ซ่งฮุ่ยจง ฮ่องเต้อัปยศ พู่กันทองสะท้านแผ่นดิน
ทุกวันนี้ภาพเขียนของ ซ่งฮุ่ยจง กระจัดกระจายอยู่ตามพิพิธภัณฑ์ชั้นนำทั่วโลก ชิ้นเอกอยู่ในจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น และสหรัฐ
ทุกวันนี้ภาพเขียนของ ซ่งฮุ่ยจง กระจัดกระจายอยู่ตามพิพิธภัณฑ์ชั้นนำทั่วโลก ชิ้นเอกอยู่ในจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น และสหรัฐ
โดย...กรกิจ ดิษฐาน
กวีพเนจรผู้หนึ่งไถ่ถาม “สำหรับชีวิตบุคคลหนึ่ง ท่านว่าสิ่งใดควรเรียกว่า อัปยศที่สุด?”
บัณฑิตโง่งมตำรากล่าวว่า “เป็นบุตร แต่มิได้คำนึงถึงกตัญญุตาธรรม กำเนิดบนแผ่นดินกลับอกตัญญูต่อแผ่นดิน”
คณิกาผู้ครอบครองหัวใจขุนพลถึงยาจกคับแค้น เห็นว่า “เป็นอายุล่วงเลยเร็วกว่าความคิดปลิดชีพหนีความโรยราอันน่าอับอาย”
เซียนสุรากล่าวอย่างขมขื่น “เหล้าดีที่ปราศจากผู้ลิ้มรส”
ชาวนาพลัดแผ่นดินเกิดสะท้อนหัวใจ “อาหารโอชะ มีผู้ปรารถนาลิ้มรส แต่ปราศจากทุนรอน”
จอหงวนบู๊ลุกขึ้นกล่าว “เป็นชายชาตรีแกร่งกล้ากว่าเหล็ก แต่ปราศจากปณิธานยิ่งใหญ่”
กวีเหลียวมองที่ราชันไร้บัลลังก์ บุคคลผู้นั้นเอ่ยเพียงคำถอนหายใจแผ่วเบา
ผู้อื่นพานรำลึกถึงความอัปยศแห่งราชัน ยิ่งฐานะสูงส่งความเจ็บปวดอาดูรยิ่งยิ่งยวด ดังคำกล่าว ยิ่งสูงยิ่งเจ็บปวด คราพลั้งเผลอร่วงหล่น หรือสูงส่งยิ่งสุ่มเสี่ยงร่วงหล่นสู่เบื้องล่างในฉับพลัน และตกลงมาบนความเจ็บปวดยืดเยื้อ มิได้สิ้นลมหายใจในทันทีอย่างสมใจ!
ประวัติศาสตร์ขานกล่าวมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน
สองพันกว่าปีก่อน อัปยศของ กษัตริย์โกวเจี้ยน คือความปราชัยต่อศัตรูที่มอบตำแหน่งคนเลี้ยงม้าแทนที่บัลลังก์เจ้าแคว้นเยี่ย ปรารถนาลบล้างความอับอายถึงขั้นยอมชิมพระบังคนหนักของฟุฉายแห่งแคว้นอู๋ เพื่อบ่มเพาะความไว้วางใจของศัตรู
พันหกร้อยปีก่อน ความอัปยศของ จิ้นหมินตี้ คือวันที่ฮ่องเต้สยบราบคาบต่อกองทัพชาวหุน ถึงขั้นยอมเปลือยภูษาเบื้องหน้าผู้ชนะคนป่าคนดอย ปากคาบราชลัญจกรวอนขอความเมตตา เป็นที่น่าเวทนาแก่ผู้พบเห็น ศัตรูชาวหุนยังมีเมตตาโอนตำแหน่งข้ารับใช้ ทั้งยังยัดเยียดฐานะคนต้อนสัตว์ล่าเนื้อให้ฮ่องเต้แห่งราชวงศ์จิ้น
กับ ซ่งฮุ่ยจง ฮ่องเต้ผู้ถูกหยามหยันเมื่อพันปีก่อน ความอัปยศที่สุดของฮ่องเต้ผู้นี้อาจมิใช่การสูญซึ่งแผ่นดิน หรือสูญซึ่งฐานันดรอธิราชแห่งอาณาจักรต้าซ่งแล้วถูกยัดเยียดฐานันดรต่ำต้อย เพียงข้ารับใช้ในแดนศัตรู
