posttoday

ป่าชายเลน...สร้างได้

05 มีนาคม 2553

เรื่อง วรธาร ทัดแก้ว / ภาพ คลังภาพโพสต์ทูเดย์

 

 

ใครก็รู้ว่าป่าชายเลนมีประโยชน์มหาศาล เช่น เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำชายฝั่ง เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา ได้อาศัยเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สร้างสมดุลให้ระบบนิเวศ แล้วก็เป็นแหล่งอาหารของมนุษย์ ทั้งช่วยลดและชะลอความรุนแรงของคลื่นที่กัดเซาะชายฝั่ง ช่วยลดภาวะโลกร้อน

ต้นไม้ที่เกิดขึ้นในป่าชายเลนนั้น ส่วนใหญ่เป็นต้นไม้ที่มีรากเยอะ ใบดกหนา ชอบอากาศและน้ำในปริมาณสูง จะคายน้ำและออกซิเจนค่อนข้างสูงกว่าไม้ชนิดอื่นๆ จึงนับว่าป่าชายเลนมีประโยชน์อย่างมากทั้งต่อชีวิตคนและสัตว์

ปัจจุบันทั้งภาครัฐและเอกชนต่างให้ความสำคัญในการฟื้นฟูป่า โดยเฉพาะป่าชายเลนที่มีเป็นหมื่นๆ ไร่ตามชายฝั่งทะเล บางส่วนได้รับการฟื้นฟูไปบ้างแล้ว แต่ก็มีที่ยังไม่ได้ฟื้นฟูอีกมาก หากปล่อยทิ้งไว้ก็จะเกิดความเสื่อมโทรมเสียหายหนักยิ่งขึ้น ยากแก่การฟื้นฟู

โชคดีที่ป่าชายเลน สร้างได้เป็นโอกาสดีที่ทุกคนสามารถหันมาช่วยกันปลูกป่าชายเลนคืนให้ธรรมชาติ

ต้นกล้า...ป่าชายเลน

พิร์นิธิ รัตนพงศ์ธระ แห่งศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลนคลองโคน ต.คลองโคน อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า กล้าไม้ที่จะนำมาปลูกในป่าชายเลนส่วนใหญ่ที่นิยมมี 3 ชนิด คือ แสม ลำพู และโกงกาง ซึ่งแสมและลำพูเป็นไม้โตเร็ว ต้องการน้ำมาก มีลักษณะพิเศษที่เป็นต้นไม้ที่มีรากแทงขึ้นจากพื้นดินบริเวณโคนต้น โดยรากนั้นทำหน้าที่พยุงลำต้นและทำหน้าที่หายใจ

แสมและลำพูเป็นไม้ที่มีเปลือกสองชั้น ทำให้เพรียงที่มาจับลำต้นไม่สามารถทำอันตรายได้ เนื่องจากเปลือกนอกพอถูกกระแสคลื่นแรงๆ กระแทกก็จะหลุดไปพร้อมกับตัวเพรียง ส่วนการปลูกแสมและลำพูเหมาะกับการปลูกในพื้นที่ชายทะเลที่เป็นดินเลนล้วน ซึ่งจะได้ผลดีและมีโอกาสรอดถึง 70% เหมาะอย่างยิ่งกับการปลูกเป็นไม้เบิกนำ

ส่วนโกงกางเป็นไม้ที่เติบโตช้า ควรปลูกที่ชั้นในซึ่งเป็นดินแข็งไม่เป็นเลน และเนื่องจากเป็นไม้ที่ต้องการแสงแดดจัด เวลาปลูกจึงต้องตัดกิ่งของแสมและลำพูออกก่อน เพื่อให้โกงกางได้รับแสงแดดอย่างเพียงพอ

สำหรับต้นกล้าของแสมและลำพูที่จะนำมาปลูกนั้นความสูงควรอยู่ที่ประมาณ 6080 เซนติเมตร ถ้าต่ำกว่านี้โอกาสรอดตายมีน้อย เพราะจะไม่สามารถต้านทานแรงคลื่นและตกเป็นเหยื่อของพวกเพรียงที่จะมากัดกินลำต้นได้ง่าย

