ชำแหละพฤติกรรมการกินที่แย่ลง ดันตัวเลขคนตายจากโรคหลอดเลือดสมองสูงขึ้น
ผลสำรวจพฤติกรรมการบริโภคคนไทยเลือกกินตามใจชอบ รสชาติ ความอยาก มากกว่าคำนึงถึงเรื่องความสะอาด คุณค่า สะดวก ราคา สอดคล้องกับที่ กรมควบคุมโรค เผยคนไทยเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองปีละประมาณ 3 หมื่นราย จากปัจจัยโรคยอดฮิต
ผลสำรวจพฤติกรรมการบริโภคคนไทยเลือกกินตามใจชอบ รสชาติ ความอยาก มากกว่าคำนึงถึงเรื่องความสะอาด คุณค่า สะดวก ราคา สอดคล้องกับที่ กรมควบคุมโรค เผยคนไทยเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองปีละประมาณ 3 หมื่นราย จากปัจจัยโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ภาวะโรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง
จากการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมการบริโภคอาหารของประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจอนามัย และสวัสดิการของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2556 และปี 2560 ซึ่งมีกลุ่มตัวอย่างประมาณ 2.8 หมื่นครัวเรือน ปรากฏแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในเชิงพฤติกรรมการกินของคนไทยที่น่าสนใจ ได้แก่
พฤติกรรมการเลือกซื้ออาหาร
ในปี 2560 ปัจจัยที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญเมื่อเลือกซื้ออาหารเป็นอันดับหนึ่งคือ
- ความชอบ ร้อยละ 22.1
- รสชาติ ร้อยละ 18.5
- ความอยากทาน ร้อยละ 18.2
- ความสะอาด ร้อยละ 17.8
- คุณค่า ร้อยละ 12.9
- ความสะดวก ร้อยละ 6.5
- ราคา ร้อยละ 4.0
ซึ่งชี้ว่าคนไทยให้ความสำคัญกับความสุขจากการกินมากกว่าคำนึงถึงประโยชน์ สุขภาพ และคุณภาพ
แนวโน้มด้านคุณภาพของอาหารในปัจจุบัน
ในปี 2556 คุณภาพของอาหารกลับมีสัดส่วน 32.2% แต่ในปี 2560 ตัวเลขกลับลดลงเหลือเพียง 30.7% สะท้อนว่าสำหรับผู้บริโภคในปัจจุบันแล้วอาหารอร่อยอย่างเดียวอาจไม่พอ ร้านค้าต้องมีสิ่งอื่นที่น่าสนใจควบคู่ไปด้วย เช่น รูปแบบการนำเสนอ ประสบการณ์ หรือการบริการที่ดึงดูด เป็นต้น
พฤติกรรมการบริโภคที่แย่ลงของคนไทย
คนไทยกินบ่อยขึ้น จากผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าคนไทยกินบ่อยขึ้น โดยในปี 2560 คนไทยกว่าร้อยละ 89.4 กินอาหาร 3 มื้อต่อวัน ซึ่งมีตัวเลขเพิ่มขึ้นจาก 88.0% ในปี 2556
คนกินมากกว่า 3 มื้อมีจำนวนเพิ่มขึ้น สัดส่วนของคนที่กินอาหารมากกว่า 3 มื้อก็เพิ่มขึ้นจาก 3.8% ในปี 2556 มาเป็น 4.1% ในปี 2560 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นทั้งในเพศหญิงและชาย และเพิ่มในหลายช่วงอายุ ได้แก่ เด็ก (6-14 ปี) วัยรุ่น (15-24 ปี) และคนวัยทำงาน (25-59 ปี) ยกเว้นผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ที่กลับมีสัดส่วนการกินมากกว่า 3 มื้อที่ลดลง
คนไทยกินรสหวาน เค็ม มากขึ้น โดยสัดส่วนของคนที่กินรสหวานเป็นอาหารมื้อหลักเพิ่มจาก 11.2% ในปี 2556 มาเป็น 14.2% ในปี 2560 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในกลุ่มอายุน้อยกว่า 25 ปีเป็นสำคัญ และยังพบการเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาค
ขณะที่รสเค็มเพิ่มจาก 13.0% มาเป็น 13.8% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของการบริโภคในกลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไปเป็นหลัก
รสชาติที่ถูกปากของไทย
สำหรับรสชาติอาหารมื้อหลักของคนไทยส่วนใหญ่ จากข้อมูลการสำรวจในปี 2560 คือ
- รสจืด (38.3%)
- รสเผ็ด (26.2%)
- รสหวาน (14.2%)
- รสเค็ม (13.8%)
- รสเปรี้ยว (4.8%)
