กดจุด"วอลตา"แก้อัมพาตเด็ก
มารู้จักกับการรักษาโรคอัมพาตในเด็กด้วยการกดจุด "วอลตา" ที่นับว่าเป็นอีกหนึ่งการแพทย์ทางเลือกยุคใหม่
มารู้จักกับการรักษาโรคอัมพาตในเด็กด้วยการกดจุด "วอลตา" ที่นับว่าเป็นอีกหนึ่งการแพทย์ทางเลือกยุคใหม่
โดย...สุภชาติ เล็บนาค
ความผิดปกติใน “กล้ามเนื้อ” และอวัยวะของลูกนั้น กระทบกับ “หัวใจ” ของคนเป็นพ่อ-แม่ด้วย ฉะนั้นเมื่อ “หัวใจ” ต้องได้รับแรงกระทบอะไรสักอย่าง พ่อ-แม่ก็คงอยู่ไม่เป็นสุข หากจะมีวิธีใดก็แล้วแต่ที่จะช่วยให้เด็กที่พิการแต่กำเนิด สามารถยืนด้วยขาตัวเองและใช้ชีวิตเหมือนกับเด็กคนอื่นๆ ได้ ก็ย่อมเป็นทางเลือกที่ดี
หลายคนอาจรู้จัก “น้องไซ” หรือ ด.ช.ซายเคอร์ ลี ลูกชายคนเล็กของ “วอลเตอร์ ลี” ที่เกิดมาพร้อมกับแขนขวาครึ่งแขน ไม่มีขาขวา และมีขาซ้ายที่ผิดรูป ซึ่งตอนแรกเขากับภรรยาก็ยังทำใจไม่ได้ แต่ก็ตั้งปณิธานว่าสุดท้ายน้องไซจะต้องเดินได้เหมือนเด็กคนอื่น ไม่ใช่นั่งรถเข็นรับสภาพความพิการ 5 ปีที่แล้วลีได้รู้จักการรักษาที่เรียกว่า “วอลตา เทอราปี” ซึ่งเป็นนวัตกรรมในการตรวจประเมินและรักษาผู้ป่วยทางระบบการเคลื่อนไหวร่างกาย เทคนิคดังกล่าวนี้ถูกพัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี 1960 โดยกุมารแพทย์ทางระบบประสาทชื่อ ศ.นพ.วาคาลฟ วอลตา และได้รับการสนับสนุนจาก ศ.นพ.ธีโอดอร์ เฮลบรึกเก แห่งสถาบัน Kinderzentrum Muenchen (Children’s center, Munich) จนมีการใช้อย่างแพร่หลายในยุโรป
โดยเฉพาะในประเทศเยอรมนีทั้งในด้านการตรวจคัดกรองหาเด็กแรกเกิดที่เสี่ยงต่อการมีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวช้าและปัญหาโรคสมองพิการ โดยจะเป็นตัวช่วยกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวร่างกายแบบอัตโนมัติ ซึ่งเป็นรูปแบบการกระตุ้นด้วยมือ มีทั้งแรงกดและการยืดไปตามจุดต่างๆ ของร่างกาย ส่งผลให้เกิดการตอบสนอง และการเคลื่อนไหวของแขน ขา เพื่อให้สมองเรียนรู้รูปแบบวิธีการเคลื่อนไหวที่ถูกต้อง
การกระตุ้นบ่อยครั้งจะทำให้เส้นประสาทส่วนปลายสมองและไขสันหลังสามารถเชื่อมกันอีกครั้งหนึ่งได้ ซึ่งภรรยาของวอลเตอร์ต้องไปเรียนรู้การรักษาด้วยวิธี “วอลตา” ที่นั่นติดต่อกันนานถึง 2 เดือน จนน้องไซสามารถขยับเขยื้อนกล้ามเนื้อได้ตามปกติ
“เมื่อน้องไซหายดี ความตั้งใจต่อไปของผมก็คือนำวิธีการรักษาที่เคยทำกับน้องไซในเยอรมนี มาแนะนำให้กับนักกายภาพบำบัดคนไทย รวมถึงขยายโอกาสให้เด็กไทยได้รับโอกาสในการรักษา โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก” ลี เล่า
นี่เป็นที่มาของการนำเทคนิคการรักษาดังกล่าวเข้ามาใช้ในประเทศไทยภายใต้ความร่วมมือระหว่างมูลนิธิซาย มูฟเม้นท์ ที่ลีเป็นประธาน และกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ที่มี นพ.เรวัต วิศรุตเวช อธิบดี กรมการแพทย์เป็นตัวกลาง นำวิทยากรจากเยอรมนีมาอบรมให้กับนักกายภาพบำบัดไทยจำนวน 27 คน จากทั่วประเทศเพื่อนำไปถ่ายทอดต่อ โดยใช้เวลาอบรมทั้งหมด 4 คอร์ส รวมเวลานานถึง 2 ปี
คอร์สนี้เป็นคอร์สที่ 1 ก่อน จะต้องไปฝึกฝนทั้งหมด 6 เดือน แล้วจึงกลับมาเรียนใหม่ เริ่มอบรมตั้งแต่เดือน ส.ค.-ก.ย. เพื่อนำไปถ่ายทอดต่อ ซึ่งคอร์สสุดท้ายนั้น จะมีการอบรมกับแพทย์เพิ่มเติมด้วย เพื่อเรียนรู้ถึงโรคสมองพิการ (Celebral Palsy) อย่างจริงจัง โดยกรมการแพทย์ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด และตั้งเป้าไว้ว่าในอนาคตจะสามารถถ่ายทอดต่อไปยังนักกายภาพทั่วประเทศได้ต่อไป
