เมตตา
เมตตา เอาอันเดียวเท่านั้นแหละ ไม่ต้องพูดมากหรอก เมตตานั้นเป็นเครื่องค้ำจุนโลกนี้ให้ตั้งมั่นถาวรอยู่ไปได้
เมตตา เอาอันเดียวเท่านั้นแหละ ไม่ต้องพูดมากหรอก เมตตานั้นเป็นเครื่องค้ำจุนโลกนี้ให้ตั้งมั่นถาวรอยู่ไปได้
เพราะเมตตาตัวเดียว ถ้าขาดเมตตาเสียแล้ว โลกก็ฉิบหายหมด ไม่ถึงพริบตาเดียวเลย แต่หากว่า คนเกิดมาในโลกนี้ลืมตัว เลยไม่ได้คิดถึงเมตตา อยู่มาทุกวันเดี๋ยวนี้ก็เพราะเมตตานั่นแหละ แต่หากว่าคนเราทุกคนไม่คิดถึง โดยส่วนมากคิดถึงน้อยที่สุด เพราะไม่มีหลัก คือ ความสงบไม่มี เมตตาเกิดจากความสงบ สงบลงเป็นหนึ่งเป็นกลาง จึงจะรู้จักเมตตา
คนเราอยู่ด้วยกันต้องมีเมตตา ต่างแต่ว่ามากน้อย ถ้าเมตตามาก ก็ได้ความสุขมาก เมตตาน้อย ก็ได้ความสุขน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวหนึ่งๆ ถ้ามีเมตตาแก่กันและกันก็อยู่เป็นสุข ถ้าไม่มีเมตตาแล้วเดือดร้อนวุ่นวาย ลูกก็เหมือนกัน ภรรยาสามีก็เหมือนกัน หากว่าไม่รู้จักผ่อนผันสั้นยาว มีแต่เอารัดเอาเปรียบ ก็จะเดือดร้อนวุ่นวายกันไปหมด
เมื่อต้องเกิดมาในโลก ก็ต้องมีเมตตาน่ะซี เราจะอยู่คนเดียวไม่ได้ ต้องมีญาติมีพี่มีน้องมีพวกเพื่อนหมู่ฝูงด้วยกัน ถ้าอยู่คนเดียวละก็ไม่มีเมตตาก็ได้ แต่ไปอยู่ในป่าโน่น ไปอยู่คนเดียวในป่าโน่น แต่อยู่ไม่ได้เหมือนกัน ต้องวิ่งเข้ามาหาหมู่
เมตตา หมายถึง ความเป็นมิตร คือ เมตตานั้นมันเกิดมาจากมิตรนั่นเอง คำว่า“เมตตา”ก็มาจากคำว่า“มิตต”นั่นแหละ เอาสระอิ เป็นสระเอ ก็เป็นเมตตา มิตร คือ ตัวของเรา ตัวของเราเช่นไร คืนอื่นก็เป็นเช่นนั้น ปรารถนาความสุขให้แก่ตัวของเราเช่นไร ปรารถนาถึงคนอื่นก็ปรารถนาเช่นนั้นเหมือนกัน เราอยู่เป็นหมู่ เป็นพรรค เป็นพวกด้วยกัน ไม่เห็นแก่ประโยชน์ในส่วนตัวเล็กๆ น้อยๆ ประโยชน์ในส่วนตัวในที่นี้ เช่น อามิส สิ่งของเครื่องใช้ทุกสิ่งทุกประการ เห็นแก่ส่วนตัว หรือเห็นแก่ได้ คือ อยากจะให้ได้ส่วนเดียวท่าเดียวคนอื่นนั้นใครจะมี หรือไม่มีก็ตาม ใครจะมี หรือไม่มีก็ช่าง อันนี้เป็นเห็นส่วนตัวในอามิส
เห็นส่วนตัวในความคิดเห็น การเอาแต่ใจของตน ไม่คิดถึงใจคนอื่น เวลาพูดจาก ทำกิริยาอาการทุกสิ่งทุกอย่าง หุนหันพลันแล่นเอาแต่ใจของตน ไม่คิดถึงคนอื่น ถ้ายอมคิดถึงคนอื่นบ้าง ก็จะผ่อนความหุนหันพลันแล่นลงไปได้สักนิดหนึ่งคือ คิดว่าคนอื่นเขาจะได้รู้ได้เห็น หรือเขาได้ยินได้ฟังคำพูดของเราแล้ว มันจะเป็นอย่างไร?สมมติว่าเราเป็นคนอื่น ได้ยินเขาพูดอย่างเราพูดนี่แล้วเราลองฟัง ลองดูมันจะเป็นอย่างไร?
