้งสองแห่งมีผู้สมัครบวชจำนวนมาก
อีกกิจกรรมคือโครงการเดินธุดงค์ในดินแดนพุทธภูมิ แต่ชื่อโครงการจะแตกต่างกันไปขึ้นกับผู้จัด ทว่าที่เข้มแข็งที่สุดคือโครงการธรรมยาตราตามรอยบาทพระศาสดา พุทธภูมิ อินเดีย-เนปาล จัดโดยกองงานพระธรรมทูต อินเดีย-เนปาล มี พระครูนรนาถเจติยาภิรักษ์ (สมพงศ์ ญาณธีโร) ผู้ปฏิบัติหน้าที่ดูแลวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ เป็นหัวหน้ารับผิดชอบ โดยได้รับแต่งตั้งจาก พระธรรมโพธิวงศ์ (วีรยุทธ์ วีรยุทฺโธ) เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา หัวหน้าพระธรรมทูตอินเดีย-เนปาล
วันนี้พามารู้จักโครงการเพื่อคลายความสงสัยของบางคนว่าทำไมจึงต้องจัดเดินธุดงค์ที่อินเดีย ทำไมพระต้องตรากตรำลำบากไปผจญแดด ฝน ลม หนาว เดินทางไกลเป็นพันๆ กิโล ผจญกับสิ่งแวดล้อมที่ไม่คุ้นชิน ทั้งบุคคล สถานที่ สภาพอากาศ นอนกลางดินกินกลางทราย ไหนจะต้องเจอกับปัญหาและอันตรายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น
จุดเริ่มต้นธุดงค์ธรรมยาตราพุทธภูมิ
โครงการนี้จัดขึ้นทุกปีระหว่างเดือน ธ.ค.ไปจนถึง มี.ค.ของปีถัดไป โดยจัดมาแล้ว 5 รุ่น ปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 6 กำลังอยู่ในช่วงการเปิดรับสมัครพระภิกษุเข้าร่วมโครงการไปจนถึงวันที่ 14 พ.ย. ณ ตอนนี้มีผู้สมัครมาแล้ว 180 รูป แต่จะถูกคัดเหลือ 120 รูป ร่วมเดินทางไปอินเดีย
พระครูนรนาถเจติยาภิรักษ์ หัวหน้าผู้รับผิดชอบเล่าว่า เดิมโครงการนี้ วัดนาคปรก กรุงเทพมหานคร โดย พระกิตติโสภณวิเทศ เจ้าอาวาส ได้ริเริ่มจัดมาก่อนแล้ว 3 รุ่น โดยกองงานพระธรรมทูตอินเดีย-เนปาล ให้ความอุปถัมภ์ทุกครั้ง แต่ต่อมาทางวัดนาคปรกแบกรับภาระ
ค่าใช้จ่ายไม่ไหว โดยงบประมาณที่ใช้แต่ละครั้งอยู่ที่ประมาณ 4 ล้าน พอรุ่นที่ 4 กองงานพระธรรมทูตจึงเข้าไปรับภาระทั้งหมดและรับโครงการมาดูแล เพราะมองเป็นโครงการที่ดีและตอบโจทย์งานพระธรรมทูตอินเดีย-เนปาล แต่ยังร่วมกับทีมวัดนาคปรก เช่น เปิดรับสมัครที่วัดนาคปรก การคัดเลือกพระร่วมโครงการก็ใช้พระวัดนาคปรก ซึ่งผ่านการเดินธุดงค์ที่อินเดียมาแล้ว
“อาตมาอยากบอกว่าการที่วัดไทยในอินเดียและเนปาลซึ่งมีเป็นสิบๆ วัดแต่ไม่เคยมีวัดใดที่ขาดพระไปอยู่ ก็เพราะโครงการนี้ หลังจากโครงการสิ้นสุดก็จะมีพระเหล่านี้หลายรูปสมัครใจอยู่อินเดียต่อ เพื่อทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาและช่วยพัฒนาวัด รุ่น 5 ที่ผ่านมามีพระธุดงค์สมัครใจอยู่อินเดีย 50 รูป ทางกองงานพระธรรมทูตก็จัดสรรไปอยู่ตามวัดไทยในที่ต่างๆ ตามเหมาะสม
