กะเหรี่ยงคอยาววันนี้‘วัยรุ่น’เลิกใส่ห่วง
เชื่อว่านักเดินทางจำนวนไม่น้อยที่ไปเยือนเมืองในหมอกอย่าง “แม่ฮ่องสอน”
เชื่อว่านักเดินทางจำนวนไม่น้อยที่ไปเยือนเมืองในหมอกอย่าง “แม่ฮ่องสอน”
โดย..ภควิตา อัจจาทร
คงไม่รู้ว่าที่นี่มีพื้นที่พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยการสู้รบจากพม่าถึง 4 แห่ง คือ ที่บ้านใหม่ในสอย อ.เมือง บ้านแม่สุริน อ.ขุนยวม บ้านแม่ลามาหลวง อ.สบเมย และที่บ้านละอูน อ.สบเมย รวมแล้วมีผู้หนีภัยกว่า 4 หมื่นคน
ผู้เขียนเองก็เพิ่งรู้ข้อมูลเหล่านี้ เพราะ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พานักข่าวจากส่วนกลางไปดูสภาพความเป็นอยู่ของพื้นที่พักพิงฯ บ้านใหม่ในสอย ต.ปางหมู อ.เมืองแม่ฮ่องสอน นำทีมโดย “บุญส่ง เตชะมณีสถิตย์” รองอธิบดีกรมการปกครอง สาเหตุที่เลือกจุดนี้เพราะอยู่ใกล้และไปมาสะดวกที่สุด
ความที่ไปในหน้าฝน ถนนหนทางบางช่วงก็เป็นหลุมเป็นบ่อ ใช้รถตู้ไม่ได้ ต้องใช้โฟร์วีล และแม้จะอยู่ห่างจากตัว อ.เมือง เพียง 26 กิโลเมตร แต่ก็ผ่านป่าเป็นช่วงๆ และเป็นถนนแคบๆ จึงต้องใช้เวลานานประมาณ 1 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม บรรดานักข่าวต่างเพลิดเพลินกับทิวทัศน์สองข้างทาง เพราะก่อนที่จะเข้าถึงพื้นที่พักพิงฯ บ้านใหม่ในสอย จะเป็นนาข้าวสีเขียวขจี มีฉากเป็นภูเขาและท้องฟ้าสีคราม ทั้งยังมีลำธารแทรกเป็นบางช่วง ช่างเป็นทิวทัศน์ที่สวยงามยิ่งนัก
ตามรายงานอย่างเป็นทางการ พื้นที่พักพิงฯ แห่งนี้ตั้งเมื่อปี 2538 อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ปายฝั่งขวาตอนล่าง ถือว่าใหญ่ทีเดียวเพราะมีเนื้อที่1,600 ไร่ มีผู้หนีภัยมากถึง 3,511 ครัวเรือน จำนวน 12,404 คน โดย80% เป็นชาวกะเหรี่ยงแดง (คะยา) เป็นชาวกะเหรี่ยง 10% ไทยใหญ่ 5% และชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆ และมีกำลังสมาชิก อส. ปฏิบัติหน้าที่ประจำ 60 นาย
สรุปง่ายๆ พื้นที่พักพิงฯ แห่งนี้ มีทั้งกะเหรี่ยงแดง กะเหรี่ยงขาว กะเหรี่ยงคอยาว และปะโอ
สาเหตุสำคัญที่แม่ฮ่องสอนมีผู้หนีภัยฯ จากพม่าเข้ามาจำนวนมาก เพราะเป็นเขตติดต่อกัน โดยทางทิศเหนือและทิศตะวันตกติดต่อกับพม่าถึง 3 รัฐ คือ รัฐฉานตอนใต้ รัฐคะยา และรัฐคอทูเล โดยมีเทือกเขาถนนธงชัยตะวันตก แม่น้ำสาละวินและแม่น้ำเมย เป็นแนวพรมแดนกั้นระหว่างสองประเทศ ภาพโดยรวมทุกอำเภอของแม่ฮ่องสอนจะมีแนวพรมแดนติดกับพม่า 483 กิโลเมตร เป็นพรมแดนที่เป็นพื้นที่ 326 กิโลเมตร เป็นแม่น้ำ 157 กิโลเมตร