แต่เป็นโทษทัณฑ์ทรมานกว่านั้น
เพราะในท่ามกลางทิวทัศน์ตระการ ซ่งฮุ่ยจง ได้เพียงทอดสายตาทั่วเนินไศล บุปผางามผลิกลีบรับวสันต์ปีแล้วปีเล่า เหมยโปรยปราย และกลายเป็นธารระยิบระยับ ในมือหยาบกร้านมีเพียงไม้เท้าคอยไล่ต้อนปศุสัตว์ แต่ปราศจากพู่กันเพื่อบันทึกความงามจากแววตา ศิลปินด้วยกันเท่านั้นที่จึงจะซาบซึ้งความในใจ
ซ่งฮุ่ยจง ควรนับพระองค์เป็นช่างเขียนมือเทวดาเสียยิ่งกว่าฮ่องเต้แห่งราชวงศ์ซ่ง และแน่ล่ะ ย่อมมากกว่าคนเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนในบั้นปลายชีวิตน่าอดสู
ราชวงศ์ซ่งเป็นทั้งความภาคภูมิและความอัปยศแห่งประวัติศาสตร์จงหยวน โฉมหน้าหนึ่งนั้นรุ่มรวยด้วยศิลปวัฒนธรรมที่คลี่คลายถึงขั้นสูงสุด ก้าวล้ำความอลังการยิ่งยงแห่งราชวงศ์ถังอันเกริกไกร เศรษฐกิจนั้นเล่าก็มั่งคั่ง เถ้าแก่ นายวาณิชย์ เดินเบียดเสียดทั่วนคร ท้องพระคลังเต็มไปด้วยสมบัติล้ำค่า
แต่ในอีกฉากหน้าหนึ่งแผ่นดินที่ลำพองถึงกับเรียกขานตัวเองว่า “ต้าซ่ง” หรือ “มหาอาณาจักรซ่ง” กลับอ่อนแอไร้ศักดิ์ศรี สูญสิ้นอิทธิพลอันควรยำเกรงเยี่ยงศตวรรษก่อน ส่งผลให้ต้องตกเป็นเบี้ยล่างของ “ชนป่าเถื่อน” ทางภาคเหนือ ผจญกับการถูกคุกคามครั้งแล้วครั้งเล่าจากพวกกิมก๊ก คี่ตาน เหลียว และมองโกล จนต้องถอยร่นลงใต้ไม่หยุดหย่อน
ราชวงศ์ซ่งถูกรุกขยี้อย่างสาหัส ถึงขั้นที่พวกกิมบุกยึดเมืองหลวง จับฮ่องเต้เป็นเชลย กวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สมบัติมหาศาลสู่ภาคเหนือ จบสิ้นราชวงศ์ซ่งภาคเหนือในศักราช 1127 เชื้อพระวงศ์และราษฎรที่รอดพ้นเงื้อมมือศัตรู หนีลงใต้สู่พื้นที่ฟากขวา (เบื้องทิศใต้) ของแม่น้ำฉางเจียง สถาปนาราชวงศ์ใหม่เรียกขานในยุคต่อมาว่า ซ่งใต้
ชื่อของ 2 ตัวเอกตัวร้ายในดวงใจของสาวกนิยายกำลังภายในอย่าง ก๊วยเจ๋ง กับ เอี้ยคัง มีที่มาจากชื่อรัชสมัย “เจ๋งคัง” อันเป็นปีที่ฮ่องเต้ 2 พระองค์ของราชวงศ์ซ่งตกเป็นเชลยพวกกิม และจบชีวิตอย่างน่าอดสูในต่างแดน และเจ้าของนามรัชสมัยหนึ่งในสองฮ่องเต้โฉดเขลาคือ ซ่งฮุ่ยจง ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นฮ่องเต้ที่ล้มเหลวที่สุดพระองค์หนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์จีน หากทว่าในประวัติศาสตร์เล่มเดียวกันนี่เอง ที่พระองค์ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในศิลปินเอกแห่งยุคสมัย
