posttoday

ภูเก็ตลูกผสม

15 กันยายน 2555

คนเรามักต้องการในสิ่งที่ตัวเองไม่มี ยกตัวอย่างคนที่มาจากความเจริญมักโหยหาความเก่าเพื่อคืนสู่จิตวิญญาณ

โดย...กาญจน์ อายุ

คนเรามักต้องการในสิ่งที่ตัวเองไม่มี ยกตัวอย่างคนที่มาจากความเจริญมักโหยหาความเก่าเพื่อคืนสู่จิตวิญญาณ แต่คนที่อยู่ในความโบราณมักโหยหาความใหม่ที่จะทำให้ชีวิตทันสมัย ความย้อนแย้งนี้ทำให้เกิดการเดินทางของคนสองที่ “จากที่เก่าสู่ที่ใหม่และจากที่ใหม่สู่ที่เดิม” เหมือนกับฉันในวันนี้ที่ได้ย้อนกลับไปยังอดีตของเมืองถลาง ซึ่งทำให้ฉันได้พบปะกับคนสองสัญชาติ “ชิโนยูโรเปียน”

คนเหล่านี้เป็นคนจีนผสมยุโรปที่มารวมตัวกันเป็น “เตี้ยมฉู่” หรืออาคารตึกแถวที่มีทางเดิน หรือ “หง่อคาขี่” ต่อเนื่องกันตลอด เป็นอาคาร 2 ชั้น โดยที่ชั้นบนและล่างมีหน้าต่างบานยาว บริเวณใต้หลังคาจะมีลายปูนปั้น ลายแตกต่างกันแล้วแต่เจ้าของบ้าน บ้างเป็นรูปสัตว์ บ้างเป็นรูปดอกไม้ ดูแล้วมีกลิ่นอายของจีน อินเดีย ไทย และยุโรป จนกระทั่งเสาบ้านก็ได้รับอิทธิพลจากยุโรปตั้งแต่ยุคคลาสสิกจนถึงยุคอาร์ตเดโค จึงดูยิ่งใหญ่และสวยงามไม่ต่างจากเสาในราชวัง และการเล่นสีก็เป็นสิ่งดูดตา เพราะแต่ละบ้านมีเอกลักษณ์เฉพาะบ้านใครบ้านมัน

ภูเก็ตลูกผสม

 

ถนนถลางและซอยรมณีย์มีสถาปัตยกรรมโบราณแบบชิโนยูโรเปียนที่ค่อนข้างสมบูรณ์ และยังคงวิถีชีวิตเก่าๆ ไว้มาก อย่างร้านตัดผม ร้านทำกรอบพระ ร้านกาแฟโบราณ ร้านขายผ้า ร้านขายยา โรงหมอ หรือโรงพิมพ์ ยังคงอยู่ในบ้านหลังเก่าที่บูรณะซ่อมแซมตามเวลาแต่ไม่ทันสมัย แต่ก็มีอยู่บ้างที่ได้ปรับเปลี่ยนให้เป็นร้านคอฟฟี่ช็อปและเกสต์เฮาส์จนทันสมัย และ “จงใจ” ทำให้เก่าแทน

พอได้เห็นก็พอดูออกว่าบ้านไหนคือบ้านคนถลาง หรือบ้านไหนถูกซื้อไปแล้ว ซึ่งถ้ามีเวลาอยากให้เดินหรือปั่นจักรยานชมเมืองเก่าภูเก็ตต่อ เพราะนอกจากถลางแล้วยังมีถนนอีก 5 ช่วง ที่บ้านเรือนมีลักษณะชิโนยูโรเปียน ได้แก่ ช่วงถนนภูเก็ต ถนนรัษฎาและถนนระนอง ช่วงถนนกระบี่และถนนสตูล ช่วงถนนดีบุก ถนนเยาวราช และตรอกสุ่นอุทิศ ช่วงถนนพังงาและถนนภูเก็ต และช่วงถนนเทพกระษัตรีและถนนมนตรี

