posttoday

รู้จัก ‘เซโรโทนิน’ สารที่มีผลต่ออารมณ์ความรู้สึก

19 พฤศจิกายน 2563

‘เซโรโทนิน’ สารที่มีผลต่ออารมณ์ความรู้สึก จะเกิดอะไรขึ้นหากร่างกายขาดเซโรโทนิน ปิดท้ายที่วิธีเพิ่มระดับเซโรโทนินในร่างกายเพื่อป้องสภาวะผิดปกติทางจิต ช่วยให้นอนหลับดีขึ้น

เมื่อคืนที่ผ่านมาใครนอนไม่ค่อยหลับ เช้านี้รู้สึกไม่สดชื่นเต็มร้อย คืนนี้หากอยากนอนให้ดีขึ้น ลองมาทำความเข้าใจกับ เซโรโทนิน (Serotonin) สารชีวเคมีชนิดหนึ่งทีร่างกายสร้างขึ้นมีคุณสมบัติเป็นทั้งสารสื่อประสาทและเป็นฮอร์โมนมีบทบาทสำคัญต่อการทำงานในหลายๆ ส่วนของร่างกาย ทั้งด้านการควบคุมอารมณ์ การย่อยอาหาร ความรู้สึกอยากหรือเบื่ออาหาร รวมไปถึงกานนอนหลับ และยังมีความเกี่ยวข้องกับโรคทางจิตเวชหลายโรค 

หน้าที่ของเซโรโทนินต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย มีดังนี้

  • เซโรโทนินในสมองและระบบประสาท มีหน้าที่ควบคุมความรู้สึกเจ็บปวด ความหิว ความอิ่ม ความอยากอาหาร การนอนหลับ อารมณ์ทางเพศ และความรู้สึกสุขสงบ ช่วยระงับความโกรธและความก้าวร้าว
  • เซโรโทนินในระบบทางเดินอาหาร ช่วยกระตุ้นการเคลื่อนตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ กระตุ้นการหลั่งน้ำย่อย ทำให้เกิดความอยากอาหาร หรือบางครั้งก็ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ได้เช่นกัน
  • เซโรโทนินในระบบไหลเวียนเลือด ช่วยกระตุ้นให้กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัว หลอดเลือดหดตัว ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น

นอกจากนี้ เซโรโทนินจะกระตุ้นให้เกิดการเจริญเติบโตผ่านการรับรู้ปริมาณสารอาหาร เมื่อร่างกายหลั่งเซโรโทนินออกมา เราจะรู้สึกอยากอาหาร หลังจากรับประทานอาหารเข้าไปอย่างเพียงพอ สารชนิดนี้ก็จะส่งสัญญาณแสดงความอิ่ม ทำให้กระเพาะและลำไส้บีบตัวเพื่อย่อยอาหาร เกิดการดูดซึมและเผาผลาญสารอาหารอย่างรวดเร็ว ทั้งยังกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อตับและเซลล์ที่มีหน้าที่สร้างหรือสลายมวลกระดูกด้วย หากร่างกายมีปริมาณเซโรโทนินไม่เพียงพอ ระบบการทำงานเหล่านี้ก็จะได้รับผลกระทบและแปรปรวนไป

รู้จัก ‘เซโรโทนิน’ สารที่มีผลต่ออารมณ์ความรู้สึก

จะเกิดอะไรขึ้น หากร่างกายขาดเซโรโทนิน?

หากร่างกายหลั่งเซโรโทนินออกมาน้อยลง ทำให้มีระดับเซโรโทนินลดต่ำ หรือมีความผิดปกติที่ตัวรับเซโรโทนิน จะส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานต่างๆ ดังต่อไปนี้

