posttoday

เสียงวิพากษ์จากดร.กรวิภา กรณีภิกษุณีในพระพุทธศาสนา (เถรวาท) อันควรรับฟัง (ตอน ๑๒)

06 มีนาคม 2555

โยมได้ติดตามอ่านบทความของพระอาจารย์กรณีการบวชภิกษุณี โยมเป็นผู้หนึ่งที่มีเป้าหมายชีวิตไว้แน่วแน่ว่า

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

โยมได้ติดตามอ่านบทความของพระอาจารย์กรณีการบวชภิกษุณี โยมเป็นผู้หนึ่งที่มีเป้าหมายชีวิตไว้แน่วแน่ว่า จะต้องหลุดพ้นให้ได้ในชาตินี้ โดยไม่รอชาติไหนๆ เพราะโยมมั่นใจว่า โยมมีบุญวาสนาเพียงพอ โยมไม่กล้าเสี่ยงรอชาติอื่นๆ ในกาลข้างหน้า เพราะโยมไม่มั่นใจว่า จะได้เกิดมาเป็นมนุษย์ และเกิดมาในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา หรือถึงแม้โยมจะได้เกิดมาเป็นมนุษย์และนับถือพระพุทธศาสนาพร้อม ก็ไม่ได้หมายความว่า โยมจะมีสติปัญญาคิดได้เหมือนเช่นในชาตินี้ อย่างไรก็ตาม โยมไม่มีปัญหาเรื่องว่าอยากจะบวชเป็นภิกษุณีหรือไม่ เพราะทุกอย่างมันอยู่ที่ตัวเราเอง ไม่ได้อยู่ที่รูปแบบของการบวช บวชเป็นแม่ชีก็สามารถหลุดพ้นได้ และโยมสามารถถือศีลได้มากกว่า ๘ ข้อ หรืออาจถึง ๓๑๑ ข้ออย่างลับๆ ถ้าสังคมให้โอกาส ต้องย้ำว่า สังคมให้โอกาส เพราะว่าเท่าที่โยมสืบทราบมา การเป็นชีต้องมีเงินจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ากินอยู่ในวัด จะเห็นว่าสังคมไม่ได้ให้โอกาสแก่ผู้หญิงเลย เป็นแม่ชียังต้องถือเงิน อันที่จริงเมื่อออกบวชไม่เป็นผู้ครองเรือน ถึงแม้จะเป็นแม่ชี ก็ไม่ควรที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายในวัด เมื่อถึงเวลาเหมาะสมโยมอยากจะบวช จึงต้องเก็บข้อมูลเหล่านี้ไว้ก่อน เพราะเมื่อโยมออกบวชแล้ว โยมไม่อยากถือเงินไม่ว่ากรณีใดๆ โยมพอได้ข่าวมาพอสมควรที่มีหญิงไทยขวนขวายไปบวชภิกษุณีถึงต่างประเทศ เพื่อที่จะกลับมาสืบภิกษุณีในประเทศไทยให้ได้ โยมจึงติดตามอ่านบทความของพระอาจารย์เสมอมา อย่างไรก็ตาม โยมอ่านพระไตรปิฎกในส่วนของภิกขุวิภังค์ ๒ เล่มจบแล้ว แต่ยังไม่ได้ท่องจำอะไร โยมก็พอจะทราบปัญหาของการบวชเป็นภิกษุณี โยมติดตามคอลัมน์ของพระอาจารย์มา เพราะโยมรู้สึกว่าสังคมไม่ให้โอกาสแก่ผู้หญิงเลย โยมมีข้อสงสัยที่ต้องรีบถามนำขึ้นก่อน ๑ คำถาม คือ โยมเคยอ่านพระไตรปิฎกฉบับย่อของอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ โยมยังไม่เคยเห็นมีคำว่า “แม่ชี” ปรากฏในพระไตรปิฎกเลย โยมจึงสงสัยว่า แม้แต่การบวชชีของผู้หญิง ก็ผิดพระวินัยปิฎก แต่สงฆ์ไทยกลับยอมรับ และไม่ผิดหลักกฎหมายไทย เหตุไฉนการบวชที่ต้องถือศีล ๓๑๑ ข้อ ซึ่งสามารถเรียกเป็นชื่ออื่นก็ได้ เช่น “แม่หญิง” ถ้าหวงชื่อ “ภิกษุณี” จึงทำในประเทศไทยไม่ได้ โยมคิดว่าบวช “แม่หญิง” และศีลควรจะหย่อนกว่า ๓๑๑ ข้อเล็กน้อย คงไม่ผิดกติกาของสงฆ์ไทยกระมัง เพราะสงฆ์ไทยยอมรับแม้แต่การบวชพราหมณ์ ถือศีล ๘ ไม่ต้องโกนผม...