ฉะนั้น อย่าได้แปลกใจที่บรรพบุรุษของชาวแม่ฮ่องสอนบางกลุ่มบางบ้านอพยพมาจากพม่า
ในวันที่คณะกรมการปกครองและสื่อไปเยี่ยมเยือนพื้นที่นี้ มีกะเหรี่ยงคอยาวมาคอยต้อนรับด้วย เธอชื่อมะตือ อยู่ในบริเวณใกล้ๆ แถวนั้น ไม่ได้อาศัยในพื้นที่พักพิงฯ ย้ายมาจากพม่ากว่า 20 กว่าปีแล้ว แต่พูดไทยไม่ได้ ต้องใช้ล่าม
สาวกะเหรี่ยงคอยาวเล่าว่า “จะมีแขกต่างชาติหรือคนไทยเข้ามาดู เราก็จะมีรายได้จากการขายของ จะมีเงินซื้ออาหาร ซื้อขนมให้ลูก ส่วนใหญ่ทำผ้า เวลานักท่องเที่ยวมาดูเราก็ดีใจเพราะเขาจะช่วยซื้อของ ซึ่งบางอย่างก็ทำเอง บางอย่างก็ซื้อมาจากแม่ฮ่องสอน ถ้าวันไหนมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเราก็จะมีรายได้ แต่บางวันไม่มีนักท่องเที่ยวเลยก็จะไม่มีรายได้ บางครั้งก็ปลูกผักกินเองบ้างตามสวนหลังบ้าน
เวลาที่นักท่องเที่ยวเข้ามาดูก็ไม่ได้คิดว่าเราเป็นตัวประหลาด ดีใจและภูมิใจเพื่อให้เขาได้ทราบว่ายังมีกะเหรี่ยงกลุ่มนี้อยู่ บางครั้งเขาก็เอาของมาให้ เช่น ให้สบู่ เสื้อผ้า หรือนำขนมเล็กๆ น้อยๆ มาฝาก”
เห็นห่วงที่คอเธอแล้ว หนักแทน แต่เจ้าตัวบอกไม่รู้สึกอะไรเพราะชินแล้ว
“ใส่ห่วงมาตั้งแต่ 5 ขวบ ปัจจุบันอายุ 45 ปี ใส่มา 40 ปีแล้ว ที่ใส่เพราะเป็นประเพณีของชาวกะเหรี่ยง ไม่คิดจะเอาออก มีลูก 5 คน 2 คน เรียนหนังสือมาแล้วมาเป็นครูที่หมู่บ้าน และมีลูกสาว 2 คน ที่ใส่ห่วงสมัยก่อนถ้าใครใส่ห่วงจะได้เงิน แต่ปัจจุบันนี้ไม่ได้เงินแล้ว คนสูงอายุใส่ตามประเพณี และคิดว่าคงจะใส่ไปจนกว่าจะตาย เด็กวัยรุ่นไม่ค่อยมีคนใส่แล้ว ห่วงที่ใส่นี้จะไม่ถอดเลยแม้แต่ตอนอาบน้ำและเวลานอน และต้องขัดให้เงาอยู่ตลอดเวลา”
แม้หลายคนอยากจะกลับไปพม่า แต่สำหรับมะตือ ยืนยันชัด “ไม่คิดจะกลับไปพม่าแล้ว เพราะไม่อยากโดนลงโทษ ที่ผ่านมาถ้าเราทำนาได้ 100 ถัง ทหารพม่าจะเอาไป 50 ถัง เมื่อก่อนเคยอยู่ที่พื้นที่พักพิงฯ ที่นี่ ต่อมาลงไปอยู่ที่บ้าน แต่ที่นั่นปัจจุบันไม่ค่อยสะดวกแล้ว ก็อยากจะกลับมาอยู่ที่พื้นที่นี้อีกครั้งหนึ่ง”
ได้รู้ได้เห็นชีวิตบางมุมของกะเหรี่ยงคอยาวไปบ้างแล้ว ลองมาฟังประสบการณ์ของคุณวชิระ โชติรสเศรณี ปลัดอำเภอเมือง ในฐานะหัวหน้าพื้นที่พักพิงฯบ้านใหม่ในสอย ซึ่งดูแลที่นี่นานเกือบ 10 ปี
