อภินิหารสมเด็จพระศาสดา พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่วัดบวรนิเวศวิหาร
เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ ถ้าไม่ประสบด้วยตนเอง คือเรื่องอภินิหาร สมเด็จพระศาสดา
เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ ถ้าไม่ประสบด้วยตนเอง คือเรื่องอภินิหาร สมเด็จพระศาสดา
โดย..สยาม สุดโต
ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย รุ่นเดียวกับพระพุทธชินราชและพระชินสีห์ ปัจจุบันประดิษฐานในวิหารใหญ่ วัดบวรนิเวศวิหาร บางลำพู
อภินิหารสมเด็จพระศาสดา เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2554 ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) อัญเชิญองค์จำลองสมเด็จพระศาสดา 1 ในจำนวน 19 องค์ ไปมอบให้ศูนย์ภาคีสมาชิก ณ เมืองปีนัง โดยสายการบินไทย เที่ยวบิน ทีจี 425 กำหนดออกจากสนามบินสุวรรณภูมิเวลา 19.45 น. ผู้ที่เดินทางในนาม พ.ส.ล.คือ พระธรรมวราจารย์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร พระ ดร.อนิลมาน ศากยะ ผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช พัลลภ ไทยอารี เลขาธิการ พ.ส.ล. และภรรยา และสื่อมวลชนอีก 4 ชีวิต พร้อมด้วยผู้โดยสารอีก 120 คน
อภินิหาร
เมื่อทุกอย่างพร้อม เครื่องบินโบอิ้ง 737-400 ชื่อชุมพร ได้แท็กซี่ไปตามรันเวย์ แต่กัปตัน (วิทวัส ไม่ทราบนามสกุล) ไม่สามารถนำเครื่องเหินฟ้าได้ ฟังเสียงเหมือนเร่งเครื่องไม่ขึ้น สักครู่หนึ่งกัปตันประกาศว่าไม่สามารถนำเครื่องขึ้นได้เพราะมีนกขวาง ทำให้เสียหลัก จึงต้องนำเครื่องมาเริ่มที่จุดสตาร์ตใหม่ เมื่อแท็กซี่ไประยะหนึ่ง เครื่องก็ขึ้นไม่ได้อีก กัปตันประกาศว่ามีปัญหาที่ระบบห้ามล้อ ต้องให้ช่างตรวจสอบ ต้องนำเครื่องกลับที่เดิม ให้ผู้โดยสารนั่งคอยผลตรวจสอบอยู่บนเครื่องสักครู่ เวลาผ่านไปอย่างอึดอัด กัปตันประกาศเชิญผู้โดยสารทั้งลำให้กลับไปคอยที่ห้องโดยสาร ต้องเปลี่ยนเครื่องบินลำใหม่ เพราะเครื่องที่ชื่อชุมพรบินไม่ได้ ต้องแก้ไขห้ามล้อให้เรียบร้อย ซึ่งใช้เวลานาน
ในที่สุดก็เปลี่ยนเครื่องลำใหม่เป็นโบอิ้ง 737-400 ชื่อกาฬสินธุ์ ให้ผู้โดยสารขึ้นเครื่องได้เมื่อเวลา 21.45 น.
คณะ พ.ส.ล. และผู้โดยสารอื่นๆ ไม่ได้แสดงความวิตกกังวลต่อความไม่สะดวก แต่ลงความเห็นกันว่า การที่กัปตันตัดสินใจไม่นำเครื่องขึ้น แล้วเปลี่ยนลำใหม่นั้น แม้จะล่าช้าจากกำหนดเดิม 2 ชั่วโมง ถือว่าเป็นการช่วยชีวิตผู้โดยสารทั้งหมด
ถ้ากัปตันนำเครื่องขึ้น ทั้งๆ ที่ห้ามล้อไม่สมบูรณ์ เมื่อนำเครื่องลงปลายทางที่สนามบินนานาชาติปีนัง นึกไม่ออกเหมือนกันว่าอะไรจะมาช่วยหยุดเครื่องบิน นอกจากอาคารผู้โดยสาร หรือไม่เช่นนั้นก็ชายทะเล
ส่วนการบอกเหตุว่าห้ามล้อเครื่องบินไม่เรียบร้อยคือ นก นั้น ไม่สามารถคิดเป็นอย่างอื่นได้นอกจากการแสดงอภินิหารของสมเด็จพระศาสดา มิเช่นนั้นกัปตันคงไม่นำเครื่องตรวจสอบระบบห้ามล้อแน่นอน
จากประสบการณ์ไม่คาดฝัน และอภินิหารที่เกิดขึ้นนี้ พระ ดร.อนิลมาน ศากยะ ได้นำไปเล่าให้ที่ประชุมชาวไทยและชาวปีนังฟังที่สถานกงสุลใหญ่เมืองปีนัง ที่มี วรเดช วีระเวคิน เป็นกงสุลใหญ่ และที่ประชุมมหาสมาคมของชาวปีนังที่ศูนย์ภาคี พ.ส.ล. ปีนัง เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2554 ซึ่งที่ประชุมได้ฟังต่างก็ดีใจที่พวกเราไม่ได้เสี่ยงชีวิต พร้อมกับมีศรัทธาความเลื่อมใสในสมเด็จพระศาสดาเพิ่มยิ่งขึ้น
