ซีอาน...จุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดเส้นทางสายไหม
ทุกวันนี้ต่อให้เราเดินทางไปยังมุมไหนของโลก ไม่ว่าจะเป็นดินแดนยุโรป อาหรับ หรือแอฟริกา ที่แสนจะทุรกันดารเพียงใดก็ตาม
ทุกวันนี้ต่อให้เราเดินทางไปยังมุมไหนของโลก ไม่ว่าจะเป็นดินแดนยุโรป อาหรับ หรือแอฟริกา ที่แสนจะทุรกันดารเพียงใดก็ตาม
ชาวต่างชาติที่พบเห็นได้มากที่สุดนั่นก็คือชาวจีนแผ่นดินใหญ่ โดยส่วนใหญ่เดินทางไปเพื่อทำงานหรือแสวงหาโอกาสทางธุรกิจต่างๆ ในดินแดนเหล่านั้น ซึ่งจากประสบการณ์ของโลก 360 องศาที่ผ่านมา เราเคยเดินทางไปที่ประเทศแองโกลา ประเทศซึ่งเคยเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส ดังนั้นผู้คนในประเทศนี้จึงสามารถสื่อสารด้วยภาษาโปรตุกีสได้เป็นอย่างดี แต่เชื่อหรือไม่ว่าบางพื้นที่ของประเทศนี้ หากเราไม่สามารถพูดภาษาโปรตุกีสหรือภาษาท้องถิ่นได้ เราก็สามารถใช้ภาษาจีนในการสื่อสารกับคนท้องถิ่นได้ดีกว่าการใช้ภาษาอังกฤษเสียอีก อันเนื่องมาจากการหลั่งไหลของชาวจีนจำนวนมากที่เดินทางไปเพื่อแสวงหาทรัพยากรต่างๆ ในประเทศนี้นั่นเอง แต่หากย้อนกลับไปเมื่อหลายพันปีที่แล้ว ชาวจีนนั้นถือได้ว่าเป็นชนชาติลำดับต้นๆ ของโลก ที่บุกเบิกการเดินทางค้นหาดินแดน ผ่านเส้นทางการค้าโบราณที่มีชื่อว่า “เส้นทางสายไหม” ซึ่งมีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดที่เมืองซีอาน
ดินแดนลำดับต้นที่ชนชาติจีนเดินทางไปถึงนั่นก็คือประเทศอินเดีย เพราะตั้งอยู่ไม่ไกลกันมาก อีกทั้งสองดินแดนนี้ต่างก็มีอาณาจักรที่ทรงอิทธิพลด้วยกันทั้งคู่ ซึ่งความสัมพันธ์แรกสุดที่มีต่อกันคือเรื่องศาสนา ดังจะเห็นได้จากปัจจุบันศาสนาพุทธคือหนึ่งในศาสนาที่ชาวจีนนับถือเป็นจำนวนมากถึงร้อยละ 30 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ แต่หากย้อนกับไปในประวัติศาสตร์แล้ว ครั้งหนึ่งศาสนาพุทธเคยรุ่งเรืองถึงขีดสุดในสมัยราชวงศ์ถัง ซึ่งในสมัยนี้เป็นช่วงเวลาที่ “พระเสวียนจั้ง” หรือที่เรารู้จักในชื่อของ “พระถังซัมจั๋ง” บุคคลที่ใครหลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเพียงตัวละครเอกในวรรณกรรมสุดคลาสสิกเรื่องหนึ่งของจีนที่มีชื่อว่า “ไซอิ๋ว” แต่ท่านเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงและเคยเดินทางไปอัญเชิญพระไตรปิฎกจริงที่ประเทศอินเดีย หากแต่ว่าการเดินทางครั้งนั้นมีเพียงท่านและม้าเพียง 1 ตัวเท่านั้น สาเหตุที่ท่านต้องเดินทางไปประเทศอินเดียเป็นเพราะว่า เมื่อบวชเรียนและศึกษาพระธรรมอย่างถี่ถ้วนแล้ว พระถังซัมจั๋งพบว่าพระไตรปิฎกในประเทศจีนนั้นมีเนื้อหาที่ถูกผิดแตกต่างกันมากมาย