ซ่งฮุ่ยจง ทรงเป็นพระโอรสลำดับที่ 11 ของจักรพรรดิซ่งเซินจง นามเดิมว่า จ้าวจี ครองราชย์เมื่อปี 1100 ต่อจากจักรพรรดิซ่งเจ้อจง ผู้เป็นพระเชษฐา ซ่งฮุ่ยจงยึดครองบัลลังก์ยาวนานถึง 26 ปี ในทางการเมืองส่งเสริมลัทธิเต๋าและกวาดล้างพุทธศาสนา มีความโอนเอียงเข้าข้างกลุ่ม “เลือดใหม่” ที่นิยมการปฏิรูปทางการเมืองและสังคม กรณีนี้อาจมีส่วนช่วยเสริมความเป็นนักปฏิรูปทางศิลปะของฮ่องเต้ผู้นี้ ขณะที่ในยุคสมัยซ่งโน้มเอียงไปในทางอนุรักษนิยมอย่างหนัก
เมื่อคราวที่ขึ้นครองราชสมบัตินั้นมีพระชนมายุเพียง 18 พรรษา ราชกิจทั้งปวงจึงทิ้งให้อยู่ในกำมือของขุนนางกังฉินไฉ่จิ้งและถงกวน ขณะที่เหนือหัวทุ่มเวลาให้กับสุนทรียภาพส่วนพระองค์ เบื้องหน้าสองขุนนางโฉดกลับกลายเป็นตัวเก่งกาจในทางประจบสอพลอและลวงหลอกเบื้องสูง โดยเบื้องหลังนั้นขูดรีดชาวประชาอย่างฉกาจฉกรรจ์
ไม่เพียงเท่านั้น ซ่งฮุ่ยจง ยังงมงายกับความฟุ้งเฟ้ออย่างถอนตัวไม่ขึ้น สั่งการให้ทั่วหล้ารวบรวมหินประดับรูปทรงวิจิตรพิสดาร พันธุ์ไม้แปลกประหลาดจากเมืองใต้ หรือเสาะหาอัญมณีเลอค่าด้วยกำลังคนและกำลังเงินมหาศาล ภาพเขียนของซ่งฮุ่ยจงภาพหนึ่งที่ตกทอดมาถึงยุคเรา บ่งบอกความนิยมในศิลาทรงประหลาด และวิหคหลากสีจากต่างแดนของฮ่องเต้ผู้นี้ ทั้งยังทำให้เห็นพัฒนาการในฝีพู่กันแนวทางสกุลชางภาคเหนือที่นิยมความหมือนจริงอย่างที่สุด
แต่ความฟุ่มเฟือยเสริมเข้ากับสถานการณ์เหลวแหลกทั้งหลายทั้งปวง บ่มเพาะให้เกิดพลังประชาชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน คือกลุ่มนักบู๊แห่งเขาเหลียงซานที่นำโดย ซ้องกั๋ง (ซ่งเจียง) และกบฏชาวนาที่นำโดย ฟางล่า
ต่อมาซ่งฮุ่ยจง ถูกถอดเป็นสามัญชน บังคับให้สวมเสื้อผ้าข้ารับใช้ แล้วจับให้คารวะบุรพกษัตริย์กิมก๊กในหอพระเทพบิดร แล้วยังได้รับการอวยยศอย่างหยาบคายให้กินตำแหน่ง หุนเต๊อะโหว และจ้งหุนโหว หรือพระยาเลอะเทอะ และพระยาเลอะเทอะทวีคูณ
ซ่งฮุ่ยจง ใช้ชีวิตต่อมาอีก 8 ปีอย่างทุกข์ระทมเยี่ยงข้าทาสของศัตรู ท่ามกลางดินแดนอันหนาวเหน็บของภาคเหนือ จะกลับคืนแผ่นดินจงหยวนได้อีกคราก็เพียงเถ้ากระดูก
ทั้งหลายเหล่านี้คือ บางฉากด้านอันเหลวแหลกของ ซ่งฮุ่ยจง
แล้วฉากหน้าของจักรพรรดิแห่งจิตรกรรมสำนักเหนือเล่า?
