posttoday

ชนกานต์ ชินชัชวาล+ภูชิษณุ์ พิชัยจุมพล สายสัมพันธ์เพื่อน เชื่อมั่นในกันและกัน

27 มกราคม 2561

อนาคตบริษัทห้างร้านต่างๆ อาจไม่จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่คอยตอบคำถามลูกค้าอีกต่อไป

 โดย โยธิน ภาพ : ทวีชัย ธวัชปกรณ์ 

 อนาคตบริษัทห้างร้านต่างๆ อาจไม่จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่คอยตอบคำถามลูกค้าอีกต่อไป เพราะยุคสมัยของการใช้บอตแชตกำลังจะเริ่มต้นขึ้นด้วยมือของบริษัท Zwiz.ai (อ่านว่าซีวิซดอทเอไอ ซึ่งแผลงมาจากคำว่าชีวิตนั่นเอง)

 ซีวิซ เป็นบริษัทสตาร์ทอัพฝีมือของศิษย์เก่าคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหิดล รุ่นที่ 7 ภายใต้การนำทีมของ ชนกานต์ ชินชัชวาล กับเพื่อนอีก 2 คน ภูชิษณุ์ พิชัยจุมพล และศิริศักดิ์ นาคะวิวัฒน์

 เมื่อบุกเบิกธุรกิจด้านการทำบอตแชตระดับโลกเป็นรายแรกๆ ของเมืองไทย โดยมีผลงาน แชตบอตบทเฟซบุ๊ก จส.100 และตุ้ยนุ้ยบอตเป็นตัวการันตีความสามารถ ชนกานต์ หรือชื่อเล่น อาร์ต เล่าให้ฟังถึงการเปิดบริษัทสตาร์ทอัพร่วมกับเพื่อนๆ ว่า

 “หลังจากที่ผมกับเพื่อนๆ เรียนจบ ต่างก็แยกย้ายกันไปทำงานตามเส้นทางชีวิตของตัวเอง ผมก็ทำงานอยู่กับบริษัทไอบีเอ็ม ก่อนที่จะเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ พอเรียนจบกลับมาก็ไม่อยากจะกลับเข้าไปทำงานบริษัทแล้ว เพราะว่าเราเห็นตัวอย่างสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ

ชนกานต์ ชินชัชวาล+ภูชิษณุ์ พิชัยจุมพล สายสัมพันธ์เพื่อน เชื่อมั่นในกันและกัน

 จึงตัดสินใจทำสตาร์ทอัพของตัวเองขึ้นมาโดยชวนเพื่อนอีก 2 คนเข้ามาทำด้วยกัน โดยออกมาทำเต็มตัว ส่วนเพื่อนอีก 2 คนผมไม่กล้าชวนให้ออกมาทำเต็มตัว เพราะว่าเขามีงานประจำที่มั่นคงอยู่แล้ว และอย่างที่เรารู้กันอยู่ สตาร์ทอัพเกิดง่ายแต่ก็มีความเสี่ยงที่จะล้มเหลวได้ง่ายเช่นกัน

 ทั้งที่ใจของตัวผมเองก็อยากให้ช่วยกันออกมาทำงานเต็มตัว แต่ว่าเราก็มีแผนอยู่เหมือนกันว่า ถ้าธุรกิจประสบความสำเร็จ ได้ลูกค้ารายใหญ่มาใช้บริการในระดับหนึ่ง ก็คงออกมาทำเต็มตัวด้วยกันทั้งหมด”

 ภูชิษณุ์ เล่าต่อจากเพื่อนว่า สิ่งที่พวกเขาทำตอนนี้ ก็คือการสร้างโปรแกรมแชตบอตบนเฟซบุ๊ก จากปกติที่เราต้องใช้คนตอบคำถามผ่านทางอินบ็อกซ์ ซึ่งบางครั้งผู้ดูแลจะไม่มีเวลาในการตอบคำถามได้รวดเร็วและทั่วถึง แต่แชทบอทสามารถเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้

 “เราพัฒนาไปถึงขั้นที่สามารถสั่งซื้อสินค้าผ่านระบบแชตบอต ต่อไปจะเป็นอนาคตของในแง่มุมของการให้บริการใหม่ เพียงแต่ว่าเริ่มแรกสิ่งที่จะต้องทำ ก็คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวของผู้บริโภคเอง อย่างเช่นในโปรแกรมตุ้ยนุ้ย การถามตอบอาจจะต้องมีแพตเทิร์นที่ค่อนข้างที่ชัดเจนว่า จะต้องถามแบบไหนถึงจะได้คำตอบ

 ระบบเอไอไม่เพียงแต่สามารถพัฒนาในการถามตอบปัญหาของลูกค้าเท่านั้นยังสามารถพัฒนาในเรื่องของตัวช่วยในการคำนวณ ค้นหาข้อมูล หรือคำนวณหาบริการที่เหมาะสมกับลูกค้าได้”

 ทางด้าน ชนกานต์ เล่าต่อเนื่องในทันทีว่า หลังจากคิดจะทำบริษัทของตัวเอง เขาก็มองหาเพื่อนร่วมทีมที่จะเข้ามาทำด้วยกัน

