เรื่องของทุเรียน – ไม้ผลสูงค่าของคนไทย
โดย...ม.ล.จารุพันธ์ ทองแถม
โดย...ม.ล.จารุพันธ์ ทองแถม
ทุเรียนเป็นไม้ผลเขตร้อนที่รู้จักกันดีในบรรดาประเทศในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่เฉพาะแต่เมืองไทยเท่านั้น ชาวอินโดนีเซียเรียกว่า ดูเรน จึงไม่แน่ใจว่าคนไทยจะนำคำนี้มาใช้จนเพี้ยนไปว่าทุเรียนหรือเปล่า ที่ต้องให้เครดิตอินโดนีเซียก็เพราะ ทั้งอินโดนีเซียและมาเลเซียล้วนเป็นเจ้าของเกาะบอร์เนียว ซึ่งเป็นดินแดนแห่งความหลากหลายของทุเรียนป่านานาชนิด (Species) ดังนั้นจึงเชื่อได้ว่าศูนย์กลางแห่งการกำเนิดและกระจายพันธุ์ของทุเรียนในปัจจุบันน่าจะมาจากบริเวณป่าในบอร์เนียว ซาราวัก มินดาเนา จากนั้นจึงแพร่พันธุ์มาทางแหลมมลายูสู่ภาคใต้ของไทย อย่างน้อยชนิดของทุเรียนป่าในเมืองไทย (ภาคใต้) ก็มีทุเรียนป่าอยู่ 3–4 ชนิด เช่น ทุเรียนนก ทุเรียนดอน และ Durio Griffithii ซึ่งผลเล็กราวๆ หัวแม่โป้งเท่านั้นเอง ทั้งทุเรียนนก (Durio Mansoni) และทุเรียนดอก (D.Malacensis) ทุเรียนป่าเหล่านี้แต่ละต้นมีขนาดใหญ่ลำต้นสองสามคนโอบ โคนต้นมีพูพอนเล็กน้อย เนื้อไม้เลื่อยเป็นกระดานปลูกบ้านได้ จึงถูกตัดโค่นเสียเกือบไม่เหลือหลอ ผู้เขียนเคยออกป่าสำรวจพันธุกรรมทุเรียนร่วมกับอาจารย์สนั่น ขำเลิศ หัวหน้าโครงการศึกษาต้นตอทนโรคไฟทอพทอร่า รากเน่าของทุเรียน ซึ่งได้รับทุนวิจัยจากสภาวิจัยแห่งชาตินานหลายสิบปีแล้ว เราออกเก็บพันธุ์ทุเรียนป่ากันทั้งตามสวน ตามป่าในหลายจังหวัดภาคใต้ เดชะบุญในสมัยนั้นไม่มีไอ้โจรห้าร้อยดังเช่นทุกวันนี้ จะว่าไม่มีใครเสียเลยก็คงไม่ได้ เพราะเราเข้าไปในป่าที่นิคมที่กือลอง จ.ยะลา เข้าไปในสุคิริน ยังต้องมีทหารถือปืนกลคอยคุ้มกัน ทั้งๆ ที่เราเอาตัวพี่เทอด สุวรรณคีรี ผู้เชี่ยวชาญการยางจากสถานีคอหงส์ จ.สงขลา นำทางไปเป็นเพื่อนด้วยแท้ๆ ในป่าที่กือลอง (นิคมสร้างตนเองของกรมประชาสงเคราะห์) เราเข้าไปเก็บเมล็ดทุเรียนป่า (Durio Malaccensis) และ Durio Mansoni มาเพาะปลูกกันที่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เพราะมีรายงานว่า ทุเรียนป่าส่วนใหญ่มียีน (Genes) ที่ต้านทานโรค เช่น Phytophthora Palmivora ส่วน D.Wyatt–Smithii เป็นที่สนใจของนักผสมพันธุ์ เพราะมันอาจเป็นบรรพบุรุษใกล้ชิดกับทุเรียนที่เรากินกันอยู่ในปัจจุบัน (D.Zibethinus) ทุเรียนป่าดังกล่าวมีวงกลีบเลี้ยงสั้นกว่า แต่ยาวกว่า และมีหนามที่ผลเล็กกว่า
จำได้ดีว่าผลทุเรียนป่าเหล่านี้มีขนาดเท่ากำปั้นหรือเขื่องกว่าเล็กน้อย มันเกือบไม่มีเนื้อ (Aril) หุ้มเมล็ดอยู่เลย กระนั้นเวลามันหล่นลงจากเรือนยอดที่สูงขึ้นไป 20 เมตร ถ้าเคราะห์หามยามร้ายถูกกลางศีรษะเข้าคงจอดไม่ต้องแจวเป็นแน่ เรารีบช่วยกันเก็บผลและเมล็ดใส่ถุงและออกจากใต้เรือนพุ่มของมันอย่างรวดเร็ว เหตุผลหนึ่งซึ่งเรามองไม่เห็นต้นทุเรียนป่าขึ้นเบียดเสียดกันก็คือ เจ้าสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก กระแต หนู และเม่น ซึ่งมีชุกชุมในป่าจะมาแทะเมล็ดกินอาหารเลี้ยงตัวอ่อน (Endosperm) กินเสียหมดนั่นเอง
ต้นทุเรียนที่ได้จากการเพาะเมล็ดนี้จะมีลักษณะหลากหลายมากในอินโดนีเซียและมาเลเซีย จะมีการเพาะเมล็ดปลูกและมีโปรแกรมคัดเลือกต้น (Clonal Selection) กันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว จึงได้ออกมาเป็นโคลน (Clones) หรือต้นคัดเบอร์ต่างๆ ซึ่งผู้เขียนเคยได้รับเชิญให้ไปชิมผลจากต้นชนะเลิศของมาเลเซีย บอกได้เลยว่าคัลติวาร์นั้นสุดยอดจริงๆ เพราะทั้งหอมทั้งหวาน ทั้งมัน เนื้อละเอียด สีเหลืองเข้ม ทาง MARDI (Malasian Agricultural Research Development Institute) ที่เป็นหน่วยงานวิจัยและพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองของมาเลเซีย กล่าวว่า ทุเรียนพื้นเมืองของมาเลเซียถูกใจคนจีนและคนมาเลย์มากกว่าพันธุ์ของเมืองไทย เพราะของเขาดุเดือดเผ็ดมันกว่านั่นเอง ความจริงทุเรียนพื้นเมืองภาคใต้ของไทยเราก็มีมากมาย แต่ของไทยไม่มีหน่วยงานใดคิดการคัดเลือกปรับปรุงพันธุ์ทุเรียนพื้นบ้านปักษ์ใต้ของเรา ทั้งๆ ที่ประชาชนในท้องถิ่นภาคใต้นิยมบริโภคพันธุ์พื้นเมืองมากกว่าพันธุ์ทุเรียนจากภาคกลาง เช่น หมอนทอง ชะนี ฯลฯ
การคัดเลือกพันธุ์ทุเรียนพื้นบ้านของไทย จะทำได้โดยการตั้งกรรมการผู้มีความรู้ด้านทุเรียนปักษ์ใต้มาตั้งกฎเกณฑ์การพิจารณาลักษณะทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองที่ดีเด่น การจัดประกวดพันธุ์ทุเรียนและติดตามให้ทราบแหล่งที่มาของพันธุ์ทุเรียนที่ดี จากนั้นอาจนำไปซึ่งการปรับปรุงคุณภาพพันธุ์ทุเรียนพื้นบ้านที่ดี โดยการผสมข้ามต้นข้ามพันธุ์ในอนาคต
เรื่องของทุเรียนยังมีต่อครับ