จาก Supervisor เป็น Superman (1)
ในสังคมบ้านเรา มักนิยมเรียกผู้ทำหน้าที่สอนหนังสือในระดับชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาชั้นต้นว่า “ครู”
ในสังคมบ้านเรา มักนิยมเรียกผู้ทำหน้าที่สอนหนังสือในระดับชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาชั้นต้นว่า “ครู”
โดย.. รองศาสตราจารย์ ดร. ศิริยุพา รุ่งเริงสุข สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในสังคมบ้านเรา มักนิยมเรียกผู้ทำหน้าที่สอนหนังสือในระดับชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาชั้นต้นว่า “ครู” แต่ถ้าเป็นผู้สอนระดับมัธยมปลายจนถึงมหาวิทยาลัยจะเรียกว่า “อาจารย์” เช่นเดียวกันกับสังคมทางตะวันตกที่มีคำว่า “Teacher” และ “Professor” (คำว่า Professor แปลได้ 2 ความหมาย คือ อาจารย์โดยทั่วไป หรือผู้ดำรงตำแหน่งวิชาการเป็น “ศาสตราจารย์” ซึ่งถ้าเป็นตำแหน่งวิชาการต้องสะกดด้วยตัว Capital “P” คือ Professor)
จากความรู้สึกของผู้เขียนซึ่งมีอาชีพเป็น “อาจารย์” นั้น ตัวเองคิดว่าใช้คำไหนก็ได้ คือจะเป็น “ครู” ก็ได้ หรือ “อาจารย์” ก็ได้ เพราะก็ต้องทำหน้าที่ถ่ายทอดวิชาความรู้และพัฒนาทัศนคติที่ดีในเชิงวิชาการและคุณภาพชีวิตของนักเรียน นิสิต นักศึกษาเหมือนกัน และถ้าคิดให้ลึกลงไป ผู้เขียนมีความเชื่อว่า ครูอนุบาลซึ่งเป็นครูคนแรกของชีวิตภายในรั้วการศึกษาของพวกเราทุกคนคือ ครูที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
คิดดูสิว่ามันยากแค่ไหนกับการที่จะสอนเด็กเล็กๆ ซึ่งไม่มีความรู้อะไรเลยให้เข้าใจ และจำว่าตัวหงิกๆ งอๆ นี่เขาเรียกว่า ก.ไก่ หรือ ข.ไข่ นะ จากนั้นก็เรียนการประสมคำ ผู้เขียนเคยลองพยายามสอนหนังสือให้เด็กอนุบาลอยู่ครั้งหนึ่ง ปรากฏว่าทำไม่ได้ค่ะ ไม่เหมือนสอนหนังสือให้นักศึกษาปริญญาโท เพราะพวกเขาโตแล้ว พูดรู้เรื่องแล้ว
แต่เด็กเล็กๆ นี่ขอยอมแพ้ และขอยกย่องครูชั้นอนุบาลด้วยความเคารพอย่างจริงใจ
ในองค์กรก็เหมือนกัน เวลามีพนักงานใหม่เข้ามาทำงานและเริ่มงานจากระดับล่างสุด บทบาทของ Frontline Supervisor (ผู้บังคับบัญชาชั้นต้น) ที่ขอเรียกสั้นๆ ว่า “ซุปฯ” (Sup) ในการอบรมดูแลพนักงานใหม่ ก็เปรียบเสมือนบทบาทของครูชั้นอนุบาลที่ต้องปฐมนิเทศสมาชิกใหม่ให้ถูกต้องเหมาะสม มิฉะนั้นรากฐานความรู้ความเข้าใจในงาน รวมถึงเรื่องสำคัญๆ อย่างทัศนคติและค่านิยมในการทำงานและการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลทั้งหลายในองค์กรก็จะผิดเพี้ยนไป
หลายองค์กรอุตส่าห์คัดสรรพนักงานที่มีศักยภาพเข้ามาทำงาน แต่แล้วก็ต้องสูญเสียคนดีๆ ไป เพราะเจอซุปฯ อ่อนหัดที่ไม่สามารถบริหารและจูงใจพนักงานใหม่ให้มีความประทับใจในองค์กรได้ และในอีกหลายกรณีก็เจอซุปฯ ตัวแสบที่เปลี่ยนพนักงานดีๆ ให้กลายเป็นวายร้ายเหมือนกับตัวเอง
คำถามก็คือว่า องค์กรควรพัฒนาซุปฯ ให้มี Competencies ในเรื่องอะไรบ้าง จึงจะทำให้ซุปฯ ทำหน้าที่ในการดูแลพนักงานระดับปฏิบัติการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จากประสบการณ์และการค้นคว้าของผู้เรียนพบว่า Competencies ที่สำคัญยิ่งของ Frontline Supervisor มีอยู่ 8 ประการคือ
1.ความรู้และทักษะในสาขางานที่ตนรับผิดชอบ เพราะถ้าไม่รู้จริงแม้แต่งานในหน้าที่ของตน แบบนี้ก็ปิดม่านได้ตั้งแต่เริ่มแสดงค่ะ
2.ความรู้ความเข้าใจทั่วไปเกี่ยวกับองค์กร แม้จะเป็นแค่ซุปฯ ก็ต้องมีความรู้เกี่ยวกับธุรกิจขององค์กร และสภาพแวดล้อมธุรกิจที่มีความสัมพันธ์และผลกระทบต่อองค์กรในภาพรวม ต้องรู้ว่าองค์กรมีปณิธาน เป้าหมาย ค่านิยมอะไร ใครคือคู่แข่งขององค์กร ความรู้เหล่านี้แสดงถึงความเป็นสมาชิกพันธุ์แท้ขององค์กร (Corporate Citizen) ไม่ใช่แค่มาทำงานมีเงินเดือนกินไปวันๆ แต่ไม่รู้จักองค์กรในเบื้องลึกเลย ซุปฯ คนไหนที่เป็น Corporate Citizen ตัวจริง จะสามารถถ่ายทอด DNA ขององค์กรให้แก่พนักงานใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งก็คือสามารถสร้างความประทับใจ ความภาคภูมิใจ ความรู้สึกว่าตัวเองร่วมเป็นเจ้าขององค์กร (Ownership) และความจงรักภักดี (Loyalty) ต่อองค์กร
3.ความสามารถในการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ที่ดี เพราะหน้าที่ของซุปฯ คือ การสอนงานและสอนเรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับองค์กรให้แก่พนักงานใหม่ อีกทั้งยังต้องทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงหรือโค้ชเพื่อให้คำปรึกษา ต้องให้คำประเมินผล (Feedback) แก่พนักงาน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีศิลปะในการสื่อสาร รู้เทคนิค เทคโนโลยีและช่องทาง (Channels) ต่างๆ ในการสื่อสารให้เหมาะสมกับบุคคลและสถานการณ์
ขอนำเสนอไว้ 3 ประการก่อน สัปดาห์หน้าคุยกันต่ออีก 5 ประการนะคะ อยากแปลงโฉม Supervisor เป็น Superman ก็ต้องใจเย็นๆ หน่อยค่ะ