แต่ก่อนไปถนนเส้นอื่น ขอเดินต่อบนถนนถลางอีกสักนิดเพื่อไปพบกับ “พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว ประเทศไทย” สถานที่ที่จะบอกเล่าเรื่องราวชาวจีนภูเก็ตและวัฒนธรรมต่างๆ ของพวกเขา อย่างเรื่องที่ว่าคนจีนภูเก็ตได้อพยพมาจาก 3 มณฑล ฮกเกี้ยน กวางตุ้ง และไหหลำ ตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา ตลอดจนการสานสัมพันธ์ การทำประโยชน์ และการเป็นส่วนหนึ่งของคนจีนภูเก็ตในจังหวัดนี้

ภูเก็ตลูกผสม

 

บางคนอาจตงิดใจว่าสถาปัตยกรรมภูเก็ตโบราณเขาเรียกว่า “ชิโนโปรตุกิส” ไม่ใช่หรือ คำตอบคือใช่ แต่การออกแบบและตกแต่งไม่ได้มีแค่แบบเดียว มันมีทั้งผสมโปรตุเกส ผสมยุโรป แต่ที่แน่ๆ ต้องมีผสมจีน ดังนั้นจึงขอใช้คำว่าสไตล์ชิโนยูโรเปียน ตามที่เอกสารของพิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัวเขียนไว้

เมื่อเห็นความเก่าที่ถลาง มันทำให้ฉันเสียดายความเก่า ณ ที่อื่น แต่อย่างไรก็ไม่ได้โทษความใหม่ที่เข้ามา เพียงแต่คิดว่าทำไมเราไม่แบ่งพื้นที่กัน “ให้ความใหม่ได้เกิดขึ้นและความเก่าไม่สิ้นไป” การพัฒนาและการอนุรักษ์ก็จะเกิดขึ้นไปพร้อมๆ กัน คนก็จะไม่ต้องโหยหาหาความเก่าหรือความใหม่ เพราะมันอยู่ด้วยกันอยู่แล้ว

แต่บางครั้งการเปลี่ยนแปลงก็ไม่นำพาความเลวร้ายมาเสมอ ถ้าการเปลี่ยนแปลงนั้นสร้างสรรค์และนำประโยชน์ที่ไม่ทำลายสิ่งเดิม ฉันกำลังพูดถึง “จุด” ท่องเที่ยวใหม่ในภูเก็ตที่เกิดขึ้นในแปลงนาของโรงแรมแอท พันตา

เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2555 แปลงนาของโรงแรมแอท พันตา ถูกปรับหน้าดินให้เรียบเพื่อพร้อมทำ “งานนิเวศศิลป์ชิ้นที่ 8” ในโครงการเทิดพระเกียรตินิทานแผ่นดิน ฉันเห็นกระบวนการทำงานชิ้นนี้ด้วยตาตัวเองผ่านจอโทรทัศน์ เพราะประจวบเหมาะนักที่ฉันเปิดไปช่องไทยพีบีเอสที่กำลังออนแอร์งานนิเวศศิลป์ หรือแลนด์อาร์ต (Land Art) งานนี้อยู่พอดี

ภูเก็ตลูกผสม

 

ในทีวีแสดงภาพเด็กนักเรียนและชาวบ้านช่วยกันขนอิฐ ต้นไม้ ก้มๆ เงยๆ ทำลวดลายให้เป็นรูปหัวใจและสามเหลี่ยม แต่ละภาพเล่าเรื่องราวการทำงานตั้งแต่เช้าจรดค่ำ และจากผืนดินโล่งเปล่ากลายเป็นผลงานที่เปี่ยมด้วยความหมาย งานชิ้นนี้ทำขึ้นภายใต้แนวคิด “พระเมตตาหยั่งรากลึกหนักหนา พระกรุณาธิคุณแผ่ไพศาล ดุจร่มใบไม้ให้ร่มเย็นยั่งยืนนาน พระบรมโพธิสมภารปกแผ่นดิน” แนวคิดอันลุ่มลึกของ อ.ทวี รัชนีกร ศิลปินที่ออกแบบแลนด์อาร์ตชิ้นที่ 8

และเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2555 ความคิดของ อ.ทวี รัชนีกร เผยเป็นรูปธรรมและจะอยู่อย่างสมบูรณ์ต่อไปถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2555 โดยการดูแลของโรงแรมแอท พันตา ภูเก็ต ที่จะรักษาแลนด์อาร์ตชิ้นนี้ไว้ให้คนภูเก็ตและนักท่องเที่ยวเข้ามาชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังสร้างนั่งร้านอย่างดีให้คนขึ้นไปชมงานมุมสูง ทำให้เห็นชิ้นงานได้ครบทุกองค์ประกอบ

รูปหัวใจที่เห็นในทีวีแท้จริงแล้วเป็นรูปใบโพธิ์ที่ อ.ทวี นำมาใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งธรรมะ และใบโพธิ์แต่ละใบต่างชี้ออกจากศูนย์กลางเป็นรูปวงกลมแทนเข็มทิศที่แผ่ออกไปโดยรอบ รวมแล้วผลงานชิ้นนี้ต้องการสื่อว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองแผ่นดินโดยทศพิธราชธรรม และชาวไทยทั่วทิศล้วนมีความสุขร่มเย็นเสมือนอยู่ใต้ต้นโพธิ์ร่มไทร

นิทานแผ่นดินชิ้นที่ 8 จะเป็นจุดท่องเที่ยวแห่งใหม่ของ จ.ภูเก็ต ต่างจากแลนด์อาร์ตอื่นที่สร้างลุล่วงแล้วก็เก็บหรือปล่อยไปตามธรรมชาติ ซึ่งทางโรงแรมแอท พันตา ได้เปิดอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยในวันนั้นมีรอง ผวจ.ภูเก็ต มากล่าวเปิดงาน และยังมีคุณอ้อยทิพย์ นิธิยานันท์ ผู้อำนวยการกองประชาสัมพันธ์ในประเทศ ททท. ที่ได้นั่งเครื่องบินจากกรุงเทพฯ มาร่วมแสดงความยินดีที่แอท พันตา ได้รักษางานศิลป์อันมีคุณค่าทางศิลปะและจิตใจของคนไทยไว้

ภูเก็ตลูกผสม

 

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทำให้แปลงนาส่วนหนึ่งของโรงแรมหายไป (ยังเหลือแปลงนาอีกส่วนไว้) แต่ไม่ใช่เรื่องน่าเสียดายแต่อย่างใด เพราะผืนดินยังคงอยู่ ยังคงสมบูรณ์อยู่ และยังคงมีประโยชน์อยู่ แต่เปลี่ยนจากประโยชน์ที่เป็นแปลงสาธิตทำนา เป็นว่าให้นักท่องเที่ยวทุกคนได้มาชมงานศิลป์และเข้าใจความหมายของคำว่าพระเจ้าแผ่นดิน

ฉันคิดว่าจะของเก่าหรือของใหม่เป็นสิ่งดีหมด ถ้าคนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าของสิ่งเก่า และคนรุ่นเก่ารู้จักพัฒนาแบบไม่ลืมตัวตน อย่างในภูเก็ตระหว่างถนนป่าตองกับถนนถลาง มันคือ “ความแตกต่างอย่างสุดขั้ว” แต่ถ้ามองในภาพรวมภูเก็ตก็ไม่ใช่จังหวัดท่องเที่ยวที่เละตุ้มเป๊ะ เพราะอย่างน้อยคนภูเก็ตก็ยังพยายามรักษาย่านเมืองเก่าที่เป็น “พื้นที่แห่งจิตวิญญาณ” เอาไว้ ซึ่งสิ่งนี้แหละคือเอกลักษณ์ของจังหวัดท่องเที่ยวในไทยอีกหลายที่ ที่แม้ว่าจะถูกเรียกว่าเมืองท่องเที่ยว แต่ก็ยังมีพื้นที่เล็กๆ ให้ความเก่ามีชีวิต

 

 

 


&<2288;

&<2288;

&<2288;