‘รอยแผลของสายพิณ’ ปมแย้งแห่งชะตากรรม
โดย...โจ เกียรติอาจิณ
โดย...โจ เกียรติอาจิณ
โหมโรงก่อนใครๆ กับการตามล่าหาผู้เข้ารอบแรกรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือซีไรต์ ประจำปี 2555 ซึ่งปีนี้เป็นคิวของประเภทนวนิยาย ลิสต์ล่าสุดที่คณะกรรมเปิดโผสู่สาธารณะมีถึง 15 นักเขียนชั้นนำที่ผ่านการคัดเลือก หนึ่งในนั้นก็คือนักเขียนปักษ์ใต้ “สาคร พูลสุข” และนวนิยายชีวิตแสนหวาบหวาม “รอยแผลของสายพิณ” (แพรวสำนักพิมพ์)
“ตัวผมเองไม่ได้ใกล้ชิดกันเลยกับซีไรต์ครับ สำหรับผมซีไรต์ก็เหมือนขบวนแห่ ที่เต็มไปด้วยสีสัน เมื่อถึงฤดูกาลก็มา ผู้คนเฝ้าดู แล้วก็ผ่านไป ส่วนจะมีใครจดจำรำลึกได้หรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องนะ”
สาครให้ความเห็นสั้นๆ ถึงรางวัลอันทรงเกียรติที่เหล่านักเขียนต่างฝันใฝ่ได้อยากสัมผัส ทั้งยังมองไปไกลในการคว้ารางวัล เขาก็ว่าหวังพอๆ กับนักเขียนคนอื่นนั่นแหละ
“ทุกเล่มมีสิทธิเท่ากันนะ ตอนนี้ผมว่ายังเร็วเกินไปที่จะพูดอะไรมากกว่านี้ รอไว้ลุ้นกันสนุกๆ ดีกว่า”
หนา 312 หน้า ไม่มาก ไม่น้อย ที่จะอ่านเอาเรื่องและตีความจาก “รอยแผลของสายพิณ” อันว่าด้วยสุ้มเสียงของตัวละครผู้มีบาดแผลเหวอะและปมในใจ “บุ้นโข่ย” “คุณนายทองตุก” “ทองเขียว” “นวม” “เจต เสียงเพลิน” “ลำแพง” “โกลี” “โม” “น้ำเชี่ยว” “เนียน” ฯลฯ แน่นอน “สายพิณ” คือตัวละครที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้เรื่องราวทั้งหมดดูมีมิติและร้อยรัดถึงความโลภ ตัณหา ราคะ หนังตะลุง โรงกระเบื้องโบราณ ต้นลำแพง การร่อนเร่ ความตาย ขาดไม่ได้ก็ หนังสือชวนสยดสยอง “ทองสุ้นฆ่าลูก”
เรื่องราวในนวนิยาย ผู้เขียนว่ามันมาจากการนั่งเฝ้ามองความเปลี่ยนแปลงบ้านแบบโบราณหลังหนึ่ง ที่นั่นมีหลายเรื่องราวที่ต้องเจอกับความเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่เรื่องเล่าแปลกๆ การต่อสู้กับความอดอยาก ความแห้งแล้ง ความมีน้ำใจอันเด็ดเดี่ยว การหักหลัง ชิงรักหักสวาท การล่อลวง รวมทั้งชะตากรรมที่ต่างคนต่างก่อขึ้นและสร้างรอยแผลให้กับทุกคน
จุดน่าสนใจจุดหนึ่ง คงจะอยู่ที่กลวิธีการเล่าเรื่อง แม้ไม่ได้หวือหวา หรือสวิงสวาย แต่ผู้เขียนก็สามารถขมวดปมแย้งได้ชวนอ่าน ด้วยการเล่าแบบสลับไปสลับมา ย้อนความหลัง ทิ้งช่วง ทิ้งระยะชีวิตของตัวละคร บางครั้งก็เพิ่มรายละเอียด บรรยายฉากชีวิตได้อย่างละเอียดทุกแง่มุม คล้ายกับการแช่กล้องของนักถ่ายทำหนัง บางคราก็ตัดสลับเพื่อความกระชับฉับไว มีอยู่หลายตอนที่ผู้เขียนให้ตัวละครที่ตายไปแล้วยังคงอยู่ ทว่ากลับให้ตัวละครที่มีชีวิตเหมือนกับตายไปแล้ว
