posttoday

มองอนาคตพิพิธภัณฑ์ไทย ในศตวรรษที่ 21

11 เมษายน 2559

เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นยุคที่สังคมเปลี่ยนแปลงทั้งยังมีความซับซ้อนสูง แน่นอนว่าบทบาทของพิพิธภัณฑ์ที่มิใช่เป็นแหล่งเรียนรู้เพียงอย่างเดียว

โดย...กองทรัพย์ ภาพ… คลังภาพโพสต์ทูเดย์

เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นยุคที่สังคมเปลี่ยนแปลงทั้งยังมีความซับซ้อนสูง แน่นอนว่าบทบาทของพิพิธภัณฑ์ที่มิใช่เป็นแหล่งเรียนรู้เพียงอย่างเดียว พิพิธภัณฑ์ยุคใหม่ควรมีการออกแบบพิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้อย่างไรให้ตอบโจทย์ต่อการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน ควรสร้างจินตนาการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ที่ขยายวงกว้างมากขึ้น เพื่อให้พิพิธภัณฑ์เป็นหนึ่งในกลไกที่จะกล่อมเกลาเด็กและเยาวชนให้เติบโตขึ้นอย่างมีศักยภาพ พร้อมเป็นผู้ใหญ่ในสังคมแห่งการทำงานเพื่อร่วมพัฒนาประเทศอย่างเป็นระบบ

เพื่อตอบโจทย์ประกอบกับการเปลี่ยนแปลง เมื่อเร็วๆ นี้ พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดเสวนาวิชาการในหัวข้อ พิพิธภัณฑ์ไทยในศตวรรษที่ 21 เรื่อง “ทิศทางพิพิธภัณฑ์ยุคใหม่ควรเป็นอย่างไร?” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ประภัสสร โพธิ์ศรีทอง นักวิชาการอิสระ ดร.พธู คูศรีพิทักษ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวัฒนธรรมศึกษา กลุ่มวิชาพิพิธภัณฑ์ศึกษา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล และ จุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) เพื่อหาแนวทางการพัฒนารูปแบบการนำเสนอของพิพิธภัณฑ์ให้มีความทันสมัยและทันเหตุการณ์โลกปัจจุบัน

มองอนาคตพิพิธภัณฑ์ไทย ในศตวรรษที่ 21

แหล่งให้ความรู้ทุกผู้ทุกวัย

เปิดประเด็นด้วย ประภัสสร ที่คร่ำหวอดในงานด้านพิพิธภัณฑ์มาเป็นเวลานาน ทั้งในบทบาทของนักวิชาการ และภัณฑารักษ์ ตำแหน่งสุดท้ายของงานด้านพิพิธภัณฑ์คือ ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์สิรินธร หรือพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเคยทำงานทั้งภัณฑารักษ์ และผู้บริหารพิพิธภัณฑ์ จึงขอกล่าวในฐานะตัวแทนของผู้ทำงานด้านพิพิธภัณฑ์ว่า “คนทำงานพิพิธภัณฑ์จะให้ความสำคัญทั้งงานวิชาการ จากประสบการณ์ที่ผ่านมา มีความเห็นว่าพิพิธภัณฑ์ที่ดี ไม่ควรเต็มไปด้วยเนื้อหาที่แน่นไปด้วยตัวหนังสือเพียงอย่างเดียว ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นสิ่งที่น่าเบื่อ แต่ต้องยอมรับว่ากลุ่มผู้ชมที่ชื่นชอบข้อมูลก็มีจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะวัยผู้ใหญ่ อีกเหตุผลหนึ่งคือเมื่อก่อนพิพิธภัณฑ์ห้ามถ่ายรูป ห้ามสัมผัส คนก็มองว่าเป็นสถานที่ที่ต้องไปอ่านเนื้อหาอย่างเดียว แต่ปัจจุบันแค่คนเข้าไปชม จะไปถ่ายรูปหรือเดินดูเฉยๆ คนทำพิพิธภัณฑ์ก็ดีใจแล้ว ไม่ต้องเข้าไปศึกษาอย่างจริงจังกันทุกคน

