posttoday

บ่วงโซ่ล่ามมนุษย์

02 ตุลาคม 2554

ทราบหรือไม่ว่า เราทั้งหลายต่างเคยเกิดมาแล้วในวัฏฏสงสารนี้ยาวนานมาก

ทราบหรือไม่ว่า เราทั้งหลายต่างเคยเกิดมาแล้วในวัฏฏสงสารนี้ยาวนานมาก

โดย...สานุ มหัทธนาดุลย์

นิสิต ป.เอก มจร

บทนำ

ทราบหรือไม่ว่า เราทั้งหลายต่างเคยเกิดมาแล้วในวัฏฏสงสารนี้ยาวนานมาก จนเราเองก็นับจำนวนครั้งที่เกิดแล้วไม่ถ้วน เราต่างก็เคยได้ท่องเที่ยวไปในในภพภูมิต่างๆ มาแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น กามภูมิ (อบายภูมิ 4 มนุษย์ภูมิ 1 และเทวภูมิอีก 6) รูปภูมิ 16 (พรหมที่มีรูปที่เราเห็นว่ามี 4 กรนั่นแหละ) และอรูปภูมิ 4 (พรหมที่ไม่มีรูป) และเป็นที่แน่นอนว่า เราจะต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏสงสารนี้อย่างไม่รู้จักจบสิ้น

พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นบรมศาสดาเองก็บำเพ็ญพระองค์อยู่ยาวนานถึง 4 อสงไขย 1 แสนกัปป์ กว่าจะตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในที่สุด

เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเราจะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์หรือไปเกิดในสุคติภูมิ เช่น เทวโลก พรหมโลก เป็นต้น เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเราจะไม่ตกต่ำลงไปเกิดในอบายภูมิทั้ง 4 คือ เปรต อสุรกาย สัตว์นรก และเดรัจฉาน ซึ่งเป็นสถานที่ที่ปราศจากความสุข เป็นดินแดนแห่งความเสื่อมเป็นที่สุด

บ่วงโซ่ล่ามมนุษย์

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “การเกิดเป็นทุกข์” แล้วเราจะข้ามพ้นความทุกข์เหล่านี้ไปได้อย่างไรเล่า?

บทความที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้จะเฉลยให้ท่านทราบว่า อะไรเป็นตัวการร้ายที่ทำให้เราต้องจมอยู่ในสังสารวัฏนี้? อะไรคือบ่วงโซ่ที่ทำหน้าที่ล่ามมนุษย์เอาไว้อย่างแน่นหนา ทำให้ได้รับความทุกข์ทรมานอย่างไม่มีที่สิ้นสุด? พร้อมทั้งเฉลยปัญหาที่สำคัญที่สุดที่ว่า “เราจะหลุดออกจากบ่วงโซ่นี้ได้อย่างไร ?”

ตัวการร้ายที่ทำให้จมอยู่ในสังสารวัฏ

ตัวการร้ายของปัญหาดังกล่าวทั้งหมดนี้ คือ กิเลสที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด ย้อนไปตั้งแต่เมื่อเรายังเป็นตัวอ่อนในครรภ์มารดาเสียอีก หากจะกล่าวให้ถูกต้อง กิเลสที่ว่านี้มันติดอยู่ใน DNA ในพันธุกรรมของเราด้วยซ้ำ เป็นการส่งต่อทางพันธุกรรมของกิเลสเดิมที่มีอยู่ของเราจากภพภูมิที่ผ่านๆ มาในอดีตของเรา ในทางพระพุทธศาสนาเรียกกิเลสที่ติดตัวมานี้ว่า “สังโยชน์”

พระพุทธเจ้าตรัสเกี่ยวกับสังโยชน์ที่ผูกยึดสัตว์ไว้ในภพว่า “ปุถุชนผู้ประกอบด้วยทิฏฐิสังโยชน์ ผู้ยังไม่ได้สดับย่อมไม่พ้นจาก ความเกิด (ชาติ) ความแก่ (ชรา) ความตาย (มรณะ) ความเศร้าโศก (โสกะ) ความคร่ำครวญ (ปริเทวะ) ความทุกข์กาย (ทุกข์) ความทุกข์ใจ (โทมนัส) และความคับแค้นใจ (อุปายาส) ย่อมไม่พ้นจากความทุกข์”

บ่วงโซ่ล่ามสัตว์ไว้ในวัฏฏสงสาร

สังโยชน์มีอยู่ 10 อย่าง ได้แก่ 1.ความเห็นว่าเป็นตัวของตน (สักกายทิฏฐิ) 2.ความลังเลสงสัย (วิจิกิจฉา) 3.ความถือมั่นศีลพรต (สีลัพพตปรามาส) 4.ความพอใจในกาม (กามฉันทะ) 5.ความคิดร้าย (พยาบาท) 6.ความติดใจในอารมณ์แห่งรูปฌาน (รูปราคะ) 7.ความติดใจในอารมณ์แห่งอรูปฌาน (อรูปราคะ) 8.ความถือตัว (มานะ) 9.ความฟุ้งซ่าน (อุทธัจจะ) 10.ความไม่รู้จริง (อวิชชา) ในพระไตรปิฎกให้ความหมายเอาไว้ว่า เป็นเครื่องผูกพันน้อยใหญ่ เป็นกิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์ หรือธรรมที่มัดใจสัตว์ไว้กับทุกข์ เป็นเครื่องพันธนาการ นอกจากนั้นยังสัตว์ให้จมลงในวัฏฏะได้ด้วย

