ธรรมดาของชีวิต
โดย...ว.วชิรเมธี ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย
โดย...ว.วชิรเมธี ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย
ในช่วงพรรษาสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ พระพุทธเจ้าทรงประกาศ “ปลงอายุสังขาร” คือ บอกแก่พุทธบริษัทสี่ว่า นับแต่นี้ไปอีก 3 เดือน จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พลันที่พระอานนท์พุทธอนุชาทราบเรื่องนี้ ก็รู้สึกตกใจ ทุกข์โทมนัสเป็นอันมาก
พระอานนท์คิดว่า คงต้องทำอะไรสักอย่างก่อนที่เหตุการณ์อันชวนวิปโยคนั้นจะมาถึงใน 3 เดือนข้างหน้า ในที่สุดท่านจึงกราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์ให้ทรงดำรงพระชนมายุอยู่ต่อไป แต่พระพุทธองค์ทรงมีพุทธดำรัสกับพระอานนท์ว่า อย่าพยายามร้องขอให้พระองค์มีพระชนม์อยู่ต่อไปอีกเลย เนื่องเพราะ “พระองค์ทรงชราภาพมากแล้ว พระวรกายไม่ต่างอะไรกับเกวียนเก่าคร่ำคร่าที่ผ่านการใช้งานมาแล้วอย่างหนัก มีสภาพทรุดโทรมเกินกว่าจะซ่อมแซมอีกต่อไป”
พระองค์ยังตรัสต่อไปอีกว่า “เป็นธรรมดาของสังขาร คือ สิ่งที่เกิดจากการปรุงแต่งซึ่งเมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ในที่สุดก็ต้องแตกดับไป ร่างกายของคนนั้นไม่ต่างอะไรกับหม้อดิน ที่ไม่เร็วก็ช้าต้องมีอันแตกดับไปเป็นธรรมดา”
พุทธดำรัสที่ว่า “มีอันแตกดับไปเป็นธรรมดา” นั้นสำคัญมาก เพราะสะท้อนความจริงว่า พระพุทธองค์ทรง “ยอมรับ” ความตายว่าเป็นเรื่องธรรมดาสามัญของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นในเบื้องต้น ก็ย่อมเปลี่ยนแปลงไปในท่ามกลาง และย่อมจะแตกดับไปในที่สุด
แต่สำหรับมุมมองของปุถุชนแล้ว การจะให้ยอมรับความตายว่า เป็นเรื่องสามัญนั้นไม่ใช่ง่าย คนส่วนใหญ่มักไม่ยอมรับการตายว่าเป็น “การแตกดับไปตามธรรมดา” เมื่อไม่ยอมรับ “ธรรมดา” แต่พากันฝืนธรรมดา ก็จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะต้องมีความทุกข์ ความโศก ความเศร้า เพราะการพลัดพรากจากคนอันเป็นที่รัก
ในฐานะที่เราทุกคนเป็นผู้ที่มอันจะต้องตายเป็นแน่แท้ในอนาคตอันใกล้ ดังนั้นเราจึงควรเรียนให้รู้จัก “ธรรมดาของชีวิต” ไว้เป็นภูมิคุ้มกันจิตใจไม่ให้วิตกอกไหม้เกินไป ในเมื่อความตายจะมาถึงตนเข้าวันใดวันหนึ่งอย่างแน่นอน
ธรรมดาของชีวิตที่มนุษย์ทุกคนต้องเรียนรู้เอาไว้ให้เท่าทันมี 5 ประการ
1.เราทุกคนมีความ “แก่” เป็นธรรมดา ไม่มีใครล่วงพ้นความแก่ไปได้
2.เราทุกคนมีความ “ป่วย” เป็นธรรมดา ไม่มีใครล่วงพ้นความป่วยไปได้
3.เราทุกคนมีความ “ตาย” เป็นธรรมดา ไม่มีใครล่วงพ้นความตายไปได้
4.เราทุกคนมีความ “พลัดพราก” เป็นธรรมดา ไม่มีใครล่วงพ้นความพลัดพรากไปได้
5.เราทุกคนมี “กรรม” เป็นสมบัติของตน ไม่ว่าเราจะทำกรรมดีหรือชั่วเอาไว้ก็ตาม เราจะต้องเป็นทายาทรับผลของกรรมนั้นด้วยตนเอง
โปรดสังเกตให้ดีว่า “จุดเปลี่ยน” สำคัญของชีวิตทั้ง 5 ประการนี้ พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่าเป็น “ธรรมดาของชีวิต” เท่านั้น ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ หรือปาฏิหาริย์อะไร
หากเราตระหนักรู้ว่า ปรากฏการณ์ต่างๆ ดังกล่าวมานี้คือ “ธรรมดาของชีวิต” ความทุกข์ก็บางเบาเหมือนลมพลิ้วแผ่วเหนือผิวน้ำเท่านั้น แต่หากเราไม่ยอมรับเรื่องธรรมดาว่าเป็นธรรมดา เจ้า “ธรรมดาของชีวิต” นี้เองก็อาจทำให้เราทุกข์หนักหนาสาหัสดังหนึ่งถูกขุนเขาหิมาลัยโถมทับจนแทบวายปราณ
ความทุกข์ในชีวิตของเราเป็นปฏิกิริยาผกผันกับความเข้าใจที่เรามีต่อโลกและชีวิตเสมอ หากเรารู้จักโลกและชีวิตตามความเป็นจริงมาก ความทุกข์ก็น้อย แต่หากเรารู้จักโลกและชีวิตน้อย ความทุกข์ก็มาก
ความทุกข์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต คือ ดัชนีชี้วัดภูมิปัญญาของเราแต่ละคนทุกข์มาก เพราะปัญญาน้อย
ทุกข์น้อย เพราะปัญญามาก
หมดทุกข์ เพราะถึงที่สุดแห่งปัญญา