posttoday

แซนโดนตา

01 ตุลาคม 2554

แซนโดนตา หรือพิธีเซ่นไหว้ยายตาของชาวเขมร ซึ่งเป็นพิธีแบบเดียวกับบุญเดือนสิบของคนภาคใต้

แซนโดนตา หรือพิธีเซ่นไหว้ยายตาของชาวเขมร ซึ่งเป็นพิธีแบบเดียวกับบุญเดือนสิบของคนภาคใต้

โดย..จำลอง บุญสอง

แซนโดนตา หรือพิธีเซ่นไหว้ยายตาของชาวเขมร ซึ่งเป็นพิธีแบบเดียวกับบุญเดือนสิบของคนภาคใต้ ซึ่งทั้งสองถิ่นได้รับอิทธิพลมาจากฮินดูและพุทธศาสนามาแบบเดียวกัน ส่วนสารทจีนซึ่งเป็นพิธีไหว้บรรพบุรุษที่มีคติความเชื่อแบบเดียวกันจะกระทำกันต่างช่วงเวลา

จากความเชื่อที่ว่า ในรอบ 1 ปี บรรพบุรุษของพวกเขาจะถูกปล่อยมาจากนรก หรือภพภูมิที่พวกเขาได้กระทำกรรมเอาไว้มาเยี่ยมเยือนลูกหลานในโลกมนุษย์ ฝ่ายลูกหลานก็จะเชิญวิญญาณบรรพบุรุษเหล่านั้นมาเลี้ยงอาหาร โดยผ่าน “เครื่องเซ่น” ซึ่งเครื่องเซ่นนอกจากจะประกอบด้วยอาหารคาวหวานแล้ว ยังจะมีอาหารแห้งอีกด้วย ที่ต้องเซ่นด้วยอาหารแห้งก็เพราะต้องการให้ยายตาเอาติดไม้ติดมือไปกินระหว่างทางที่กลับไปภพภูมิที่ตนต้องใช้หนี้กรรมนั่นเอง (ส่วนใหญ่ก็จะเป็นไก่ย่าง ปลาย่าง บางทีก็มีหัวหมูด้วย ขาดไม่ได้ก็จะเป็นขนมเทียน)

แซนโดนตา

ผู้เซ่นเชื่อว่า หลังจากกินเครื่องเซ่นแล้ว วิญญาณของผีบรรพบุรุษเหล่านั้นก็จะอวยพรให้ลูกหลานอยู่เย็นเป็นสุขในภพภูมิของมนุษย์ (นี่แหละกระมังที่คนในภพภูมิมนุษย์ต้องการ)

จุดประสงค์ของแซนโดนตาและพิธีก็คือ ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้บรรพบุรุษและผีไร้ญาติ ปลูกฝังการให้ทานอันเป็นวิธีการจาคะอย่างหนึ่งในพุทธศาสนา และปลูกฝังให้ผู้คนมีความกตัญญูรู้คุณบรรพบุรุษ ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร

คนเขมรก็เหมือนกับคนจีนหรือคนในจังหวัดภาคใต้ ที่ปีหนึ่งจะใช้พิธีแบบเดียวกันมา “พบญาติ” พบญาติเพื่อกระชับความสัมพันธ์ภายใน

ภาพที่ผมนำมาให้ท่านผู้อ่านได้ดูได้ชมเป็นพิธีทางการของ อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ เพื่อบูชาเจ้าเมืองในอดีต และเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาท่องเที่ยวในปีต่อไป ไม่ใช่พิธีจริงของชาวบ้าน ซึ่งจะกระทำในช่วงอีก 2 วันต่อมา

งานนี้นอกจากเครื่องเซ่นที่เป็นของคาวหวานและอาหารแห้งแล้ว ยังต้องมีกล้วยน้ำว้าบวกเข้าไปด้วย กล้วยน้ำว้าก็เหมือนขนมลาที่ทำให้อาหารเซ่นแตกต่างออกจากกัน

แซนโดนตา

 

