posttoday

ม้าลำปาง DNA โบราณ

14 เมษายน 2555

การค้นพบครั้งยิ่งใหญ่เกิดขึ้นแล้ว ณ เมืองแห่งรถม้า จังหวัดลำปาง เมื่อสัตวแพทย์หญิง ดร. ศิรยา ชื่นกำไร

โดย...กาญจน์ อายุ

การค้นพบครั้งยิ่งใหญ่เกิดขึ้นแล้ว ณ เมืองแห่งรถม้า จังหวัดลำปาง เมื่อสัตวแพทย์หญิง ดร. ศิรยา ชื่นกำไร ประธานมูลนิธิม้าลำปาง พิสูจน์แล้วว่า “ม้าพื้นเมืองในประเทศไทยเป็นม้าที่มีพันธุกรรมโบราณ เป็นสายพันธุ์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และอยู่ในกลุ่มเดียวกับม้าพื้นเมืองในประเทศมองโกเลีย (Mongolian Przewalski)” การค้นพบนี้ไม่เพียงสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของม้า แต่ยังสำคัญยิ่งต่อสมมติฐานประวัติศาสตร์ชนชาติไทย เพราะม้าเป็นยานพาหนะของมนุษย์ ถ้าม้าไทยและม้ามองโกเลียมี DNA เดียวกัน บรรพบุรุษของมนุษย์ทั้งสองชาติก็อาจเคยอาศัยอยู่ร่วมกัน

คุณศิรยา อธิบายเพิ่มเติมว่า ม้าลำปางมีลายขนที่คล้ายกับม้าพื้นเมืองมองโกเลีย มีลักษณะโครงสร้างของกระดูกคล้ายกัน ความสูงไม่ค่อยสูงประมาณเดียวกัน และเมื่อนำขนของม้าทั้งสองประเทศมาตรวจก็ปรากฏผลว่าอยู่ในกลุ่มเดียวกัน แต่การเก็บขนม้าลำปางนั้น คุณศิรยาต้องไปเก็บตัวอย่างขนม้าจากนอกตัวเมืองลำปางเพราะม้าที่อยู่ในเมืองเป็นม้าพันธุ์ผสมหรือม้าเทศไปเกือบหมดแล้ว เพราะคนรับจ้างขี่รถม้าต้องการม้าทรงดี ตัวใหญ่ สีสวย จึงนำม้าของตัวเองไปผสมกับม้าต่างประเทศ พันธุ์ม้าพื้นเมืองลำปางจึงค่อยๆถูกละลาย DNA โบราณไป

ม้าลำปาง DNA โบราณ

 

พันธุ์ม้าที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์หรือพันธุ์ที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น ม้าแข่งหรือม้าลากรถ จะมีปัญหาหรือเป็นโรคบ่อยกว่าม้าสายพันธุ์ธรรมชาติ ต่างจากม้าลำปางพื้นเมืองแท้ที่สามารถทนต่อโรคร้ายแรงบางชนิดที่เมื่อม้าทั่วไปเป็นจะเสียชีวิต

จากการวิจัยพบว่า 20 % ของม้าลำปางที่ตรวจสอบแล้วเป็นม้าสายพันธุ์โบราณที่อยู่กลุ่มเดียวกับม้าพื้นเมืองมองโกเลีย แต่ทั้งนี้ยังมีม้าลำปางอีกจำนวนมากที่ยังไม่ตรวจสอบ DNA เพราะต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงถึงตัวละประมาณ 1,800 บาท หรือ 60 USD เจ้าของม้าเองไม่มีเงินมาตรวจ ทางมูลนิธิเองก็มีทุนจำกัดจึงต้องทยอยตรวจไป

มูลนิธิม้าลำปางจึงได้จัดตั้งโครงการวิจัยสืบค้นเพื่ออนุรักษ์สายพันธุ์ม้าพื้นเมืองไทย โดยได้รับการสนับสนุนจาก 4 องค์กรหลัก ได้แก่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ที่ให้เงินสนับสนุนปีละหลายแสนบาท บริษัท เพอร์เฟค คอมพาเนียน กรุ๊ป จำกัด กลุ่มบริษัท บี.กริม และบริษัท นนทบุรีอีเควสเตรียนและสปอร์ตคลับ จำกัด ซึ่งเงินที่ได้ไม่เพียงนำมาใช้ในการศึกษาวิจัย แต่ยังนำมาใช้ในงานของมูลนิธิม้าลำปางด้วย (งานของมูลนิธิม้าลำปางสามารถอ่านได้ในหน้า T16 )

