ตะเกียบ ... คู่รัก
วันวาเลนไทน์ใกล้จะมาถึงแล้ว... ช่วงเวลาอย่างนี้ทำให้รอยนวลนึกถึง “ตะเกียบ” !!!
โดย...รอยนวล
วันวาเลนไทน์ใกล้จะมาถึงแล้ว... ช่วงเวลาอย่างนี้ทำให้รอยนวลนึกถึง “ตะเกียบ” !!!
ใช่ค่ะ... อ่านไม่ผิดหรอก ที่ผู้เขียนนึกถึงตะเกียบในช่วงเทศกาลแห่งความรักก็เพราะว่าตะเกียบเป็นสิ่งที่ต้องอยู่ด้วยกันเป็นคู่ ถ้าตะเกียบมีอยู่ข้างเดียวก็ใช้การไม่ได้เหมือนกับคนรักกันที่อยากอยู่ด้วยกัน ควรจะอยู่ด้วยกัน ไม่อย่างนั้นก็เหมือนขาดอะไรไปอย่างหนึ่ง หรือถึงกับใช้การไม่ได้!!! นั่นเอง ตะเกียบจึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์ถึงการอยู่ด้วยกันเป็นคู่ งานแต่งงานบางงานเขาแจกตะเกียบเป็นของชำร่วย
นอกจากช้อนส้อมที่เราคุ้นเคยแล้ว ตะเกียบเป็นอุปกรณ์ในการรับประทานอาหารอีกหนึ่งชนิดที่คนไทยเราคุ้นเคยกันมาแต่อ้อนแต่ออก เพราะในประเทศเรามีคนเชื้อสายจีนอยู่มาก และตะเกียบก็คืออุปกรณ์คู่มือในการรับประทานของคนจีน (สำหรับรอยนวล เติบโตในครอบครัวไทยๆ กว่าจะมาหัดคีบตะเกียบเป็นก็โตแล้ว... อายเพื่อนจะแย่!!!)
ตะเกียบมีลักษณะเป็นแท่ง 2 แท่งมีขนาดใกล้เคียงกัน ใช้เป็นอุปกรณ์หลักในการกินอาหารในประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และเวียดนาม ประเทศเหล่านี้รับประทานทุกอย่างด้วยตะเกียบ แต่ในบ้านเรามักใช้สำหรับอาหารประเภทเส้นอย่างก๋วยเตี๋ยวหรือบะหมี่ ตะเกียบนิยมทำมาจากไม้ ไม้ไผ่ โลหะ และพลาสติก หากเป็นยุคโบราณนั้นมีตะเกียบงาช้าง ประเทศจีนยุคเก่าจะใช้ตะเกียบซึ่งทำจากเงินในการตรวจสอบยาพิษให้ฮ่องเต้ก่อน หากอาหารจานนั้นมียาพิษ ตะเกียบก็จะเปลี่ยนจากสีเงินเป็นสีดำ
ตะเกียบ หรือ Chopsticks หรือที่คนจีนเรียก ไคว่จื่อ เกิดที่ประเทศจีนโดยมีตำนานการเกิดที่เล่าต่อๆ กันคือ เมื่อราว 3,000 ปีที่แล้ว ในประเทศจีน ชาวนายากจน 2 คนถูกขับไล่ออกจากหมู่บ้าน ด้วยความหิวโหยพวกเขาเข้าไปขโมยเนื้อสัตว์จากร้านค้าแห่งหนึ่งแล้วนำไปย่าง เนื้อยังไม่สุกแต่ส่งกินหอมเย้ายวน ทั้งสองอดใจรอไม่ไหวจึงนำกิ่งไม้ 2 อันมาคีบเนื้อด้านนอกที่สุกก่อนออกมากินทีละเล็กละน้อย กิ่งไม้ 2 อันจึงกลายมาเป็นต้นกำเนิดในการกินที่เรียกว่า ตะเกียบ จากนั้นจึงแพร่ออกไปในเอเชีย
อีกหนึ่งตำนานเล่าถึงชายแก่ชื่อ เจียง ที่ตกปลาไปวันๆ ทำให้เมียโมโหใส่ยาพิษไปในเนื้อให้เจียงกิน ขณะเฒ่าเจียงกำลังจะหยิบเนื้อเข้าปากก็มีนกบินมาจิกมือทุกครั้ง ด้วยความเจ็บและโมโหเขาจึงตามไล่นกออกไปนอกบ้าน แล้วนกที่เกาะอยู่บนกิ่งไม้ก็พูดกับเขาว่าอย่าใช้มือหยิบ ให้ใช้สิ่งที่อยู่ใต้เท้านกแทน
เจียงจึงใช้กิ่งไม้ 2 อันมาคีบเนื้อแทน แล้วก็มีควันลอยมาจากเนื้อทำให้เขารู้ว่ามียาพิษ ยายเมียจึงเชื่อว่าตาเจียงมีเทวดาคุ้มครองจึงไม่กล้าฆ่า ส่วนผู้เป็นสามีก็ใช้ไม้คีบอาหารเสมอ ทำให้คนอื่นเอาอย่างบ้างจนกลายเป็นที่นิยมถึงปัจจุบัน
ในประเทศที่ใช้ตะเกียบนั้นก็มีความแตกต่างกันอยู่ เช่น คนจีนจะใช้ตะเกียบคู่กับช้อน ตะเกียบส่วนใหญ่จะทำมาจากไม้และไม้ไผ่ คนไทยจะใช้ตะเกียบคู่กับช้อนในเวลาที่รับประทานอาหารจำพวกเส้น ตะเกียบส่วนใหญ่ทำมาจากไม้หรือพลาสติก ส่วนญี่ปุ่นจะใช้ตะเกียบอย่างเดียว ส่วนอาหารที่เป็นน้ำอย่างซุปจะยกถ้วยขึ้นดื่มเลย คนเกาหลีจะใช้ตะเกียบคู่กับช้อน ตะเกียบส่วนใหญ่จะทำมาจากเงินและสเตนเลส
เวลาใช้ตะเกียบมีข้อห้าม เช่น ไม่ใช้ตะเกียบควานหาเนื้อในจานอาหาร ห้ามใช้ตะเกียบชี้คนอื่น อย่าใช้ปลายแหลมของตะเกียบจิ้มแทงลงบนชิ้นอาหารเพื่อส่งเข้าปาก ไม่ใช้ตะเกียบเคาะถ้วยจาน ห้ามอม ดูด หรือแทะตะเกียบ ไม่คีบอาหารแล้วนำกลับไปวางไว้ที่เดิม เป็นต้น
แม้จะไม่ได้เกี่ยวอะไรกับความรัก แต่เพราะความที่ตะเกียบต้องอยู่ด้วยกันเป็นคู่ ทำให้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของคนรักหรือความรักไปโดยปริยาย (เช่นเดียวกับของที่เป็นคู่ อย่างช้อนส้อม หรือแม้แต่ปาท่องโก๋) ใกล้ๆ วันวาเลนไทน์อย่างนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงตะเกียบ... เช่นนี้แล
ก่อนจากขอฝากคำคม (ที่จำเขามา) ว่า... ความรักก็เหมือนลูกชิ้นต้องใช้ตะเกียบ 2 ข้างคีบถึงจะกินได้ ความรักก็ต้องมีคน 2 คนถึงจะประสบความสำเร็จ... ฮิ้วววว
&<2288;