ด้วยเหตุนี้ท่านจึงตัดสินใจเดินทางมุ่งหน้าสู่ประเทศอินเดียเพื่อไปอัญเชิญพระไตรปิฎกฉบับที่ถูกต้องเป็นระยะเวลากว่า 19 ปี ด้วยการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากจักรพรรดิถังไท่จง เมื่อกลับมาถึงเมืองฉางอานจักรพรรดิถังไท่จงจึงอาราธนาให้ท่านขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดต้าสืออินซื่อ และสร้างเจดีย์ห่านป่าใหญ่ขึ้นเพื่อใช้เป็นที่เก็บพระไตรปิฎก ทั้งฉบับภาษาสันสกฤตและฉบับที่แปลเป็นภาษาจีนแล้วนั่นเอง ในปัจจุบันวัดแห่งนี้ยังคงตั้งตระหง่านอยู่ในเมืองซีอาน ถึงแม้ว่าในยุคสมัยที่จีนเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเข้าสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ ซึ่งเคยมองว่าศาสนาเป็นสิ่งมอมเมาและต้องขจัดไปจนเป็นเหตุให้ศาสนสถานหลายแห่งต้องถูกทำลาย แต่ปัจจุบันวัดแห่งนี้ก็ได้รับการปกป้องและทำนุบำรุงเป็นอย่างดีโดยรัฐบาลและพุทธศาสนิกชนชาวจีนที่ต้องการร่วมฟื้นฟูศาสนาพุทธในประเทศจีนให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง
เมื่อความสัมพันธ์ของอาณาจักรจีนโบราณเดินทางไปไกลมากยิ่งขึ้น รูปแบบของความสัมพันธ์ได้เปลี่ยนจากความสัมพันธ์ทางด้านศาสนาไปสู่ความสัมพันธ์ทางด้านการค้า จึงเกิดเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก นามว่า “เส้นทางสายไหม” เส้นทางการค้าแรกของโลกที่สามารถเชื่อมต่อโลกตะวันออกและโลกตะวันตกเข้าไว้ด้วยกัน โดยมีจุดเริ่มต้นจากนครฉางอานหรือซีอานในปัจจุบันไปสิ้นสุดยังกรุงโรมประเทศอิตาลี โดยมีเอกสารบันทึกทางการค้าโบราณที่ระบุว่า ชาวกรีซและชาวโรมัน เรียกขานพ่อค้าชาวจีนว่า “เซเรส” (Seres) ซึ่งแปลว่า ผู้คนจากดินแดนแห่งผ้าไหม ซึ่งในยุคสมัยนั้น “ผ้าไหม” ถือเป็นสินค้าล้ำค่าและมีราคาสูง ถึงแม้ว่าเส้นทางสายไหมจะสิ้นสุดลงไปอันเนื่องมาจากมีการพัฒนาเส้นทางการค้าสายอื่นๆ เช่น เส้นทางการค้าทางทะเล ซึ่งมีความสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง และสามารถบรรทุกสินค้าได้เป็นจำนวนมาก หากแต่ว่า “ผ้าไหม” ก็ยังเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมตราบจนถึงปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม ผ้าไหมนั้นเป็นหนึ่งในสินค้าที่พบเห็นได้ทั่วโลก เช่น ผ้าไหมจากอิตาลี อินเดีย หรือแม้แต่ไทย ซึ่งทุกชาติต่างก็มั่นใจว่าผ้าไหมของตนเองคุณภาพดีที่สุด แต่สำหรับผ้าไหมของซีอานนั้นเขากลับชูจุดขายที่ว่า “ใครๆ ก็บอกว่าผ้าไหมของตัวเองดีที่สุด แต่อย่าลืมว่าจีนคือชนชาติแรกสุดของโลกที่คิดค้นการทำผ้าไหม”