นี่แหละ ความเดือดร้อนวุ่นวายของคนทั้งหลาย ที่อยู่รวมกันมันเดือดร้อนวุ่นวายด้วยคำพูด เกิดกิริยาอาการ และการกระทำที่ไม่มีเมตตา มันจึงค่อยเดือดร้อน ถ้าหากว่าเดือดร้อนอย่างนี้ทั่วไปหมดทุกแห่งทุกหน ก็เรียกว่า ร้อนหมดทั้งโลก
ตั้งแต่กลุ่มน้อยๆ ไปหรือตั้งแต่ตัวของเราไป ตัวของเราคนเดียวนี่แหละ ทำอะไรก็ไม่ถูกอกถูกใจ พูดอะไรก็ไม่ถูกเรื่องถูกราว ตนเองก็โกรธตนเอง นี่ มันร้อนตั้งแต่ตรงนี้ไป คือ ไม่รู้จักตัวความโกรธไม่เห็นโทษของความโกรธ ทำอะไรทุกสิ่งทุกอย่าง มันจะถูกใจหมดไม่ได้ เราทำก็ไม่ถูกใจคนอื่นทำก็ไม่ถูกใจ เมื่อทำอะไรก็ไม่ถูกใจอย่างนั้น ต้องผ่อนผันให้กันและกันในฐานะที่เราเป็นคน
ถ้าหากว่าเรารู้จักตัวเอง รู้ว่าคนอื่นก็เหมือนกันกับตัวของเรา คือ ไม่มีสติ ไม่รู้ตัว จึงได้ปล่อยอารมณ์ออกไปอย่างนั้น จึงได้เป็นอย่างนั้น การที่ไม่มีสตินั้นแหละ ควบคุมจิตไม่อยู่ จึงพลุ่งออกมาอย่างนั้นเหตุนั้น จงอภัยซึ่งกันและกันผ่อนสั้นผ่อนยาว ผิดพลาดบ้างก็ตามเรื่องตามราว ไม่ถึงกับฉิบหาย ไม่ถึงกับเดือดร้อนวุ่นวายทั่วไป
สมมติว่า พูดผิดสักนิดหนึ่ง ด้วยเหตุที่ไม่มีสติ เพราะคุมจิตไม่อยู่ มันไม่ถึงกับฉิบหาย ไม่ถึงกับล่มจม ไม่ถึงกับตัวของเราเป็นอันตรายเจ็บป่วย คำพูดอันนั้น ไม่เสียดสี ไม่เสียดแทงถึงกับเป็นบาดแผลเหตุนั้น จึงว่า อดเอา อดยับยั้งไว้ ผู้พูด เมื่อพูดไปแล้ว มันยับยั้งไม่อยู่ ผู้ฟังก็อดยับยั้งไว้ มันก็ค่อยผ่อนผัน ค่อยเบาบางลงไป
ถ้าผู้พูดไม่ยับยั้ง ไม่มีสติ พูดออกไปกระทบคนอื่น ผู้อื่นเกิดโกรธขึ้น ถ้าโกรธทั้งสองฝ่ายละก็เป็นไฟเลย อาจจะมากจนลุกลามเผาผลาญบ้านเมือง จากคนสองคนเท่านั้นแหละ ลุกลามและเผาผลาญบ้านเมืองหมด ที่เกิดสงครามก็เพราะอย่างนั้น ไม่มีอะไรหรอก เพียงนิดหน่อยเท่านั้น คนสองคนเท่านั้นเกิดสงครามขึ้นได้ การที่จะเกิดหมู่พวก แตกแยกสามัคคีกันนี้ ก็เพราะคนสองคนเท่านั้นแหละ เป็นเหตุให้ลุกลามใหญ่โตมโหฬารไปเช่นนี้ เนื่องเพราะความไม่มีสติ ควบคุมจิตไม่อยู่ จึงว่า“อด”คำเดียวเท่านั้น