“ผมนึกถึง ภู กับ เกม (พาร์ตเนอร์อีกคน) ที่เคยเรียนด้วยกันมาก่อนเป็นอันดับแรก อย่าง ภู มีความสามารถทางด้านการเขียนโปรแกรมที่หลากหลาย ผมจะไว้ใจให้เขาเป็นคนเขียนโปรแกรมที่เป็นเบื้องหลังทั้งหมด

ชนกานต์ ชินชัชวาล+ภูชิษณุ์ พิชัยจุมพล สายสัมพันธ์เพื่อน เชื่อมั่นในกันและกัน

 ส่วนเกมจะเก่งทางด้านการออกแบบ ดีไซเนอร์ หน้าตาของโปรแกรมทั้งหมด ซึ่งผมกับเกมเคยทำงานร่วมกันมาก่อนตั้งแต่สมัยเรียน เราทำทีมแข่งการเขียนโปรแกรมด้วยกันทำให้เรารู้ฝีมือกันดี ส่วนภูก็เป็นเพื่อนร่วมรุ่นที่เราเคยเห็นความสามารถในการเขียนโปรแกรมของเขามาก่อน

 ตัวผมเองนอกจากเรื่องของการเขียนโปรแกรม ก็ทำหน้าที่เป็นเหมือนเซลส์ขายสินค้าให้กับบริษัทต่างโดยมีเพื่อนๆ ทำงานอยู่เป็นเบื้องหลัง ในการทำงานของเราด้วยความที่เป็นสตาร์ทอัพเริ่มต้นเพียงแค่ 3 คน”

 ชนกานต์ เล่าขยายภาพต่ออย่างสนุกว่า สิ่งที่พวกเขาทั้งสามคุยกันตั้งแต่แรกเลย ก็คือเรื่องสัดส่วนหุ้นของแต่ละคน ได้กำไรมาเราแบ่งหุ้นส่วนกันเป็นสัดส่วนเท่าไหร่

 “เป็นสิ่งที่เราคุยกันตั้งแต่ต้น ดังนั้นในเรื่องปัญหาของการทำงาน ความขัดแย้งตรงนี้ไม่ว่าจะไม่มีความแน่นอน เพราะเราชัดเจนกันตั้งแต่ต้น เราเรียนหนังสือด้วยกันมา เป็นเพื่อนกันมาก่อนจึงรู้จักนิสัยใจคอกันดี แล้วพวกเราก็เป็นคนที่พูดกันอย่างตรงไปตรงมาก็มา

 ในรายละเอียดของการทำงานเรามีการประชุมร่วมกันสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และมอบหมายงานแบ่งกันไปทำ ซึ่งตรงนี้ผมเชื่อมือเพื่อนว่าเขาสามารถทำได้เสร็จตามที่กำหนดไว้แน่นอน

ชนกานต์ ชินชัชวาล+ภูชิษณุ์ พิชัยจุมพล สายสัมพันธ์เพื่อน เชื่อมั่นในกันและกัน

 อย่างภู เวลาทำงานเขาไม่ใช่เพียงแค่ทำงานตามที่เราบอกว่า ลูกค้าต้องการอะไรและเราจะพัฒนาไปในทางใด แต่เขาทำมากกว่าสิ่งที่เขาได้รับมอบหมาย เมื่อทํางานไปถึงจุดหนึ่ง เขาคิดว่าสิ่งที่กำลังทำจะกลายเป็นปัญหา หรือเขามีความคิดที่ดีกว่าที่จะพัฒนาผลงานให้ดีขึ้นกว่าเดิม เขาก็จะเสนอเรามาทำให้การทำงานของเราง่ายขึ้น สนุก ที่จะได้ทำร่วมกันมากขึ้น”

 ภูชิษณุ์ เสริมว่าเวลาที่ทั้งสามคุยงานกัน จะเริ่มจากการขายความคิดของแต่ละคนออกมาว่าอยากจะทำอะไรให้ออกมาในรูปแบบไหน

 “แล้วเราก็ฟังความคิดเห็นของกันและกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าการฟังความเห็นของเพื่อนเราจะต้องยอมเสมอ แต่เราจะสู้ด้วยเหตุผลข้อดีและข้อเสียในการตัดสินใจต่างๆ แล้วหาจุดที่สามารถทำร่วมกันได้ เราไม่ได้ยอม แต่เราหาจุดร่วมที่ลงตัวมากกว่า

 อีกอย่างหนึ่งผมรู้จักอาร์ตมาตั้งแต่สมัยเรียน เขาเป็นประธานรุ่นมีความสามารถเป็นที่ยอมรับและมีความเป็นผู้นำสูง ไม่ใช่ผู้นำในแบบที่ออกคำสั่งกับเพื่อนๆ แต่เป็นผู้นำที่ฟังความเห็นของเพื่อนๆ ผมไม่ลังเลเลย ตอนที่อาร์ตเอ่ยปากชวนเข้ามาทำงานด้วยกัน เพราะผมรู้ดีว่าเขาจะต้องพาบริษัทของเราไปถึงเป้าหมายได้อย่างแน่นอน อาร์ตบอกว่าเขาเชื่อมือผม ผมเองก็เชื่อมั่นในตัวเขาเช่นกันครับ”