ชื่อของดาวฤกษ์

19 สิงหาคม 2555

ดาวฤกษ์ที่เราเห็นได้บนท้องฟ้าเวลากลางคืนราว 20-30 ดวง มีชื่อเรียกขานที่นักดาราศาสตร์สมัครเล่นและผู้ที่สนใจการดูดาวรู้จักกันดี ส่วนดาวที่สว่างรองลงมาอีกหลายร้อยดวงก็มีชื่อเรียกยากๆ ที่ไม่สามารถจดจำได้ทั้งหมด จึงไม่แพร่หลายนัก

ดาวฤกษ์ที่เราเห็นได้บนท้องฟ้าเวลากลางคืนราว 20-30 ดวง มีชื่อเรียกขานที่นักดาราศาสตร์สมัครเล่นและผู้ที่สนใจการดูดาวรู้จักกันดี ส่วนดาวที่สว่างรองลงมาอีกหลายร้อยดวงก็มีชื่อเรียกยากๆ ที่ไม่สามารถจดจำได้ทั้งหมด จึงไม่แพร่หลายนัก

หลายคนรู้จักดาวซิริอัส (หรือซิริอุส–Sirius ตามความคุ้นเคยของคนไทย) ในกลุ่มดาวหมาใหญ่ อาจเป็นเพราะซิริอัสเป็นดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้า รวมทั้งดาวสว่างอีกหลายดวง เมื่อกล่าวถึงก็ทราบได้ทันทีว่าเป็นดาวฤกษ์ดวงใด อยู่ในกลุ่มดาวอะไร เช่น ดาวอาร์กทูรัส (Arcturus) ในกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ ดาวเวกา (Vega) ในกลุ่มดาวพิณ ดาวเบเทลจุส (Betelgeuse) ในกลุ่มดาวนายพราน เป็นต้น

ดาวสว่างเหล่านี้ มีชื่อสามัญที่ใช้เรียกกันมาหลายพันปี ส่วนใหญ่ชื่อดาวที่เขียนด้วยอักษรโรมันในปัจจุบันจะมาจากภาษาอาหรับ อย่างไรก็ตามแต่ละอารยธรรมต่างก็มีชื่อเรียกดาวที่ต่างกัน เช่น ไทยเรียกดาวซิริอัสว่าดาวโจร (นิยมเรียกทับศัพท์มากกว่า) เรียกดาวอาร์กทูรัสว่าดาวดวงแก้ว หรือดาวยอดมหาจุฬามณี เรียกดาวสไปกา (Spica) ในกลุ่มดาวหญิงสาวว่าดาวรวงข้าว ดาวอัลเดบารัน (Aldebaran) คือดาวตาวัว หรือดาวโรหิณี เป็นต้น

ชื่อของดาวฤกษ์

 

ดาวจำนวนมากไม่มีชื่อสามัญ โยฮันน์ ไบเออร์ (Johann Bayer) นักดาราศาสตร์ชาวเยอรมัน เป็นคนแรกที่เริ่มกำหนดชื่อดาวฤกษ์ในกลุ่มดาวแต่ละกลุ่มด้วยอักษรกรีกตัวตาม (ตัวเล็ก) เผยแพร่ลงในแผนที่ดาวอูราโนเมเทรีย (Uranometria) ที่เขาจัดทำขึ้น และเผยแพร่ในปี ค.ศ. 1603

การตั้งชื่อดาวในระบบของโยฮันน์ ไบเออร์ นี้ เรียกว่าระบบเบเยอร์ (เขียนเป็นภาษาไทยตามการออกเสียงในภาษาอังกฤษ) ส่วนใหญ่กำหนดให้ดาวที่สว่างที่สุดชื่อ แอลฟา (Alpha) รองลงมา คือ บีตา (Beta) แกมมา (Gamma) เดลตา (Delta) ... หลังอักษรกรีกจะตามด้วยชื่อกลุ่มดาวที่ดาวดวงนั้นปรากฏอยู่ โดยเขียนชื่อกลุ่มดาวในรูปการกเจ้าของ (Genitive Case) เช่น ดาวแอลฟานายพราน (Alpha Orionis) คือดาวดวงที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวนายพราน (Orion) บางกรณีไม่เรียงตามความสว่าง แต่เรียงจากส่วนหัวของกลุ่มดาวไล่ไปยังส่วนท้าย เนื่องจากความสว่างอาจใกล้เคียงกันจนแยกแทบไม่ออก ดังนั้นดาวแอลฟาในกลุ่มดาวบางกลุ่ม จึงไม่ใช่ดาวดวงที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวนั้นเสมอไป