อย่างที่เล่าสืบกันมาปรัมปราว่า ลูกศิษย์อาจารย์ทิศาปาโมกข์คนหนึ่ง เรียนอยู่หลายปีดีดัก เมื่อจะลากลับคืนไปบ้าน อาจารย์บอกว่าให้“อด”“อด”คำเดียวเท่านั้นหมดเรื่องเรียนมาตั้งหลายปี วิชชาความรู้ทั้งปวงหมด รวมอยู่กับคำ“อด”คำเดียว
เราเป็นคนปฏิบัติ เราเป็นคนฝึกหัดอบรม ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วไม่มีสติ ไม่มีความอด ความทน การฝึกหัดปฏิบัติเลยไม่มีผล เสียเปล่า ปฏิบัติฝึกหัดมาตั้งนมนานเลยไม่มีประโยชน์
ความเมตตาปรารถนาหวังดี ปรารถนาให้คนอื่นมีผลประโยชน์ ต้องด้วยความเมตตา ต้องเผื่อแผ่คนอื่น เมื่อคนอื่นพูด หรือทำไม่มีสติ ประมาทพลาดพลั้งลงไป ก็เมตตาสงสารเขา ด้วยความไม่รู้เท่าถึงการของเขา เราก็เลยเกิดเมตตาขึ้น ความเมตตาก็เลยเป็นเหตุให้เผื่อแผ่แก่คนอื่น คนที่โกรธเราก็สามารถระงับได้ คนในหมู่พวกมากๆ ด้วยกัน เห็นความเมตตาปรารถนาหวังดีต่อเขา ก็เลยมีความเอ็นดู ความรัก ความสงสารกัน
คนขี้โกรธไม่มีใครรัก ทำอะไรก็โกรธ ทำอะไรก็เกลียด ทำอะไรวูบวาบวู่วาม ทำอะไรก็เอาแต่ใจตนเอง เขาเลยเบื่อ เขาไม่อยากคบค้าสมาคม ไม่มีมิตรไม่มีเพื่อน มันเป็นโทษอย่างนี้อันนี้เรื่อง โทษของความไม่มีเมตตา
คราวนี้พูดถึงเรื่อง เมตตา คุณของความมีเมตตา ความเมตตานั้นเป็นของเฉพาะส่วนตัว ต้องให้เห็นเฉพาะส่วนตัวเสียก่อน เห็นที่ใจของเรานี่แหละ รักษาความสงบ อบรมความสงบได้แล้ว มีสติยับยั้งไม่หุนหันพลันแล่น เราเห็นตัวของเราผิดพลาด เห็นตัวของเราเกิดความประมาท คือ ไม่มีสติทำอะไรก็พลั้งๆ เผลอๆ หลงๆ ลืมๆ เราอย่าไปสงบเอาภายนอก ให้เข้าถึงใจ ใจนั้นแหละหลงลืม ใจนั้นแหละไม่มีสติ ถ้าอยู่ที่ใจแล้วไม่หลงไม่ลืม ต้องมีสติเป็นแน่ เมื่อมีสติอยู่ควบคุมจิตอยู่ มันก็สงบ เมื่อความสงบมีแล้ว ย่อมมองเห็นโทษในสิ่งต่างๆ
ถ้าไม่มีความสงบ มีแต่วุ่นวาย ส่งสายเดือดร้อนไปทุกสิ่งทุกประการ เห็นสิ่งใดได้ยินสิ่งใด เกิดความชอบใจไม่ชอบใจ มีความโกรธความเกลียด ถูกใจบ้างไม่ถูกใจบ้าง ส่งไปตามสิ่งเหล่านั้น มันไม่สงบ มันก็เลยไม่เห็นตัวเอง ครั้นสงบแล้วนั้นจึงเห็นตัว ธรรมดาน้ำนิ่งเฉย จึงค่อยปรากฏเงา จิตของเราก็เช่นนั้นเหมือนกัน จิตถ้าสงบลงแล้ว เห็นตัวของเราเอง เราทำผิดทำถูกเห็นหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ยับยั้งตัวของเราไว้ได้