พระที่ผ่านโครงการนี้อาตมากล้าพูดได้เลยว่าเป็นผู้มีศรัทธาในพระพุทธเจ้าสุดหัวใจและมีคุณภาพเนื่องจากได้รับการฝึกเป็นอย่างดี มีความอดทน มีอาจาระ (ความประพฤติ) น่าเลื่อมใส ที่สำคัญแต่ละรูปมีความสามารถที่แตกต่าง เช่น บางรูปจบวิศวะ เป็นช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า ช่างปูน ช่างไม้ ช่างอิเล็กทรอนิกส์ เวลาอยู่วัดก็จะใช้ความสามารถที่มีมาพัฒนาวัด
ที่สำคัญโครงการนี้ได้ทำให้ความปรารถนาของพระภิกษุที่อยากจะมากราบพระพุทธเจ้าถึงอินเดียสมความตั้งใจ ส่วนใหญ่พระเหล่านี้แม้จะบวชมานานแต่ไม่เคยมาอินเดีย บางรูปอาจเคยมาแต่ไม่เคยเดินทางไปสังเวชนียสถานครบทั้ง 4 โครงการนี้ถือเป็นสะพานบุญให้ท่านเหล่านี้สมปรารถนาและเกิดความศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น”
คุณสมบัติผู้สมัครและการคัดเลือก
พระประวัติ ปวัตโต อายุ 35 ปี พรรษา 15 พระลูกวัดนาคปรก ผ่านการเดินธุดงค์ในอินเดียและเนปาลมาแล้วเกือบ 10 ครั้ง และกับโครงการนี้ก็เดินทางมาตั้งแต่รุ่นที่ 1-5 ที่สำคัญยังเป็นผู้นำในการเดินธุดงค์ของโครงการอีกด้วยตั้งแต่รุ่น 2 เรื่อยมาถึงปัจจุบัน เล่าว่า โครงการจะเริ่มเดินจากพุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ ไปราชคฤห์ กุสินารา ลุมพินีวัน (อยู่เนปาล) กลับมาสาวัตถี ไปสารนาถ แล้ว
กลับมาวัดไทยพุทธคยา ระยะทางประมาณ 2,700 กม. ใช้เวลาเดินประมาณ 3-4 เดือน วันหนึ่งเดินประมาณ 40 กม. และตื่นตี 3 เริ่มเดินตี 4 ทุกวัน
“ผู้ที่ได้ไปต่อกับโครงการได้จึงหมายถึงผู้ที่พร้อมทั้งร่างกายและจิตใจทุกอย่าง ผู้สมัครจึงต้องมีคุณสมบัตินอกจากมีหนังสือเดินทาง สำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนวัด หรือทะเบียนบ้านแล้ว สุขภาพร่างกายต้องแข็งแรง ต้องเปี่ยมด้วยศรัทธา มีขันติแรงกล้า ต้องผ่านการทดสอบและการพิจารณาจากคณะพระทีมงานและผู้ดำเนินงาน
บททดสอบสำคัญ คือ ทุกรูปต้องร่วมเดินธุดงค์ที่เมืองไทยก่อนเพื่อจะได้รู้ว่ารูปไหนผ่านไม่ผ่าน คณะกรรมการจะดูความประพฤติและทัศนคติด้วย แต่รุ่นที่ผ่านๆ มาผู้ที่ไม่ผ่านมักลาออกไปเองเพราะเดินไม่ไหว สำหรับรุ่น 6 นี้จะเริ่มบททดสอบในวันที่ 15 พ.ย. เดินจาก จ.สระแก้ว ไปวัดพระนารายณ์ จ.นครราชสีมา จากนั้นเดินย้อนมาวัดสุวรรณภูมิพุทธชยันตี จ.สมุทรปราการ ถึงวันที่ 26 ธ.ค. พัก 1 วัน และเดินทางไปอินเดียวันที่ 28 ธ.ค.” พระประวัติ กล่าว
