posttoday

35 ปี วิภาวดีรำลึก ‘พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต’

16 กุมภาพันธ์ 2555

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต มีพระนามเดิมว่า ม.จ.วิภาวดี รังสิต เป็นพระธิดาในพระราชวรวงศ์เธอ

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต มีพระนามเดิมว่า ม.จ.วิภาวดี รังสิต เป็นพระธิดาในพระราชวรวงศ์เธอ

โดย..วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต มีพระนามเดิมว่า ม.จ.วิภาวดี รังสิต เป็นพระธิดาในพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ และ ม.จ.พรพิมลพรรณ (วรวรรณ) รัชนี ประสูติเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2463 ที่วังถนนประมวญ กรุงเทพฯ มีพระอนุชาร่วมบิดามารดาเดียวกันคือ ม.จ.ภีศเดช รัชนี

พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตทรงเริ่มการศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนผดุงดรุณีอยู่ 1 ปี ต่อมาได้ทรงย้ายเข้าเรียนที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยไม่ถึงปีก็เสด็จไปทรงศึกษาที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้วได้ทรงศึกษาหลักสูตรสมบูรณ์ศึกษา ณ โรงเรียนเดียวกันนี้อีก 3 ปี จนแตกฉานในภาษาศาสตร์ ทั้ง ไทย อังกฤษ และฝรั่งเศส เพราะการเรียนในสมัยนั้น ผู้สอนเป็นแม่ชีชาวอเมริกันและยุโรป กวดขันเรื่องภาษาแก่เด็กนักเรียนอย่างเอาจริงเอาจัง ตำราต่างล้วนเป็นภาษาอังกฤษ แม้แต่ตำราคณิตศาสตร์ก็เรียนเป็นภาษาอังกฤษล้วน เด็กนักเรียนจึงอ่านเขียนและพูดภาษาอังกฤษได้คล่อง

35 ปี วิภาวดีรำลึก ‘พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต’

 

การที่ได้ทรงคลุกคลีอยู่กับหนังสือและยังทรงได้ใกล้ชิดกับเสด็จพ่อ ผู้ทรงเป็นกวีเอก (น.ม.ส.) ทำให้พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตสนพระทัยที่จะทรงนิพนธ์ขึ้นเองบ้าง เมื่อพระชันษาเพียง 14 ปี ในนามปากกา ว. ณ ประมวญมารค ขณะเดียวกันก็ทรงเป็นนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี ที่มีความรู้กว้างขวางและลึกซึ้ง

พระนิพนธ์เรื่องแรกไม่ใช่ “ปริศนา” นวนิยายรักอันโด่งดัง แต่เป็นเรื่องแปลชื่อ “เด็กจอมแก่น” ทรงแปลจากหนังสือรวมเรื่องสั้นชุด William ของ Richmal Crompton ซึ่งเป็นนักเขียนวรรณกรรมเยาวชนชื่อดังของอังกฤษ ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เรื่องนี้เมื่อลงพิมพ์ใน “ประมวญสาร” เป็นเรื่องที่ขายดีมาก นักเรียนโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนที่อยู่ใกล้โรงพิมพ์ได้เข้ามาซื้อจนเกลี้ยงโรงพิมพ์ กลายเป็นเรื่องขายดีเพราะเด็กนักเรียนชอบอ่าน

พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตได้เสกสมรสกับ ม.จ.ปิยะรังสิต รังสิต เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2489 ได้รับพระราชทานน้ำมหาสังข์จากพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีธิดาด้วยกัน 2 คน คือ ม.ร.ว.วิภานันท์ และ ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต

พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตทรงเข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณในการเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรภาคต่างๆ ในพระราชอาณาจักร เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 และต่อจากนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โดยเสด็จในตำแหน่งนางสนองพระโอษฐ์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการเสด็จฯ ไปทรงเยือนต่างประเทศนับสิบประเทศตลอดหลายปี

เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังประเทศสวีเดน ในงานพระศพพระเจ้ากุสตาฟ VI อดอล์ฟแห่งสวีเดน เมื่อเดือน ก.ย. 2516 พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตก็ได้โดยเสด็จไปด้วย และได้ทรงแสดงพระปรีชาสามารถในด้านการต่างประเทศ นอกจากจะทรงคุ้นเคยกับพระเจ้าแผ่นดิน พระราชินี และพระราชวงศ์ของประเทศต่างๆ ในยุโรปและอังกฤษแล้ว พระองค์หญิงยังทรงมีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และขนบธรรมเนียมประเพณีของประเทศนั้นและราชสำนักนั้นๆ เป็นอย่างดี