ครั้นเราเห็นตัวของเราเช่นไร เราผิดเราถูกตรงไหนแล้วก็สามารถที่จะตักเตือนคนอื่นได้ มีเมตตาแก่คนอื่น สงสารแก่คนอื่น ที่เขาไม่เห็น มันก็ต้องเป็นอย่างที่เราไม่เห็นนี่แหละ เมื่อเราเห็นตัวของเรามันผิดพลาดไม่ดีตรงนั้นๆ เมื่อคนอื่นทำผิดแต่เราไม่โกรธ คนอื่นทำไม่ถูกไม่ต้อง แต่เราไม่โกรธสามารถที่จะตักเตือนคนอื่นได้ ถ้าหากมีโอกาส
การตักเตือนคนอื่นมันก็ต้องมีโอกาสเหมือนกัน เราหวังดีปรารถนาดีตักเตือนคนอื่น โดยที่ไม่รู้จักกาลเทศะเขาสามารถโกรธเราได้ คำพูดนั้นเป็นของสำคัญ กาลเวลาเป็นของสำคัญที่สุด อย่างคำพูดของเรา เอ็นดูปรารถนาหวังดีต่อคนอื่นก็จริง ในที่ประชุมชนหมู่มาก หากว่าเราไปตักเตือนเขาเวลานั้น อาจจะเป็นที่ขายขี้หน้าของเขาก็ได้ เขาอาจจะโกรธขึ้นมา อันนั้นเรียกว่า ไม่รู้จักกาลเทศะ
ถ้ารู้จักกาลเทศะ เราหวังดีปรารถนาดี ด้วยเคยเห็นผิดของตนตนทำผิดอย่างนั้น คนอื่นก็ต้องทำผิดอย่างเรา อยากให้คนอื่นได้รู้จักความผิดอันนั้น เมื่อมีโอกาสดี จิตใจก็สบาย พูดจาพาทีในสิ่งที่เป็นประโยชน์ คือ สิ่งแวดล้อมกว้างขวาง ในขณะที่เรามีจิตเบิกบานจิตผ่องใส เราจึงค่อยตักเตือนเลือกในเวลาที่คนเงียบสงัด ถึงหากว่าไม่เข้าในใจคำพูดของเรา เราก็ค่อยอธิบายให้ฟัง เขาก็สามารถที่จะรู้ได้ แล้วจะเกิดความเคารพนับถือตัวของเราอีก มีหลายเรื่องหลายอย่างคำพูดที่จะพูดให้คนรักคนชอบใจ ไม่ใช่ว่ามีอันใด พอคิดได้ก็พูดเลยอย่างนั้นใช้ไม่ได้
จึงว่า เมตตา มันเกิดจากตัวของเราเสียก่อน ที่ท่านว่าไว้ ความโกรธให้อาศัยเมตตา ระงับโดยเมตตา โอย! มันระงับไม่ได้หรอก เวลาที่มันโกรธแล้ว เมตตาไประงับอย่างไรได้ เมตตาไม่ทราบมันหายไปไหนแล้ว มันจึงค่อยโกรธ ถ้าเมตตามีแล้วไม่โกรธหรอก ให้ระงับด้วยเมตตา คือ ให้ระงับตั้งแต่ยังไม่ทันโกรธ เวลาที่ยังไม่ทันโกรธ มันจึงค่อยระงับได้ โกรธแล้วมันจะไประงับได้อย่างไร?