ซ่งฮุ่ยจง เดินตามครรลองสำนักเหนือหรือสกุล “เซี่ยซือ จูอี้” (อัตถะนิยม)
ท่วงท่าพู่กันเป็นไปตามแนวทางการบรรจงลงสีตามลักษณะที่ประจักษ์แก่สายตา นี่คือสายหนึ่งในสี่แนวทางหลักจิตรกรรมจีน อันได้แก่ กลุ่มภาพสีหมึก กลุ่มพู่กันบรรจง กลุ่มลายเส้นอิสระ และกลุ่มผสมบรรจงและลายเส้นอิสระ ซ่งฮุ่ยจงจัดอยู่ในแนวทางบรรจงจัดวางลายละเอียดตามสายตา
แม้จะขลาดในสนามรบ แต่กลับห้าวหาญในสนามประลองพู่กัน กล้าที่จะเปลี่ยนแนวทางใหม่ๆ ในด้านวิจิตรอักษร กระทั่งภาพเขียนแม้จะจัดอยู่ในขนบอนุรักษนิยม แต่ยังแหวกม่านประเพณีเดิมๆ พัฒนาสู่ลายเส้นพิสดาร แตกต่างจากยุคก่อน
ทุกวันนี้ภาพเขียนของ ซ่งฮุ่ยจง กระจัดกระจายอยู่ตามพิพิธภัณฑ์ชั้นนำทั่วโลก งานที่ขึ้นหิ้งชิ้นเอกอยู่ในจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น และสหรัฐ
ภาพ “ฝูงกระเรียนเหนือวังหลวง” นับเป็นผลงานชิ้นโดดเด่นที่สุดชิ้นหนึ่ง กระเรียนทั้ง 20 ตัว 20 อิริยาบถในภาพนี้คือสัญลักษณ์มงคล ยิ่งโบยบินอยู่กลางสีฟ้าครามจัดเหนือหลังคาวังที่แฝงอยู่ท่ามกลางม่านหมอกแล้ว ยิ่งตอกย้ำถึงความมั่งมีและยืนยงของราชสำนักราวกับสวรรค์ชั้นฟ้าที่หาจุดสิ้นสุดมิได้ ต่างอย่างสิ้นเชิงกับชะตากรรมที่ราชวงศ์ซ่งต้องประสบพบพานในที่สุด
ซ่งฮุ่ยจง ยังนับเป็นผู้ริเริ่มนวัตกรรมหลายประการ
คราหนึ่งทัศนาท้องฟ้าสีครามยังหมาดชุ่มฉ่ำฝนไม่นาน พลันเกิดแรงบันดาลใจ สั่งให้ช่างหลวงประดิษฐ์เครื่องกระเบื้องสีครามงดงามอย่างหาที่ติมิได้ ขนานนาม “เครื่องเคลือบหญู” นับเป็นระดับสุดยอดของเครื่องเคลือบจีน บัดนี้ไม่เพียงหลงเหลือไม่กี่ชิ้น แต่ยังไม่อาจหาฝีมือช่างปั้นผู้ใดประดิษฐ์ซ้ำความงามของเครื่องเคลือบหญูได้
ซ่งฮุ่ยจง เป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มผสานภาพเขียนเข้ากับบทกวี และลงนามพร้อมตราประทับ การลงนามของ ฮุ่ยจง สำแดงความอหังการอย่างไม่ยี่หระว่า “อี้เซี่ย” ไม่ทราบว่าเพื่อหวังประกาศศักดิฐานะโอรสสวรรค์ หรือหยิ่งผยองในฝีมือถึงกับตวัดนามกำกับภาพไว้อย่างถือดีว่า “หนึ่งในใต้หล้า”
บางครั้งแม้นมิได้เป็นผู้ริเริ่ม แต่ศักดาฐานะศิลปินนั้นอุโฆษกระทั่งคนรุ่นหลังเคยหยิบยืมนามศักราชซ่วนเหอ เป็นวิธีการขึ้นกรอบภาพม้วน ด้วยการใช้ขอบเส้นดำแทรกลงระหว่างกรอบลายผ้าใหม่ ทุกวันนี้คำว่า ซ่าวนเหอ กลายเป็นคำเรียกขานวิธีขึ้นกรอบของภาพเขียนจีนแนวประเพณีนิยม
ฮ่องเต้ผู้นี้ยังประดิษฐ์แบบตัวเขียนอักษรศิลป์ภาษาจีนที่เรียกว่า “โซ่วจิน” หรือตัวทองระหง หนึ่งในแบบอักษรจีนที่งดงามที่สุด
โซ่วจิน ราวกับนำใบไผ่มาวางเรียงกัน ใบเรียวแหลมให้ความรู้สึกฉับพลัน แต่สัมผัสได้ถึงความละมุนเมื่อใบต้องลม เด็ดขาดในโครงสร้าง ยืดหยุ่นในรายละเอียด ตัวอักษรพลิกแพลงอย่างรวดเร็วประหนึ่งบ่งบอกบุคลิกของของฮ่องเต้ผู้นี้
บันทึกสมัยซ่งถึงอัธยาศัยของ ซ่งฮุ่ยจง ไว้ว่า “อัจฉริยภาพล้นเหลือ ทักษะเยี่ยมยอด คือแถวหน้าในวงการกวีและจิตรกรรม นับเป็นบุคคลผู้สุขุมลุ่มลึก”
แน่ล่ะ นี่คือคำบรรยายในฐานะบัณฑิตศิลปิน มิใช่นักปกครอง!
ซ่งฮุ่ยจงเป็นอัจฉริยบุคคล หรือโมฆะบุรุษ? ประวัติศาสตร์ไม่เคยให้คำตอบ เพราะคำตอบนั้นมาจากแต่ละใจที่ได้ยลภาพชีวิตฮ่องเต้ผู้นี้