posttoday

โรคซึมเศร้า...เรากำลังเป็นหรือเปล่า?

07 พฤษภาคม 2562

อ่านข่าวรายวัน พบคนเป็นโรคซึมเศร้ากันมากขึ้น มาเช็กกันหน่อยว่าตัวเราเข้าข่ายบุคคลต้องสงสัยหรือไม่?

อ่านข่าวรายวัน พบคนเป็นโรคซึมเศร้ากันมากขึ้น มาเช็กกันหน่อยว่าตัวเราเข้าข่ายบุคคลต้องสงสัยหรือไม่?
 
รู้หรือไม่ ว่าคนทุกเพศทุกวัยไม่ว่าเด็ก วัยรุ่น หรือคนชรา ก็มีอัตราเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าเท่าๆ กัน ปัญหาคือคนส่วนใหญ่ที่ป่วยเป็นซึมเศร้ามักจะไม่รู้ตัวว่ากำลังป่วยเป็น หรืออาจรู้ตัวอีกทีตอนที่อาการของโรคเข้าสู่ขั้นรุนแรงจนเกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันไปแล้ว หรือร้ายกว่านั้นก็อาจพรากชีวิตของคนที่เรารักไปอย่างคาดไม่ถึง
 
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้านั้นไม่ได้ถูกจัดประเภทว่าเป็นคนบ้า  หากแต่เป็นผู้ป่วยที่มีอาการป่วยทางอารมณ์ที่ควรได้รับการรักษา ก่อนจะมีพฤติกรรมทำร้ายตัวเองหรือคิดสั้นฆ่าตัวตาย ดังนั้น การทำความเข้าใจถึงสาเหตุของการเกิดโรค อาการ และวิธีรักษา จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรให้ความใส่ใจ

รู้จักโรคซึมเศร้าและผลกระทบ

โรคซึมเศร้าส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และความคิด โดยอาการเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในแต่ละวันอย่างมาก เช่น กินอาหารได้น้อยลง เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ สิ้นหวัง หดหู่ รู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสุขกับชีวิต วิตกกังวลตลอดเวลา และที่สำคัญคือผู้ป่วยจะไม่สามารถรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่ต้องเผชิญได้ดีพอ

โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ระบุว่า มีประชากรทั่วโลกประสบกับโรคซึมเศร้าประมาณ 350 ล้านคน ซึ่งวัฒนธรรมที่แตกต่างกันก็มีผลต่ออัตราการเกิดภาวะซึมเศร้าได้  ตามรายงานของวารสารประจำปีด้านสาธารณสุข (The Journal Annual Review of Public Health) กล่าวว่าอัตราการเกิดภาวะซึมเศร้าของทุกเพศทุกวัยในญี่ปุ่นจะอยู่ที่ 2.2% ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำ ในขณะที่บราซิลนั้นมีอัตราการเกิดภาวะซึมเศร้าสูงถีง 10.4% 

ส่วนในประเทศไทยนั้น โรคซึมเศร้าถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาด้านสุขภาพที่มีความสำคัญและน่าเป็นห่วงอย่างมาก โดยสังเกตได้จากสังคมในปัจจุบันนี้ที่มักมีข่าวเกี่ยวกับปัญหาการฆ่าตัวตาย รวมทั้งปัญหาการทำร้ายร่างกายตัวเองและคนรอบข้าง ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้นับเป็นเรื่องที่น่าสลดใจไม่น้อยทีเดียว นอกจากนี้ ยังพบว่า 50% ของผู้ที่ฟื้นตัวจากภาวะซึมเศร้าในครั้งแรก มักมีภาวะซึมเศร้าซ้ำอีกหนึ่งครั้งหรือมากกว่านั้น และ 80% ของคนที่เคยป่วยเป็นโรคซึมเศร้า มีภาวะซึมเศร้าเกิดขึ้นถึงสองครั้ง 

โรคซึมเศร้า...เรากำลังเป็นหรือเปล่า?

สาเหตุของโรคซึมเศร้า

ไม่ปรากฏสาเหตุที่แน่ชัด แต่คาดว่าเป็นผลมาจากหลายๆ ปัจจัยด้วยกัน ดังนี้

ความผิดปกติของสารเคมีภายในสมอง สารเคมีในสมองของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด โดยมีสารเคมีที่มีชื่อว่าเซโรโทนิน (Serotonin) และนอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine) ลดน้อยลงจากเดิม ทำให้สมดุลของสารเหล่านี้เปลี่ยนไปและเกิดความบกพร่องในการทำงานร่วมกัน

กรรมพันธุ์ หากคนในครอบครัวของคุณ เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง เคยป่วยด้วยโรคซึมเศร้ามาก่อน คุณก็อาจมีความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน

การเผชิญเรื่องเครียด เช่น เจอมรสุมชีวิตโดยไม่ทันได้ตั้งตัว หมดกำลังใจในการรักษาอาการเจ็บป่วยที่เรื้อรังหรือรุนแรงถึงชีวิต ตกงาน มีปัญหาเรื่องการเงินที่หาทางออกไม่ได้ มีปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด ถูกใช้ความรุนแรงหรือถูกล่วงละเมิดในวัยเด็ก รวมทั้งการพบเจอกับความสูญเสียในชีวิตที่ทำให้เสียใจเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียพ่อแม่ในขณะที่ยังอยู่ในช่วงวัยเด็ก สูญเสียคนรัก หรือสูญเสียครอบครัว 

ลักษณะนิสัย คนที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองต่ำหรือสูงมากเกินไป มองโลกในแง่ร้าย หรือชอบตำหนิกล่าวโทษตนเอง มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าได้มากกว่าคนที่มองโลกในแง่บวกและเห็นคุณค่าในตนเอง

การดื่มแอลกอฮอล์และการใช้สารเสพติด การพึ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสารเสพติดเพื่อให้ลืมความเสียใจและความเครียดจากเรื่องต่างๆ ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง แต่กลับทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าตามมาได้ด้วย

การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น ฮอร์โมนจากภาวะตั้งครรภ์ หรือภาวะต่อมไทรอยด์ผิดปกติ

ช่วงวัย โรคซึมเศร้าเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่พบว่าคนที่มีอายุระหว่าง 18-25 ปี มีแนวโน้มเกิดภาวะซึมเศร้ามากกว่าคนที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ถึงร้อยละ 60 และผู้หญิงจะมีแนวโน้มเกิดภาวะซึมเศร้ามากกว่าผู้ชาย

ชนิดของโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้าแบ่งออกเป็น 3 ชนิดด้วยกัน ซึ่งแต่ละชนิดมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป ดังนี้

1.Major Depression (โรคซึมเศร้าแบบรุนแรง) โรคซึมเศร้าชนิดนี้เกิดขึ้นเมื่อภาวะซึมเศร้ารบกวนความสุขในชีวิต การทำงาน การเรียน การนอนหลับ นิสัยการกิน และอารมณ์สุนทรีย์  ติดต่อกันอย่างน้อยสองสัปดาห์ บางคนอาจแสดงอาการของภาวะซึมเศร้าเพียงแค่ 1 อย่างก็ได้ ซึ่งอาการจะเกิดขึ้นเป็นครั้งๆ แล้วหายไป แต่ก็สามารถเกิดได้บ่อยครั้งเช่นกัน 

2.Dysthymia หรือ Persistent Depressive Disorder (โรคซึมเศร้าเรื้อรัง) เป็นโรคซึมเศร้าแบบเรื้อรังที่มีอาการทางอารมณ์ไม่รุนแรงนัก แต่จะเป็นไปอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยสองปี และมีอาการต่อไปนี้อย่างน้อย 2 อาการร่วมด้วย 
  • ทานอาหารได้น้อยลงหรือมากขึ้น
  • นอนไม่หลับหรือนอนมากเกินไป
  • อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
  • รู้สึกถึงคุณค่าในตัวเองต่ำ
  • ไม่มีสมาธิ หรือตัดสินใจอะไรได้ลำบาก
  • รู้สึกสิ้นหวัง
3.Bipolar หรือ Manic-depressive Illness (โรคซึมเศร้าอารมณ์สองขั้ว) ผู้มีภาวะซึมเศร้าบางคนอาจมีอาการผิดปกติแบบอารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder) ร่วมด้วย โรคซึมเศร้าชนิดนี้จะทำให้ผู้ป่วยมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ โดยมีอารมณ์แปรปรวนรุนแรงสลับไปมาระหว่างอารมณ์ดีผิดปกติ (Mania) ที่เป็นช่วงอารมณ์สนุกคึกคักเกินเหตุ พูดมากกว่าที่เคยเป็น กระฉับกระเฉงกว่าปกติ มีพลังงานในร่างกายเหลือเฟือ กับช่วงภาวะซึมเศร้า (Depression) ซึ่งโดยมากจะมีอาการอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ในบางคนก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ในช่วงอารมณ์ดีผิดปกตินั้น อาการที่เกิดขึ้นอาจมีผลกระทบต่อความคิดและการตัดสินใจของผู้ป่วย รวมทั้งอาจทำให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมหลงผิด หากผู้ป่วยในภาวะนี้ไม่ได้รับการรักษาจะทำให้กลายเป็นโรคจิตเภทได้
 
 
ภาพ freepik.com