posttoday

โรงแรมสีเขียว มาตรฐานไทยหนึ่งในมาตรฐานโลก

10 กุมภาพันธ์ 2555

การที่คุณเข้าพักโรงแรมที่ไม่ได้มาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี

โดย...โยธิน อยู่จงดี

“การที่คุณเข้าพักโรงแรมที่ไม่ได้มาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี ก็ไม่ต่างอะไรกับการที่คุณสนับสนุนผู้ประกอบการที่ไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและช่วยกันทำลายสิ่งแวดล้อมนั้นด้วย แต่หากคุณเข้าพักโรงแรมที่ได้มาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี ก็เท่ากับคุณช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีความพยายามพัฒนาปรับปรุงโรงแรมให้มีประสิทธิภาพ และคุณก็มีส่วนช่วยสนับสนุนการรักษาสิ่งแวดล้อม และยังได้รับบริการที่ดีอีกด้วย”

ดร.จิรพล สินธุนาวา รองประธานกรรมการมูลนิธิใบไม้เขียว ซึ่งดูแลมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงแรมหนึ่งเดียวของไทย อธิบายถึงความสำคัญในการสนับสนุนโรงแรมที่ได้รับมาตรฐานกรีนลีฟ (Green Leaf) ซึ่งช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและพัฒนาระบบการจัดการโรงแรมและการท่องเที่ยวของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

กรีนลีฟ ที่เราควรรู้จัก

กรีนลีฟหรือโครงการใบไม้เขียว เป็นหนึ่งในโครงการของมูลนิธิใบไม้เขียว ซึ่งดำเนินการเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการใช้พลังงานและพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมของธุรกิจการท่องเที่ยวและการโรงแรม อยู่ในความดูแลของคณะกรรมการส่งเสริมกิจกรรมสิ่งแวดล้อมเพื่อการท่องเที่ยว หรือ คสสท. สนับสนุนด้านการดำเนินธุรกิจโรงแรมให้เติบโตอย่างมั่นคง

โรงแรมสีเขียว มาตรฐานไทยหนึ่งในมาตรฐานโลก

ดร.จิรพล ให้ความเห็นในเรื่องมาตรฐานกรีนลีฟว่า เป็นการยกมาตรฐานการท่องเที่ยวและโรงแรมให้มีมาตรฐานเดียวกันให้เป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ ว่าเรามีระดับการตรวจสอบโรงแรมที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

หากว่าเราไม่สร้างมาตรฐานตรงนี้ขึ้นมา ประเทศไทยจะถูกบังคับให้ใช้มาตรฐานของต่างประเทศที่มีข้อบังคับบีบให้ผู้ประกอบการในบ้านเราได้คะแนนต่ำกว่าความเป็นจริง ส่งผลต่อภาพลักษณ์ธุรกิจในสายตาชาวต่างชาติ และการที่จะทำให้ได้มาตรฐานของเขานั้น ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงินหลายแสนบาทเป็นค่าตรวจสอบ ซึ่งมาตรฐานของต่างประเทศไม่เหมาะสำหรับเมืองไทย เนื่องจากตัวกฎหมายและวัฒนธรรมก็แตกต่างกัน ต่างประเทศไม่มีครัวไทยจะไม่รู้วิธีการจัดการครัวไทยที่เหมาะสม ซึ่งโรงแรมไทยจะถูกหักคะแนนตรงส่วนนี้ แต่เรารู้ว่าการประกอบอาหารไทยที่ถูกสุขอนามัยและประหยัดพลังงานนั้นต้องทำอย่างไร เราจึงต้องสร้างมาตรฐานของเราขึ้นมาเอง

มาตรฐานแบบไทยนั้นต้องปรับปรุงแก้ไขให้มีความสอดคล้องกับเทคโนโลยี องค์ความรู้ใหม่ๆ และตัวบทกฎหมายที่ส่งผลถึงข้อบังคับการจัดการโรงแรม ตั้งแต่มาตรฐานการบริการ การจัดการขยะ ระบบการควบคุมไฟฟ้า น้ำประปาและการรีไซเคิลขยะต่างๆ จนถึงการมีส่วนร่วมกับชุมชนรอบข้าง การส่งเสริมให้มีการจัดโครงการสนับสนุนทางวัฒนธรรมก็เป็นหนึ่งในระบบการบริหารการจัดการของกรีนลีฟด้วยเช่นกัน ทำให้มาตรฐานนี้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านในระดับอาเซียน ได้เชิญเราให้เป็นพี่เลี้ยงให้ความรู้ในการร่างมาตรฐานตรงนี้ขึ้นมา ซึ่งเขาก็เอาของเราไปเป็นต้นแบบ แต่อาจจะมีบางข้อที่ต้องปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ

โรงแรมในไทยที่จะได้มาตรฐานกรีนลีฟนั้น จะต้องดำเนินการปรับปรุงโรงแรมให้ได้มาตรฐาน 338 ข้อใน 18 หมวด เช่น นโยบายและการสื่อสาร การพัฒนาบุคลากร การจัดการของเสีย ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ประสิทธิภาพการใช้น้ำ ครัว และห้องอาหาร ห้องซักรีด คุณภาพอากาศภายในอาคาร มลพิษทางอากาศและเสียง ผลกระทบต่อระบบนิเวศ การมีส่วนร่วมกับชุมชนและองค์กรท้องถิ่น และการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น มาตรฐานนี้จะมีการร่างใหม่ทุกๆ 2 ปี เพื่ออัพเดตมาตรฐานให้มีความทันสมัย ช่วยบังคับให้ผู้ประกอบการต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด ไม่ใช่ว่าได้รับมาตรฐาน 5 ใบไม้ ซึ่งเป็นมาตรฐานสูงสุดไปแล้วจะได้ตลอดจนปล่อยปละละเลย เพราะถึงเวลาตรวจสอบใหม่ทุก 2 ปี และผู้ตรวจพบว่ามีจุดบกพร่องจะถูกปรับจำนวนใบไม้ลง ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องเร่งแก้ไขเพื่อกู้ชื่อเสียงมาตรฐานตรงนี้กลับมา จึงเห็นได้ว่านอกจากจะเป็นมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังครอบคลุมไปถึงมาตรฐานการบริการภายในโรงแรมให้ลูกค้าได้รับประโยชน์สูงสุดอีกด้วย