ฟิออน เบย์เลย์ นักกายภาพบำบัดชาวเยอรมัน เล่าว่า กระบวนการวอลตา เทอราปี เป็นกระบวนการนวดเพื่อกระตุ้นให้กล้ามเนื้อที่อ่อนแรง หรือไม่เคยมีแรง สามารถที่จะใช้งานได้ และเข้าถึงได้ในที่สุด ซึ่งทำได้ตั้งแต่นอนคว่ำได้ ยันข้อศอกได้ ไปจนถึงยกตัว และเริ่มขยับตัว เดินสองขาได้ แบบที่น้องไซทำได้ ทั้งนี้ การใช้เทคนิควอลตานั้น เป็นเทคนิคการรักษาที่ได้รับการบรรจุอยู่ในระบบประกันสุขภาพของประเทศสวิตเซอร์แลนด์และเยอรมนี
“มนุษย์ทุกคนมีพัฒนาการเหมือนกันที่พอเกิดแล้วจะต้องคลานไปจนถึงลุกขึ้นและเดิน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นปฏิกิริยาที่เกิดจากระบบประสาทตัวเดียวกัน แต่กระบวนการดังกล่าวนั้น ค่อนข้างต้องใช้เทคนิคเฉพาะตัว เนื่องจากจะต้องวินิจฉัยตัวเด็กว่ามีกล้ามเนื้อส่วนไหนใช้ได้หรือไม่ได้บ้าง และต้องกดจุดใดเพื่อจะให้ขยับ เพราะจะแตกต่างกับการนวดวิธีอื่นที่ปวดจุดไหน และต้องกดจุดนั้นจึงจะหาย”
“แตกต่างกับวอลตา เทอราปี ที่แต่ละอาการป่วยจะกดในจุดที่แตกต่างกันออกไป และมีขั้นตอนที่ซับซ้อนมากว่าจะต้องเริ่มจากจุดไหนก่อน แล้วไล่ไปยังจุดไหนต่อ ทั้งหมดนี้ต้องใช้กระบวนการรวมทั้งสิ้นร่วม 2-3 เดือน” เบย์เลย์ เล่าถึงการทำงานของเทคนิควอลตา
นอกจากนี้ การที่เริ่มรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ก็ทำให้เด็กเริ่มฝึกหัดจากท่าที่ถูกต้องก่อน ไม่ต้องเริ่มจากท่าที่ผิดๆ ซึ่งหลักการสำคัญของ “วอลตา” ก็คือ “การเรียนรู้” ว่าจะใช้วิธีการเคลื่อนไหวที่ถูกต้องได้อย่างไร ซึ่งยิ่งเร็วก็จะยิ่งได้ผลมาก
สำหรับการใช้วอลตาในประเทศไทยนั้น เบย์เลย์ บอกว่า อาจมีความเป็นไปได้อยู่บ้าง แต่ก็ต้องอาศัยการฝึกฝนให้เชี่ยวชาญ เพราะหากนับกันจริงๆ แล้ว ในเยอรมนีก็มีนักกายภาพที่สามารถใช้เทคนิควอลตาในการรักษาผู้ป่วยเพียง 30-40 คนเท่านั้น ฉะนั้นในไทยก็ยังต้องใช้เวลาเรียนรู้และเผยแพร่กันอีกนาน เพราะหากใช้วิธีนวดที่ผิดท่า หรือผิดปกติอาจส่งผลกระทบกับเด็ก ทำให้บาดเจ็บรุนแรง หรือเสียชีวิตได้
การใช้เทคนิควอลตาสำหรับรักษาโรคในเด็กครั้งนี้ ยังมีความพิเศษมากขึ้นอีกด้วย เนื่องจากแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต แห่งเสถียรธรรมสถาน และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของมูลนิธิซาย มูฟเม้นท์ จะเข้ามาร่วมอบรม และสอนนักกายภาพบำบัดในการฝึกจิตและฝึกสมาธิสำหรับผู้ที่ทำกายภาพบำบัดไปจนถึงผู้ปกครองของเด็ก เพื่อรักษา “ใจ” ไปพร้อมๆ กัน และจะทำให้ผู้ปกครองสามารถเรียนรู้กลไกการทำงานของระบบภายในตัวเด็กได้อีกด้ว
แม่ชีศันสนีย์ บอกว่า การเรียนรู้ระหว่างพ่อแม่กับเด็กถือเป็นยาวิเศษอีกอย่างหนึ่งที่จะทำให้โรคร้ายแรงทุเลาลงได้เร็วขึ้น
“เวลาเราอุ้มเด็ก เวลาเรากอดเด็ก จะสังเกตได้ว่าเราได้สัมผัสลมหายใจน้อยๆ ของเขาด้วย และเมื่อเราเข้าใจเขามากขึ้น ก็จะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูกให้ดีมากขึ้นด้วย” แม่ชีศันสนีย์ กล่าว
ผู้ปกครองที่สนใจเข้าอบรมกับมูลนิธิซาย มูฟเม้นท์ และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เพื่อทำความรู้จักและวิธีนวดแบบ วอลตา สอบถามรายละเอียดและสมัครได้ที่ zmf.asia@gmail.com