1ตุลาคม วันกาแฟสากล เป็นอะไรที่มากกว่า เครื่องดื่มยอดฮิต
ย้อนตำนานเครื่องดื่มยอดฮิต ICO ประกาศให้ 1 ตุลาคมทุกปี เป็น "วันกาแฟสากล" เฉลิมฉลองและเชิดชูเกษตรผู้เพาะปลูกทั่วโลก
วันที่ 1ตุลาคม ถือเป็นวันสำคัญของคนรักดื่มกาแฟ เพราะเป็นวัน กาแฟสากล หรือ International Coffee Day องค์การกาแฟนานาชาติ (International Coffee Organization : ICO) กำหนดเป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองและส่งเสริมเครื่องดื่มกาแฟ และเชิดชูเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟทั่วโลก
"วันกาแฟสากล" เกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อ 1ตุลาคม 2558 ในการประชุมกันที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ICO หรือ"สภากาแฟนานาชาติ"เป็นอำนาจสูงสุดขององค์กร ประกอบด้วยผู้แทนของรัฐบาลสมาชิกแต่ละประเทศ มีการประชุมในเดือนมีนาคมและกันยายนเพื่อหารือเกี่ยวกับกาแฟ อนุมัติเอกสารเชิงกลยุทธ์ และพิจารณาข้อเสนอแนะของคณะที่ปรึกษาและคณะกรรมการ
"กาแฟ" เป็นเครื่องดื่มที่ทำจากเมล็ดซึ่งได้จากต้นกาแฟ หรือมักเรียกว่า "เมล็ดกาแฟคั่ว" ต้นกาแฟมีการเพาะปลูกในมากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก และเป็นหนึ่งในสินค้าทางการเกษตรซึ่งมีการซื้อขายกันมากที่สุดในโลก เป็นเครื่องดื่มซึ่งได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกมีส่วนประกอบของ"คาเฟอีน"ทำให้มีสรรพคุณชูกำลังในมนุษย์
เชื่อกันว่าสรรพคุณชูกำลังจากเมล็ดของต้นกาแฟถูกพบเป็นครั้งแรกในเยเมน แถบอาระเบีย และทางตะวันออกเฉียงเหนือของเอธิโอเปีย ซึ่งการปลูกต้นกาแฟในสมัยแรกได้แพร่ขยายในโลกอาหรับ ปรากฎหลักฐานบันทึกว่า "การดื่มกาแฟ"เกิดขึ้นราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 15 ในวิหารซูฟี ในเยเมน แถบอาระเบียและได้แพร่ขยายไปยังทวีปยุโรป อินโดนีเซีย และทวีปอเมริกา
"กาแฟ"เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของโลก ในปี พ.ศ.2547 กาแฟเป็นสินค้าการเกษตรส่งออกที่ทำรายได้เป็นอันดับหนึ่งในจำนวน 12 ประเทศและเป็นพืชที่มีการส่งออกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีมูลค่าสูงที่สุดเป็นอันดับ 7 ของโลก
ในปี พ.ศ.2548 กาแฟได้รับการโต้เถียงด้านการเพาะปลูกต้นกาแฟและผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม และมีการศึกษาจำนวนมากที่ระบุถึงความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคกาแฟกับข้อจำกัดทางยา อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดว่ากาแฟให้คุณหรือให้โทษ
สำหรับในไทย มีการผลิตกาแฟทั้งสิ้น 2 สายพันธุ์ คือ กาแฟพันธุ์โรบัสต้า (Robusta coffee) เพาะปลูกมากแถบจังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี กระบี่ และนครศรีธรรมราช คิดเป็นปริมาณประมาณปีละ 80,000 ตัน และกาแฟพันธุ์อาราบิก้า (Arabica coffee) เพาะปลูกมากแถบจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และตาก ซึ่งเป็นพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลและอากาศเย็น ซึ่งคิดเป็นปริมาณปีละประมาณ 500 ตัน
ทั้งนี้ ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2559 – 2563) ปริมาณความต้องการใช้เมล็ดกาแฟของไทยเฉลี่ยที่ 78,953 ตันต่อปี แต่ไทยสามารถ ผลิตเมล็ดกาแฟดิบได้เฉลี่ย 26,162 ตันต่อปี ทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภค จึงถือเป็นโอกาสให้อุตสาหกรรมกาแฟไทยเพิ่มผลผลิต และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์กาแฟใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ
ติดตาม "โพสต์ทูเดย์" ผ่านช่องทางต่างๆ ได้ที่
facebook : https://www.facebook.com/Posttoday
Twitter: https://twitter.com/PostToday
Website : http://www.posttoday.com/
Youtube: https://www.youtube.com/posttoday
Instagram: https://www.instagram.com/posttoday_online/