ท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ที่ซีอาน
องค์การยูเนสโก ได้นิยามการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ไว้ว่า “การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์
องค์การยูเนสโก ได้นิยามการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ไว้ว่า “การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์
คือการท่องเที่ยวที่มีจุดประสงค์สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาชุมชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการดำเนินชีวิตของชุมชน โดยจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวอย่างกลมกลืนและสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ตลอดจนวิถีต่างๆ ของชุมชน ในเชิงของการเรียนรู้และการทดลองเพื่อให้ได้มาซึ่งประสบการณ์จากสิ่งที่มีอยู่และเป็นอยู่จริงในชุมชน” เมื่อเหลียวซ้ายแลขวาพร้อมกับหยิบตารางการเดินทางของเราในวันนี้แล้ว พบว่าสถานที่กำลังจะไปนั้นเหมาะสมไม่น้อยสำหรับการท่องเที่ยงเชิงสร้างสรรค์
การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์นั้น พูดให้เข้าใจง่ายๆ เลยก็คือ ไปกิน ไปเที่ยว ไปใช้ชีวิตยังสถานที่ซึ่งชาวบ้านเขาใช้ชีวิตกันอย่างไร เราก็ไปใช้ชีวิตกันอย่างนั้น ซึ่งสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งในซีอานนั้นเหมาะอย่างยิ่งกับการท่องเที่ยวในแบบดังกล่าว หากไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหน เราขอแนะนำสถานที่ต่อไปนี้ นั่นก็คือศาลเจ้าซีอาน ศาลเจ้าที่มีความเก่าแก่ที่สุด ซึ่งที่นี่ประดิษฐานเทพเจ้าผู้ปกปักรักษาเมืองซีอาน ดังนั้น ที่นี่จึงเหมาะอย่างยิ่งในการมาสักการะเจ้าพ่อหลักเมืองและขอพรเพื่อเป็นสิริมงคลกับชีวิต หากใครที่เคยเดินทางไปท่องเที่ยวที่ศาลเจ้าต่างๆ ในประเทศจีน จะพบว่าศาลเจ้าทุกแห่งหนนั้นไม่เคยว่างเว้นจากผู้คนที่หลั่งไหลแวะเวียนเข้ามาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เลย เพราะวิถีชีวิตและความเชื่อของชาวจีนส่วนใหญ่นั้น ผูกพันกับเรื่องของพิธีกรรมและการเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาช้านาน ทำให้ศาลเจ้าต่างๆ กลายเป็นหนึ่งในสถานที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ และกลายมาเป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญของการท่องเที่ยว ซึ่งศาลเจ้าซีอานนี้คืออีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาด เมื่อเข้ามาภายในศาลเจ้าแล้ว เราสามารถซื้อหาธูปเทียนเพื่อใช้ในการสักการะ ซึ่งธูปเทียนจะเล็กจะใหญ่ก็ขึ้นอยู่กับความศรัทธา วิธีการไหว้ศาลเจ้าที่นี่ แรกเริ่มก่อนการสักการะองค์เทพต่างๆ เราก็ควรที่จะไหว้เคารพเทพเจ้าทั้ง 4 ทิศ ก่อนที่จะเข้าไปไหว้เทพเจ้าประจำเมือง คนท้องถิ่นบอกกับเราว่า ถ้ามาถึงซีอานแล้ว สถานที่ที่ควรจะมาแรกสุดคือที่นี่ เพราะถือเป็นหนึ่งในสถานที่เหมาะที่สุดสำหรับการเอาฤกษ์เอาชัยก่อนการเดินทางท่องเที่ยวที่ซีอาน แต่อย่างน้อยที่สุดการได้มาที่นี่มันก็ช่วยทำให้อิ่มเอมใจได้ไม่น้อย
หากใครที่ไม่ได้เป็นคนไทยเชื้อสายจีน การเดินทางไปสักการะศาลเจ้าอาจจะไม่คุ้นชินสักเท่าไหร่
ดังนั้น เราจึงขอแนะนำให้มาที่วัดกว่างเหริน (Guang Ren Lama Temple) ศาสนสถานของพุทธศาสนานิกายวัชรยาน ซึ่งเป็นนิกายที่ผสมผสานระหว่างนิกายมหายานจากประเทศจีนและนิกายตันตระจากประเทศอินเดีย ซึ่งถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่กรุงลาซา เขตปกครองตนเองทิเบต ที่นี่อาจจะทำให้ชาวพุทธอย่างเราไม่ขัดไม่เขินและคุ้นชินกับวิถีปฏิบัติที่ใกล้เคียงกัน ว่ากันว่าวัดแห่งนี้คือตัวแทนของจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจีนและทิเบต ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ถัง เมื่อพระเจ้าซรองเสนกัมโพ (Songtsen Gampo) กษัตริย์แห่งทิเบต ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงเหวินเฉิง ธิดาของจักรพรรดิถังไท่จงแห่งราชวงศ์ถัง นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์จีนและราชวงศ์ทิเบตก็เพิ่มพูนขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งในสมัยราชวงศ์ชิง