มาที่คำถามว่า ทำไมพระพุทธเจ้าจึงไม่ทรงประทานอนุญาตในเบื้องต้น พระพุทธเจ้ามิได้ทรงแสดงเหตุผลใดๆ ในจุดนี้ แต่โยมเข้าใจว่า คงเนื่องจากพระองค์ทรงเอ็นดูและห่วงใยผู้หญิงมากกว่า เพราะในสมัยนั้นมันไม่เหมาะสมไม่ว่าในกรณีใดๆ ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิภาพของผู้หญิงเอง แม้แต่พระภิกษุก็ยังเคยถูกปล้นแย่งชิงจีวร จนถึงต้องเปลือยกายล่อนจ้อน ก็มีร้อนถึงพระพุทธเจ้าต้องออกมาบัญญัติพระอนุบัญญัติให้ภิกษุที่ถูกปล้นจีวร ร้องขอจีวรใหม่จากฆราวาสได้ ภิกษุสมัยนั้นต้องออกบิณฑบาตเป็นหนทางยาวไกล กว่าจะได้อาหารเพียงพอให้อยู่รอดได้ ความปลอดภัยในวัดที่อาศัยก็ไม่มี และภิกษุสมัยนั้นต้องเดินเท้าเพื่อไปเผยแผ่ธรรมะ ฯลฯ ซึ่งผิดกันกับสมัยนี้มากนัก พระภิกษุไม่ต้องบิณฑบาตไกลก็ได้อาหารเต็มบาตร จนถึงกับต้องมีฆราวาสเดินตามหลังคอยหยิบอาหารออกจากบาตร สมัยนี้ภิกษุก็ไม่ต้องเดินทางไปเผยแผ่ธรรมะนอกวัด ถึงแม้จะต้องออกเดินทางบ้าง ก็ไม่ได้ไปด้วยเท้า แต่มีรถพาไป วัดสมัยนี้ก็ปลอดภัยมากกว่าสมัยนั้นมากนัก ฯลฯ

ในที่ประชุมสงฆ์ ณ วันมหาสังคายนา กล่าวว่า ภิกษุณีเป็นสาเหตุให้เกิดความยุ่งยากขึ้นในภายหลังมิใช่น้อยนั้น โยมอยากทราบว่า เรื่องยุ่งยากที่ว่านั้น ได้แก่อะไรบ้าง จนพระมหากัสสปะซึ่งเป็นประธานในที่ประชุมสงฆ์ต้องทำผิดพลาดเป็นขี้ปากของชาวบ้านสมัยนั้นได้ (คนสมัยนั้นคงจะปากร้ายกาจยิ่งกว่าสมัยนี้ เพราะสมัยนั้นคนยังกล้าด่าพระ) พระพุทธเจ้าจึงต้องบัญญัติสิกขาบทขึ้นมาทีละข้อๆ ไป แต่อย่างไรก็ตาม พระพุทธเจ้าบัญญัติก็ต่อเมื่อจำเพาะมีเหตุการณ์นั้นๆ เกิดขึ้น เพื่อที่จะได้ตอบได้ชัดเจนถึงเหตุผลในการบัญญัติแต่ละสิกขาบท และพระพุทธเจ้าทรงบอกข้อดีในการบัญญัติสิกขาบทว่า จะทำให้พระพุทธศาสนาสืบทอดมาได้เป็นระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากพระวินัยจะทำให้พระภิกษุมีจริยาวัตรที่งดงามน่าเลื่อมใส นั่นเอง

อ่านต่อฉบับพรุ่งนี้