เป้าหมายประเทศไทย ลดบริโภคโซเดียมให้ได้ 30% ภายในปี 68
พฤติกรรมคนไทยบริโภคโซเดียม สะท้อนงานวิจัยชี้ชัดคนไทยกินเค็มเกิน 2 เท่า หลายหน่วยงานร่วมมือตั้งเป้าให้คนไทยลดเค็ม เตรียมจัดกิจกรรมวันไตโลก ประจำปี 64 รับคำขวัญ “ไตวายไม่ตายไว แค่ปรับใจและปรับตัว” กระตุ้นเตือนก่อนสาย
จากผลงานวิจัยล่าสุดในปี 2564 ซึ่งได้รับการพิมพ์ในวารสาร Journal of Clinical Hypertension โดยความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ตีแผ่พฤติกรรมคนไทยบริโภคโซเดียม (เกลือ) เฉลี่ยสูงที่สุดในภาคใต้, ภาคกลาง, ภาคเหนือ, กรุงเทพมหานคร และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยค่าปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยประชาชนไทยเท่ากับ 3,636 มิลลิกรัมต่อวันหรือเท่ากับเกลือถึง 1.8 ช้อนชา
ทำให้สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข และเครือข่ายลดบริโภคเค็มและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเน้นความสำคัญของการทำความเข้าใจและการปรับทัศนคติการใช้ชีวิตในการอยู่ร่วมกับโรคไต ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไต ต้องระมัดระวังตนเองให้มากขึ้น ดังนั้น การจัดกิจกรรมวันไตโลก ประจำปี 2564 ในปีนี้ จึงเป็นที่มาของคำขวัญ “ไตวายไม่ตายไว แค่ปรับใจและปรับตัว” โดยกิจกรรมวันไตโลกจะจัดในรูปแบบออนไลน์ ผ่าน FACEBOOK LIVE ของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย จัดขึ้นในวันพฤหัสบดี ที่ 11 มีนาคม 2564 ตั้งแต่เวลา 09.00 – 13.30 น. เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคต่าง ๆ และการป้องกันโรคอย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ ทุกฝ่ายได้ตระหนักถึงการบริโภครสเค็มของคนไทย รวมถึงพบว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไตเพิ่มขึ้นทุกปี ถึงแม้ว่าในปี 2564 จะมีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ก็ตาม แต่จำนวนผู้ป่วยโรคไตของประเทศไทยในปัจจุบัน มีผู้ป่วยเกิดจากการรับประทานเค็ม ทำให้ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงถึง 11.5 ล้านคนและโรคไตทะลุถึง 8 ล้านคน ทำให้เป็นปัญหาสาธารณสุขของชาติและประเทศไทยจะต้องเร่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยและประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะลดปริมาณการบริโภคโซเดียมลงให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี พ.ศ. 2568 เพื่อลดโรคความดันโลหิตสูง และภาวะแทรกซ้อน แต่เนื่องจากข้อมูลการบริโภคโซเดียมในประชากรไทยนั้นมีจำกัด จึงทำให้เกิดงานวิจัย ชื่อ Estimated dietary sodium intake in Thailand: A nation-wide population survey with 24-hour urine collections (J Clin Hypertens. 2021;00:1–11.) โดยงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับความร่วมมือกันระหว่างเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะสาธารณสุขในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์การอนามัยโลก(WHO) ได้นำไปตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Clinical Hypertension โดยเก็บข้อมูลการบริโภคโซเดียมในประชากรไทยทั่วประเทศกว่า 2,388 คน ด้วยวิธีการตรวจเก็บปัสสาวะ 24 ชั่วโมง นำมาวิเคราะห์ปริมาณโซเดียมทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งเป็นวิธีการที่น่าเชื่อถือและแม่นยำที่สุดในขณะนี้
โดยตัวเลขที่ได้จากห้องปฏิบัติการจะถูกคำนวณรวมกับปริมาณโซเดียมที่ขับออกทางอื่นนอกเหนือจากปัสสาวะอีกร้อยละ 10 โดยงานวิจัยชิ้นนี้ มีกลุ่มตัวอย่างอาสาสมัครที่ได้เก็บข้อมูลได้อย่างครบถ้วนและผ่านเกณฑ์การเข้าร่วมวิจัยทั้งหมด 1,599 คน โดยมีอายุเฉลี่ย 43 ปี เป็นเพศหญิงร้อยละ 53 และมีภาวะความดันโลหิตสูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ 30 โดยค่าปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยประชาชนไทยเท่ากับ 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเท่ากับเกลือถึง 1.8 ช้อนชา ซึ่งผลการวิจัยพบปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยสูงที่สุดในประชากรภาคใต้จำนวน 4,108 มก./วัน รองลงมาคือภาคกลาง จำนวน 3,760 มก./วัน, ภาคเหนือจำนวน 3,563 มก./วัน, กรุงเทพมหานครจำนวน 3,496 มก./วันและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 3,316 มก./วัน ตามลำดับ
ทางทีมวิจัยยังพบว่า ผู้ที่มีระดับการศึกษาสูง น้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ปกติ และคนที่มีความดันโลหิตสูง มีการบริโภคโซเดียมมากกว่ากลุ่มอื่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยสรุปแล้ว คนไทยบริโภคโซเดียมเกินเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำถึงเกือบ 2 เท่า (องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคโซเดียมไม่เกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม) การศึกษานี้เป็นการศึกษาแรกในประเทศไทยที่ใช้วิธีสำรวจมาตรฐานอย่างเป็นระบบ จึงเป็นประโยชน์มากต่อการเปรียบเทียบข้อมูลการบริโภคโซเดียมของคนไทยในอนาคต