posttoday

4 ตัวจริง แต่งเอง–ร้องเอง

28 มิถุนายน 2555

จากนักแต่งเพลงที่แต่งเพลงให้กับศิลปินมากหน้า เพลงประกอบโฆษณาก็แต่ง เพลงประกอบภาพยนตร์ก็แต่ง จนกระทั่งเขามีเพลงฮิต (โคตรๆ)

โดย...จตุรภัทร หาญจริง

จากนักแต่งเพลงที่แต่งเพลงให้กับศิลปินมากหน้า เพลงประกอบโฆษณาก็แต่ง เพลงประกอบภาพยนตร์ก็แต่ง จนกระทั่งเขามีเพลงฮิต (โคตรๆ) เป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเพลง “ความคิด” “ทฤษฎีสีชมพู” “มันคงเป็นความรัก” และ “ชายกลาง” (ซึ่งทุกเพลงล้วนทำให้เขากลายเป็นนักแต่งเพลงรุ่นใหม่ที่น่าจับตามองที่สุด) เขาคนนั้นไม่ใช่ใคร แสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข

จากเพลง “ลูกอม” ที่แต่งขึ้นเพื่อใช้ในงานแต่งงานของเพื่อน และถูกอัพโหลดลงยูทูบ คนเข้าไปดูแล้วเกิด “ชอบ” จนยอดวิวเป็นล้านๆ ภายในเวลาเพียงไม่นาน จากนั้นเพลง “Jeep” เพลง “ร่มสีเทา” จนมาถึงเพลง “ถนนบนต้นไม้ใหญ่” และเพลง “ทราย” ก็ได้กลายเป็นเพลงที่เข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจคนฟังทั่วทั้งประเทศ

นี่คือผลงานการแต่งเนื้อร้องและทำนอง โดย ป๋ำ-มนต์ชัย สัตยเทพ ชายหนุ่มเสียงนุ่มที่วิธีคิดของเขา “ไม่ธรรมดา”

4 ตัวจริง แต่งเอง–ร้องเอง

จากการแต่งเพลงให้คนในครอบครัวฟังในวันสำคัญ จนมาถึงเพลง “คำถาม” เดินทางต่อด้วยเพลง “ความทรงจำ” “มากกว่ารัก” จนมาถึงทุกเพลงในอัลบั้มคลับฟรายเดย์ เบส ออน ทรู สตอรี บาย เอิ้น พิยะดา พญ.พิยะดา หาชัยภูมิ หรือหมอเอิ้น เดินทางมาด้วยหัวใจที่รักในเสียงเพลง และอยากถ่ายทอดบทเพลงที่เธอ แต่งเป็นเครื่องมือเยียวยาจิตใจผู้คนในยามอ่อนไหว อ่อนแอ และหาทางออกไม่เจอ

นับตั้งแต่เพลง “โปรดจงตัดสินใจ” เพลงที่ทำร่วมกับเพื่อนอีก4 คน ในนามวง Lolita น๊อต-วรุตม์ พิทักษ์สรยุทธ ก้าวมาได้ไกลจากจุดเริ่มต้นมากขึ้นบ้างแล้ว เพลง “เรื่องจริงของทุกวัน” เพลง “ปั่นหัว” เพลง “เธอใช่ไหม” (เพลงประกอบละครเรื่องกลรักลวงใจ) มาจนถึงเพลงเด็ดของเขา ณ ตอนนี้ เพลง “โสด” ก็ทำให้คนฟังได้รู้จักตัวตนของเขาผ่านบทเพลงที่กลั่นออกมาจากใจ ที่คงตรงกับชีวิตของใครไม่มากก็น้อย

นับตั้งแต่บรรทัดนี้ไป บทสนทนาเล็กๆ ของ อภิวัชร์ มนต์ชัย พิยะดา และวรุตม์ จะทำให้คุณตกหลุมรักวิธีคิดที่ทำให้เขากลายเป็นคนเขียนเพลงที่ฮอตที่สุด และน่าจับตามองมากที่สุดใน พ.ศ.นี้

แรงบันดาลใจในการแต่งเพลง

อภิวัชร์ : เพลงจะเพราะและมีเนื้อหาจับใจได้ มันต้องมาจากทำนองเพลงก่อน เพราะทำนองทำให้เราเห็นถึงภาพบางภาพ คนบางคน ความทรงจำบางส่วนของชีวิต และทำให้เรานึกถึงเรื่องบางเรื่องที่เป็นแรงบันดาลใจในการแต่งเนื้อเพลง