เมื่อโลกทั้งสองฝั่งถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันผ่านเส้นทางสายไหมแล้ว ก็ย่อมเกิดการถ่ายเทและหลั่งไหลของวัฒนธรรมต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมจากดินแดนตะวันออกกลาง อันเกิดจากการเข้ามาค้าขายของเหล่าบรรดาพ่อค้าชาวอาหรับ นำมาสู่การเข้ามาของศาสนาอิสลามในดินแดนแถบนี้ ต่อมาก็ได้ผสมกลมกลืนและแพร่สู่ชนในท้องถิ่นเกิดเป็นอีกหนึ่งกลุ่มชนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นั่นก็คือ “ชาวหุย” กลุ่มชนที่มีหน้าตาละม้ายคล้ายกับชาวจีน แต่มีสีผม ดวงตา และสันจมูกที่ค่อนไปทางชาวตะวันออกกลาง คล้ายคลึงกับชาวอุซเบกิสถานหรือคาซัคสถานนั่นเอง ในอดีตนั้นชาวหุยมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในราชสำนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยราชวงศ์หมิงนั้น แม่ทัพหรือนายกองส่วนใหญ่ล้วนเป็นชาวหุยทั้งสิ้น ซึ่งหนึ่งในแม่ทัพที่เรารู้จักเป็นอย่างดีนั้นก็คือแม่ทัพ “เจิ้งเหอ” หรือที่คนไทยรู้จักท่านในชื่อ “เจ้าพ่อซำปอกง” แม่ทัพผู้นำกองราชนาวีจีนออกสำรวจทางทะเล ซึ่งก็เคยเดินทางมาถึงแผ่นดินสยาม ในสมัยของสมเด็จพระรามราชาธิราช แห่งราชวงศ์อู่ทอง ด้วยบทบาทสำคัญดังกล่าวนี้ทำให้ในสมัยขององค์จักรพรรดิหงหวู่ ได้มีการสร้างมัสยิดฮว่าเจี๋ยเซี่ยงขึ้นเพื่อเป็นการตอบแทนเหล่าขุนนางมุสลิม ซึ่งในปัจจุบันมัสยิดแห่งนี้ก็ยังคงได้รับการรักษาและถูกใช้เป็นศาสนสถานเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนามาจนถึง
ปัจจุบัน เสน่ห์ของมัสยิดแห่งนี้คือสร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบจีน กล่าวคือไม่ได้มีรูปทรงโดมเหมือนที่เราพบเห็นทั่วไป แต่เป็นอาคารที่คลุมด้วยหลังคาสูงทรงสามเหลี่ยมที่ดูผิวเผินแล้วเหมือนวัดจีนนั่นเอง และไม่ไกลจากมัสยิดนั้นเป็นที่ตั้งของถนนมุสลิม หนึ่งในชุมชนโบราณที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของชาวหุยได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอกลักษณ์ของอาหารการกินที่ผสมผสานอาหารในแบบอารบิกเข้ากับอาหารจีนได้อย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นขนมปังนานสอดไส้เนื้อผัดเครื่องเทศ เกี๊ยวซ่าที่มีรสชาติเผ็ดร้อน หรือจะเป็นเนื้อปิ้งย่างที่คล้ายกับเคบับ ดังนั้นจุดเด่นของการมาเยือนถนนแห่งนี้คือการสัมผัสกับวัฒนธรรมอาหารการกินของชาวหุย
เส้นทางสายไหมนั้น ถึงแม้จะกลายเป็นเพียงส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์โลกไปแล้ว แต่การมาเยือนเมืองซีอาน เมืองซึ่งเคยมีสถานะเป็นจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดเส้นทางสายไหม ทำให้เรารู้สึกได้ว่าแท้จริงแล้ว ความรุ่งเรืองของเส้นทางสายไหมบนดินแดนแห่งนี้ก็ยังคงเจิดจรัสมาจนถึงทุกวันนี้ หากแต่ว่าได้เปลี่ยนรูปแบบไปตามกาลเวลาเท่านั้นเอง