นี่แหละ ธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสอน ทรงสอนกว้างอธิบายมากมาย เมื่อท่านทรงสอนแล้ว เรามาลองทำดู มาทดสอบทดลองในใจของตนเอง ครั้นถ้าหากยังไม่ทันเป็นไปเพื่อความสงบ มันอาจจะมีอันใดอันหนึ่ง ซึ่งผิดแผกไปจากคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่ในจิตใจของเรา บางคนฝึกหัดอบรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่ไม่เข้าใจธรรมคำสอนของพระองค์แต่ฝึกหัดไปเอง เลยเกิดความรู้ความเข้าใจขึ้นมา ชัดเจนขึ้นมาในการฝึกหัดอบรมนั้น เป็นไปตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
เช่น อย่างเมตตา เราฝึกหัดอบรมเป็นไปแล้ว เมื่อเห็นตัวเราผิด เห็นตัวเราไม่มีสติสตังจะคุ้มครองรักษาตัวเรา จึงพูดผิด ทำผิดด้วยอาการกิริยาต่างๆ ครั้นเมื่อมีสติแล้ว เห็นโทษว่า การทำอย่างนั้นเพราะไม่มีสติ จึงค่อยอดกลั้น ไม่สามารถที่จะทำความชั่วอันนั้นๆ ได้ คือ ไม่ทำผิดลักษณะอาการนั้นๆ มีความเยือกเย็นภายในใจ มันถูกธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ถึงไม่ฟังเทศน์ก็ถูก
บางคนเอาธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงเทศน์ไว้แล้ว มาฝึกหัดอบรม อบรมไม่ถูก มันก็ไม่เป็น ถ้าอบรมถูกแล้ว แม้ไม่ได้ฟังเทศน์ก็เป็น คือ พระพุทธเจ้าทรงสอนของเป็นจริง มันเป็นจริงอย่างนั้น จึงได้เทศน์อย่างนั้น ครั้นเราไปเรียนไปรู้มาแล้ว มันไม่เป็นจริงอย่างที่ท่านสอน มันไม่ถูกของจริงเหมือนกัน
การเมตตา มันคุ้มครองตัวเราเสียก่อน รักษาตัวของเราเสียก่อน แล้วจึงค่อยขยายไปหาหมู่พวก หาบ้านหาเมืองหาคนกว้างขวางไปหมดทั้งโลก เมตตา ตัวเดียวเท่านั้น คุ้มครองโลกได้หมด จะอยู่เย็นเป็นสุขก็เพราะให้อภัยซึ่งกันและกันไม่มากก็ต้องน้อย ถ้าไม่มีเมตตาก็อยู่ด้วยกันไม่ได้ มนุษย์ก็เลยเป็นสัตว์นรกไปด้วย ร้อน เรียกว่านรก เป็นมนุษย์แต่ว่าเป็นสัตว์ไปในตัว ร้อนไปด้วยกันหมดทุกแห่งทุกหน
ถ้ามีเมตตาแล้ว เป็นมนุษย์หรอก แต่มันเป็นสวรรค์ในนั้น เราเมตตาเอ็นดูสงเคราะห์สงหาซึ่งกันและกัน อยู่เย็นเป็นสุข ระลึกถึงกัน ไปที่ไหนอยู่ใกล้อยู่ไกล ก็ระลึกถึงกันตลอดเวลา ความเยือกเย็นนั้นก็แผ่ซ่านไปหมดทั้งโลก อันนั้นแหละเป็นสวรรค์ อย่าไปหาที่อื่นเลย มันอยู่ที่ใจของเรานี่ทั้งนั้น ที่ท่านว่า นรก สวรรค์ อันนั้นเป็นส่วนหนึ่งต่างหากที่ท่านพูดไว้มันอยู่โน้น ไกลๆ โน่น แต่นี่พูดถึงใจของเรา อยู่ที่ใจของเรานี่ต่างหาก ถ้าใจเป็นนรก มันก็เป็นนรกหมดโลก ถ้าใจเป็นสวรรค์ก็เป็นสวรรค์หมดทั้งโลก แต่ละคนๆ ให้เป็นนรก เป็นสวรรค์อยู่ในที่นี้ทั้งนั้น
ในสมัยเดี๋ยวนี้ คนไม่มีเมตตาปรานี เอ็นดู สงเคราะห์สงหาซึ่งกันและกัน มีแต่ทิฏฐิมานะ เอารัดเอาปรียบ แข่งดีจองเวรซึ่งกันและกัน มันใกล้ที่จะเป็นประลัยกัลป์ เป็นสัตถันตรกัปป์แล้ว
ถ้าหากว่าพวกเรากลัว ก็ทำตัวให้มันมีเมตตาเสีย ในกลุ่มเล็กๆ น้อยๆ นี่ ก็ให้มีเมตตาซึ่งกันและกันเสีย ทางโลกเขาจะเป็นอย่างไรก็ตามเรื่องของเขา แต่กลุ่มน้อยๆ คือ ตัวของเรานี่แหละ ให้มีเมตตาขึ้นในตัวของเราทุกๆ คน แล้วก็จะอยู่เย็นเป็นสุข เอาละ