การตั้งชื่อดาวในระบบเบเยอร์เป็นระบบที่นิยมใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน นักดาราศาสตร์จึงจำเป็นต้องจดจำ หรืออย่างน้อยต้องรู้จักอักษรกรีก การที่อักษรกรีกมีจำกัดเพียงแค่ 24 ตัว แต่ดาวฤกษ์ในกลุ่มดาวแต่ละกลุ่มมีมากกว่านั้น หากอักษรกรีกถูกใช้หมดแล้วก็จะใช้ตัวอักษรละติน (โรมัน) ตัวตาม (a b c) และตัวนำ (A B C) บางครั้งจะพบว่าดาวหลายดวงที่อยู่ใกล้กัน มีชื่อเป็นอักษรกรีกเหมือนกัน แต่ตามด้วยตัวเลข เช่น บีตา 1 กับบีตา 2 เป็นต้น โดยเขียนตัวเลขเป็นตัวยก อยู่หลังอักษรกรีก

ราวปี ค.ศ. 1712 จอห์น แฟลมสตีด (John Flamsteed) นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ ริเริ่มการกำหนดชื่อดาวเป็นตัวเลข เริ่มต้นจากดาวดวงที่อยู่ทางตะวันตกไล่ไปทางตะวันออก ภายในกลุ่มดาวนั้นๆ เช่น ดาว 12 แมงป่อง คือ ดาวดวงที่ 12 ในกลุ่มดาวแมงป่อง ดาวดวงนี้อยู่ทางตะวันออกของดาว 11 แมงป่อง และอยู่ทางตะวันตกของดาว 13 แมงป่อง เป็นต้น ระบบการเรียกชื่อดาวของแฟลมสตีดได้รับการยอมรับและใช้กันมาถึงปัจจุบันเช่นเดียวกับระบบเบเยอร์ แต่มักนิยมใช้ก็ต่อเมื่อดาวฤกษ์ดวงนั้นไม่มีชื่อเป็นอักษรกรีก

บนท้องฟ้ายังมีดาวฤกษ์จางๆ อีกจำนวนมากที่ไม่มีชื่อในระบบที่กล่าวมาทั้งสองระบบ การจัดทำแค็ตตาล็อกดาวทำให้ดาวทุกดวงต่างก็มีชื่อหลายชื่อ ขึ้นอยู่กับแค็ตตาล็อกที่อ้างถึง เช่น ดาวแอนทาเรส (Antares) หรือดาวปาริชาตในกลุ่มดาวแมงป่อง มีชื่อในระบบเบเยอร์ว่าแอลฟาแมงป่อง ส่วนชื่อในระบบแฟลมสตีด คือ 21 แมงป่อง และยังมีชื่อเป็นตัวเลขตามแค็ตตาล็อกต่างๆ อาทิ TYC 680321581, PPM 265579, SAO 184415, HD 148478 เป็นต้น

พ่อค้าหัวใสบางรายลงโฆษณาตามนิตยสารต่างๆ อ้างว่าสามารถรับจดทะเบียนตั้งชื่อดาวบนท้องฟ้าตามชื่อที่ลูกค้าต้องการ ซึ่งมักเป็นชื่อของคนรักเพื่อสร้างความประทับใจ การตั้งชื่อดาวในลักษณะดังกล่าวนี้ไม่เป็นทางการ ปกติการตั้งชื่อทางดาราศาสตร์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับและนำไปใช้งานจริง ไม่ว่าจะเป็นชื่อดาว ชื่อหลุมอุกกาบาต ภูเขา ดาวเคราะห์น้อย ฯลฯ เป็นหน้าที่ของหน่วยงานในสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล การตั้งชื่อโดยบริษัทเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อการค้า ถือว่าไม่เป็นทางการและอาจเข้าข่ายหลอกลวงได้

Thailand Web Stat