เมื่อกล้วยแทบจะเป็นพระเอกของเครื่องเซ่น ในช่วงดังกล่าวจึงมีรถราขนกล้วยจากต่างจังหวัดเข้ามาขายที่ จ.บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษมาก กล้วยที่ขายไม่ได้บางทีก็เน่าเสียไปอย่างน่าเสียดาย บางทีก่อนที่มันจะเน่า เราน่าจะเอาไปให้ช้างกินดีกว่า

นอกจากแซนโดนตาของ อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ ที่ ททท.พาเราไปเที่ยวชมแล้ว ผามออีแดง เส้นทางขึ้นปราสาทพระวิหารก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เราได้ไปเยือน

ผามออีแดง เป็นส่วนหนึ่งที่มีความสัมพันธ์กับเขาพระวิหารอย่างแยกไม่ออก เพราะมีการแกะสลักภาพนูนต่ำของคนในยุคนั้นเอาไว้ที่หน้าผาด้วย

การต่อสู้ทางการเมืองภายในประเทศระหว่างขบวนการเหลืองกับขบวนการแดง จนส่งผลลามไปทำให้เกิด “สงครามจำกัดเขต” ตามแนวชายแดนไทยกัมพูชาตามมา แต่การเลือกตั้งที่ผ่านมา “ขบวนการแดง” ซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลกำพูชา ได้เข้ามาถือครองอำนาจรัฐได้ จึงทำให้โอกาสที่จะเปิดเขาพระวิหารเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์กลับคืนมา

แซนโดนตา

 

แม้คราบไคลของความหวาดระแวงไม่ว่าจะเป็น “ลวดหนาม” หรือ “พระพุทธรูป” “พระพรหม” ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นที่พึ่งของมนุษย์ในระหว่างสงคราม การห้ามเข้าพื้นที่ “ในบางพื้นที่” ยังคงปรากฏให้เราได้เห็นได้โดยทั่วไป แต่ถือได้ว่าสถานการณ์ได้คลี่คลายลงไปมาก สังเกตได้จากสีหน้าสีตาของทหารและเจ้าหน้าที่อุทยานที่ไม่มีแวววิตกกังวลแบบเก่า สังเกตได้จากการที่เจ้าหน้าที่อุทยานอนุญาตให้เราและคนทั่วไปเข้าไปในพื้นที่ถ่ายภาพบนหน้าผาของมออีแดงที่มีหมอกฝนอ้อยอิ่งได้โดยไม่ต้องวิ่งหนีหลบกระสุนแบบในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

แม้ว่าผมเคยขึ้นเขาพระวิหาร หรือเปรียะวิเฮียร ในภาษาเขมรแล้วหลายครั้ง แต่วันนี้ผมก็ยังอยากขึ้นเขาพระวิหารอยู่อีก ที่อยากขึ้นก็เพราะอยากจะดูว่าผลของสงครามย่อยระหว่างไทยและเขมรในช่วงที่ผ่านมานั้นเป็นอย่างไร

แซนโดนตา

เขาพระวิหารนั้นตั้งอยู่บนเทือกเขาพนมดงรัก เป็นปราสาทที่สร้างขึ้นเพื่อบูชาพระอิศวร ซึ่งเป็นประมุขของเทพฯ ในศาสนาฮินดูที่สร้างขึ้นในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 9 หลังจากนั้นก็สร้างเพิ่มเติมกันมาตั้งแต่พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 พระเจ้ายโศวรมัน พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 สุริยวรมันที่ 2 ตัวปราสาทห่างจากศรีสะเกษ 110 กม. ห่างจากปราสาทนครวัด 140 กม.

ปราสาทแห่งนี้ตั้งอยู่บนชะง่อนผาที่เป็นสันปันน้ำ ซึ่งว่ากันโดยสภาพแล้วน่าจะเป็นของไทย แต่เนื่องจากฝรั่งเศสทำแผนที่ฝ่ายเดียวในปี 2451 ทำให้เขาพระวิหารตกอยู่ในดินแดนของกัมพูชาซึ่งแย่งไปจากไทยประมาณปี 2483 ฝรั่งเศสแพ้สงครามเยอรมัน จอมพล ป. พิบูลสงคราม เรียกร้องดินแดนที่เสียไปคืนจากฝรั่งเศส จนเกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยฝรั่งเศสขึ้นในปี 2484 ใช้เวลารบกัน 22 วัน ท้ายสุดญี่ปุ่นซึ่งเป็นมหาอำนาจในสมัยนั้นเข้ามาไกล่เกลี่ย ทำให้ฝรั่งเศสยินยอมคืนดินแดนไชยบุรี จำปาสัก เสียมราฐ และพระตะบองให้กับประเทศไทย จนมีการลงนามขึ้นที่กรุงโตเกียว และเรียกสนธิสัญญาครั้งนั้นว่า สนธิสัญญากรุงโตเกียว ผลของสงครามครั้งนั้นทำให้เราต้องสร้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิให้ทหารและพลเรือนที่เสียชีวิตประมาณ 800 คนไว้เป็นอนุสรณ์

แซนโดนตา

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 มหาอำนาจทั้งหลายต้องคืนดินแดนที่ไปยึดครองเอาไว้คืนสู่สถานเดิม ฝรั่งเศสไม่ได้คืนให้ไทย ซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมเหนือเขมรและลาว ซึ่งไม่เคยเป็นรัฐชาติมาก่อนตามหลักการของสหประชาชาติ ต่อมาสมเด็จนโรดมสีหนุเรียกร้องขอคืนเขาพระวิหารจากไทย และตัดความสัมพันธ์กับไทยในปี 2501 ต่อมา 6 ต.ค. 2502 รัฐบาลกัมพูชาส่งกรณีดังกล่าวสู่ศาลโลก โดยไทยมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ซึ่งต่อมาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นหัวหน้าคณะทนายฝ่ายไทย ภายใต้รัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเรี่ยไรเงินประชาชนคนละ 1 บาทมาสู้ ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้วเรายึดเขาพระวิหารเอาไว้โดยไม่ต้องขึ้นศาลเลยก็ได้

15 มิ.ย. 2505 ศาลโลกก็ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา

ระหว่างสงครามภายในกัมพูชา ปราสาทแห่งนี้ผลัดกันครอบครองระหว่างเขมรเฮงสัมรินและเขมรแดง 8 ธ.ค. 2548 เขมรเสนอต่อองค์การยูเนสโกขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก 18 มิ.ย. 2551 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเล่นงานนายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศสมัยนั้น และนำมาสู่ความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาในเวลาต่อมา

แซนโดนตา

หลังจากพรรคเพื่อไทยได้มาเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ความสัมพันธ์ของสองประเทศก็ดีขึ้นเรื่อยๆ จนอาจจะนำมาซึ่งการเปิดเขาพระวิหารในเดือน ธ.ค.ที่จะถึงนี้

ใครที่ไม่เคยได้ไปก็อาจจะได้ไป ใครที่เคยขึ้นแล้วก็อาจจะอยากจะขึ้นอีก

ปัญหาเขาพระวิหารยังไงก็เป็นปัญหาต่อไปแน่ในอนาคต เพราะฝรั่งเศสได้สร้างปัญหาไว้เหมือนกับที่อังกฤษวางยาแคชเมียร์ และสร้างชนกลุ่มน้อยเอาไว้เป็น “หอกข้างแคร่” ในพม่า เหมือนที่อังกฤษและชาติตะวันตกวางระเบิดเวลาอิสราเอลไว้ในดินแดนอาหรับ

มหาอำนาจไม่ว่าประเทศไหนๆ ไว้ใจไม่ได้ทั้งสิ้น ชาติเล็กๆ จำต้องร่วมมือกันภายใต้การอหิงสา คือไม่เบียดเบียนกันไม่ว่าจะในรูปแบบใด