ระหว่างที่ทรงรับราชการสนองพระเดชพระคุณในด้านต่างๆ ด้วยความเสียสละจงรักภักดีนั้น พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตก็ยังมีงานพระนิพนธ์ออกเผยแพร่สู่สาธารณชนอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งในระยะหลังนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องคลั่งเพราะรักและฤทธิ์ราชินีสาวเป็นที่ชื่นชอบของผู้อ่านเป็นอย่างยิ่ง พระนิพนธ์เรื่องหลายรสได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทหนังสืออ่านสำหรับเด็กของคณะกรรมการสวัสดิการเด็ก สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อปี พ.ศ. 2515 เพราะเป็นหนังสือที่ส่งเสริมการให้ความรู้ที่มีประโยชน์แก่เด็ก ทำให้เด็กเกิดความคิดอ่านและสร้างสรรค์ในสิ่งที่ดีงาม

35 ปี วิภาวดีรำลึก ‘พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต’

 

“เรื่องหลายรส” นอกจากจะรวมเรื่องตามเสด็จประเทศต่างๆ แล้ว ยังมีเรื่องน่าอ่านอื่นๆ เช่น จดหมายจากปารีส ละครพงศาวดารตอนสิ้นแผ่นดินพระนารายณ์ เล่าเรื่องเมืองพระแสง เรื่องน่าคิด ละครพูดเรื่องนักสืบประจำค่ายกักกัน และเมื่อหน่วยพระราชทานขึ้นเขา เป็นต้น นวนิยายทุกเล่มที่พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตทรงนิพนธ์จะใช้นามปากกาว่า “ว. ณ ประมวญมารค” และจะใช้พระนามจริงเมื่อทรงเขียนเรื่องสารคดีเท่านั้น

การเสด็จไปทรงปฏิบัติพระภารกิจแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในจังหวัดภาคใต้นั้น พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตเสด็จมายัง จ.สุราษฎร์ธานี โดยไปถึงบ้านส้องเป็นจุดแรกเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2510 เพื่อเสด็จต่อยัง อ.พระแสง อันเป็นช่วง 10 ปีสุดท้ายของพระชนม์ชีพ ได้ทรงปฏิบัติพระภารกิจด้วยความวิริยอุตสาหะ เพื่อทรงปฏิบัติพระภารกิจแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในด้านพัฒนาจังหวัดภาคใต้ ไม่ทรงคำนึงถึงความลำบากและเหน็ดเหนื่อย ทรงมุ่งแต่จะช่วยเหลือประชาชนทั้งในทางวัตถุและในทางให้กำลังใจ กระทั่งได้รับฉายานามว่า เจ้าแม่พระแสง

แทบทุกพื้นที่ห่างไกลในเขตทุรกันดารของ จ.สุราษฎร์ธานี ในยุคนั้น พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตเสด็จไปทั่วทั้ง อ.พระแสง เวียงสระ ดอนสัก แม้กระทั่งพื้นที่ที่ยากต่อการเข้าถึง คือ ต.ตะกุกเหนือ อ.คีรีรัฐนิคม ในหมู่บ้านนั้นมีโรงเรียนหลังหนึ่ง ซึ่งพระองค์ทรงสร้างขึ้นเพื่อให้การศึกษาแก่เยาวชน โรงเรียนนี้มีชื่อว่า โรงเรียนบ้านท่านหญิงวิภา แม้แต่น้ำตกที่พระองค์หญิงเสด็จไปทรงพักผ่อนบ่อยครั้ง ราษฎรก็ขนานนามว่า น้ำตกวิภาวดี หรือน้ำตกท่านหญิง ปัจจุบันตำบลนี้ได้เจริญเติบโตมากและได้ยกฐานะเป็นกิ่ง อ.วิภาวดี

พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตทรงเสียสละความสุขส่วนพระองค์เพื่อที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น ทรงรับราชการสนองพระเดชพระคุณใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ด้วยความจงรักภักดีตลอดมาทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ พระทัยยังเปี่ยมด้วยพระเมตตากรุณา ทรงห่วงใยความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไป ทรงปฏิบัติพระภารกิจที่ได้รับมอบหมายด้วยความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว ไม่หวาดเกรงความยากลำบาก และบางครั้งต้องเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตเพื่อเข้าไปตรวจเยี่ยมบำรุงขวัญและประทานสิ่งของแก่เจ้าหน้าที่พลเรือน ตำรวจ ทหาร สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนและประชาชนในเขตที่มีผู้ก่อการร้ายปฏิบัติการอย่างรุนแรงก็ตาม

จนกระทั่งวันที่ 16 ก.พ. 2520 ระหว่างทางเสด็จโดยเฮลิคอปเตอร์เพื่อนำสิ่งของพระราชทานไปตรวจเยี่ยมบำรุงขวัญเจ้าหน้าที่ อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี ทรงทราบจากวิทยุว่ามีตำรวจตระเวนชายแดนได้รับบาดเจ็บจากกับระเบิด 2 คน ด้วยความห่วงใยผู้บาดเจ็บ เกรงว่าจะได้รับการรักษาพยาบาลไม่ทันท่วงที จึงรับสั่งให้นักบินนำเฮลิคอปเตอร์ร่อนลงเพื่อรับเจ้าหน้าที่บาดเจ็บ 2 คนนั้นไป จ.สุราษฎร์ธานี ผู้ก่อการร้ายได้ระดมยิงเฮลิคอปเตอร์ กระสุนปืนของผู้ก่อการร้ายถูกเฮลิคอปเตอร์และทะลุเข้ามาถูกพระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตเป็นแผลฉกรรจ์ นักบินได้นำเฮลิคอปเตอร์ลงฉุกเฉินที่สนามหน้าโรงเรียนวัดบ้านส้องเพราะเครื่องชำรุดบินต่อไม่ได้ หลวงพ่อฤๅษีลิงดำกับหลวงปู่ครูบาธรรมไชยกับนายแพทย์และพนักงานอนามัย อ.เวียงสระ นายอำเภอเวียงสระกับภรรยาได้เดินทางไปถึง ครั้นแล้วเฮลิคอปเตอร์ลำใหม่ก็ได้บินไปรับพระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตเพื่อนำไปโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี แล้วที่สุดก็สิ้นพระชนม์บนเฮลิคอปเตอร์ที่นำเสด็จกลับสู่ จ.สุราษฎร์ธานี นั้นเอง ได้มีการอัญเชิญพระศพไปแต่งบาดแผลที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ได้ถวายธงชาติคลุมพระศพ และทางตำรวจได้นำพระศพมาทางเครื่องบินสู่ท่าอากาศยานดอนเมืองในตอนเย็นวันที่ 16 ก.พ. 2520 แล้วได้อัญเชิญพระศพไปยังโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อแต่งบาดแผล เปลี่ยนฉลองพระองค์ และอัญเชิญเข้าสู่วังวิทยุ

35 ปี วิภาวดีรำลึก ‘พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต’

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศมณฑปและตั้งพระศพที่พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลตั้งแต่วันที่ 17 ก.พ. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความเสียสละและจงรักภักด้วยการทำงานอย่างถวายชีวิต รัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้ตั้งชื่อถนนซูเปอร์ไฮเวย์จากดินแดงถึงรังสิตว่า ถนนวิภาวดีรังสิต ชาวสุราษฎร์ธานีได้กำหนดวันที่ 16 ก.พ.ของทุกปี เป็นวันวิภาวดีเพื่อสดุดีและบำเพ็ญกุศลถวาย

ม.จ.ปิยะรังสิต รังสิต พระสวามี ได้ทรงก่อตั้งมูลนิธิวิภาวดีรังสิตขึ้นเพื่อสืบทอดงานพระองค์หญิงในด้านการพัฒนาและช่วยเหลือประชาชนในท้องถิ่นที่ทุรกันดาร และเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระองค์ท่าน ปัจจุบันนี้ ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต ทายาทผู้ดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิวิภาวดีรังสิต ได้สืบสานเจตนารมณ์ขององค์ผู้ก่อตั้งมูลนิธิอย่างแน่วแน่มั่นคง และยังคงทำงานหนักเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนโดยส่วนรวมสืบไป