มีโอกาสได้สนทนากับนายกสมาคมรถม้าลำปางได้ความรู้ว่า รถม้าลำปางคันแรกเข้ามาเมื่อปี พ.ศ. 2459 หรือสมันรัชกาลที่ 6 ซึ่งในสมัยนั้นปรากฏรถม้าอยู่ในหลายภาคของไทยแต่ก็ไม่มีภาคไหนหรือจังหวัดใดที่สามารถรักษารถม้าได้เหมือนลำปาง มีเหตุผล 4 ประการที่สนับสนุนความจริงนี้ หนึ่ง เป็นเพราะจังหวัดลำปางผลิตล้อเกวียนมากที่สุดในประเทศไทย (รถม้าสมัยก่อนใช้ล้อเกวียน) สอง ในอดีตจังหวัดลำปางเป็นแหล่งกระจายสินค้าไปตามที่ต่างๆ โดยจะใช้รถม้าในการขนสินค้า สาม ลำปางเป็นศูนย์กลางทำไม้มากที่สุดในภาคเหนือ ทำให้ลำปางไม่ขาดแคลนคนทำรถม้าที่ทำจากไม้ และสี่ ลำปางเป็นที่อยู่อาศัยของฝรั่งจึงมีกีฬาแข่งโปโลม้า ด้วยปัจจัยทั้ง 4 ประการจึงทำให้รถม้าลำปางยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน

ม้าลำปาง DNA โบราณ

 

นายกสมาคมรถม้าลำปางกล่าวเพิ่มเติมว่า ในลำปางมีรถม้าที่ขึ้นทะเบียนกับสมาคมจำนวน 110 คัน โดยจะอยู่ตามสถานีรถม้า 5 จุดทั่วเมืองลำปาง รับจ้างพานักท่องเที่ยวชมรอบเมืองหรือตามสถานที่ต่างๆที่นักท่องเที่ยวต้องการ ค่าจ้างเที่ยวชมหนึ่งรอบใหญ่ประมาณ 300 บาท รถม้าแต่ละคันจะมีเวลาทำงานเพื่อความปลอดภัยของม้า ถ้าม้าตัวไหนวิ่งทำงานทั้งวันจะสามารถทำได้ไม่เกิน 6 ชม.ต่อวัน หรือ 8 ชม.ต่อวันสำหรับม้าที่หยุดพักระหว่างวัน โดยม้าทุกตัวต้องมีอายุ 5 ปีขึ้นไปแต่ไม่เกิน 25 ปี (อายุม้ามากกว่าอายุคน 4 เท่า เช่น ม้าอายุ 25 ปี เท่ากับคนอายุ 100 ปี) ต้องเป็นม้านิสัยดี ไม่ดื้อ และไม่เป็นม้าที่ตัวใหญ่เพื่อป้องกันการลื่นล้มบนพื้นคอนกรีต

นักท่องเที่ยวที่อยากนั่งม้าพื้นเมืองลำปางที่มี DNA โบราณให้สังเกตความสูงของม้าที่จะมีความสูงประมาณ 130 ซม. มีลายขนด้านหลังขา หรือถามคนขี่ตรงๆเลยก็ได้ว่าเป็นม้าเทศหรือม้าไทย แต่ถ้าเขาบอกว่าเป็นม้าไทยแต่ม้ากลับตัวสูงใหญ่สง่า ชัดเจนเลยว่าเขาโกหก

ส่วนเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวอยากแนะนำให้นั่งรถม้าลำปางไปชมความสวยงามของวัดวาอาราม เช่น วัดศรีรองเมือง วัดแบบพม่าโดยจะเห็นสถาปัตยกรรมและศิลปะแบบพม่าที่แปลกตา หรือวัดปงสนุกที่ได้รับรางวัลการอนุรักษ์ Award of merit จากโครงการ 2008 AsiaPacific Heritage Award ในการอนุรักษ์วิหารพระเจ้าพันองค์ วิหารที่มีพระประดับอยู่โดยรอบ