ทั้งนี้ รสชาติอาหารมื้อหลักของคนไทยมีลักษณะของการกินตามช่วงอายุ เช่น การกินรสหวานจะมีสัดส่วนสูงที่สุดในวัยเด็กที่ 32.5% โดยมีสัดส่วนลดหลั่นลงไปตามช่วงอายุ และน้อยที่สุดในกลุ่มผู้สูงอายุที่กินรสหวานเป็นหลักเพียง 6.6% เท่านั้น ขณะที่รสชาติอื่นๆ ได้แก่ เผ็ด เค็ม และเปรี้ยว จะมีสัดส่วนน้อยที่สุดในวัยเด็ก โดยจะเพิ่มขึ้นในวัยรุ่นและวัยทำงาน ตามลำดับ แล้วจะลดน้อยลงอีกครั้งในกลุ่มผู้สูงอายุ
ตัวเลขการบริโภคผัก-ผลไม้
คนไทยบริโภคผักและผลไม้สดลดลง ถึงแม้ว่าคนไทยส่วนใหญ่กว่า 98.8% จะมีการบริโภคผักและผลไม้อย่างน้อย 1 วันในแต่ละสัปดาห์โดยสัดส่วนดังกล่าวไม่เปลี่ยนแปลงจากปี 2556 แต่สัดส่วนของคนที่กินผักและผลไม้ทุกวันกลับลดลง จาก 54.5% เป็น 41.1% โดยเป็นการลดลงในทุกกลุ่มอายุ เพศ และภูมิภาค
เทรนด์การอดอาหารเพื่ดน้ำหนัก
คนไทยอดอาหารเพื่อลดน้ำหนักกันมากขึ้น และเพิ่มการกินอาหารเสริม ซึ่งสะท้อนถึงความพยายามในการดูแลตัวเองที่มากขึ้น โดยกลุ่มคนที่งดอาหารมื้อหลักเพื่อลดน้ำหนักมีสัดส่วนมากขึ้นจาก 9.4% (ของคนที่กินอาหารน้อยกว่า 3 มื้อเป็นประจำ) ในปี 2556 มาเป็น 12.4% ในปี 2560 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในทั้งเพศหญิงและชาย แต่จะเพิ่มขึ้นชัดเจนกว่าในกลุ่มผู้หญิงซึ่งเพิ่มจาก 14.1% เป็น 19.2% และเมื่อพิจารณารายกลุ่มอายุ พบว่า สัดส่วนคนงดอาหารมื้อหลักเพื่อลดน้ำหนักมีเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มอายุ แต่กลุ่มวัยทำงานและกลุ่มผู้สูงอายุมีการเพิ่มขึ้นชัดเจนกว่ากลุ่มเด็กและวัยรุ่น
อย่างไรก็ดี แม้จะมีทิศทางเพิ่มขึ้น แต่คนที่อดอาหารเพื่อลดน้ำหนักก็ยังถือว่าเป็นคนส่วนน้อย โดยในปี 2560 มีสัดส่วนต่อประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไปทั้งสิ้นเพียง 0.8% เท่านั้น (ประมาณ 5 แสนคน)
อาหารเสริมกับคนไทย
คนไทยบริโภคอาหารกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและกลุ่มแร่ธาตุวิตามินมากขึ้น โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 19.1% ในปี 2556 เป็น 21.6% ในปี 2560 เป็นการบริโภคเพิ่มขึ้นของคนต่างจังหวัด ขณะที่คนกรุงเทพฯ บริโภคน้อยลง แต่ยังคงเป็นภูมิภาคที่มีสัดส่วนผู้บริโภคอาหารเสริมมากที่สุด (1 ใน 3 ของคนกรุงเทพฯ บริโภคอาหารเสริม/วิตามิน)
แนวโน้มของตัวเลขการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง
ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ระบุว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของโลก พบผู้ป่วยจำนวน 80 ล้านคน ผู้เสียชีวิตประมาณ 5.5 ล้านคน และยังพบผู้ป่วยใหม่ถึง 13.7 ล้านคนต่อปี โดย 1 ใน 4 เป็นผู้ป่วยที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป และร้อยละ 60 เสียชีวิตก่อนวัยอันควร นอกจากนี้ ยังได้ประมาณการความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในประชากรโลกปี 2562 พบว่า ทุกๆ 4 คน จะป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง 1 คน โดยร้อยละ 80 ของประชากรโลกที่มีความเสี่ยงสามารถป้องกันได้
สำหรับประเทศไทย จากรายงานข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี ของกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข พบว่า จำนวนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ตั้งแต่ปี 2556-2560 มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยในปี 2559 พบผู้ป่วย 293,463 รายในปี 2560 พบผู้ป่วย 304,807 ราย และจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองปีละประมาณ 30,000 ราย จากสถานการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประเทศไทย ซึ่งสามารถเกิดได้กับประชาชนทุกกลุ่มวัย และปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในการเกิดโรคได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ภาวะโรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น