นอกจากนี้ ผู้เขียนยังเชื่อมโยงความเปลี่ยนแปลงของโลกและสรรพสิ่ง ตีความบางแง่มุมจากประวัติศาสตร์ เปรียบเปรยเทียบชั้นถึงการเคยมีและจากไป ไม่ว่าจะบริบททางสังคม หรือตัวละคร ยิ่งเฉพาะตัวเองอย่างสายพิณ ซึ่งเป็นความตั้งใจของผู้เขียนที่จะให้สายพิณเป็นตัวแทนผู้หญิงที่มีรอยแผล
“ผมเชื่อว่าทุกยุคทุกสมัยผู้คนต่างก็มีรอยแผล ไม่จากทางใดก็ทางหนึ่ง รอยแผลที่เกิดจากอุบัติเหตุ อุบัติเหตุที่มักจะเกิดจากความมืด ความมัวเมา ความลุ่มหลง รวมทั้งการขาดความยับยั้งชั่งใจ อีกทั้งยังมีรอยแผลจากการที่ถูกคนอื่นหยิบยื่นให้ ผู้หญิงไม่ว่ายุคไหนก็หนีไม่พ้น ใช่ว่าจะมีแต่ผู้หญิง ผู้ชายก็มี แต่ผู้ชายเก่งเรื่องการซุกซ่อนรอยแผลของตัวเอง จะเพื่ออะไรก็แล้วแต่ ผู้ชายเก่งเรื่องการล่อลวงตัวเอง ล่อลวงคนอื่น เก่งเรื่องสร้างรอยแผลรอยใหม่ๆ สังคมเรากำลังเข้าสู่การสร้างรอยแผลรอยใหม่ ซึ่งดูยากพูดถึงยากมากขึ้นทุกที ชีวิตจึงตกอยู่ในภาวการณ์อันคลุมเครือ หลีกหนีบางสิ่งบางอย่างไม่พ้น แล้วสุดท้ายก็กลายเป็นผู้เฝ้าสังเกตการณ์เสียเอง”
“รอยแผลของสายพิณ” อาจมีฉากหลังอยู่ในภาคใต้และใช้ตัวละครผู้หญิงดำเนินเรื่อง แต่ก็ไม่ได้เป็นข้อจำกัดสำหรับคนอ่านทั่วๆ ไป เพราะนวนิยายนั้นแสดงความเป็นสากลมากพอที่จะรับรู้ ที่สำคัญลีลาและการใช้ภาษา ผู้เขียนก็ทำได้กลมกล่อมกินใจ กระทั่งเรื่องที่ค่อนข้างหมิ่นเหม่ อ่านแล้วกลับรู้สึกละมุนละไมเกินความคาดหมาย
“บางบทบางตอนจะดูหมิ่นเหม่นะ ในที่นี้หมายถึงอาจจะทำให้คนอ่านกระอักกระอ่วนใจต่อสำนวน เมื่อเลี่ยงไม่ได้จำเป็นต้องเขียนอย่างตรงไปตรงมา ด้วยถ้อยคำโดด ตรงๆ แต่ก็พยายามแก้ให้ดูอ่อนลง พยายามลดไม่ให้แรงเกินไปในบางเรื่อง และไม่ให้เบาเกินไปในบางกรณี บางทีเวลาจะเขียนถึงเรื่องลับของตัวละครบางตัว ก็พยายามใช้ความรอบคอบในการใช้ภาษา การใช้สำนวนที่ไม่โจ่งแจ้งเกินไป แต่ก็ไม่ละเลยความจริง”
(หมายเหตุ นวนิยายที่เข้ารอบแรกรางวัลซีไรต์อีก 14 เล่ม ประกอบด้วย 1.เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง แดนอรัญ แสงทอง 2.เรื่องเล่าในโลกลวงตา พิเชษฐ์ศักดิ์ โพธิ์พยัคฆ์ 3.เสือเพลินกรง ผาด พาสิกรณ์ 4.โปรดจงโอบกอดฉันเอาไว้ ปรีดี หงษ์สตัน 5.โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า ศิริวร แก้วกาญจน์ 6.ในรูปเงา เงาจันทร์ 7.ในอ้อมกอดกาลี มหรรณพ โฉมเฉลา 8.คดีดาบลาวยาวแดง ภาณุ ตรัยเวช 9.คราบ จิรภัทร อังศุมาลี 10.ช่างซ่อมตุ๊กตาจากอาเคเซีย ศิริวร แก้วกาญจน์ 11.มนต์รักอ่าวทองคำ ปริทรรศ หุตางกรู 12.รุสนี มนตรีศรียงค์ 13.ลักษณ์อาลัย อุทิศ เหมะมูล 14.คนแคระ วิภาส ศรีทอง)