อยู่ใกล้กันมากขึ้น อย่ารักกันน้อยลง ช่วง Covid-19
เมื่อต้องอยู่ด้วยกันมากขึ้นช่วง Covid-19 ณ จุดนี้ ... Quality Time หรือมะเร็งที่ลุกลามความสัมพันธ์
ในช่วงสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 คู่รักและครอบครัวจำนวนมากมีโอกาสได้ใช้เวลาด้วยกันมากขึ้น บางคู่จำเป็นต้องลดเวลาการทำงานลงหรือทำงานจากที่บ้าน บางคู่จำเป็นต้องเดินทางกลับไปอยู่ด้วยกันที่ภูมิลำเนาเดิม หลายคนมองว่าเป็นช่วงเวลาที่ดี เป็น Quality Time แห่งความสุขที่หาได้ยากในสังคมปัจจุบัน แต่ก็มีคู่รักหลายคู่กลับประสบปัญหาขัดแย้งจนเครียดและเริ่มมีความคิดที่จะยุติความสัมพันธ์ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่ใดที่หนึ่งแต่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก
ความขัดแย้งช่วง COVID-19
ร้อยละ 12 ของชาวอเมริกันยอมรับว่าพวกเขามีปากเสียงกับคู่รักมากขึ้นในช่วง COVID-19 จากการสำรวจของสมาคมจิตแพทย์อเมริกา (American Psychiatry Association) พบว่าคู่รักในสหรัฐอเมริกามีความสุขมากขึ้นในช่วงสัปดาห์แรกของการ Lockdown แต่เมื่อเวลาผ่านไปเกิน 1 เดือน พวกเขากลับรู้สึกเครียด กดดัน และเริ่มคิดว่าความสัมพันธ์ของพวกเขาจะไปไม่รอด
ในสหราชอาณาจักรและประเทศตุรกีพบสถิติการใช้ความรุนแรงในครอบครัว (Domestic Violence) และการขอความช่วยเหลือจากความรุนแรงผ่านทางโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้นในช่วง COVID-19 ระบาด สำหรับในประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศแรกของการ Lockdown อย่างเข้มงวดพบสถิติการหย่าร้างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในเดือนมีนาคมพบจำนวนคู่สมรสที่ยื่นเรื่องขอหย่าร้างในเมืองซีอาน (Xi’an) และต้าโจว (Dazhou) เพิ่มสูงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเมืองเซี่ยงไฮ้ก็มีจำนวนคดีที่เกี่ยวข้องกับการหย่าร้างเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25
ในขณะที่กฎและแนวทางการปฏิบัติตัวของประชาชนจากรัฐบาลเพื่อให้ทุกคนรอดชีวิตในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ค่อนข้างชัดเจน แต่แนวทางการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักให้ผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปโดยที่ไม่เลิกกันไปเสียก่อนนั้นกลับคลุมเครือ ดังนั้นการหาคำอธิบายว่า ทำไมคู่รักถึงทะเลาะกันมากขึ้นเมื่ออยู่ใกล้ชิดกันในช่วง COVID-19และเรียนรู้วิธีจัดการไม่ให้ชีวิตคู่พังทลายเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย
หมดอารมณ์ความรัก
ช่วง COVID-19 ไม่ใช่ช่วงฮันนีมูนของคู่รัก แต่เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของมนุษยชาติ ทุกคนบนโลกล้วนได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ทุกคนกำลังเครียด กดดัน และไม่รู้ว่าทุกอย่างจะกลับมาเป็นปกติเมื่อไร การที่อยู่ในสภาวะเครียดและวิตกกังวลเรื้อรังส่งผลต่อร่างกายและอารมณ์ สุขภาพอาจจะแย่ลงเรื่อย ๆ การนอนเริ่มผิดปกติ อารมณ์หงุดหงิดง่าย โมโหง่าย ยิ่งไปกว่านั้นไม่สามารถใช้วิธีผ่อนคลายจิตใจอย่างที่เคยทำ ไม่ว่าจะเป็นการพบปะเพื่อนฝูงหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลที่ทุกคนรู้สึกอึดอัดเวลาอยู่บ้านกับคู่รักในช่วงนี้ แม้แต่ความสุขทางเพศที่หลาย ๆ คนคิดจะใช้เวลาว่างช่วงนี้กับคู่รักอย่างเต็มที่ แต่ในความเป็นจริง COVID-19 กลับทำให้หมดอารมณ์ตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มด้วยซ้ำ
