posttoday

ฝรั่งทึ่ง มหาเศรษฐี (ไทย) ใจบุญ

15 สิงหาคม 2554

เว็บไซต์นิตยสารฟอร์บส์ของสหรัฐ จัดอันดับมหาเศรษฐีในเอเชีย 48 คน (12 ชาติ ชาติละ 4 คน)

เว็บไซต์นิตยสารฟอร์บส์ของสหรัฐ จัดอันดับมหาเศรษฐีในเอเชีย 48 คน (12 ชาติ ชาติละ 4 คน)

โดย..ชุติมา+ วรธาร

เว็บไซต์นิตยสารฟอร์บส์ของสหรัฐ จัดอันดับมหาเศรษฐีในเอเชีย 48 คน (12 ชาติ ชาติละ 4 คน) ขนานนาม “วีรบุรุษใจบุญ” หัวใจกว้างขวางเป็นแม่น้ำเพียงใด?!! 4 มหาเศรษฐีไทย ‘ตัน-บุญ-ชัยพิไลพรรณ-ทองมา’ เลือกมาพูดคุย 2 ท่านในฉบับนี้

รักช้าง...รักมานานแล้ว

สตรีนักธุรกิจมิลเลียนแนร์ พิไลพรรณ สมบัติศิริ ประธานโรงแรมปาร์คนายเลิศ ทำงานกุศลเน้นด้านการดูแลช้างไทย และเป็นที่มาของตำแหน่ง “ประธานมูลนิธิกองทุนรักษ์ช้าง

แตกต่างจากอีก 3 มหาเศรษฐี ที่ฟอร์บส์ระบุตัวเลขการจ่ายเงินเพื่อเป็นผู้ใจบุญ เสี่ยตัน ภาสกรนที บริจาคเงินช่วยเหลือฟื้นฟูสึนามิพัดถล่มญี่ปุ่น 1.43 แสนเหรียญสหรัฐ ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ มหาเศรษฐีเจ้าของพฤกษา เรียลเอสเตท บริจาคเงิน 6.6 แสนเหรียญสหรัฐ เพื่อสร้างโรงพยาบาลวัดโรงเรียน บุญชัย เบญจรงคกุล เปิดพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหญ่ที่สุดในไทย 8.4 ล้านเหรียญสหรัฐ

แต่สำหรับ พิไลพรรณ ฟอร์บส์ไม่ได้ระบุว่าทำกุศลมูลค่าเท่าใด?!! เหตุผลนี้นายหญิงปาร์คนายเลิศจึงรู้สึกเป็นเกียรติ ขอใช้คำว่า “Philanthropy” ซึ่งหมายความว่า มีกุศลจิต หรือมีจิตเป็นทานอย่างแท้จริง

“มูลนิธิกองทุนรักษ์ช้างริเริ่มโครงการทำงานร่วมกับสัตวแพทย์อาสาสมัคร เดินทางไปดูแลทั้งเรื่องสุขภาพอนามัย ความเป็นอยู่ของช้างทั่วประเทศ ไม่ให้ช้างถูกทารุณใช้แรงงานมากเกินไป โดยมูลนิธิก็จะช่วยซัพพอร์ตเรื่องทุนทรัพย์ ค่ารถรา ค่าเดินทางเป็นหลักในการทำงานตรงนี้ค่ะ” พิไลพรรณ กล่าว และสำทับว่าไม่ใช่คนทำการกุศลในแบบทำด้วยเงินเพียงแค่นั้น แต่เป็นคนทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะในแบบต่อเนื่อง ด้วยเหตุผลข้อนี้จึงทำเป็นโปรเจกต์ยาวนานถึง 23 ปี

ฝรั่งทึ่ง มหาเศรษฐี (ไทย) ใจบุญ

ช้างถูกใช้แรงงานมากเกินไปคือปัญหาใหญ่ เวลานี้ปางช้างทางภาคเหนือรับแค่นักท่องเที่ยว ก็สบายกว่าช้างภาคใต้ที่ทำงานหนักแบกซุงไม้ยางพารา มูลนิธิจึงได้ร่วมมือกับสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในการเซตอัพโรงพยาบาลช้าง จ.กระบี่ และอีกงานใหญ่ “โครงการที่อยู่ถาวรของช้างไทย” ในพื้นที่ 600 ไร่เศษที่ จ.ฉะเชิงเทรา จัดทำเป็นปางให้ช้างได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี มีอาหารกิน แล้วยังทำเรื่องหมอช้างสัญจรออกหน่วยตรวจสุขภาพช่วยช้างบ้าน โดยในศูนย์นี้จะเซตอัพคลินิกเพื่อรองรับช้างเจ็บป่วยในภาคกลางอีกด้วย

ใช้เงินมากหรือไม่?!! “ช่วงแพลนนิงโครงการราว 20 กว่าล้านบาทค่ะ กำลังระดมทุนสร้างพระพิฆเนศ ฝีมือการปั้นของศิลปินดัง อ.เสวก จากรั้วศิลปากร ในหลากหลายขนาดตั้งแต่ประติมากรรมชิ้นใหญ่ ไปจนถึงพระกริ่งชิ้นเล็กค่ะ” พิไลพรรณ บอกบุญคนอยากร่วมรักษ์ช้างไทย

นอกจากประธานมูลนิธิกองทุนรักษ์ช้าง ตำแหน่งใหม่ล่าสุด พิไลพรรณ เพิ่งเข้ารับหน้าที่สมาชิกวุฒิสภาในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา และกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ รวมไปถึงงานนายกสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานกรรมการเลิดสินมูลนิธิ ซึ่งเป็นมูลนิธิเพื่อสาธารณประโยชน์ ทั้งการสร้างโรงพยาบาล โรงเรียน ให้ทุนทรัพย์แก่เยาวชนขาดแคลนยากไร้

