โรคหัวใจครองแชมป์ตายอันดับ 1 ทั่วโลก ไทยสูญเสียโดยเฉลี่ยชั่วโมงละ 2 คน
แพทย์ มธ. เผยวิทยาการอัลกอริธึ่ม (Algorithm) ใหม่ ใช้คู่ไฮ เซนซิทิฟ คาร์ดิแอค โทรโพนิน ที (High sensitivity cardiac troponin T) วินิจฉัยไว เร่งรักษา ลดอัตราการเสียชีวิต
แพทย์ มธ. เผยวิทยาการอัลกอริธึ่ม (Algorithm) ใหม่ ใช้คู่ไฮ เซนซิทิฟ คาร์ดิแอค โทรโพนิน ที (High sensitivity cardiac troponin T) วินิจฉัยไว เร่งรักษา ลดอัตราการเสียชีวิต
ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน นับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้คนทั่วโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เฉพาะในประเทศไทยในปี ในปี 2559 พบผู้เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจ 19,030 คน คิดเป็นอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 29.09 ต่อประชากรแสนคน ส่วนผู้ป่วยโรคหัวใจรายใหม่อยู่ที่ 98,148 ราย มีอุบัติการณ์อยู่ที่ 150.1 ต่อประชากรแสนคน และมีอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่อง
ตัวเลขทางสถิติจากกระทรวงสาธารณสุข (16 กันยายน 2561) พบว่า มีจำนวนคนไทยที่ป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด 432,943 คน มีอัตราการเสียชีวิตถึง 20,855 คนต่อปี หรือชั่วโมงละ 2 คน และด้วยจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่มีจำนวนมาก ก่อให้เกิดปัญหาสถานการณ์ความแออัดของห้องฉุกเฉิน ซึ่งเป็นปัญหาด้านสาธารณสุข จากสถิติปี 2559 พบว่า ในประเทศไทยมีสถิติผู้ป่วยที่เข้ารับบริการการรักษาในห้องฉุกเฉินอยู่ที่ 458 :100,000 ประชากร ซึ่งสูงกว่าสหรัฐอเมริกา (421:100,000 ประชากร) ออสเตรเลีย (331: 100,000 ประชากร) และอังกฤษ (412 : 100,000 ประชากร) ทั้งนี้ ในประเทศไทยมีผู้ป่วยเข้ารับบริการในห้องฉุกเฉินเป็นจำนวนมากถึง 35 ล้านครั้งต่อปี และพบว่าเกือบร้อยละ 60 เป็นผู้ป่วยไม่ฉุกเฉิน (ข้อมูลจากคู่มือแนวทางการจัดบริการห้องฉุกเฉินที่เหมาะสมกับระดับศักยภาพสถานพยาบาล กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2562)
การพบผู้ป่วยที่ไม่ฉุกเฉินที่เข้ารับบริการในห้องฉุกเฉินเป็นจำนวนมาก ไม่ส่งผลดีต่อการปฏิบัติงานของบุคลากรในห้องฉุกเฉินเพื่อให้การรักษาและดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วนมากกว่า ดังนั้น เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน การพิจารณาคัดแยก (Triage) ว่าผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉินเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินที่แท้จริงหรือไม่ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
ผศ.นพ.พิสิษฐ หุตะยานนท์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิดเผยว่า ผู้ป่วยโรคหัวใจที่เข้ารับการตรวจรักษาในโรงพยาบาลนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มที่เข้ารับการตรวจแบบทั่วไป และกลุ่มที่เข้ารับการตรวจแบบฉุกเฉิน การตรวจวินิจฉัย ดูแล และรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจเหล่านี้ แพทย์จะใช้ protocol ที่เป็นแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยซึ่งได้รับการพัฒนา โดยทีมแพทย์และทีมบุคลากรที่เกี่ยวข้อง โดยอ้างอิงกับแนวทางเวชปฏิบัติจากสมาคมแพทย์โรคหัวใจ อเมริกา (American Heart Association) และสมาคมแพทย์โรคหัวใจยุโรป (European Society of Cardiology) รวมถึงแนวทางเวชปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดในประเทศไทย โดยสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย แนวทางดังกล่าว แพทย์จะอาศัยการตรวจสอบประวัติ ลักษณะอาการของผู้ป่วย ลักษณะของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และการพิจารณาว่ามีการเสื่อมสลายของกล้ามเนื้อหัวใจหรือไม่ โดยการเจาะเลือดเพื่อตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของระดับสารบ่งชี้ภาวะโรคหัวใจ (cardiac biomarker / cardiac troponin) ปัจจุบันจะเป็นการตรวจวัดสารบ่งชี้ภาวะโรคหัวใจแบบ high sensitivity cardiac troponin T ที่ให้ผลการตรวจวัดอย่างละเอียดและมีความแม่นยำ สามารถนำมาใช้กับ แนวทางการดูแลผู้ป่วยที่สงสัยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันแบบ 0 และ 1 ชั่วโมง (0h/1h algorithm) ซึ่งช่วยลดระยะเวลาในการวินิจฉัยผู้ป่วยที่สงสัยภาวะโรคหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลันที่ส่งผลให้เกิดลักษณะของกล้ามเนื้อหัวใจตายดังกล่าว จากเดิมที่ต้องรอการแปลผลการเปลี่ยนแปลงของสารบ่งชี้โรคหัวใจ 3-6 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น ก็ลดลงเป็นที่ 1 ชั่วโมง