เทคนิคจัดการชีวิตคู่ให้มีความสุขช่วง COVID-19
การปฏิบัติตัวของคู่รักที่อยู่ด้วยกันในช่วง COVID-19 ให้มีความสุขสามารถจัดการได้ ดังนี้
1) Manage Anxiety เรียนรู้ที่จะอยู่กับความจริงในปัจจุบัน
ขั้นตอนแรกของการจัดการปัญหา คือการยอมรับว่าเรากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เป็นธรรมดาที่จะรู้สึกกังวลและประสบความยากลำบากในการจัดการปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ความกังวลเป็นเพียงสัญชาตญาณการต่อสู้เพื่อที่จะเอาตัวรอดจากวิกฤติครั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงการกังวลกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นเวลานาน ๆ โดยไม่จำเป็น การเสพข่าวเรื่องเดิม ๆ ซ้ำไปซ้ำมาตลอดทั้งวันย่อมไม่เกิดผลดี
2) Communication is King การสื่อสารสำคัญที่สุด
เพราะตัวเรายังมีความเครียดและความกดดันอย่างมากในช่วง COVID-19 คู่รักของเราก็เป็นมนุษย์อีกคนที่มีความรู้สึกเช่นเดียวกัน เพียงแต่วิธีจัดการปัญหาของเขาหรือเธออาจจะแตกต่างกับคุณ คุณจำเป็นต้องคอยสังเกตว่าคู่รักของคุณต้องการพื้นที่ส่วนตัวหรือต้องการการดูแลเอาใจใส่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางไหน การสื่อสารเพื่อบอกความต้องการ ความรู้สึกหรือความคิดของคุณให้คู่รักฟังเป็นสิ่งสำคัญมากขึ้นกว่าในช่วงเวลาปกติเสียอีก
หลักการสื่อสารที่ดีของคู่รัก ประกอบไปด้วย
i-Message ใช้ประโยคที่ผู้พูดสื่อสารความรู้สึกและความต้องการของตนเอง หลีกเลี่ยงการใช้ you-message ซึ่งเป็นการพูดถึงการกระทำของคู่รักโดยตรง การสื่อสารลักษณะนี้มีแนวโน้มที่จะแฝงน้ำเสียงตำหนิและอารมณ์ทางลบเข้าไปด้วย เช่น “เธอทำตัวติดกับฉันตลอดเวลาเลย ตั้งใจจะไม่ให้ฉันมีเวลาว่างเลยหรือไง” คำกล่าวนี้อาจทำให้ผู้ฟังรู้สึกถูกตำหนิและนำไปสู่ความบาดหมางได้ ในทางกลับกันการกล่าวว่า “ฉันรักเธอนะ แต่ช่วงนี้ฉันต้องการเวลาส่วนตัวเพื่อที่จะพักผ่อนทั้งร่างกายและเติมพลังจิตใจของฉันในแต่ละวัน” การใช้ i-Message เป็นการหลีกเลี่ยงการต่อว่าและปะทะอารมณ์กับคู่รัก รวมถึงส่งเสริมอารมณ์ทางบวก ความรัก และความห่วงใยระหว่างกัน
เลี่ยงการดูถูกซึ่งกันและกัน ฟังดูเหมือนไม่น่าจะเป็นปัญหา แต่แท้จริงแล้วรูปแบบการสื่อสารแบบดูถูกคู่รักเป็นตัวแปรที่มีผลต่อการหย่าร้างของคู่สามีภรรยาสูงที่สุด เราอาจจะแสดงความดูถูกคู่รักได้ผ่านคำพูดที่ไม่ให้เกียรติ พูดจาประชดประชัน เยาะเย้ย หรือแม้แต่การแสดงสีหน้าท่าทาง หลาย ๆ คนไม่รู้ตัวว่าการดูถูกรุนแรงกว่าการต่อว่าเสียอีก ผู้ที่โดนคู่รักดูถูกจะรู้สึกไร้ค่าและรู้สึกต่ำต้อย บางคนอาจจะพูดและแสดงท่าทีดูถูกโดยที่ไม่รู้ตัว เช่น การพูดทำนองว่า “อ้อ…อย่างนั้นเหรอ คุณคงเหนื่อยจากการทำงานมากสินะ แต่ชั้นเนี่ยต้องอยู่กับลูกทั้งวัน สอนการบ้านลูกช่วงที่โรงเรียนปิด ทำอาหารให้ทั้งลูกและสามีที่กลับบ้านมาก็นั่งเล่นแต่มือถือตลอด นี่เหมือนมีลูกสองคนเลยนะ”
ชมให้มากกว่าต่อว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่ชีวิตคู่จะมีแต่ความสุขตลอดเวลา แต่ผลวิจัยพบว่าคู่สมรสที่แต่งงานกันได้ยืนยาวมักจะมีช่วงเวลาแห่งความสุขเทียบกับช่วงเวลาที่ทะเลาะกันในอัตราส่วนอย่างน้อย 5 ต่อ 1 สำหรับในช่วง COVID-19 ระบาด ทั้งตัวคุณและคู่รักต่างต้องเผชิญการความกดดันเรื่องต่าง ๆ มากพอแล้ว การตัดสินเรื่องใหญ่ ๆ ที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งควรถูกเลื่อนไปก่อนหากเป็นไปได้ คุณควรหันมาให้ความสนใจกับช่วงเวลาดี ๆ ในแต่ละวัน หากมีเรื่องใดที่คู่รักของคุณทำให้คุณประทับใจก็อย่าลืมชมและให้กำลังใจกัน