หัวหน้าฯ พูดด้วยใบหน้าเปื้อนรอยยิ้มว่า การทำงานในพื้นที่พักพิงฯ ต้องใช้กฎหมายของไทย เช่น ห้ามตัดไม้ในป่า แต่บางครั้งก็เจอคำถามจากผู้หนีภัย เช่นถามว่าพวกเขาอยู่ในพม่าตั้งแต่เล็กจนโต ก็ตัดไม้ในป่ามาทำฟืน มาก่อสร้างบ้าน แล้วทำไมอยู่ที่นี่ถึงตัดไม่ได้ และผิดด้วยหรือที่เขาจะออกไปช่วยญาติพี่น้องพรรคพวกเพื่อนฝูงทำนา ซึ่งตามกฎของพื้นที่แล้ว ห้ามไม่ให้ออกนอกพื้นที่ นอกจากจะได้รับอนุญาต ดังนั้นต้องอธิบายให้คนเหล่านี้เข้าใจ
หากดูจากภาพถ่ายจะเห็นว่าบ้านของผู้หนีภัยจะสร้างกันง่ายๆ อยู่ติดๆ กัน บางบ้านที่อยู่มานานอาจจะมีเนื้อที่ไว้ปลูกพืชผักไว้กินบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะไม่มีบริเวณ สิ่งที่ทางรัฐบาลไทยและเอ็นจีโอระหว่างประเทศหลายองค์กรทำอยู่ก็คือ ให้ผู้หนีภัยสามารถพึ่งพิงตนเองให้มากที่สุด
อย่างที่คุณวชิระบอก “เราพัฒนาเทคนิคการปลูกพืชในพื้นที่จำกัดเพื่อแสดงให้เห็นว่าสามารถปลูกได้ ซึ่งถ้าเขาสามารถผลิตอาหารขึ้นมา อย่างน้อยก็เลี้ยงตัวเองได้ เลี้ยงครอบครัวได้ในระดับหนึ่ง หากคิดพึ่งพาเอ็นจีโอตลอดเวลา ที่สุดวันหนึ่งจะมีปัญหาเกิดขึ้น เพราะเอ็นจีโอเองก็เริ่มมีปัญหาเรื่องเงินทุน เช่น เริ่มตัดปริมาณข้าวจาก 15 กิโล เหลือ 13 กิโล พริกที่เคยแจกก็ไม่แจกแล้ว
ทางอำเภอเลยพยายามนำนโยบายของกระทรวงมหาดไทยและกรมการปกครองเรื่องขยายแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงเพื่อการพึ่งพาตัวเองเข้าไปในพื้นที่พักพิง โดยร่วมกับองค์กรเอกชนช่วยในการอบรมและช่วยในการจัดหาอุปกรณ์เมล็ดพันธุ์มาให้พวกเขา”
ในพื้นที่บ้านใหม่ในสอยนี้ ผู้หนีภัยยังสามารถฝึกอาชีพได้หลากหลาย อาทิ การตัดเย็บเสื้อผ้า การทำเทียนอบ การทำถ่านอัดแท่ง และเด็กๆ ก็สามารถเรียนหนังสือได้ เจ็บป่วยก็มีแพทย์ พยาบาล ดูแล
“ในพื้นที่พักพิงมีตั้งแต่อนุบาล ประถมถึงมัธยม ระบบของเขาเป็นระบบอังกฤษ ไม่ใช่ระบบไทย พอจบไฮสกูลเกรด 10 ยังมี Post 10 อีก คือเป็นโรงเรียนฝึกหัดชั้นสูง มีโรงเรียนฝึกหัดครู ฝึกหัดอาชีพ ฝึกหัดความเป็นผู้นำ โรงเรียนฝึกหัดกลุ่มสตรี เขามีโอกาสเรียนหนังสือไปได้เรื่อยๆ แต่ปัญหาคือเรียนแล้วจะทำอะไร และมีปัญหาสถานที่ไม่เพียงพอ มีนักเรียนส่วนหนึ่งที่เรียนหนังสือไม่ดีพอที่จะเข้าโรงเรียนเหล่านี้ได้ก็ต้องออกมาอยู่เฉยๆ กลายเป็นปัญหาของสังคม”