โรงแรมสีเขียว มาตรฐานไทยหนึ่งในมาตรฐานโลก

กรีนลีฟ ทำแล้วดีอย่างไร

ฉัตรระพี ขันทริโย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ โรงแรม อมารี วอเตอร์เกท หนึ่งใน 10 โรงแรมของไทยที่ได้รับรางวัลอาเซียนกรีนโฮเต็ล และได้รับมาตรฐานกรีนลีฟที่ 4 ใบไม้จากระดับสูงสุด 5 ใบไม้ จากมูลนิธิใบไม้เขียว เผยถึงข้อดีในการจัดการระบบโรงแรมเพื่อสิ่งแวดล้อมว่า การที่เราช่วยกันประหยัดพลังงาน วางระบบรีไซเคิลภายในโรงแรม และมาตรการวิธีการจัดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและลดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ภายในโรงแรมได้มาก ในขณะที่ประสิทธิภาพในการบริการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ทั้งหมดเริ่มจากการให้ความรู้ปลูกฝังพนักงาน ในการช่วยประหยัดการใช้ทรัพยากรภายในองค์กร อย่างกระดาษเราใช้สองหน้าทุกแผ่น โดยแต่ละแผนกจะมีการแยกกล่องเอาไว้สำหรับใส่กระดาษรีไซเคิลเพื่อนำไปใช้อีกหน้า หลังจากใช้ครบทั้งสองหน้าแล้วถึงจะนำไปขายรีไซเคิล หรือการเสิร์ฟน้ำเอง ก่อนเข้าร่วมโครงการเวลาที่ลูกค้าจองห้องจัดงานเลี้ยงมีแขก 500 คน เราจะใช้วิธีการเสิร์ฟน้ำใส่แก้วเอาไว้ให้ก่อน แล้วให้แขกเดินมาหยิบได้ตามสะดวก วิธีการนี้มาตรฐานกรีนลีฟไม่สนับสนุนให้ทำ เพราะไม่ใช่ว่าแขกทุกคนจะเดินมาหยิบน้ำดื่มจนหมดพอดี บางคนก็เลือกที่จะไม่ดื่มเครื่องดื่มที่เราเตรียมไว้ให้ ทำให้เครื่องดื่มที่ผสมไว้ต้องเสียเปล่า เราจึงปรับวิธีการให้เสิร์ฟตามจำนวนแขกที่มาขอ และเรากำลังจะพัฒนาไปเป็นเครื่องดื่มบรรจุขวดแก้ว ซึ่งหยิบสะดวก สามารถเก็บไว้ได้นาน นอกจากนี้ แก้วยังสามารถนำไปรีไซเคิลต่อได้ง่าย ไม่เหมือนพลาสติกที่ใช้เวลานานกว่าจะย่อยสลายหรือเพิ่มกระบวนการในการรีไซเคิลที่ต้องผสมกับเม็ดพลาสติกใหม่เข้าไป และยังมีโครงการปรับปรุงคุณภาพการใช้พลังงานภายในโรงแรมและมาตรฐานการบริการโรงแรมด้านอื่นๆ ในอนาคต และตามมาตรฐานเราต้องทำกิจกรรมทางสังคมและช่วยกันพัฒนาชุมชนที่อยู่ในบริเวณโรงแรมร่วมกันอีกด้วย

“เราคงไม่ได้หวังเป็นแค่เพียงมาตรฐานระดับ 4 ใบไม้ ถึงแม้ว่าจะเราได้รับรางวัลอาเซียนกรีนโฮเต็ล เป็นหนึ่งใน 10 โรงแรมของประเทศไทยที่ได้รับรางวัลนี้ แต่เราก็ยังคงต้องพัฒนาต่อไปให้ดีที่สุด เพราะการรักษาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องทางธุรกิจหรือหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องดูแลรักษาอย่างดีที่สุด” ฉัตรระพี ยังคงย้ำถึงการพัฒนาธุรกิจโรงแรมให้เป็นธุรกิจสีเขียวต่อไป

สุดท้ายสิ่งที่สำคัญที่สุดในการช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมก็คือตัวของลูกค้าที่เข้าพักเอง ต้องช่วยกันประหยัดพลังงาน น้ำและไฟ อย่าคิดถึงแต่จำนวนเงินที่เสียไปกับค่าเช่าห้องพัก เพราะค่าน้ำค่าไฟที่เราใช้นั้นมีต้นทุน ณ จุดต้นทางที่แพงกว่าหลายเท่า และหากคุณจะเลือกโรงแรมที่เข้าพักในครั้งต่อไป ลองค้นหาข้อมูลโรงแรมเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.greenleafthai.org แล้วคุณจะรู้ว่าถึงแม้เป็นเรื่องท่องเที่ยวก็ช่วยโลกได้เช่นกัน