ณ ตอนนี้ภิกษุรูปใดที่สนใจอยากเข้าร่วมโครงการฯ สามารถสมัครส่งเอกสารและติดต่อได้ที่พระอาจารย์บุญเหลือ (อ๊อด) โทร. 09-5436-3691 ไลน์ไอดีเบอร์เดียวกัน
ทุกที่ที่ไป โสหัง...สุนัขพันธุ์บ้านๆ ร่วมทางอารักขา
สิ่งหนึ่งที่สร้างสีสันและความประทับใจให้กับเหล่าภิกษุคณะธุดงค์โครงการธรรมยาตราฯ คือ สุนัขแสนรู้ที่ชื่อว่า “โสหัง” ซึ่งมีความคล้ายคลึงสุนัขพันธุ์ไทยและฟังภาษาไทยรู้เรื่อง ซึ่งเจ้าโสนี้ได้ร่วมเดินธุดงค์กับพระภิกษุมาตั้งแต่รุ่นที่ 3-5 รุ่นที่ 6 ก็จะร่วมเดินทางด้วย และจะอยู่ข้างหน้ากับพระประวัติ ผู้นำในการเดินธุดงค์เสมอ
“ตอนอาตมานำเดินรุ่นที่ 3 ช่วงโค้งสุดท้าย 800 กม. มีหมาสองตัวตามมาจากเนปาล พอคณะเดินทางมาถึงด่านโสเนาลี พรมแดนเนปาลกับอินเดีย ก็เห็นเจ้าโส รูปร่างผอม เนื้อตัวสกปรก ตามตัวเต็มไปด้วยคราบน้ำมันจาระบี ดำๆ เขียวๆ เดินๆ งงเข้ามา หมาสองตัวที่ตามมาจากเนปาลเห็นก็วิ่งเข้าใส่แต่ไม่ได้ทำอะไรเจ้าโส
ตอนนั้นเส้นทางที่จะเดินต่อไปยังไม่เคยไป ได้ยินว่าอันตราย เลยนึกถึงพุทธบารมี แวบนั้นก็คิดเล่นๆ ว่าเจ้าโสอาจถูกส่งมาดูคณะธุดงค์ก็ได้ ไม่น่าเชื่อพอเราเดินมันก็เดินตาม ไม่ห่างเลย พอถึงที่พักก็จับอาบน้ำแต่งตัวเดินทางไปด้วยกัน มันชอบมาเดินข้างหน้าหรือเดินคู่กับอาตมาตลอดไม่เคยห่าง ถ้ามีหมาตัวอื่นหรือใครเข้ามามันจะคอยเป็นด่านหน้า กล้าหาญและแสนรู้มาก เวลาพระเดินก็เดิน พระนั่งนอนก็เฝ้าอยู่ใกล้ๆ ไปไหนก็ไปด้วย
ตอนที่เดินทางกลับมาวัดไทยพุทธคยา อาตมาพูดกับมันว่าอีกไม่กี่วันเราจะกลับเมืองไทยแล้ว ถ้าโสจะอยู่ต่อไม่ไปไหน ให้ไปอยู่กับหลวงพ่อพระธรรมโพธิวงศ์ เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยานะ เอารูปหลวงพ่อที่อยู่ในโทรศัพท์ให้ดู พอถึงวัดไทยพุทธคยา
มันเห็นหลวงพ่อเดินมาก็เดินเข้าไปหาเลย หลวงพ่อถามว่าหมามาจากไหนก็เล่าให้ท่านฟัง จากนั้นมันก็อยู่กับหลวงพ่อ คอยเฝ้าหน้าประตู เวลาหลวงพ่อออกไปข้างนอกก็คอยส่งถึงประตูวัด ฉลาดมาก หลวงพ่อตั้งชื่อให้ว่าโสหัง จะร่วมธุดงค์ไปกับรุ่นที่ 6 ด้วย”