ในมุมมองของหัวหน้าพื้นที่ฯ เพื่อทำให้ผู้หนีภัยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี เฉกเช่นมนุษย์ทั่วไปในสังคมโลก ไม่ต้องมาทนอยู่แบบไม่มีความหวังที่พื้นที่ฯ เขาเสนอว่า “ผมอยากเห็นการแก้ปัญหาอย่างถาวร อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในพม่า หรือไม่ก็ต้องเข้ามาช่วยกันพาเขาไปตั้งถิ่นฐานใหม่ เรื่องเหล่านี้มาจากปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน ปัจจัยสำคัญมาจากพม่า แต่ปัจจัยสำคัญมากกว่านั้นผมคิดว่าเป็นเรื่องของประชาคมโลกด้วย ถ้าประชาคมโลกให้ความสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจังและผลักดันมากกว่านี้ ผมเชื่อว่าพม่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นมากกว่านี้
ตอนนี้พม่าก้าวไประดับหนึ่งแล้ว อย่างน้อยก็มีการเลือกตั้งแล้ว แม้คนจะวิจารณ์อย่างไรก็แล้วแต่ ประชาคมโลกน่าจะเข้าไปร่วมมือกับพม่ามากขึ้น แล้วก็ค่อยๆ ทำ มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่จะให้เขาลงจากอำนาจเลย
คงถึงเวลาแล้วว่าอย่างน้อยเข้าไปหารัฐบาลใหม่มากขึ้น เจรจามากยิ่งขึ้น ลดความคาดหวัง ลดความแข็งกร้าวของแต่ละฝ่ายลง ให้แต่ละฝ่ายคิดถึงอนาคตมากขึ้น ผมว่ามีทางของมัน กลไกการเจรจาระดับนานาชาติ ผมว่ามีทางมากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับความตั้งใจจริงในการแก้ปัญหา
หลายประเทศในโลกนี้นานาชาติเคยเข้าไปร่วมเกี่ยวข้องและแก้ปัญหาในเชิงสร้างสรรค์แล้วแก้ปัญหามาแล้วทั้งนั้น ดูเหมือนพม่าเป็นประเทศเดียวที่ยังคงถูกปล่อยให้เป็นวิถีของพม่าอยู่มาก”
แม้ผู้หนีภัยจำนวนไม่น้อยอยู่ในพื้นที่ฯ มานานหลายสิบปี แต่คนเหล่านี้ยังต้องการกลับไปอยู่บ้านเกิดเมืองนอน
“ผู้ลี้ภัยมีความหวังที่จะกลับไปพม่าเสมอ คนเฒ่าคนแก่คนที่โตรุ่นใหม่ๆ เขายังพูดว่าเขายังอยากกลับไปถ้าเป็นไปได้ เพราะเขามีไร่มีนาในบ้าน เขารู้ว่าถ้ากลับไปที่รัฐของเขา เขามีทรัพยากรของเขามหาศาลมาก เพราะฉะนั้น โอกาสในชีวิตยังมีอีกมากที่บ้านของเขา มากกว่าที่อื่น มันคือที่ที่เขาคุ้นเคย ภาษา วัฒนธรรมของเขา ธรรมเนียมที่เขาคุ้นเคย เขาอยากกลับบ้าน ปัญหาอย่างเดียวคือความมั่นคงและความปลอดภัยในชีวิตของเขาต่างหาก ถ้าเมื่อไรที่เราสามารถทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้เขาก็สามารถกลับบ้านได้”
คงต้องติดตามกันต่อไปว่า ข้อเสนอแนะดีๆ เหล่านี้จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน