posttoday

'เงิน' ใช้อย่างไรให้ปลอดภัยจากเชื้อโรค

13 มีนาคม 2563

ดูวงจรของเงิน พร้อมคำแนะนำจากธนาคารแห่งประเทศไทย กับ 5 วิธีป้องกัน COVID-19 หลังจับเหรียญและธนบัตร

ในช่วงที่ COVID-19 ยังคงแพร่ระบาดอยู่เช่นนี้ หลายคนกังวลถึงความเสี่ยงรอบตัวโดยเฉพาะสิ่งที่จำเป็นต้องสัมผัส อย่าง "เงินตรา" ทั้งธนบัตร เหรียญ ซึ่งมีโอกาสนำเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้เช่นกัน ด้วยความห่วงใยจากธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ออกมาอธิบายถึงใช้ธนบัตรอย่างไรให้ปลอดภัย ห่างไกล COVID-19

\'เงิน\' ใช้อย่างไรให้ปลอดภัยจากเชื้อโรค

"ธนบัตร" ที่ใช้วนกลับไปธนาคารแห่งประเทศไทยมีกระบวนการอย่างไร?

นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการสายออกบัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปกติแล้วเวลาที่ประชาชนได้ธนบัตรมาแล้วนำไปฝากกับธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ทางธนาคารก็จะเก็บรวบรวมไว้ซึ่งพอได้ในจำนวนหนึ่งแล้วก็จะส่งต่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทย หากธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่าธนบัตรมีความเก่า ไม่สมบูรณ์เท่าที่ควรแล้วก็จะนำไปทำลาย แต่หากธนบัตรยังคงมีสภาพดี สมบูรณ์ สะอาด เนื้อกระดาษยังไม่ถูกทำลายมากทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็จะเก็บรวบรวมไว้ และนำไปหมุนเวียนเข้าในระบบ ให้ประชาชนใช้งานกันต่อไป ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีการผลิตธนบัตรใหม่ออกอยู่เรื่อยๆ ด้วย ฉะนั้น จึงมีทั้งธนบัตรที่ผ่านมือมาแล้ว และธนบัตรใหม่หมุนเวียนปะปนกันอยู่ในระบบ

มาตรการดูแลธนบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย

ต้องบอกก่อนว่า COVID-19 เวลาที่อยู่บนผิวสัมผัสจะมีระยะเวลาของเชื้อที่ตายไปแตกต่างกัน อย่าง

  • พลาสติก : COVID-19 จะอยู่ได้ประมาณ 9 วัน
  • กระดาษ (อยู่ในอุณหภูมิห้อง) : COVID-19 จะอยู่ได้ประมาณ 5 วัน
  • โลหะ : COVID-19 จะอยู่ได้ประมาณ 3 วัน (ทนความร้อนได้ดีกว่า)

โดยมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยในการดูแลธนบัตรคือ หากธนบัตรถูกหมุนเวียนกลับมาจะถูกเก็บไว้ 14 วัน ก่อนส่งกลับไปหมุนเวียนเข้าระบบถึงมือประชาชนต่อไป ดังนั้น หากมีเชื้อ COVID-19 ติดมาบนธนบัตรซึ่งถือเป็นกระดาษพิเศษประเภทหนึ่งแล้วหมุนเวียนมาที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกว่าจะส่งกลับไปหมุนเวียนเข้าระบบถึงมือประชาชนเชื้อก็ตายหมดแล้ว หรือถ้าเป็นเหรียญซึ่งทำจากโลหะเชื้อก็จะตายหมดแล้วเช่นกัน

วิธีกำจัด COVID-19 บนธนบัตร

สำหรับใครที่ต้องการทำความสะอาดหรือฆ่าเชื้อธนบัตร/เหรียญสามารถทำได้ โดย

  • ใช้แอลกอฮอล์ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรคเช็ด ซึ่งการใช้แอลกอฮอล์หรือน้ำยาฆ่าเชื้อมาเช็ดไม่ทำให้เนื้อกระดาษถูกทำลาย
  • นำไปผึ่งแดด ก็สามารถฆ่าเชื้อโรคได้เช่นกันเพราะพอโดนความร้อนเชื้อก็ตาย
  • ควรหลีกเลี่ยงการพับหรือกรีดธนบัตร เพราะรอยที่เกิดขึ้นจะเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค ซึ่งหากเราคลายเป็นปกติ โอกาสที่จะเกิดการสะสมในมือต่อๆ ไปก็จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปบ้าง

ทั้งนี้ ถ้าคิดว่าธนบัตรที่มีดูเก่าก็สามารถนำไปฝากหรือแลกธนบัตรใหม่กับธนาคารพาณิชย์ได้ แต่แม้ว่าจะเป็นธนบัตรใหม่ สะอาด แต่หากโดนมือที่มีเชื้อมาจากที่อื่น ธนบัตรนั้นก็มีเชื้อโรคติดอยู่ได้เช่นกัน ทางที่ดีที่สุด คือ ทุกคนควรป้องกันตัวเองด้วยการล้างมือให้สะอาดภายหลังการสัมผัสธนบัตรหรือสิ่งของต่างๆ ที่ใช้ร่วมกัน หรือถ้ายังไม่มีโอกาสล้างมือก็อย่าเพิ่งนำมือไปสัมผัสใบหน้า เข้าปากหรือจมูกเพราะจะทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้

\'เงิน\' ใช้อย่างไรให้ปลอดภัยจากเชื้อโรค

คำแนะนำจากธนาคารแห่งประเทศไทย-Bank of Thailand กับ 5 วิธีป้องกัน COVID-19 หลังจับเหรียญและธนบัตร

  1. ล้างมือทุกครั้งหลังจับเหรียญและธนบัตร ด้วยแอลกอฮอล์ล้างมือ 70% หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ
  2. นำธนบัตรไปผึ่งที่แดดจัดและอากาศถ่ายเท เพื่อฆ่าเชื้อโรค
  3. เช็ดธนบัตร ด้วยผ้าหมาดที่ชุบแอลกอฮอล์ 70% หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ซึ่งไม่ทำให้เนื้อกระกาษถูกทำลาย
  4. ไม่พับ หรือกรีดธนบัตร เนื่องจากรอยพับเหล่านี้เป็นแหล่งสะสมสิ่งสกปรก และอาจเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคชั้นดี
  5. หากพบว่าธนบัตรมีสภาพเก่า หรือสกปรกมาก สามารถนำธนบัตรเหล่านี้ไปฝากธนคาร แล้วนำธนบัตรใหม่มาใช้(ทางธนาคารจะจะส่งธนบัตรเก่าที่ชำรุดไปยังธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อทำลาย และผลิตธนบัตรใหม่มาให้ประชาชนใช้งาน)

อ้างอิง : จส.100 / ธนาคารแห่งประเทศไทย