สมเด็จพระศาสดา เป็นพระพุทธรูปจำลองหน้าตัก 19 นิ้ว ที่ พ.ส.ล.สร้างเมื่อ พ.ศ. 2550 เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธ.ค. 2550 ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานเททอง ที่พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร และได้รับอนุญาตให้อัญเชิญตราสัญลักษณ์ประดับบนผ้าทิพย์ของพระพุทธรูป พร้อมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัด หรือสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ทางพระพุทธศาสนา 19 แห่งทั่วโลก
พิธีที่กงสุลใหญ่
ส่วนการอัญเชิญสมเด็จพระศาสดาไปมอบให้ศูนย์ภาคีสมาชิกที่ปีนัง เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2554 นั้น พ.ส.ล. ได้อัญเชิญไปประดิษฐานที่สถานกงสุลเมืองปีนังเพื่อเฉลิมฉลอง และเปิดโอกาสให้บรรดาชาวไทยได้กราบสักการะและบูชาเป็นอันดับแรก ท่านกงสุลใหญ่ วรเดช วีระเวคิน ได้กล่าวชื่นชมที่ พ.ส.ล. ให้เกียรตินำพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์มาประดิษฐานที่สถานกงสุลใหญ่ แม้จะเป็นการชั่วคราว แต่ก็ถือว่าเป็นสิริมงคลที่ยิ่งใหญ่
วันที่ 31 ก.ค. 2554 จึงอัญเชิญไปมอบให้ภาคีสมาชิก พ.ส.ล. ปีนัง ซึ่งที่นั่นมีชาวไทย ชาวพุทธ และโอลังเซียม (ชาวไทยในมาเลเซีย) นับร้อยคนมาร่วมรับและฉลอง
ผู้ที่เป็นประธานมอบสมเด็จพระศาสดาให้ภาคีสมาชิกปีนังคือ วรเดช วีระเวคิน กงสุลใหญ่เมืองปีนัง พัลลภ ไทยอารี เลขาธิการ พ.ส.ล. ผู้แทนฝ่ายภาคีสมาชิกปีนังที่รับมอบ ได้แก่ Dato Dr. Loh Hock Hun, Dato Khoo Leong Hun, Dato Tan Gin Soon และผู้มีเกียรติชาวมาเลย์จำนวนมาก โดยมีพระสงฆ์ไทยและพระสงฆ์จีนสวดชัยมงคลคาถาเฉลิมฉลอง
Dato Dr. Loh Hock Hun ได้กล่าวขอบคุณ พ.ส.ล. ที่อัญเชิญพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์นี้มามอบให้ศูนย์ภาคีสมาชิกแห่งปีนัง ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับที่ศูนย์แห่งนี้จัดพิธีเปิดสำนักงานแห่งใหม่ ณ เลขที่ 28 K, Jalan Paya Terubong, 11060, West Malaysia
ศูนย์ภาคีแห่งแรก
ศูนย์ภาคีสมาชิก พ.ส.ล. ปีนัง เป็นศูนย์ภาคีแห่งแรกที่ตั้งขึ้นมาพร้อมๆ กับปีที่ก่อตั้ง พ.ส.ล. เมื่อปี 2493 และปัจจุบันมีบทบาทในการปฏิบัติตามคำสอนพระพุทธเจ้าผ่านกิจกรรมและโปรแกรมต่างๆ ตลอดปี ตัวอย่างงานวันวิสาขบูชาที่เฉลิม ฉลองอย่างยิ่งใหญ่ในขณะที่องค์การยุวพุทธ พ.ส.ล. ได้จัดกิจกรรมจำนวนมาก เพื่อประโยชน์ชุมชนในปีนังเช่นกัน
ในขณะที่ พัลลภ ไทยอารี ได้กล่าวยกย่องและชื่นชมศูนย์ภาคีสมาชิกแห่งปีนังที่สนับสนุนกิจกรรมของ พ.ส.ล. สำนักงานใหญ่อย่างใกล้ชิด ทั้งด้านการบริหารจัดการ การช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม การดำเนินกิจกรรมยุวธรรมทูต และโครงการพัฒนาลุมพินี สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ความร่วมมือดังกล่าวนี้ไม่สามารถสรรหาคำใดๆ มากล่าวขอบคุณได้ เพราะผู้บริหารศูนย์ภาคีปีนังทั้งในอดีตและปัจจุบันสนับสนุนและอุทิศเพื่อ พ.ส.ล.ทั้งสิ้น