มนต์ชัย : แรงบันดาลใจมาจากความสุขของตัวผมเองครับ อย่างเพลงร่มสีเทา ผมเคยทุกข์ พอเราผ่านตรงนั้นมาได้ เราก็แค่อยากแชร์ ผมแค่อยากแชร์ความสุขให้คนฟัง ซึ่งก่อนหน้านี้ผมอาจจะมีความสุขนับเป็นนาทีใน 1 วัน แต่ความทุกข์เกือบทั้งวัน แต่ตอนนี้กลับกัน ความทุกข์นับจะเป็นวินาทีเลยด้วยซ้ำ แต่ความสุขกลับมีทั้งวันจริงๆ

4 ตัวจริง แต่งเอง–ร้องเอง

พิยะดา : เอิ้นคิดว่าการที่มีคนอื่นฟังเพลงของเราแล้วมีความสุข มีรอยยิ้ม ตรงนี้ค่ะคือแรงบันดาลใจสำคัญ อีกอย่างคือการแต่งเพลงทำให้เอิ้นมีทุกวันนี้ มีอาชีพ มีรายได้ ทำให้ตัวเองมีเงินเรียนส่งตัวเองจนจบแพทย์ มันเลยเป็นพลังสองด้าน ในแง่ของการดำรงชีวิตในความเป็นจริงและในแง่ของความภาคภูมิใจ

วรุตม์ : สมัยก่อน ผมชอบเล่นดนตรีกับพ่อ พอมาถึงจุดจุดหนึ่ง ก็อยากจะแต่งเพลงที่มีคนร้องเพลงที่เราแต่ง หากมันเชื่อมโยงกับจุดเล็กๆ หรือประสบการณ์ที่เกี่ยวกับตัวเขาได้ นั่นคือแรงผลักดันที่ดีมากๆ ครับ

เวลาแต่งเพลงไม่ได้ดั่งใจหงุดหงิดไหม

อภิวัชร์ : มีแน่นอนครับ เวลาที่รู้สึกแต่งเพลงแล้วยังไม่ดีสักที เรื่องยากสำหรับผม คือ การเรียบเรียงดนตรี

มนต์ชัย : ผมไม่ค่อยหงุดหงิดใจนะ เพราะไม่เคยคาดหวัง แค่คนฟังรับโหมดความสุของผมได้ ผมก็แฮปปี้แล้ว

พิยะดา : เวลาที่เราคาดหวัง เช่น อยากแต่งเพลงให้ดีกว่าเพลงที่แล้ว หรือแต่งเพลงให้คนนี้ อยากให้เขาชื่นชอบ ผลสุดท้ายก็จะไม่ดี ความคาดหวังหรือความอยากต้องถูกวางทิ้งไว้ ตราบใดที่เราไม่ละความคาดหวัง เราจะไปต่อไม่ได้

วรุตม์ : หงุดหงิดครับ ตอนนี้ก็ยังมีเพลงบางเพลงที่แต่งมาสี่ห้าปียังแต่งไม่เสร็จ

ความยาก-ง่ายในการเขียนเนื้อเพลง

4 ตัวจริง แต่งเอง–ร้องเอง

อภิวัชร์ : ส่วนที่ยากที่สุดคือ เพลงต้องเล่าเรื่องได้ด้วย เพราะด้วย สื่อความหมายด้วย และต้องร้องแล้วสบายปากด้วย ผมก็ลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ มีเพลงที่ทิ้งไปเลยก็มี เยอะกว่าเพลงที่ออกมาอีกต่างหาก

มนต์ชัย : อยู่ที่การต่อสู้กับตัวเองครับ ถ้าเขียนไม่ดีก็จะแก้แล้วทำใหม่ ถ้าทำไม่ดีพอก็ยังไม่อยากให้ใครฟัง จนกว่าเราจะมั่นใจว่ามันดีที่สุด ณ ขณะนั้น เราถึงจะปล่อยเพลงออกมา