อย่างไรก็ตาม พิพิธภัณฑ์ในปัจจุบันมีการนำสื่อผสม และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในรูป Visual Presentation มีรูปแบบของป้ายคำบรรยายที่พอเหมาะพอควร รูปถ่ายประกอบที่เหมาะสม การใช้วิดีโอ การใช้แผนผังที่ดูง่าย ซึ่งสามารถตอบโจทย์กลุ่มคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น เป็นการคุ้มค่าที่จะลงทุน บางครั้งการชมสวยๆ ก็กลายเป็นแรงบันดาลใจ เช่น ไปชมพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ ก็ไม่หวังให้ทุกคนหลงใหลในประวัติศาสตร์ อาจจะมีบางคนเห็นลวดลายโบราณ แล้วได้แรงบันดาลใจในการออกแบบหรือใช้ในงาน นี่คือสัญญาณที่ดี ส่วนงานบริหารซึ่งจะหล่อหลอมให้พิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งประสบความสำเร็จ รวมทั้งต้องมีความชัดเจนในเรื่องราวที่ต้องการนำแสดงผ่านนิทรรศการ และคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายเป็นสำคัญด้วย” 

มองอนาคตพิพิธภัณฑ์ไทย ในศตวรรษที่ 21

 

ประภัสสร มองว่าในอดีตนิทรรศการภายในไม่สอดคล้องกับกลุ่มผู้ชม ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กที่เข้าไปชมไม่สนุกและหันหลังให้พิพิธภัณฑ์ “พิพิธภัณฑ์ไม่ได้สร้างมาเพื่อผู้ใหญ่เท่านั้น ดังนั้นจึงควรมีพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์สำหรับผู้ใช้ที่วัยต่างกันด้วย อย่างพิพิธภัณฑ์ที่ประเทศออสเตรเลียจะมีพื้นที่สำหรับเด็กเรียกว่า Mini museum for under five เป็นพิพิธภัณฑ์ก่อนวัยเรียน ซึ่งในต่างประเทศให้ความสำคัญกับเด็กก่อนวัยเรียนด้วย โดยจะแบ่งห้องต่างๆ ให้เด็กเรียนรู้ เช่น การใช้เทคโนโลยีในการถ่ายภาพ หรือระบายสี เน้นการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะเขาต้องการให้เด็กได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงให้มากที่สุด รวมทั้งสร้างจินตนาการให้เด็กด้วย” 

มีชีวิตชีวา-ให้ความรู้สึก

ขณะที่ ดร.พธู ได้ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ในงานด้านพิพิธภัณฑ์ว่า เมื่อหลายปีก่อนมีโอกาสได้ไปฟังปาฐกถาที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบรรยายว่า พิพิธภัณฑ์จะต้องเป็นที่สนุกสนาน และมีชีวิตชีวา เหมือนกับเป็น Living Museum และจะต้องเป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับทุกคน ซึ่งเป็นแบบอย่างในการทำพิพิธภัณฑ์ ที่ไม่ว่าจะศตวรรษไหนๆ ก็ยังคงใช้ได้อยู่

ประสบการณ์ที่ได้ทำงานด้านพิพิธภัณฑ์ที่มิวเซียมสยาม รวมถึงประสบการณ์ที่ได้สัมผัสพิพิธภัณฑ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ ดร.พธู บอกเล่าเรื่องราวของพิพิธภัณฑ์ที่ประทับใจ ซึ่งในเมืองไทยเธอแนะนำว่าต้องได้ไปลองเรียนรู้นิทรรศการบทเรียนในความมืด Dialogue in the Dark ที่จามจุรีสแควร์

มองอนาคตพิพิธภัณฑ์ไทย ในศตวรรษที่ 21

 

“ความน่าสนใจของพิพิธภัณฑ์นี้คือการได้เรียนรู้จากความมืด ทำให้ได้เรียนรู้ผ่านสัมผัสต่างๆ โดยมีผู้ที่นำชมเป็นผู้พิการทางสายตา หลังจากเข้าชมนิทรรศการนี้แล้วหลายคนเกิดการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงทัศนคติกับผู้พิการทางสายตา ซึ่งตรงกับวัตถุประสงค์ที่จัดนิทรรศการนี้ขึ้นมาที่ต้องการให้คนทั่วไปได้เรียนรู้ การอยู่ร่วมกันในสังคมได้เข้าใจคนอื่นมากขึ้น