“เลิดสินมูลนิธิ ตั้งตามชื่อคุณตา ‘เลิด’ (ก่อนได้รับราชทินนามพระยาภักดีนรเศรษฐ) และชื่อคุณยาย (คุณหญิงสิน ภักดีนรเศรษฐ) โดยใช้เงินที่ได้จากการวิ่งรถเมล์ขาวในยุคนั้น ให้ทุนการศึกษานักเรียนแพทย์ยากไร้ทุนทรัพย์ และในรุ่นคุณตาก็ได้มอบเงิน 4 หมื่นบาท สร้างตึกผู้ป่วยนอกตึกแรกในโรงพยาบาลเลิดสิน รวมไปถึงการสร้างโรงเรียนไปตลอดแนวคลองแสนแสบ เช่น โรงเรียนสตรีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ ทำไมต้องกับกุศลมากมายเช่นนี้? เราคือครอบครัวคนทำงาน พ่อแม่สั่งสอนปลูกฝังมาตลอดเวลาค่ะว่า คนเราจะมีคุณค่าก็ด้วยการทำงาน” พิไลพรรณ บอกทิ้งท้าย

 ‘ผมคือส่วนหนึ่งของสังคม’

มหาเศรษฐี ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ เจ้าของพฤกษา เรียลเอสเตท กับยอดบริจาค 6.6 แสนเหรียญสหรัฐ ในนาม “ทุนวิจิตรพงศ์พันธุ์ เพื่อส่งเสริมศาสนา การศึกษา และสังคม” โดยให้เปล่าแบบไม่มีเงื่อนไข และไม่มีผลผูกพัน!!! ...พระเจ้าจอร์จ ไม่อนุโมทนาสาธุกับท่านไม่ได้แล้ว น้ำใจช่างแสนประเสริฐแท้ 20 กว่าล้าน เขาบริจาคให้ใครบ้าง?!!

บุญเริ่มสตาร์ตในปี 2553 ถือเป็นครั้งแรกที่ ทองมา จัดให้มีพิธีมอบอย่างเป็นทางการขึ้นให้กับองค์กรต่างๆ ประกอบด้วย มูลนิธิมายา โคตมี ของพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก 1 ล้านบาท ที่ครั้งหนึ่งเขาเห็นหนังสือธรรมะเล่มเล็กๆ ที่พระอาจารย์มิตซูโอะจัดพิมพ์แจกฟรี ซึ่งเขาเองเคยได้รับเป็นแรงบันดาลใจทำบุญเพื่อช่วยเป็นทุนจัดพิมพ์ในคราวต่อๆ ไป

มอบเงินเพื่อเป็นทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้สถาบันต่างๆ ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 6 แสนบาท คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ 4 แสนบาท มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 6 แสนบาท คณะวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 4 แสนบาท คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 1 ล้านบาท และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 1 ล้านบาท

ด้านสังคมเพื่อช่วยเหลือและพัฒนาแด็ก เยาวชนผู้ด้อยโอกาส ได้มอบเงินให้กับมูลนิธิธรรมรักษ์ วัดพระบาทน้ำพุ 1 ล้านบาท มูลนิธิสวนแก้ว 1 ล้านบาท องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ 1 ล้านบาท มูลนิธิสงเคราะห์เด็กของสภากาชาดไทย 1 ล้านบาท และมูลนิธิสุธาสินี น้อยอินทร์ เพื่อเด็กและเยาวชน 1 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 10 ล้านบาท ในปี 2553

ฝรั่งทึ่ง มหาเศรษฐี (ไทย) ใจบุญ

 

ในปีนี้มหาเศรษฐีอสังหาฯ ขอบริจาคเพิ่มอีก 10,500,000 บาท ให้กับโรงพยาบาล องค์การ มูลนิธิ และสถาบันการศึกษาอีก 12 แห่ง โดยแยกเป็นองค์กรที่ได้รับการบริจาคเป็นเงิน 1 ล้านบาท ประกอบด้วย มูลนิธิธรรมรักษ์ (วัดพระบาทน้ำพุ) มูลนิธิมายา โคตมี (พระอาจารย์มิตซูโอะ) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลศิริราช องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถาบันที่เขาได้ร่ำเรียนมา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนองค์กรที่ได้รับบริจาคเงินจำนวน 5 แสนบาท ประกอบด้วย ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ความจริงเกี่ยวกับการทำบุญ เจ้าของพฤกษาฯ ทำมาอย่างต่อเนื่อง มีโอกาสก็จะทำ แต่ที่ต้องจัดครั้งใหญ่และมีพิธีมอบอย่างเป็นทางการนั้น เพราะไม่มีเวลาที่จะนำไปมอบให้ถึงที่จริงๆ ส่วนจุดประสงค์ที่ทำไม่มีอะไรเป็นพิเศษ เพียงแค่อยากแบ่งปัน อยากช่วยเหลือและตอบแทนสังคมบ้าง

“ผมต้องการช่วยเหลือและตอบแทนสังคม เพราะผมถือว่าผมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและประเทศ และมองว่าการแบ่งปันและการช่วยเหลือซึ่งกันและกันนั้นก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสังคมในทุกวันนี้”

นอกจากบริจาคช่วยเหลือสังคมแล้ว การอ่านหนังสือธรรมะ ออกกำลังกาย ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ การใช้เวลาว่างกับครอบครัว ก็เป็นความสุขง่ายๆ ที่เขาได้ทุกวัน