ด้าน พระครูนรนาถเจติยาภิรักษ์ เล่าเสริมว่า วีรกรรมที่น่ายกย่องของเจ้าโสสุนัขแสนฉลาดตัวนี้ อุ๊ ช่อผกา วิริยานนท์ พิธีกร ดาราและอดีตผู้ประกาศข่าวชื่อดังได้เขียนหนังสือพ็อกเกตบุ๊กเกี่ยวกับเรื่องราวของโสหัง และนำรายได้จากการขายหนังสือสมทบเข้ากองทุน “ครูพระธุดงค์” ที่เธอตั้งขึ้นด้วยเงิน 1 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนสำหรับโครงการธุดงค์
“เวลาที่ทุนในการจัดโครงการธุดงค์ไม่พอ หรือยังไม่มีเพื่อดำเนินงานอาตมาก็ใช้เงินกองทุนนี้มาสำรองก่อน พอได้เงินมาจากผู้บริจาคก็เอามาคืน เพราะฉะนั้น ถ้าอาตมาไม่ได้ทำ รูปอื่นทำก็สามารถเอาเงินจากกองทุนนี้มาใช้สำรองในการเตรียมงานไปก่อนได้ และพอได้เงินมาก็เอาใส่ไว้คืน” พระครูนรนาถเจติยาภิรักษ์ กล่าว
ความรู้สึกของที่ได้ร่วมโครงการ
พระทรงเกียรติ หิตกาโม อายุ 43 พรรษา 9 พระลูกวัดนาคปรก หนึ่งในผู้สมัครเข้าร่วมโครงการรุ่น 6 เล่าว่า เคยไปเดินธุดงค์ที่อินเดียมาครั้งหนึ่งแต่เดินไปได้แค่ครึ่งทางก็เดินทางกลับไทย ยังไม่เคยไปครบทั้ง 4 สังเวชนียสถาน ครั้งนี้อยากไปให้ครบทั้ง 4 แห่ง ทั้งที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา ปรินิพพาน
ด้าน พระประวัติ ผู้นำในการเดินธุดงค์ เล่าว่า ทุกรูปจะได้ฝึกความอดทน การเอาชนะใจตัวเอง เอาชนะความลำบากทุกอย่าง ทั้งอากาศ ถนนหนทาง บุคคล สิ่งแวดล้อม การเดินธุดงค์จะคอยขัดเกลากิเลส เช่น โลภะ โทสะ โมหะที่อยู่ในใจให้เบาบางลง จากที่เคยอยู่สบายในวัด ใช้เครื่องนุ่งห่มหลายผืน ไปไหนก็นั่งรถ อาหารฉันดีๆ ต้องมาตากแดดตากลม เดินบนกรวดหินดินทราย ลุยน้ำลุยโคลน ใช้ผ้าแค่ 3 ผืน 15 วันอาบน้ำครั้งหนึ่ง บางรูปแค่ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว บางรูปปวารณาถึงวัดไทยค่อยอาบ เชื่อว่าย่อมทำให้จิตของรูปนั้นแข็งแกร่งแน่นอน
“อนึ่ง ทุกรูปที่ไปถือว่าได้ช่วยกันประกาศศาสนา เชื่อไหมว่าตอนไปเดินรุ่นแรกคนอินเดียพอเห็นพวกเราเขาสงสัยว่าเราที่นุ่งห่มผ้าอย่างนี้เป็นใคร มาจากไหน มาเดินทำอะไร พอเราบอกจุดประสงค์ให้เขารู้ ปีที่ 2 เขาก็ออกมาใส่บาตร มาไหว้ มากล่าวนะโม บุ๊ดดา บางคนน้อมกายลงมาจูบที่หลังเท้า ตักน้ำล้างเท้าให้ก็มี” พระประวัติ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับท่านใดที่ต้องการทำบุญโครงการฯ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดการบริจาคและการทำบุญได้ที่เพจ “ธรรมยาตราตามรอยบาทพระศาสดาพุทธภูมิ อินเดีย-เนปาล”