New Normal : ชีวิตวิถีใหม่เลี้ยงลูกยังไงให้รอด
บทบาทพ่อแม่เมื่อลูกต้องเรียนที่บ้าน สร้างความมั่นใจให้พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถเป็นพ่อแม่ New Normal ที่เลี้ยงลูกให้ดีได้ด้วยวิธีง่ายๆ จากผู้เชี่ยวชาญ
เมื่อการเรียนรู้ของเด็กย้ายจากโรงเรียนมาอยู่ที่บ้าน การเรียนรู้ก็จะตามเด็กๆ มาอยู่ที่บ้านเช่นเดียวกัน อ.ธิดา พิทักษ์สินสุข อุปนายกสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทยฯ เผยรูปแบบการจัดการเรียนการสอนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด–19 สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้
1.การเรียนแบบออฟไลน์ เป็นการเรียนรู้ทางไกลอยู่บ้าน แต่มีแบบฝึกทักษะการเรียนส่งให้ถึงบ้านพร้อมกับคู่มือ อุปกรณ์ต่างๆ มาให้ผู้ปกครองศึกษา การเรียนแบบนี้ จะไม่มีจอใดๆ ถ้ามีจอก็ผู้ปกครองดูจอแทนว่าคุณครูให้ทำอะไรบ้าง เป็นการแนะนำพ่อแม่ให้ทำกิจกรรมกับเด็ก ส่วนเด็กก็ลงมือทำกิจกรรมร่วมกับผู้ปกครอง เป็นการกระตุ้นให้เกิดการใช้เวลาร่วมกันในครอบครัวมากขึ้น
2.การเรียนแบบออนแอร์ มีกิจกรรมการเรียนการสอนผ่านจอทีวี เป็นโครงการของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ร่วมกับ สพฐ. เพื่อให้เป็นไปตามรูปแบบของการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะมีรายการที่ทางกระทรวงแจ้งไว้ว่ามีกำหนดออกอากาศวันไหน แต่การเรียนในลักษณะนี้จะเป็นการเรียนรู้ทางเดียว เด็กก็จะหลับบ้าง หมดแรงดูบ้าง โดยที่ผู้สอนในจอก็ยังสอนต่อไป เพราะไม่สามารถเห็นปฏิกิริยาของเด็กๆทุกคนได้
3.การสอนแบบออนไลน์ โดยมีครูเตรียมการสอนอยู่ที่โรงเรียน แล้วไลฟ์สดถึงบ้านหรือทำเป็นคลิป การสอนแบบนี้ผู้เรียนจะให้ความสนใจมากขึ้น เพราะครูชวนพูด ชวนทำกิจกรรม เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ โดยยึดบ้านเป็นฐานการเรียนรู้
สำหรับเด็กเล็ก สิ่งที่เรียนรู้ได้ดีที่สุด คือการเรียนรู้ผ่านการเล่น ลงมือทำกิจกรรม เป็นลักษณะของ Active learning เมื่อเด็กๆ ลงมือทำ สมองของเขาก็จะทำงาน เรียนอย่างสนุกสนานและใช้เวลาไม่นานมาก การเรียนแบบนี้จะทำให้เด็กได้คิด ได้ลงมือทำ รู้สึกว่ากิจกรรมท้าทายความสามารถ เขาได้สรุปและพูดคุยว่าได้เรียนรู้อะไรบ้าง พ่อแม่ต้องชวนลูกเล่น ชวนลูกทำกิจกรรม เด็กจึงจะเกิดทักษะ ถ้าเด็กอยู่ในวัยที่โตขึ้นมาหน่อย ก็จะได้วางแผนกับผู้ปกครองทำกิจกรรม เหล่านี้คือกระบวนการเรียนรู้ของเด็กๆ และที่สำคัญ บ้าน คือ แหล่งการเรียนรู้ที่มีความหมายต่อชีวิต การเรียนรู้ที่โรงเรียนยังเป็นการเรียนรู้ที่จำลองมากกว่าที่บ้านอีก
หากพ่อแม่ไม่รู้เรื่องวิชาการ วิชาเรียนของลูก จะทำอย่างไร?