ขั้นตอนปลูกป่าชายเลน

ที่ศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลนคลองโคน ก่อนปลูกทางศูนย์จะเตรียมแปลงดินให้พร้อม รวมถึงต้นกล้า อุปกรณ์ในการปลูก เช่น ไม้ปักยึด เชือกฟางมัดต้นกล้ากับไม้ปักยึด กระดานเลนนั่งในการปลูก เพราะเลนนั้นจะลึกมาก เรือวิ่งรับส่งคนไปยังที่ปลูกซึ่งจะอยู่ห่างจากศูนย์ประมาณ 1.5 กิโลเมตร เนื่องเพราะสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เคยเสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรพร้อมทรงงาน ณ ศูนย์นี้หลายครั้ง ได้มีพระราชดำรัสไม่ให้สร้างสะพานเดินป่า เวลาปลูกป่าแต่ละครั้งจึงต้องนั่งเรือออกไป

การปลูกป่าชายเลนที่ศูนย์ในพื้นที่ 1 ไร่ กำหนดใช้ต้นกล้าประมาณ 400 ต้น ความห่างอยู่ที่ 60 เซนติเมตร ซึ่งเป็นระยะที่พอดีพิร์นิธิ กล่าว

ส่วนวิธีการปลูก ถ้าเป็นแสมกับลำพูซึ่งเป็นไม้รากเยอะ และแทงรากขึ้นมาหายใจข้างบน ความลึกควรอยู่ที่ข้อมือ ไม่ลึกเกินจนไป เพราะจะทำให้รากเน่าเสียได้ ส่วนโกงกางเป็นไม้รากค้ำยันเพียงปลูกในพื้นที่ชายเลนแข็งๆ คือพื้นที่ชั้นในโอกาสรอดสูง และไม่ตายง่ายๆ แต่ว่าจะโตช้ากว่า สิ่งสำคัญเมื่อปลูกเสร็จต้องอย่าลืมเอาเชือกฟางผูกต้นกล้ากับหลักปักยึดป้องกันคลื่นซัด

เนื่องจากพื้นที่ชายทะเลในเขตคลองโคนส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่ดินงอกออกไปในทะเล เพราะฉะนั้นวิธีการปลูกแสมและลำพูจะไม่ปลูกยื่นออกไปในทะเลโดยตรง แต่จะปลูกขนานเลียบกับชายฝั่งไปเรื่อยๆ เพราะถ้าปลูกยื่นออกไปโดยตรงต้นกล้าจะตายหมด เพราะไม่อาจต้านทานพลังคลื่นและตัวเพรียงที่จะมากัดกินลำต้นได้ อีกอย่างหนึ่งก็เป็นการรบกวนพื้นที่ทำมาหากินของชาวบ้านด้วย

ปัจจัยแห่งความอยู่รอด

การปลูกจะหวังผลสัมฤทธิ์ 100% โดยที่ไม่มีต้นไม้ต้นหนึ่งต้นใดเสียหายเลยนั้นเป็นเรื่องที่ยาก และแทบเป็นไปไม่ได้ พิร์นิธิ กล่าวว่า เท่าที่ปลูกป่าชายเลนมา 20 ปี โดยการนำของคุณพ่อคือ ผู้ใหญ่ชงค์ มีการลองผิดลองถูกโดยใช้กล้าไม้หลายชนิด แต่ที่ได้ผลจริงๆ ก็คือ แสมกับลำพู จะได้ผลที่ 70% ทั้งนี้ขึ้นกับปัจจัยอื่นๆ เช่น ความแข็งแรงและความสูงของต้นกล้าที่ได้ขนาดพอดีโดยอยู่ที่ 6080 เซนติเมตร