แนวทางการรักษาดังกล่าวให้ประโยชน์อย่างน้อย 2 ประการ ประการแรกถือเป็นประโยชน์สำคัญที่ตกแก่ผู้ป่วย โดยหากแพทย์สามารถให้การวินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีภาวะโรคซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตสูงหรือมีภาวะแทรกซ้อนสูงหรือไม่ ภายในระยะเวลาที่สั้นลง จะส่งผลให้แพทย์สามารถตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมในขั้นตอนต่อไปได้เร็วขึ้น ในขณะเดียวกัน หากผลการตรวจเลือดไม่พบการเปลี่ยนแปลงของ high sensitivity cardiac troponin T การตั้งสมมติฐานที่ว่าผู้ป่วยอาจมีภาวะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบนั้น อาจมีความเป็นไปได้น้อย แพทย์ก็จะสามารถมุ่งประเด็นสู่การหาสาเหตุอื่นที่สามารถอธิบายอาการของผู้ป่วยได้เร็วขึ้นเช่นกัน แทนที่จะต้องรออีก 2-3 ชั่วโมง ซึ่งแน่นอนว่าการวินิจฉัยที่รวดเร็วขึ้นดังกล่าว จะสามารถบรรเทาความไม่สบายใจ การลังเลสงสัย และความกังวลของทั้งตัวผู้ป่วยเองและญาติของผู้ป่วย จากการรอฟังผลจากแพทย์ลงไปได้อย่างมาก
ประโยชน์ประการที่ 2 การที่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยเร็วขึ้น และได้รับการส่งต่อไปยังตำแหน่งที่ควรได้รับการรักษาได้รวดเร็วขึ้น หรือได้รับการพิจารณาให้สามารถกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย แพทย์และบุคลากรในห้องฉุกเฉินจะมีเวลาในการดูแลผู้ป่วยหนักรายอื่นเพิ่มขึ้น ลดปัญหาความแออัดของห้องฉุกเฉินได้อย่างมาก และส่งผลดีต่อระบบการรักษาดูแลผู้ป่วยโดยรวม
ด้าน รศ.นพ.วินชนะ ศรีวิไลทนต์ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า ปัญหาที่พบได้ในห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ก็คือการมีผู้ป่วยมารับการรักษาเป็นจำนวนมาก ผู้ป่วยต้องรอที่ห้องฉุกเฉินเพื่อรับการวินิจฉัย ดูแล และรักษา เป็นเวลานาน สาเหตุมักมาจากจำนวนเตียงภายในหอผู้ป่วยที่ไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วย ปัญหานี้เราเรียกว่า Emergency Department Overcrowding ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บเค้นบริเวณหน้าอกถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการมีภาวะการตายของกล้ามเนื้อหัวใจ การได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่รวดเร็วจึงมีความสำคัญมาก ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ ที่ห้องฉุกเฉินโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจและต้องรอที่ห้องฉุกเฉินเป็นเวลานานนั้น มักพบผลลัพธ์ที่ไม่ดีในการรักษาเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่อยู่ในห้องฉุกเฉินภายในระยะเวลาที่สั้นกว่า
การตรวจวัดสารบ่งชี้ภาวะโรคหัวใจแบบ high sensitivity cardiac troponin T ที่มีความไวสูง สามารถช่วยแพทย์ตรวจพบความเสียหายของกล้ามเนื้อหัวใจที่จะเกิดขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย การ นำแนวทางการดูแลผู้ป่วยที่สงสัย ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันแบบ 0 และ 1 ชั่วโมง (0h/1h algorithm) มาปรับใช้สำหรับ ผู้ป่วยที่สงสัยภาวะโรคหัวใจในห้องฉุกเฉินนั้น สามารถช่วยแพทย์ในการพิจารณา rule-out หรือคัดผู้ป่วย ที่มีความเสี่ยงระดับต่ำ (low risk) ออกจากการสงสัยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้ซึ่งเชื่อว่า น่าจะตอบปัญหาที่เกิดขึ้นในห้องฉุกเฉิน นั่นคือผู้ป่วยที่นอนรอที่ห้องฉุกเฉินนานเกินไปจะได้รับการวินิจฉัยที่รวดเร็วขึ้น แพทย์จะสามารถพิจารณาในระยะเวลาที่สั้นลงว่า เมื่อใช้แนวทางแบบ 0 และ 1 ชั่วโมง (0h/1h algorithm) แล้วไม่พบความเปลี่ยนแปลงของระดับ high sensitivity cardiac troponin T รวมทั้งประเมินความเสี่ยงแล้วผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย หรือกรณีผลการตรวจ high sensitivity cardiac troponin T มีการเปลี่ยนแปลงสูงเกินค่า cut-point ของแนวทางแบบ 0 และ 1 ชั่วโมง (0h/1h algorithm) อย่างชัดเจน ผู้ป่วยก็จะได้รับการเริ่มต้นการรักษาอย่างรวดเร็ว หรือมีความจำเป็นต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ลดอัตราการเสียชีวิต และลดปัญหา สถานการณ์ความแออัดภายในห้องฉุกเฉิน อันนำไปสู่ประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของแพทย์และเจ้าหน้าที่ ห้องฉุกเฉินต่อไป