จากลักษณะการผูกมัดนี้ คงไม่ต่างอะไรกับการที่สัตว์ทั้งหลาย (รวมถึงมนุษย์ด้วย) ถูกเครื่องพันธนาการผูกมัดเอาไว้ เป็น “บ่วงโซ่ล่ามมนุษย์” ให้สัตว์เหล่านั้นต้องกลับมาวนเวียนว่ายอยู่อย่างไม่มีวันจบสิ้น (Infinity)

หากเปรียบกับปลา ก็เหมือนเบ็ดตกปลาที่มีปลายแหลมคมกริบ เกี่ยวปากปลาเอาไว้ ไม่ว่าปลาจะพยายามดิ้นสุดแรงเกิดให้พ้นจากคมเบ็ดนั้น ก็ไม่มีวันหลุดออกได้

หากเปรียบกับมนุษย์ ย่อมเหมือนกับ “บ่วงโซ่ล่ามมนุษย์” ที่ผูกมัดมนุษย์ไว้อย่างแน่นหนา ยากที่จะหลุดออกไปได้ เพราะอำนาจแห่ง ราคะ โทสะ และโมหะ ที่หลอกให้เราหลงเพลิดเพลินอยู่ในอำนาจแห่งกิเลส ดังนั้นบ่วงโซ่ล่ามมนุษย์นี้จึงมีสภาพ ล่องหน (Invisible Fetters) เกี่ยวโยงสัตว์ทั้งหลายเอาไว้โดยไม่ให้เห็นและไม่ให้รู้สึกตัว

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ในขณะที่เราทุกคน “ไม่รู้” อยู่นี้ บ่วงโซ่เส้นสุดท้าย คือ “ความไม่รู้จริง” ก็กำลังทำงานตามกระบวนการของมันอย่างแน่นหนาอยู่ทุกวินาที

เราจะหลุดจากบ่วงโซ่นี้ออกได้อย่างไร?!?

หลายคนคงยังไม่ทราบว่า แท้จริงแล้วพระพุทธเจ้าตรัสวิธีละสังโยชน์เอาไว้แล้ว ด้วยการใช้มรรคและปฏิปทาเพื่อการแก้บ่วงโซ่ทั้ง 10 เส้นนี้ให้หลุดออก ปลดพันธนาการที่จองจำผูกมัดใจเอาไว้ วิธีนั้นคือ หลักสติปัฏฐาน 4 ไดแก่ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นบาทฐานในการปฏิบัติโดยอาศัยหลักธรรมหมวดอื่นๆ เพื่อเกื้อกูลกัน เช่น หลักไตรสิกขา หลักโพธิปักขิยธรรม มีสัมมัปธาน อิทธิบาท อินทรีย์ เป็นต้น

เมื่อละสังโยชน์ได้แล้วจึงบรรลุมรรค ผล เข้าสู่สภาวะของการเป็นอริยบุคคล 4 จำพวก มีพระโสดาบันเป็นกลุ่มบุคคลแรกที่ได้เข้าสู่กระแสพระนิพพาน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์เป็นอริยบุคคลจำพวกสุดท้ายตามลำดับ ดับกองทุกข์แล้วทั้งมวล ตัดสังโยชน์ได้ทั้งหมด สิ้นภพชาติแล้วถือเป็นบุคคลผู้บรรลุเป้าหมายสูงที่สุดแล้วในพระพุทธศาสนา

กลุ่มบุคคลแรกที่พยายามจนประสบกับความสำเร็จ เราเรียกว่า “พระโสดาบัน” ซึ่งมีความสามารถที่จะตัดบ่วงโซ่ให้ขาดออกได้ 3 เส้น คือ บ่วงโซ่แห่งความเห็นว่าเป็นตัวของตน บ่วงโซ่แห่งความลังเลสงสัย และบ่วงโซ่แห่งความถือมั่นศีลพรต

บ่วงโซ่ล่ามมนุษย์

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยหากในชีวิตประวันจำของเราจะได้เดินกระทบไหล่พระโสดาบันหลายต่อหลายครั้ง ตามโรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้าต่างๆ เช่น เอ็มโพเรียม เซ็นทรัลเวิลด์ ฯลฯ เนื่องจากพระโสดาบันยังไม่สามารถตัดบ่วงโซ่ที่เหลืออีก 7 เส้นให้ขาดลงได้ ท่านเหล่านี้ยังมีความพอใจในกาม ฯลฯ หลงเหลืออยู่ พระโสดาบันจะยังคง “ชอบฟังเพลงแร็พ” และชอบถือกระเป๋า “หลุยส์ วิตตอง” Louis Vuitton