พิยะดา : ยากตรงที่เป็นเรื่องราวของตัวเองนี่แหละ (หัวเราะ) เพราะเรื่องของคนอื่นเป็นเรื่องง่าย เวลาเราทำตัวเป็นผู้สังเกตการณ์มันจะง่าย แต่เวลาเป็นเรื่องของตัวเองมันจะยาก

วรุตม์ : ผมว่ามันยากตรงที่เราจะเขียนยังไงให้คนอื่นฟังแล้วรู้สึกว่ามันเป็นตัวของเขาเลย รู้สึกแบบนั้นเลย มีส่วนร่วมเหมือนเป็นเพลงของเขาเลย

หัวใจสำคัญในเนื้อหาของเพลงที่แต่ง

อภิวัชร์ : สำหรับผมไม่มีหัวใจสำคัญครับ เราจะเห็นเนื้อเพลงที่เล่าเรื่องมากๆ หรือบางเพลงก็ไม่เล่าเรื่องอะไรเลย แต่ด้วยคำ ด้วยทำนอง มันสามารถวาดภาพอีกโลกหนึ่งขึ้นมาได้ บางทีมันก็เจ๋งกว่าเนื้อเพลงที่เล่าเรื่อง ซึ่งไม่ว่าเพลงไหน ถ้ามันไปกระทบใจคนจนเกิดปฏิกิริยาบางอย่าง ผมว่านั่นแหละครับสุดยอดของเพลงเพลงหนึ่งที่เป็นได้มากกว่าเพลงทั่วไป

มนต์ชัย : ผมโชคดีตรงที่ว่า ผมเห็นในสิ่งที่นักแต่งเพลงหลายๆ คนอาจจะไม่เห็น อาจจะดูขี้คุย แต่ใครหลายคนอาจจะคิดว่าเพลงที่ดังได้ต้องมาจากเนื้อเพลง แต่วัชราวลีจะเน้นที่ทำนองเป็นอันดับ1 ผมมองว่า ทำนองเปรียบเหมือนร่างกาย เนื้อร้องอาจเป็นหน้าตาดี การเรียบเรียงเปรียบกับการแต่งตัวดี เพลงของผมต้องเป็นเพลงที่สามารถทำให้คนได้ยินแล้วติดหู แล้วก็ไม่โหล ไม่ได้ยินทั่วไปในท้องตลาดด้วย

พิยะดา : ถ้าเป็นของเอิ้น เอิ้นจะมองในเรื่องของแง่คิดที่เป็นในแง่บวก หรือเป็นทางออกของผู้ฟัง เพลงก็เหมือนอาหารสามารถที่จะเสพได้จากการฟัง และความเพลิดเพลินทางด้านจิตใจ อะไรที่เป็นประโยชน์หรือทางออก เอิ้นก็จะใส่เข้าไป

4 ตัวจริง แต่งเอง–ร้องเอง

วรุตม์ : ผมว่ามันอยู่ที่ความจริงใจของเรา อย่างเราเขียนในมุมมองของคนอกหัก ถึงเราจะไม่ได้อกหัก แต่เราต้องซื่อตรงต่อความรู้สึกนี้ แต่เราต้องเก็ตกับความรู้สึกนี้ด้วย ตอนนี้ผมเขียนเพลงเกี่ยวกับหมดหวัง ก็ต้องถามว่าคนหมดหวังอยากฟังอะไรแล้วรู้สึกดี ก็เอามาเขียน ถ้าฉุดเขาขึ้นมาได้ มันรู้สึกดีนะ


เพลงไหนที่แต่งออกมาจากชีวิตจริงบ้าง

อภิวัชร์ : เกือบทุกเพลงครับ ถ้าไม่ใช่เรื่องราวของตัวเอง แต่ทำให้ผมอิน จนทำให้ผมร้องไห้ออกมาได้ อย่างเรื่องเต่าหลงทาง หาทะเลไม่เจอ มันก็ทำให้ผมรู้สึกร่วมจนแต่งเพลงออกมาได้

มนต์ชัย : จริงๆ แล้วก็ตั้งแต่ลูกอมเรื่อยมาจนถึงเพลงล่าสุด มาจากเรื่องราวตัวเองหมดเลยครับ (หัวเราะ) ถ้าสังเกตให้ดี เพลงมันสะท้อนตัวตนของคนแต่งได้เลยนะครับ เพลงของผมฟังแล้วเป็นยังไง ตัวตนผมก็เป็นอย่างนั้น