จักรพรรดิคังซีได้มีพระบัญชาให้สร้างวัดแห่งนี้ขึ้น เพื่อใช้เป็นจุดแวะพักของพระลามะในการเดินทางจากทิเบตเพื่อมาราชการที่วังหลวงในปักกิ่ง วัดกว่างเหริน ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในวัดลามะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ซึ่งการออกแบบและก่อสร้างได้มีการไล่ลำดับจากอารามที่เล็กที่สุดไปหาอารามที่มีขนาดใหญ่ที่สุด โดยอารามแรกสุดเป็นที่ตั้งของแท่นหินแกะสลักคำบัญชาให้สร้างวัดแห่งนี้ ด้วยลายมือของจักรพรรดิคังซี ส่วนอารามต่อมาคือที่ประทับรูปหล่อของพระเจ้าซองขับปะ ผู้สถาปนานิกายเกลุกปะและเป็นองค์ดาไลลามะองค์แรก ส่วนถัดมาคืออารามมหาวิหาร ซึ่งภายในประดิษฐานเจ้าแม่กวนอิมพันมือพันตา และส่วนสุดท้ายคือวิหารพระสูตร วิหารที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ รวมไปถึงพระศากยมุนีที่มีความสูงที่สุดในโลก และรูปหล่อของเจ้าหญิงเหวินเฉิง ผู้ซึ่งริเริ่มความสัมพันธ์ระหว่างดินแดนจีนและทิเบตนั่นเอง
เคยได้ยินมีคนกล่าวมานานแล้วว่า ถ้าอยากจะกินเป็ดปักกิ่งให้อร่อยก็ต้องไปที่ปักกิ่ง ถ้าอยากกินเสี่ยวหลงเปาให้อร่อยก็ต้องไปที่ไคฟง แต่ถ้าหากว่าอยากกินเกี๊ยวอร่อยเป็นที่ไหนไม่ได้ต้องที่ซีอาน
จุดกำเนิดของเกี๊ยวนั้น ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้คิดค้น หากแต่ว่าประวัติของเกี๊ยวซีอานนั้น ได้รับการบอกเล่าจากคนในท้องถิ่นว่า เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระนางซูสีไทเฮาลี้ภัยมาอยู่ที่นครซีอาน ได้สั่งให้แม่ครัวทำอาหารอะไรก็ได้ที่ไม่ใช้ข้าว แม่ครัวจึงนำแผ่นแป้งมาห่อเนื้อแพะและแกะ ซึ่งเป็นเนื้อสัตว์ที่นิยมรับประทานกันในแถบนี้ จากนั้นจึงมีการตกแต่งเกี๊ยวเป็นสีสันต่างๆ ทำให้ดูแตกต่างไปจากเกี๊ยวทั่วไป ในที่สุดเกี๊ยวชนิดนี้ก็ได้รับความนิยมแพร่หลาย และกลายมาเป็นหนึ่งในเมนูอาหารที่มีชื่อเสียงของซีอาน หากได้มีโอกาสมาถึงที่นี่ทั้งทีอย่าให้เสียเที่ยว รับรองได้ว่าอร่อยจริงๆ หลังจากที่กินเกี๊ยวกันจนอิ่มแทบจะดิ้นไม่ได้แล้วนั้น เราก็ถือโอกาสไปชมหนึ่งในการแสดงที่มีชื่อเสียงของที่นี่ นั่นก็คือการแสดงราชวงศ์ถัง ซึ่งว่ากันว่าเป็นอีกหนึ่งการแสดงที่อลังการที่สุดในประเทศจีน ด้วยความสงสัยว่าทำไมต้องเป็นการแสดงราชวงศ์ถังด้วย ทำไมไม่เป็นราชวงศ์อื่นๆ สืบสาวราวเรื่องจึงได้ความว่า การแสดงราชวงศ์ถังคือหนึ่งในการแสดงศิลปะนาฏศิลป์ ซึ่งนาฏศิลป์จีนมีความรุ่งเรืองมากที่สุดในสมัยราชวงศ์ถัง เนื่องจากมีจักรพรรดิหลายพระองค์เป็นผู้อุปถัมถ์ จึงทำให้นาฏศิลป์ในยุคนั้นเป็นต้นแบบของนาฏศิลป์จีนที่มีอิทธิพลมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งการแสดงราชวงศ์ถังนี้นำเสนอเรื่องราวผ่านวรรณกรรมต่างๆ ผ่านเทคโนโลยีแสงเสียงและเครื่องแต่งกายสุดอลังการ นอกจากนี้ ระหว่างการแสดงจะมีการบอกเล่าถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์จีนสอดแทรกเข้าไปด้วย จึงทำให้ผู้ชมได้รับทั้งความบันเทิงและความรู้ในเวลาเดียวกัน
การท่องเที่ยวในซีอานครั้งนี้ นอกเหนือไปจากการได้รับความบันเทิงแล้ว สิ่งที่ได้กลับมาคือความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีของชาวจีนมากยิ่งขึ้น จากการได้เข้าไปยังวัดวาอารามต่างๆ การได้ลองลิ้มชิมอาหาร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการชมการแสดงราชวงศ์ถัง ถึงแม้จะขัดกับรูปแบบของการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ไปบ้าง เพราะถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ แต่ถึงอย่างไรก็ทำให้เราได้เห็นได้เรียนรู้ศิลปะนาฏศิลป์ของจีนในแบบที่ไม่ค่อยจะพบเห็นได้บ่อยครั้ง ประเทศนี้มีอะไรที่น่าสนใจมากมายจริง หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในยุคที่การเดินทางสะดวกสบายมากขึ้นนี้ จะช่วยลบล้างความเชื่อที่ว่า “ดินแดนจีนนั้นกว้างใหญ่ไพศาล ครั้งหนึ่งในชีวิตอาจเดินทางได้ไม่ไหมด” แต่ ณ ตอนนี้ การเดินทางไป “ซีอาน” ดินแดนที่แห่งแพรไหมอันไกลโพ้นไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ซึ่งก็ต้องขอขอบคุณสายการบินสายบิซิเนสแอร์ที่ร่วมเปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวในซีอานของเราครั้งนี้ด้วย