posttoday

‘กระเทียม’ สมุนไพรก้นครัว ตัวช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน-ชะลอวัย-ดีต่อหัวใจ

16 กุมภาพันธ์ 2564

ยังคงตั้งการ์ดและไม่ประมาทกับเรื่องสุขภาพ ส่อง 3 สุดยอดคุณประโยชน์ของกระเทียม สมุนไพรเพื่อสุขภาพที่อยู่คู่ครัวไทย ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคต

จากสถานการณ์ในปัจจุบันที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงดำเนินอยู่ อีกทั้งยังมีปัญหาฝุ่นละออง เชื้อโรคที่เจอทั่วไป และปัจจัยอื่นๆ ที่อาจจะส่งผลให้พวกเราทุกคนมีสภาพร่างกายที่อ่อนแอลง จนอาจนำไปสู่อาการป่วยได้ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการเหล่านั้น เราจึงควรแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ด้วยการหมั่นทำให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ รวมถึงเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ดี เพื่อเป็นการป้องกันการเจ็บป่วยตั้งแต่เริ่มต้น ครั้งนี้เราจะพาไปรู้จักเคล็ดลับ 3 STAY ที่จะช่วยให้ทุกคนสุขภาพแข็งแรงอย่างแท้จริง

‘กระเทียม’ สมุนไพรก้นครัว ตัวช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน-ชะลอวัย-ดีต่อหัวใจ

กระเทียมสมุนไพรเพื่อสุขภาพสำหรับทุกคน

กระเทียม (Garlic) นิยมใช้เสริมสุขภาพและป้องกันโรคมาตั้งแต่ยุคโบราณ โดยประโยชน์ของกระเทียมมาจากสารไฟโตนิวเทรียนท์รวมถึงวิตามินเกลือแร่บางตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารที่มีกำมะถันเป็นองค์ประกอบ เช่น อัลลิซิน (Allicin) ออกฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย ต้านการอักเสบ เมธิลอัลลิลไตรซัลไฟด์ (Methyl allyl trisulfide) ออกฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด ไดอัลลิลไตรซัลไฟด์ (Diallyl trisulfide) ออกฤทธิ์ต้านการแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์ เป็นต้น

เคล็ดลับ 3 STAY จากประโยชน์ของกระเทียม

1. STAY SAFE กระเทียมกับการสร้างภูมิคุ้มกัน

ระบบภูมิคุ้มกัน คือกลไกที่ชีวิตพัฒนาขึ้นเพื่อปกป้องอันตรายจากสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กหรือสิ่งแปลกปลอมซึ่งเรียกรวมว่าแอนติเจน ที่ก่อให้เกิดโรค โดยกลไกประกอบด้วยอวัยวะและเนื้อเยื่อที่ทำหน้าที่ป้องกัน ดักจับ และทำลายแอนติเจนดังกล่าว โดยมีเซลล์เม็ดเลือดขาวในหลอดเลือด หลอดน้ำเหลือง ฯลฯ เป็นกลไกร่วม ระบบภูมิคุ้มกันจึงจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำรงอยู่อย่างปกติของชีวิต

จากงานวิจัยพบว่า การเสริมกระเทียมช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดที่เป็นเซลล์ทำลายแอนติเจนโดยธรรมชาติ รวมถึงเพิ่มการผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาว 2 ชนิด ได้แก่ เซลล์ทีและเซลล์บี นอกจากนี้ยังช่วยลดการติดเชื้อบริเวณทางเดินหายใจตอนบนทั้งจำนวน ระยะเวลาและความรุนแรงของการติดเชื้อ และจากการศึกษายังพบว่าการเสริมกระเทียม 2.56 กรัมต่อวันนาน 90 วัน จะช่วยเพิ่มการแบ่งตัวของเซลล์ภูมิต้านทานได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยลดไข้หวัดธรรมดาและหวัดใหญ่ทั้งระยะเวลาและความรุนแรงของโรค นอกจากนี้ยังพบว่า กระเทียมช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆ ทำให้เกิดการสร้างและควบคุมสารภูมิคุ้มกันอย่างเป็นระบบ เป็นผลต่อการป้องกันและรักษาโรคที่เกิดจากการรุกรานของแอนติเจน

2. STAY STRONG กระเทียมกับการชะลอวัย

ความแก่หรือความเสื่อมของร่างกายคล้ายโรคชนิดหนึ่ง พฤติกรรมการใช้ชีวิต สิ่งแวดล้อมและการเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมอาจช่วยชะลอความเสื่อมของร่างกายได้ โดยหนึ่งในนั้นคือพืชสมุนไพรที่มีสารไฟโตนิวเทรียนท์จำนวนมากอย่างกระเทียม ที่สามารถออกฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน และลดภาวะอักเสบภายในเซลล์ที่เป็นส่วนหนึ่งในสาเหตุของความเสื่อมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารไฟโตนิวเทรียนท์ที่มีซัลเฟอร์เป็นองค์ประกอบซึ่งมีไม่น้อยกว่า 20 ตัวในกระเทียมช่วยชะลอภาวะอักเสบภายในเซลล์ได้เป็นอย่างดี

