จากชานอ้อยสู่บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก

03 สิงหาคม 2555

มีงานวิจัยเคยระบุไว้ว่า มนุษย์เราถ้าหากรู้จักจัดการกับขยะให้ดี ในโลกนี้ก็ไม่น่าจะเหลือขยะอยู่มากมายเช่นนี้

โดย...อณุศรา ทองอุไร / ภาพ : พงษ์ไทย วัฒนาวณิชย์วุฒิ

มีงานวิจัยเคยระบุไว้ว่า มนุษย์เราถ้าหากรู้จักจัดการกับขยะให้ดี ในโลกนี้ก็ไม่น่าจะเหลือขยะอยู่มากมายเช่นนี้ เพราะเนื่องจากหลัก 3R คือ “ลดใช้ ใช้ซ้ำ ทำใหม่” ถ้าทำได้จะทำให้ขยะแทบจะเหลือศูนย์เปอร์เซ็นต์เลยจริงๆ แล้วก็ควรจะเป็นอย่างนั้น แต่บังเอิญโดยทั่วไปเรามักจะไม่ค่อยจัดการให้ดี ก็เลยมีขยะเหลือเยอะจนเกือบจะกลายเป็นขยะล้นเมืองอยู่แล้ว

วันนี้มีตัวอย่างที่ดีเป็นรูปธรรมที่เห็นได้ชัดเจนในการจัดการกับขยะทิ้งเสียให้เกิดประโยชน์ได้อย่างมีคุณค่าเลยทีเดียว นั่นก็คือการนำซากชานอ้อยที่เหลือจากการผลิตน้ำตาล หรือชานอ้อยเหลือจากโรงงานกระดาษในระบบอุตสาหกรรมที่มีจำนวนมหาศาล แต่เดิมทิ้งเสียโดยเปล่าประโยชน์ ต้องมาหาที่ทิ้งกันให้เป็นภาระวุ่นวาย เสียค่าใช้จ่ายไม่ใช่น้อย ตอนนี้สามารถนำชานอ้อยมาผลิตเป็นภาชนะใส่อาหารในรูปแบบต่างๆ ทั้ง แก้ว กล่อง จาน ชาม ถ้วย ที่ใช้แล้วนำไปทิ้งก็จะสามารถย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยบำรุงดินได้ภายใน 45 วันเลยเชียว

จากชานอ้อยสู่บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก

 

นับเป็นนวัตกรรมใหม่ที่จะมาใช้แทนกล่องโฟม กล่องพลาสติกได้เป็นอย่างดี แต่ข้อเสียของกล่องโฟมก็คือต้องใช้เวลาในการย่อยสลายนานถึง 4-50 ปี ไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมากมาย แม้ในระยะแรกบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยจะมีราคาต้นทุนการผลิตสูงกว่ากล่องโฟมไปบ้าง แต่ระยะยาวแล้วมันดีต่อโลก ดีต่อสิ่งแวดล้อมจริงๆ ดังนั้น เราก็ควรจะลงทุนเพื่อสิ่งที่ดีกว่ามิใช่หรือ

บรรจุภัณฑ์ไบโอชานอ้อย คืออะไร

นพ.วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ร่วมกันสร้างสรรค์ “บรรจุภัณฑ์ไบโอชานอ้อย” สำหรับใส่อาหาร ซึ่งใช้วัตถุดิบจากเส้นใยธรรมชาติ (NonWood Fiber) ได้แก่ เยื่อกระดาษจากชานอ้อย โดยกระบวนการผลิตที่เน้นคุณภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลอดสารคลอรีนในการฟอกสี หรือที่เรียกว่า Elementary ChlorineFree (ECF) จึงไม่ก่อให้เกิดของเสียจากกระบวนการผลิต นอกจากนี้ บรรจุภัณฑ์ทุกชิ้นยังผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อด้วยแสง UV ก่อนส่งถึงมือผู้บริโภค ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทนั้นมีมาตรฐานด้านความปลอดภัยทั้งต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

บรรจุภัณฑ์ไบโอชานอ้อยคือ อะไร?

บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นบริษัทแรกในประเทศไทยที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร ชนิด Biodegradable จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจาก สถาบันนวัตกรรมแห่งชาติ

บรรจุภัณฑ์อาหารไบโอชานอ้อยมีให้เลือกมากกว่า 40 แบบ ทั้งประเภท จาน ชาม ถาด ถ้วยน้ำ และกล่องมีฝาปิด ซึ่งมีหลากหลายขนาดให้เลือกใช้ได้ตามความต้องการ โดยผลิตภัณฑ์มีสีขาว รูปทรงแข็งแรง สามารถใช้ได้กับอาหารทั้งร้อนและเย็น ปลอดภัยจากสารพิษปนเปื้อน ไร้สารก่อมะเร็ง สามารถย่อยสลายได้ภายใน 45 วัน โดยการฝังกลบในดิน นอกจากนี้ ตัวบรรจุภัณฑ์สามารถทนอุณหภูมิที่ ลบ 40-250 องศาเซลเซียสได้ และใส่น้ำร้อนหรือน้ำมันได้มากถึง 150 องศาเซลเซียส เข้าเตาอบและไมโครเวฟได้ โดยมีคุณสมบัติ คือ

จากชานอ้อยสู่บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก

1.เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะทำจากวัสดุธรรมชาติ คือเยื่อชานอ้อย

2.ย่อยสลายโดยการฝังกลบในดินภายใน 45 วัน กลายเป็นปุ๋ยธรรมชาติ ลดปริมาณขยะ ลดโลกร้อน