  1. มีความผิดปกติด้านอารมณ์และพฤติกรรม มีอาการซึมเศร้า การขาดเซโรโทนินมักทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล อยู่ไม่สุข โกรธง่าย หงุดหงิด และบางครั้งก็แสดงพฤติกรรมที่ก้าวร้าวรุนแรงได้ นอกจากนี้ ความบกพร่องในการรับเซโรโทนินยังเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของโรคซึมเศร้าและโรคทางจิตอื่นๆ โดยมีสภาวะแวดล้อมและสิ่งกระตุ้นภายนอกเป็นปัจจัยร่วม การให้เซโรโทนินจึงเป็นวิธีหนึ่งที่นำมาใช้ในการรักษาโรคซึมเศร้า
  2. กระตุ้นอาการก่อนมีประจำเดือน กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน เช่น รู้สึกซึมเศร้า หงุดหงิดง่าย วิตกกังวล อยากอาหารมากกว่าปกติ ไปจนถึงคลื่นไส้อาเจียน เป็นผลมาจากระดับเซโรโทนินในร่างกายที่ลดต่ำลงนั่นเอง
  3. ขาดสมาธิ เซโรโทนินเป็นสารที่ช่วยทำให้จิตใจสงบ เกิดสมาธิและความคิดสร้างสรรค์ หากร่างกายขาดเซโรโทนิน คุณจะรู้สึกกระวนกระวายจนไม่สามารถตั้งสมาธิจดจ่อกับอะไรได้ มักส่งผลต่อการเรียนและการทำงานด้วย
  4. นอนไม่หลับ หน้าที่อีกอย่างของเซโรโทนินคือควบคุมการนอนหลับ เมื่อร่างกายมีระดับเซโรโทนินลดลงจึงส่งผลให้คุณรู้สึกกระสับกระส่าย นอนไม่หลับ มีอาการอ่อนเพลีย และรู้สึกไม่สดชื่น
  5. รู้สึกเจ็บปวด เซโรโทนินมีส่วนช่วยบรรเทาความเจ็บปวดต่างๆ ที่เกิดขึ้น และกระตุ้นให้หลอดเลือดหดตัวเพื่อให้เลือดหยุดไหลเมื่อเกิดแผล ดังนั้น หากร่างกายได้รับความเจ็บปวด เช่น ถูกมีดบาด หรือบาดเจ็บ การขาดเซโรโทนินก็จะทำให้ความรู้สึกเจ็บปวดรุนแรงขึ้น และทำให้เลือดหยุดไหลช้าลงด้วย
  6. พฤติกรรมการรับประทานอาหารผิดปกติ เซโรโทนินเป็นสารที่ควบคุมความหิวและความอิ่ม การขาดสารนี้จึงอาจทำให้รู้สึกหิวตลอดเวลาและกินอาหารอย่างบ้าคลั่ง หรืออาจรู้สึกเบื่ออาหารก็ได้ และมักทำให้ระบบย่อยอาหารผิดปกติ คุณจึงมีอาการปวดท้อง จุกเสียด หรือแน่นท้องได้
  7. เกิดโรคลำไส้แปรปรวน เซโรโทนินเกือบ 95% ถูกผลิตและเก็บไว้ที่ลำไส้เล็ก หากขาดสารสื่อประสาทชนิดนี้ การทำงานของลำไส้เล็กก็จะเปลี่ยนไป โดยสามารถทำให้เกิดปัญหาท้องผูก ท้องเสีย หรือทำให้เกิดอาการท้องผูกท้องเสียสลับกัน ที่เรียกว่าโรคลำไส้แปรปรวน หากคุณสงสัยว่าอาการที่เกิดขึ้นมีความเชื่อมโยงกับระดับเซโรโทนินที่ลดต่ำลง คุณควรไปพบแพทย์
  8. ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หากคุณสังเกตว่าตัวเองมีกล้ามเนื้ออ่อนแรง รู้สึกเหนื่อยมาก อารมณ์ไม่ดี เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อหรือเป็นหวัดบ่อยกว่าปกติ อย่าลังเลที่จะไปพบแพทย์ เพราะการมีระดับเซโรโทนินต่ำสามารถส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ไม่เต็มที่ ทำให้ร่างกายอ่อนแอกว่าที่เคย
  9. นาฬิกาชีวิตเปลี่ยนไป การมีระดับเซโรโทนินต่ำสามารถทำให้เกิดความแปรปรวนของนาฬิกาชีวิตของร่างกาย (Circadian rhythm)ซึ่งอาการทั่วไปที่พบได้คือ รู้สึกง่วงนอนในระหว่างวันมากกว่าตอนกลางคืน อาการดังกล่าวยังเป็นอาการพื้นฐานของโรคซึมเศร้าอีกด้วย เพราะผู้ป่วยโรคนี้มักมีปัญหาเกี่ยวกับการนอน ได้แก่ นอนไม่หลับ นอนหลับไม่สนิท ตื่นเช้ามาไม่สดชื่น เป็นต้น
  10. วิตกกังวลมากขึ้น ร่างกายของคนเรามีตัวรับเซโรโทนินที่แตกต่างกันอย่างน้อย 14 ชนิด และ 5-HT1A คือตัวที่สำคัญที่สุดในทั้งหมด ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต หากตัวรับชนิดนี้บกพร่อง คุณก็จะกลายเป็นคนที่อ่อนไหวง่าย ประหม่า และขี้กังวลมากขึ้น
  11. มีปัญหาเกี่ยวกับความจำ การขาดความสนใจต่อสิ่งต่างๆ  อ่อนเพลีย และไม่สามารถจดจ่อต่อบางสิ่งบางอย่าง ล้วนแต่มีความสัมพันธ์กับการขาดเซโรโทนินได้ ซึ่งจะสังเกตได้ว่าอาการเหล่านี้พบได้ทั่วไปในคนที่เป็นโรคซึมเศร้าด้วย

รู้จัก ‘เซโรโทนิน’ สารที่มีผลต่ออารมณ์ความรู้สึก

วิธีเพิ่มระดับเซโรโทนินในร่างกาย

นอกจากการใช้ยา คุณสามารถใช้วิธีทางธรรมชาติในการช่วยเพิ่มระดับสาร Serotonin ในร่างกาย ดังนี้

  • กินของมีประโยชน์ ได้แก่ อาหารที่มีทริปโตเฟนสูง เช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่ ถั่วเหลือง อาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งกระตุ้นการทำงานของสารสื่อประสาท เช่น ปลาแซลมอนและปลาทูน่า อาหารที่ช่วยเพิ่มระดับเซโรโทนิน เช่น ดาร์กช็อกโกแลต และควรหันมารับประทานทานแป้งไม่ขัดสีอย่างข้าวกล้องและขนมปังโฮลวีทแทนแป้งขัดสี นอกจากนี้ อาหารเสริมที่มีส่วนประกอบเป็น 5-Hydroxytryptophan ก็ช่วยเพิ่มเซโรโทนินได้เช่นกัน แต่เพื่อความปลอดภัย ก่อนเลือกรับประทานอาหารเสริมใดๆ ควรปรึกษาแพทย์เสมอ
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ การออกกำลังกายในระดับคงที่เป็นประจำ วันละ 30-40 นาที จะช่วยเพิ่มระดับเซโรโทนินและทริปโตเฟน ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตเซโรโทนินได้ ทั้งยังช่วยให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานเป็นปกติ
  • ออกไปรับแสงแดดเป็นประจำ มีงานวิจัยที่เผยว่าแสงแดดช่วยในการสังเคราะห์เซโรโทนิน และยังช่วยให้มีอารมณ์สดใสเบิกบานยิ่งขึ้น การเปิดบ้านรับแสงธรรมชาติ หรือออกไปเผชิญแสงแดดอ่อนๆ บ้าง จึงเป็นการช่วยบำบัดทั้งทางร่างกายและจิตใจไปพร้อมๆ กัน
  • หมั่นบำบัดความเครียด ความเครียดเป็นตัวขัดขวางการหลั่งเซโรโทนิน การทำกิจกรรรมเพื่อผ่อนคลายจากความเครียด เช่น การฟังเพลง ดูหนัง เล่นเกม จึงเป็นอีกวิธีที่ช่วยเพิ่มระดับเซโรโทนินได้
  • เติมวิตามินซี บี  มีงานวิจัยบางชิ้นกล่าวว่า วิตามินซีเป็นยากล่อมประสาทตามธรรมชาติ ที่สามารถช่วยในเรื่องนี้ได้ ส่วนวิตามินบี ร่างกายได้รับปริมาณวิตามินบี 50-100 มิลลิกรัมต่อวัน  อย่างไรก็ตามควรปรึกษาแพทย์ควบคู่กันไปด้วย เพื่อความปลอดภัย 
  • ลดปริมาณน้ำตาล การทานน้ำตาลมากเกินไป อาจส่งผลต่ออารมณ์ของเราจนขาดความสมดุล และอาจแสดงออกทางอารมณ์ที่ผิดพลาดได้ง่ายขึ้น