ต้องบอกว่านี่เป็นข้อสงสัยและข้อกังวลของพ่อแม่หลายคน ดร.วรนาท รักสกุลไทย ผู้อำนวยการโรงเรียนเกษมพิทยา (แผนกอนุบาล) ได้บอกเคล็ดลับว่า ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่สามารถสอนลูกได้ อย่าตั้งความคาดหวังไว้สูง เพียงทุกๆ วัน ได้สร้างทักษะชีวิตให้ลูกเริ่มต้นจากที่บ้าน เริ่มจากเรื่องง่ายๆ ด้วยการช่วยเหลือตนเองในกิจวัตรประจำวันในบ้าน เช่น อาบน้ำ แปรงฟัน แต่งตัว พับ แขวนเสื้อผ้า จัดสรรเวลาให้ผสมผสานกับชีวิตประจำวันและทำน้อยๆ แต่เน้นคุณภาพ ดีกว่าทำมากๆ แต่ไม่มีความสุข โดยบทบาทของพ่อแม่ มีดังนี้
1.เข้าใจ ขอให้ผู้ปกครองทำความเข้าใจว่าสื่อแต่ละอย่างที่นำมาให้เด็กได้เรียนรู้มีวัตถุประสงค์แตกต่างกันไป ให้เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเอง เข้าใจพัฒนาการและธรรมชาติของเด็ก
2.มั่นใจ ให้มั่นใจว่ารูปแบบที่เราเรียนรู้สมัยเด็กๆ ก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ ให้มั่นใจว่าตัวเองสอนได้ อาจจะไม่ได้สอนแบบคุณครู แต่ก็สอนให้เด็กสนุกกับกิจกรรม ทำให้เกิดการเรียนรู้ตามมา
3.ทำใจ กับสถานการณ์
ทางด้าน รศ.นพ.วีระศักดิ์ ชลไชยะ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยพัฒนาศักยภาพเด็กไทย ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เด็กจะเรียนได้ดี ต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย เด็กๆน่าจะอยากเรียนอะไรด้วยตัวเอง คือ ถ้าเขาสนใจอะไรบางอย่าง เขาจะเรียนได้ดี ซึ่งทั้งสองอย่างเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เขามีพัฒนาการในการจัดการเรียนการสอนแบบ EF (ทักษะสมอง : คิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาเป็น อยู่กับคนอื่นเป็น มีความสุขเป็น)
จริงๆ ลูกเราสามารถเรียนได้ทุกวัน อย่าไปยึดติดกับอะไรเดิมๆ เช่น การเรียนเป็นตัวเลข เป็นหนังสือ จริงๆ การเรียนในเด็กปฐมวัยสิ่งสำคัญคือการเล่น เพราะทุกครั้งที่เล่นแล้วสนุก สมองในส่วนของ EF จะทำงานได้ดีมากขึ้น แล้วค่อยๆ ปูพื้นฐานที่สำคัญเพื่อต่อยอดไปสู่การเรียนรู้ที่สูงขึ้น การเล่นกับลูกไม่จำเป็นต้องฝืนมาก โดยวิธีเล่นกับลูก คือ เน้นปฏิสัมพันธ์ของผู้ปกครองกับเด็ก เล่นในสิ่งที่ลูกอยากเล่น ทำให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้ปกครอง และเด็กแทบจะไม่มีปัญหาเรื่องพฤติกรรมอะไรเลย หากเด็กต่อต้าน เราต้องพยายามเล่นกับลูกให้มากขึ้นนั่นเอง
นับว่านี่เป็นโอกาสที่ผู้ปกครองได้มีความสุขร่วมกับลูก เปิดโอกาสให้ได้ใช้เวลากับลูก หัวใจสำคัญคือสุขภาพจิตของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่ให้เป็นเชิงบวก อย่าตั้งเป้าหมายให้เยอะเกินไป พยายามให้ลูกใช้ชีวิตประจำวันเองให้ได้เพื่อปลูกฝังทักษะชีวิตให้กับเขา เพื่อที่จะเติบโตเป็นอนาคตของชาติในภายภาคหน้าอย่างมีคุณภาพ
ข้อมูลจากการสนทนาออนไลน์ ยกขบวน ชวนคิด Ep 1. บทบาทพ่อแม่เมื่อลูกต้องเรียนออนไลน์ไปอีกยาวๆ /สสส.
ภาพ : Freepik