3. STAY ACTIVE กระเทียมกับการเสริมสุขภาพหัวใจ

โรคหัวใจและหลอดเลือดเกิดจากปัจจัยที่หลากหลาย เช่น ภาวะไขมันที่ผิดปกติในเลือด คอเลสเตอรอลสูง ไตรกลีเซอไรด์สูง ความดันโลหิตสูง เป็นต้น โดยจากงานวิจัย พบว่าจากผู้ทดลองที่เสริมกระเทียมผงมีค่าความดันโลหิตลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ระดับคอเลสเตอรอลและแอลดีแอลยังลดลงกว่า 10% ซึ่งจากกค่าที่ลดลง สามารถลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดลงได้ ผู้วิจัยจึงแนะนำให้เสริมกระเทียมผงแทนการใช้ยาลดคอเลสเตอรอลเพื่อป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดเนื่องจากให้ผลดีกว่าโดยมีผลข้างเคียงน้อยกว่า

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาอื่นๆ ที่สามารถยืนยันว่าการเสริมกระเทียมช่วยลดปัญหาต่างๆ ของไขมันในเลือดที่ก่อโรคหัวใจและหลอดเลือดและหลอดเลือดแดงแข็งได้ ทั้งยังพบว่าเมื่อสารไฟโตนิวเทรียนท์จากกระเทียมมีปริมาณสูงในเลือด ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้กระเทียมยังส่งผลทางด้านอื่นที่นำไปสู่การลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ เช่น การลดภาวะเปอร์ออกซิเดชันของไขมัน การควบคุมการผ่านเข้าออกของอิออนต่างๆ บริเวณเมมเบรน การยับยั้งเอนไซม์ฮิสโตน เป็นต้น

‘กระเทียม’ สมุนไพรก้นครัว ตัวช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน-ชะลอวัย-ดีต่อหัวใจ

กินกระเทียมอย่างไรให้มีประโยชน์ต่อสุขภาพ

กระเทียมเป็นพืชสมุนไพรที่ปลอดภัย แต่หากบริโภคมากเกินไปอาจทำให้ลมหายใจมีกลิ่น การไหม้ในปากหรือกระเพาะอาหาร บางรายอาจสำลักกรดได้ โดยการบริโภคกระเทียมเพื่อให้ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพที่แนะนำกันทั่วไปสำหรับผู้ใหญ่ คือกระเทียมสดหรือดิบ 4 กรัมต่อวัน (1-2 หัว) และหากบริโภคในรูปกระเทียมผง แนะนำให้บริโภค 300 มิลลิกรัม 2-3 ครั้งต่อวัน

นอกจากนี้ ยังสามารถเสริมด้วยการบริโภคผักผลไม้เพื่อให้ได้รับสารไฟโตนิวเทรียนท์และวิตามินในปริมาณเพียงพอ ได้แก่ ส้ม มะนาว พริกหยวกแดง กระเทียม บร็อกโคลี ขิง ผักโขม อัลมอนด์ เมล็ดทานตะวัน ขมิ้น ชาเขียว มะละกอ กีวี นอกเหนือจากผักผลไม้แล้ว ยังมีอาหารอื่นที่มีสารอาหารช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน ได้แก่ โยเกิร์ต อาหารทะเล ไก่ และหยุดสูบบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รักษาน้ำหนักตัวที่ปกติ ลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ นอนหลับให้เพียงพอ เลี่ยงการติดเชื้อ อย่างการหมั่นล้างมือ บริโภคเฉพาะเนื้อปรุงสุก และลดความเครียด

กระเทียมเป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่หาได้ง่ายมาทุกยุคทุกสมัย ราคาไม่แพง ทั้งยังอุดมไปด้วยคุณประโยชน์ เพื่อสุขภาพที่ดีที่เป็นเหมือนพื้นฐานของการใช้ชีวิต ทุกคนจึงควรดูแลรักษาตนเองและคนที่รักให้ดี และอย่าลืมเลือกตัวช่วยง่ายๆ อย่างกระเทียมเพื่อสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น

‘กระเทียม’ สมุนไพรก้นครัว ตัวช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน-ชะลอวัย-ดีต่อหัวใจ

ขอบคุณข้อมูลจากสถาบันสุขภาพนิวทริไลท์ (Nutrilite Health Institute)

ภาพ Freepik.com