3) Adjust to the ‘new’ normal จัดระเบียบชีวิตใหม่
ช่วงนี้ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ หากยังใช้วิถีชีวิตอย่างไม่เตรียมพร้อมมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดปัญหาชีวิตคู่ คู่รักจำเป็นที่จะต้องรับบทบาทมากขึ้นกว่าเดิม ลองหาเวลาที่คุณทั้งคู่สบายใจ แล้วนั่งไล่เรียงภาระหน้าที่ที่จำเป็นต้องทำรวมถึงความคาดหวังจากทั้งสองฝ่าย หากมีลูกหรือผู้สูงอายุที่ต้องดูแลในบ้านก็จำเป็นจะต้องแบ่งเวลากันดูแลลูกและผู้สูงอายุด้วย อย่ากดดันตนเองมากเกินไป คุณไม่ใช่ครู Home School หรือผู้ดูแลผู้สูงอายุระดับโลก บางอย่างไม่จำเป็นต้องทำให้ดีเลิศก็ได้ อย่าลืมว่านี่ไม่ใช่ช่วงเวลาปกติ รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่พอจะมองข้ามได้ก็ให้ปล่อยผ่านไปก่อนเพื่อให้คุณทั้งคู่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในช่วง COVID-19 ได้อย่างยั่งยืน
หลังจากจัดการตารางเวลาเพื่อทำงานบ้านและแบ่งหน้าที่กันแล้ว อย่าลืมจัดสรรเวลาส่วนตัวด้วย เราทุกคนจำเป็นต้องมีเวลาส่วนตัวที่ไม่ใช่เวลาทำงาน อาจจะเป็นเพียงแค่ช่วงเวลาพักจากงานที่คุณทำอะไรคนเดียวอยู่มุมหนึ่งของห้อง การใช้เวลาส่วนตัวนอกจากจะเป็นการเติมพลังชีวิตแล้วยังทำให้แต่ละคนได้เสพข้อมูลตามที่แต่ละคนสนใจ ซึ่งสามารถนำมาพูดคุยกันภายหลังได้ แน่นอนว่าต้องจัดให้มีเวลาใกล้ชิดกันของคู่รักด้วย นอกจากเรื่องเซ็กส์แล้วยังมีอีกหลายกิจกรรมที่คุณสามารถทำร่วมกันได้ ควรมีช่วงเวลาตอนเช้าหรือตอนก่อนนอนที่คุณจะห้ามพูดถึงอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 เพื่อจะได้มีเวลาใส่ใจเรื่องอื่น ๆ รอบตัวและใส่ใจคนสำคัญข้าง ๆ คุณให้มากขึ้น
แม้จะอยู่ในพื้นที่เล็ก ๆ การจัดแบ่งพื้นที่ในบ้านหรือคอนโดมิเนียมให้เป็นสัดเป็นส่วนย่อมส่งผลดีต่อจิตใจ หากเป็นไปได้ควรจัดสรรห้องหนึ่งให้เป็นห้องทำงาน หากไม่สามารถแบ่งห้องได้ การลากเส้นจำลองเพื่อแบ่งพื้นที่ทำงานและพื้นที่พักผ่อนในห้องเดียวกันก็ได้ผลเช่นเดียวกัน การใช้หูฟังอาจจะช่วยให้เขตแดนจำลองนั้นชัดเจนมากขึ้น การหลบไปอยู่ในห้องน้ำหรือไปนั่งในรถเพื่อที่จะคิดงานหรือคุยโทรศัพท์ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง หากคุณมีพื้นที่สวนนอกบ้าน การออกมานั่งทำงานนอกบ้านในวันที่อากาศไม่ร้อนเกินไปก็เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศได้ดีทีเดียว
4) It’s okay to ask for help ตัวช่วยมีอยู่เสมอ
ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่ลำบากของคู่รักทุกคู่ แต่การจัดการกับความกังวลที่เกิดขึ้น เรียนรู้วิธีการสื่อสารที่เป็นประโยชน์ และการปรับวิถีชีวิตใหม่จะทำให้คู่รักก้าวผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ง่ายขึ้น แต่หากคุณรู้สึกว่าปัญหาช่างหนักหนาและยังมองไม่เห็นทางแก้ไขปัญหา หรือรู้สึกว่าความทุกข์ทรมานมากเกินปกติ การปรึกษาผู้ชำนาญการ อาทิ จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตหรือปัญหาความสัมพันธ์ได้เช่นกัน
ขอบคุณข้อมูลสุขภาพจาก bangkok hospital