นอกจากนี้ก็ขึ้นอยู่ปัจจัยอื่น เช่น ปีไหนถ้าฝนตกไม่ชุก น้ำเค็มจัด คลื่นลมแรง อัตรารอดก็น้อย ถ้าปีไหนลมไม่แรง ฝนตกชุก น้ำไม่เค็มมาก โอกาสรอดก็มาก คือถ้าน้ำไม่เค็มจัด ตัวเพรียงก็จะไม่เข้ามาเกาะทำลายลำต้น

อยากมีส่วนช่วยโลก

ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากเลย เพราะปัจจุบันมีศูนย์ที่ให้บริการปลูกป่าชายเลนหลายแห่ง ซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ใกล้พื้นที่ชายทะล หากหน่วยงานหรือองค์กรใดต้องการปลูกป่าก็สามารถติดต่อไปยังศูนย์นั้นๆ ได้

ศูนย์บางแห่งมีศักยภาพในการรองรับและมีความพร้อม เช่น ศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลนคลองโคนก็เป็นศูนย์ที่หน่วยงานต่างๆ นิยมมาปลูกป่ากันมาก

พิร์นิธิ กล่าวว่า ศูนย์ที่นี่เป็นศูนย์ชุมชนโดยตรงที่เกิดขึ้นมาจากการรวมตัวของชาวบ้าน ต.คลองโคน ทั้ง 7 หมู่บ้าน โดยการนำของผู้ใหญ่ชงค์ ที่ได้ทำการฟื้นฟูป่าชายเลนมากว่า 20 ปี จนกลายเป็นศูนย์ที่มีศักยภาพหลายด้านทั้งการอนุรักษ์ การท่องเที่ยว ด้านเศรษฐกิจ และด้านอื่นๆ

หน่วยงานที่ต้องการปลูกป่าชายเลนสามารถติดต่อมาที่ศูนย์โดยตรง ทางศูนย์จะเป็นผู้เตรียมทุกอย่างให้ ตั้งแต่ต้นกล้า 400 ต้นต่อแปลง อุปกรณ์ในการปลูก แปลงดินสำหรับปลูก การรับส่งคนไปยังสถานที่ปลูกทางเรือ อาหาร ที่พัก วิทยากรแนะนำความรู้ เบ็ดเสร็จรวมแล้วจะอยู่ที่คนละ 320350 บาทสำหรับการปลูกแสมและลำพู แต่ถ้าปลูกโกงกางตกที่ 300 บาทต่อคน เพียงแค่นี้ทุกคนก็สร้างพื้นที่สีเขียวให้ป่าชายเลนแล้ว

ศูนย์อื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู) เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษามหาราชินี ตั้งอยู่ที่ถนนสุขุมวิท ต.บางปูใหม่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ก็มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนสถาบันการศึกษาทุกระดับทุกภาคเดินทางมาปลูกป่าชายเลนตลอดทั้งปี

นิเวช ชูปาน เจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมศึกษาประจำศูนย์บางปูฯ กล่าวว่า ที่ศูนย์จะมีหน่วยงานและองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนมาปลูกป่าชายเลนไม่ขาดสาย แม้ว่าที่ศูนย์จะไม่มีการเพาะพันธุ์กล้าไม้ไว้ แต่ถ้าอยากปลูกจริงๆ ทางศูนย์จะประสานจัดการให้ทุกอย่าง ตั้งแต่ที่ปลูก อุปกรณ์ในการปลูก และต้นกล้าให้พร้อม แค่จ่ายต้นละ 20 บาท ก็ได้ปลูกป่าสมใจ ที่สำคัญคือศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบกไม่มีการกำหนดจำนวนคนปลูก จำนวนต้นกล้าที่ปลูก และวันเวลาปลูก แต่ขึ้นอยู่กับการขึ้นลงของน้ำทะเลเป็นหลัก

ใครๆ ก็สามารถสร้างป่าชายเลนได้ เพียงมีจิตสำนึกที่ดีในการอนุรักษ์และฟื้นฟู สิ่งสำคัญคือ ความสามัคคีของทุกคน โดยเฉพาะคนในพื้นที่จะต้องเป็นกำลังหลักในการนี้