บุคคลที่ พัลลภ ยกมากล่าวถึงเป็นพิเศษคือ Dato Kkoo Leong Hun, Honorary Vice3 President WFB of Penang Center ท่านผู้นี้ทำงานอุทิศเพื่อ พ.ส.ล. เคยเป็นประธานศูนย์ภาคีปีนังตั้งแต่ปี 2498 2542 หรือ 44 ปี ตลอดเวลาเหล่านั้น ท่านไม่เคยขาดการร่วมประชุม รวมทั้งการประชุมฉลอง 60 ปี พ.ส.ล. ที่ศรีลังกา เมื่อปีที่แล้วท่านก็ไป และยังร่วมเป็นกรรมการคณะต่างๆ มากมาย
ในด้านส่วนตัว พัลลภ ยกย่องท่านดาโต๊ะคู เพราะให้คำแนะนำ สั่งสอน และชี้แนะทุกอย่างด้วยความเมตตา แม้กระทั่งการทำธุรกิจที่เจริญรุ่งเรืองถึงปัจจุบัน ท่านจึงเป็นที่เคารพประหนึ่งว่าเป็นญาติผู้ใหญ่ของครอบครัวของพัลลภทีเดียว
กล่าวถึง พระศาสดา พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย สร้างขึ้นสมัยเดียวกับพระพุทธชินราช และพระพุทธชินสีห์ (พระประธานในอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร) เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สีทองเหลืองอร่าม ปี 2396 ได้ถูกอัญเชิญจากพิษณุโลกมาประดิษฐานที่วัดสุทัศนเทพวราราม ในสมัยรัชกาลที่ 3 ต่อมา ปี 2406 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายมาประดิษฐานที่วิหารวัดบวรนิเวศวิหาร ด้วยเหตุผลที่ว่า พระศาสดากับพระชินสีห์ต้องประดิษฐานในพระอารามหลวงคู่กัน
วิหารพระศาสดาจะเปิดให้ประชาชนบูชาในเทศกาลสำคัญๆ เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ วันสำคัญทางศาสนา และของวัดบวรฯ เช่น วันประสูติสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช เป็นต้น
สร้างอีก 99 องค์
เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธ.ค. 2554 องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกได้ขออนุญาตกรมศิลปากร เพื่อสร้างสมเด็จพระศาสดาขนาดหน้าตัก 19 นิ้วขึ้นมาอีก 99 องค์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ และจะนำไปถวายวัดที่สำคัญๆ และสถานที่ประวัติ ศาสตร์ทางพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นที่สักการบูชาในที่นั้นๆ เพิ่มขึ้นอีก
ในโอกาสมหามงคลนั้น พ.ส.ล. ได้เชิญผู้แทนประเทศภาคีสมาชิกของ พ.ส.ล. 100 กว่าประเทศมาประชุมที่กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 6-12 พ.ย. 2554 เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสวันมหามงคลนั้นด้วย
กำหนดการที่ พ.ส.ล. แจ้งแก่ภาคีสมาชิกที่มี 150 ประเทศ คือวันที่ 6 พ.ย. พิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ไทยและต่างชาติ 85 รูป ณ สำนักงานใหญ่ พ.ส.ล. สวนเบญจสิริ จากนั้นมีพิธีไถ่ชีวิตโค กระบือ และปล่อยปลา ปล่อยนก
วันที่ 7 พ.ย. จะมีการประชุมสัมมนาทางวิชาการ ภายใต้หัวข้อตามพระปฐมบรมราชโองการว่า เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกร และพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
วันที่ 10 พ.ย. 2554 ตรงกับวันเพ็ญกลางเดือน 12 ร่วมพิธีลอยกระทง
จึงเชิญชวนร่วมงานกับ พ.ส.ล. ที่เป็นองค์กรแห่งพระพุทธศาสนาแห่งเดียวที่มีสมาชิกและเครือข่ายทั่วโลกกว่า 150 ประเทศ