นอกจากนี้ เรายังเอาหลักการละสังโยชน์นี้มาเป็น “เกณฑ์ชี้วัดพระอริยบุคคล” ในทางพระพุทธศาสนาได้อีกด้วย กล่าวคือ วัดเอาจากจำนวนสังโยชน์ที่ตัดได้นั่นเอง มีพระโสดาบันเป็นพระอริยบุคคลกลุ่มแรก กลุ่มที่สองเรียกว่า “พระสกทาคามี” ตัดบ่วงโซ่สังโยชน์ได้ 3 เส้นเหมือนกัน แต่บั่นบ่วงโซ่เส้นที่ 45 (คือความพอใจในกามมีรูปสวย เสียงเพราะ และกลิ่นหอม เป็นต้น และความคิดร้าย) ให้บางลงจนจวนจะขาดมิขาดแหล่ แต่ก็ยังไม่ขาด

สรุปว่า พระโสดาบันกับพระสกทาคามี มีความคล้ายคลึงกันมากจนแทบจะแยกจากกันไม่ออก นอกจากนี้ในบางครั้งเราอาจจะถูกท่านเหล่านี้โมโหใส่ให้อีกด้วย เพราะบ่วงเส้นที่ 5 คือความคิดร้ายนี่แหละเป็นตัวการ แต่ถ้าตัดทั้ง 5 เส้นได้เมื่อไร เราถึงจะเรียกว่า “พระอนาคามี” ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่เวียนกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกแล้ว แต่จะไปเกิดในพรหมโลกแทน และนิพพานในที่นั้น

ถึงขั้นนี้ก็ยังถูกบ่วงโซ่อีก 5 เส้นที่เหลือล่ามอยู่ พระอนาคามีจึงยังมีความติดใจในอารมณ์แห่งรูปฌาน อรูปฌาน มีความถือตัว มีความฟุ้งซ่าน และยังมีความไม่รู้จริงอยู่

คราวนี้มาดูพระอรหันต์บ้าง กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าเลิศสุดแล้วในโลก สาเหตุเพราะว่า เป็นผู้ปฏิบัติจนได้บรรลุธรรมขั้นสูงสุด ตัดบ่วงโซ่สังโยชน์ได้ทั้งหมด 10 เส้น จนไม่มีกิเลสหลงเหลืออยู่เลย เมื่อไม่มีกิเลสหลงเหลืออยู่ก็ไม่ต้องไปเกิดที่ไหนอีก

วิธีตรวจสอบว่าใครเป็นพระอรหันต์

ให้ดูจากสังโยชน์ 10 ข้อนั่นแหละ คือ 1.ต้องไม่มีตัวกูของกู 2.มีศรัทธาไม่คลอนแคลนและไม่สงสัยในพระรัตนตรัย 3.ปฏิบัติถูกต้องตามหลักอริยมรรคมีองค์ 8 4.ไม่มีความพอใจในกาม มีรูป เสียง และกลิ่น เป็นต้น 5.ไม่คิดร้าย 6.ไม่ติดใจในอารมณ์แห่งรูปฌาน 7.ไม่ติดใจในอารมณ์แห่งอรูปฌาน 8.ไม่ถือตัว 9.ไม่ฟุ้งซ่าน และ 10.รู้อริยสัจตามความเป็นจริง

ดังนั้น ต่อแต่นี้ไปเราก็ไม่ต้องถกเถียงกันอีกต่อไปแล้วว่า “ท่านผู้นั้นผู้นี้เป็นพระอรหันตบุคคลหรือไม่ ?

บทสรุป

ความสำเร็จจากการปฏิบัติตนที่ถูกต้องตามแนวทาง “สติปัฏฐาน 4” ย่อมได้มาโดยไม่ยากลำบากจนเกินไป หากเรามีความเพียรพยายามและมีความเอาจริงเอาจัง

ขอให้ลองจินตนาการวาดภาพตามว่า สังคมจะน่าอยู่เพียงใด หากทุกคนในสังคมมีแนวทางในการปฏิบัติตนเพื่อความหลุดออกจากบ่วงโซ่ล่ามมนุษย์ ที่เป็นไปในทางเดียวกัน ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จช้าหรือเร็วก็ตามที แต่สังคมดังกล่าวก็จะเป็น “สังคมในอุดมคติ” เป็นสังคมที่สว่างด้วยปัญญา ปัญหาสังคมโดยมากจะหมดไปอย่างถาวร จะหลงเหลือก็แต่ความมีเมตตาเอื้ออาทร ความรักใคร่ซึ่งกันและกัน ไม่มุ่งร้ายต่อกัน ฯลฯ