พิยะดา : เพลงคนไม่น่าสงสารค่ะ มันเป็นเพลงที่มีตัวเองอยู่ในนั้น (หัวเราะ) เอิ้นเคยมีมุมของความเป็นคนธรรมดาที่ไม่อยากยอมรับความอ่อนแอของตัวเอง ประเด็นคือ เมื่อไหร่ที่เราไม่อยากเป็นคนที่ไม่น่าสงสาร เราก็แค่ซื่อสัตย์กับอารมณ์ ความคิด ความรู้สึกของตัวเอง อย่างเราไม่ชอบความอ่อนแอ ไม่ชอบให้ตัวเองท้อแท้ แล้วแสดงว่าตัวเองเข้มแข็งตลอดเวลา เราก็หลอกตัวเองและหลอกผู้อื่น เอิ้นว่าอ่อนแอก็คืออ่อนแอ ท้อแท้ก็คือท้อแท้ เราควรเลือกที่จะแสดงความอ่อนแอให้คนอื่นเห็นบ้าง แต่ก็ไม่ควรอ่อนแออย่างเรี่ยราดนะ (หัวเราะ)

วรุตม์ : เพลงเรื่องจริงของทุกวัน เพราะมันเป็นเพลงแรกที่เขียนจากเรื่องจริงของตัวเอง และพี่บอย โกสิยพงษ์ ก็มาช่วยดูเนื้อให้นิดหน่อย

การยอมรับจากคนฟัง ทำให้กดดันมั้ย

อภิวัชร์ : มีเป็นช่วงๆ ครับ บางครั้งเกิดความกดดันขึ้นมาว่าต้องทำให้ดีกว่าเดิม พอความกดดันนี้เกิดขึ้น มักจะลงเอยด้วยการเขียนเพลงไม่ได้เลย ถ้าสลัดความกดดันนี้ไม่ได้ จะทรมานมาก

มนต์ชัย : เพื่อนผมเขาฟังเพลงร่มสีเทา เขาก็หนักใจแทนผม เพราะผมเขียนไว้ซะแบบ... กลัวเพลงต่อมาจะสร้างให้ดีได้ไม่เท่า ผมเลยบอกเขาไปว่าอย่าไปซีเรียส เราทำให้ดีที่สุด ณ ขณะที่เราทำได้ ก็พอแล้ว

พิยะดา : ยอมรับว่ากดดันค่ะ คือเอิ้นไม่เคยมีเพลงที่ได้รับการยอมรับติดกันขนาดนี้ อย่างเพลงของเราถูกโปรโมตทุกเพลง ทำให้เพลงต่อๆ ไป เราเริ่มเกรงใจคนที่จะมาทำงานร่วมกับเรา คนที่จะลงทุนให้เรามากกว่า กลัวเขาไม่ได้อะไรเต็มที่มากไปกว่าเดิม (หัวเราะ) กับเพลงในอัลบั้มคลับฟรายเดย์ เอิ้นกับพี่ฉอดคุยกันว่ามันเป็นอัลบั้มที่ใช้เป็นตัววัดความเป็นอยู่ของวงการเพลงไทยได้เลย เราต้องการพิสูจน์ว่า อัลบั้มหนึ่งที่เพลงทุกเพลงสามารถขึ้นชาร์ตและมีคุณภาพทุกเพลง คนไทยจะยังซื้อซีดีอยู่มั้ย และคนที่ประกอบอาชีพทำเพลงจะอยู่ได้มั้ย คือเราอยากรู้ว่าวงการเพลงไทยถดถอยจริงหรือเปล่า หรือยังอยู่รอดได้ หากมีวิธีคิดใหม่ๆ ในการทำงานเพลง

วรุตม์ : อย่างเพลงเธอใช่ไหม ขึ้นอันดับ 1 หลายคลื่น มาจนถึงเพลงโสด ทำให้ผมเขียนเพลงตามใจตัวเองไม่ได้แล้ว แต่ถามว่ากลัวหลงไปกับตลาดมั้ย ผมว่าผมเป็นป๊อปอยู่แล้ว มันปรับเปลี่ยนไปได้ ผมว่าถ้าผมแต่งแล้วทำให้คนฟังรู้สึกว่ามันเพราะ แล้วมันเข้ากับเขาผมก็ยอม