นอกจากนี้ห้ามพลาดที่จะไปเยี่ยมชมประวัติศาสตร์เมืองลำปางที่ ปูมละกอน พิพิธภัณฑ์เมืองของชาวลำปาง ภายในอาคารสำนักงานเทศบาลหลังเก่า ด้านในทำเป็นพิพิธภัณฑ์คล้าย Museum Siam ที่กรุงเทพฯแต่มีขนาดเล็กกว่า การตกแต่งเป็นแบบสมัยใหม่ บอกเล่าเรื่องราวผ่านภาพและคำบรรยายเข้าใจง่าย แบ่งเป็น 5 โซน เริ่มจากโถงจิตวิญญาณ มีคำถามและคำตอบที่น่าสนใจเกี่ยวกับลำปาง เพื่อปูทางสู่โซนที่หนึ่ง เมืองพันปีที่มีเจ้าชีวิต โซนที่สองสังคมอินเตอร์ โซนที่สามสีสันจากบางกอก โซนที่สี่ การกลับมาของคำสาป? และโซนที่ห้า ฮอมแฮงแป๋งเวียง

ม้าลำปาง DNA โบราณ

 

แล้วคุณจะทราบว่า เมืองลำปางเป็นเมืองต้องคำสาป ตำนานเล่าไว้ว่าคำสาปเกิดขึ้นเพื่อเจ้าครองนครลำปางประหารชีวิตนางสุชาดาหญิงสาวผู้บริสุทธิ์ จากนั้นมาลำปางกลายเป็นเมืองยากแค้นแสนลำบากเพาะปลูกสิ่งใดไม่ได้ผล แต่ตำนานก็เป็นเพียงตำนานเพราะเรื่องจริงในปัจจุบันเมืองลำปางเป็นเมืองแห่งความสุข ผู้คนอิ่มเอิบสุขใจ และเป็นที่หมายปองของคนอยากปลอดทุกข์

นอกจากนี้เมื่อได้มาจังหวัดลำปางแล้ว ต้องมาสักการะวัดพระธาตุลำปางหลวง (นั่งรถม้าไปไม่ได้เพราะไกลตัวเมือง 18 กม.) ที่ตกเป็นข้อพิพาทเมื่อไม่นานเรื่องการทำลายศิลปะโบราณจากการบูรณะซ่อมแซมวิหารน้ำแต้ม วัดพระธาตุลำปางหลวง (วิหารข้างพระธาตุ) เมื่อได้มาเห็นกับตาถึงกับตกใจกับสิ่งที่เปลี่ยนไป และยิ่งสะเทือนใจมากขึ้นเมื่อได้ยินเสียงวิพากษ์ของชาวบ้านถึงความเสียดายและเสียใจที่ลวดลายศิลปะดั้งเดิมอันมีคุณค่าได้หายไป

แต่ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปอย่างไร ความศรัทธาของชาวลำปางที่มีต่อพระธาตุก็ไม่เปลี่ยนแปลง ผู้คนในจังหวัดต่างมากราบไหว้ นักท่องเที่ยวต่างถิ่นก็ยังเดินทางมาเคารพ

ทุกคนยังคงเหมือนเดิมในขณะที่บางสิ่งได้หายไป

แต่บางอย่างจะไม่ลบเลือนถ้าคนรักษาและ “ขยายพันธุ์” (ขอวกกลับมาเรื่องม้า)

มูลนิธิม้าลำปางจะดำเนินการขยายพันธุ์ม้าไทยสายพันธุ์โบราณเมื่อมีพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ที่แท้จริง เพื่อรักษาม้าไทยสายพันธุ์โบราณไว้ไม่ให้กลายพันธุ์หรือสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย ดังเช่นที่ประเทศมองโกเลียสามารถขยายพันธุ์ม้าพื้นเมืองมองโกเลียแล้วปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้สำเร็จ