3.ปลอดภัยจากสารพิษปนเปื้อน

4.สามารถใช้ได้กับตู้อบและเตาไมโครเวฟ

5.สามารถใช้ได้กับอาหารทั้งร้อนและเย็น ไม่รั่วซึม

6.ไม่ใช้เยื่อจากไม้ยืนต้น (NonWood Fiber)

7.ใช้เยื่อกระดาษ ECF ไม่มีสารคลอรีนตกค้าง

8.ทำจากธรรมชาติ ไม่มีสารก่อมะเร็ง

โดยการย่อยสลายของไบโอชานอ้อยเหล่านี้

การทดสอบการย่อยสลายทางชีวภาพในอุณหภูมิ 55 70 ํC ระดับความชื้นที่ 45 60%

ค่า pH 6.5 8.0 ผลการทดลอง: ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยชีวภาพ 100 % ใน 31 วัน

กล่องโฟมเป็นสาเหตุโรคมะเร็งจริงหรือ?

บรรจุภัณฑ์ประเภท “โพลีสไตรีน” หรือ “โฟม” เป็นพลาสติกชนิดหนึ่งที่นิยมใช้เป็นภาชนะใส่อาหารเย็นและอาหารร้อน อันตรายจากการใช้พลาสติกประเภทนี้ คือ “สารสไตรีน” ซึ่งถูกจัดให้เป็นสารก่อมะเร็งในกลุ่ม 2B คือ สาร (สารประกอบ) หรือส่วนผสมที่น่าจะเป็นสารก่อมะเร็งในคน เนื่องจากสารสไตรีนเป็นสารละลายในน้ำมันและแอลกอฮอล์ได้ดี ดังนั้น หากนำภาชนะที่ทำจากโฟมใส่อาหารที่มีไขมันสูงหรือใส่อาหารร้อน เป็นกรด อาจทำให้ได้รับสารสไตรีนออกมาจากภาชนะ อย่างก๋วยเตี๋ยวน้ำร้อนจัด แถมมีการปรุงรสด้วยน้ำส้มเข้าไปอีก ก็อาจไปกระตุ้นให้สารสไตรีนออกมามากขึ้น แม้จะยังไม่มีการยืนยันว่ามะเร็งเกิดจากสิ่งนี้ แต่ก็นับว่าเราได้เพิ่มความเสี่ยงให้กับตัวเอง

จากชานอ้อยสู่บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก

 ไบโอชานอ้อย แพงแต่ดีระยะยาว

สำหรับราคาซื้อขายกล่องโฟมประมาณกล่องละ 0.50 บาท แต่มีราคาซ่อนเร้นถึงกล่องละ 328 บาท ราคาซ่อนเร้นคืออะไร? คำตอบคือ เป็นราคาที่เกิดจากการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งใช้เงินประมาณเดือนละ 7 หมื่น1 แสนบาท ขณะที่ผลิตภัณฑ์ไบโอชานอ้อยราคาขายประมาณกล่องละ 1.30 บาท แต่ไม่มีราคาซ่อนเร้นใดๆ ทั้งสิ้น เพราะทำจากธรรมชาติ 100% โดยในปี 2552 คนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง 56,058 ราย หรือ 88.34 รายต่อประชากร 1 แสนราย หรือคิดเป็น 156 รายต่อวัน โดยเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10.7 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2548

รู้หรือไม่ว่า จากการที่นักวิจัยพบว่าคนไทยทิ้งขยะพลาสติกและโฟมโดยเฉลี่ยคนละ 2.3 ชิ้นต่อวัน ถ้าคนไทยกว่า 60 ล้านคน พร้อมใจกันแยกขยะพลาสติกและโฟมออกมาเป็นสัดส่วน แล้วเอามากองรวมกัน ใน 1 ปี ก็จะได้ขยะจำพวกถุงพลาสติกและกล่องโฟมรวมกันประมาณ 2.3 x 60,000,000 x 365 = 50,370,000,000 ถุงหรือกล่อง

วิธีการทำขั้นตอนการผลิต

1.นำเอาเศษชานอ้อยมาตรวจสอบว่ามีเศษหิน เศษดิน สิ่งสกปรกแปลกปลอมติดมาหรือไม่ นำชานอ้อยไปผ่านกระบวนการปั่นบดล้างจนยุ่ยเป็นเนื้อละเอียด แล้วนำไปกรองโดยใช้น้ำเปล่าตีหมุนเอาเศษผงออก เหลือแต่ชานอ้อยบริสุทธิ์ 2.ผสมเนื้อเยื่อกับน้ำและแป้งมันหรือแป้งข้าวโพดบางส่วนให้เข้ากัน 3.ตีเยื่อให้เป็นเนื้อละเอียดบางๆ 4.กรองเนื้อเยื่อ 5.ขึ้นรูปแบบเปียก 6.ขึ้นรูปแบบแห้ง 7.ตกแต่งชิ้นงาน 8.ตรวจโลหะหนัก 9.ฆ่าเชื้อด้วยแสงยูวี 10.ตรวจสอบคุณภาพ 11.บรรจุหีบห่อ

แม้จะแพงกว่ากล่องโฟมบ้าง แต่ถือว่าเป็นการจ่ายเพื่ออนาคตที่ดีกว่า จ่ายเพื่อสุขภาพที่ดีของเราเอง รัฐจะได้ไม่ต้องเอาภาษีของเราไปกำจัดขยะที่ไม่มีวันหมดสิ้นเช่นนี้ สู้เอาเงินไปพัฒนาประเทศด้านอื่นดีกว่า เห็นด้วยไหมคะ

Thailand Web Stat