อีกแห่งหนึ่ง เดิมเป็นเหมืองเกลือ อยู่ที่ประเทศออสเตรีย ซึ่งเปิดให้คนทั่วไปเข้าเยี่ยมชม เป็นสถานที่ที่ทำให้ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของพื้นที่เหมือง มีวิธีการเล่าเรื่องที่น่าสนใจ มีการจัดแสดงที่กลมกลืนกับธรรมชาติ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้รับความสนุกสนาน เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ให้ทั้งความรู้จากประสบการณ์จริง กระตุ้นให้คิด และสร้างความหมายใหม่ที่เกิดขึ้นเพื่อให้ไปเรียนรู้ต่อ สิ่งสำคัญที่ได้จากพิพิธภัณฑ์ทั้งสองแห่ง คือ ความมีชีวิตชีวา การได้เรียนรู้ประสบการณ์ที่เชื่อมโยงระหว่างภายในและภายนอก รวมทั้งการสื่อสารแบบพหุมิติ ผ่านรูป รส กลิ่น เสียง และการเกิดความเปลี่ยนแปลงทัศนคติบางอย่างไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น”

จากผู้รักษาสู่ผู้สร้างวัฒนธรรม

“คนทั่วไปมักจะคิดว่าคนทำพิพิธภัณฑ์ เป็นผู้รักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรม จึงอยากจะให้ตั้งคำถามกับคนทำงานพิพิธภัณฑ์ว่า เราจะสามารถเปลี่ยนจากผู้คงไว้เป็นผู้สร้างวัฒนธรรมได้ไหม โดยยังทำให้แก่นและปรัชญาของความเป็นพิพิธภัณฑ์ก็จะยังคงอยู่ แต่อาจจะมีการนำทฤษฎีมาผสมผสานกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Meaning (การสื่อความหมาย) หรือ Message (ข่าวสาร) หากเรามี Content (เนื้อหา) จะสื่อออกมาอย่างไร จากสิ่งที่เราจะต้องคิดค้นคว้า หรือเก็บสะสมตลอดเวลา เราจะสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ออกมาสู่สังคมได้บ้างไหม รวมทั้งเรื่องของเจเนอเรชั่นต่างๆ ซึ่งในอนาคตกำลังจะก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย ซึ่งพิพิธภัณฑ์ก็ต้องปรับแนวความคิดในการนำประโยชน์ขององค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ การถ่ายทอดมาใช้ในพิพิธภัณฑ์ให้มากขึ้น”

มองอนาคตพิพิธภัณฑ์ไทย ในศตวรรษที่ 21

 

จุลลดา เผยมุมมองของเธอที่มีต่ออนาคตพิพิธภัณฑ์ไทยในศตวรรษที่ 21 อีกว่า ทุกวันนี้วิวัฒนาการของพิพิธภัณฑ์พยายามให้เข้าสู่โลกของการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น ทำให้บางพิพิธภัณฑ์ใช้เทคโนโลยีมากเกินไป จนบดบังความสำคัญของเนื้อหาสาระที่เป็นแก่นของพิพิธภัณฑ์ “พิพิธภัณฑ์ที่ดิฉันชื่นชอบ ต้องเน้นนวัตกรรมทางความคิด รวมทั้งสามารถผสมผสานระหว่างการความเก่าและใหม่อย่างลงตัว เช่น โบสถ์โบราณในยุคกลางแห่งหนึ่งของต่างประเทศ ที่นำงานศิลปะเข้าไปจัดแสดง ทำให้กลายเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ที่น่าจดจำ รวมทั้งเป็นจุดเปลี่ยนความรู้สึกที่ผู้คนมีต่อพิพิธภัณฑ์ด้วย”

แม้ว่าโลกเปลี่ยนไป และมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้เกิดการเรียนรู้ สร้างความน่าสนใจให้กับพิพิธภัณฑ์มากขึ้นเท่าไร สิ่งที่จำเป็นสำหรับพิพิธภัณฑ์ในไทย คือการสร้างความผูกพัน ความใกล้ชิดกับชุมชน และการมีส่วนร่วมของผู้ชมซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ ในอนาคตเทคโนโลยีจะไปไกลเพียงใด แต่หากไม่ได้สื่อสารแบบเห็นหน้าค่าตา หรือไม่ได้เรียนรู้ผ่านรูป รส กลิ่น เสียง ก็ไม่ทำให้เกิดประสบการณ์ร่วมที่แท้จริง

ดังนั้น พิพิธภัณฑ์ในอนาคตน่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ไม่มีพรมแดน และสลายกำแพงในเรื่องของการเรียนรู้ที่ทั้งในระบบหรือนอกระบบที่จะหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน