posttoday

เรื่องเล่า (ไม่กลัวน้ำ) พงศธร ทีฆธนานนท์

08 ตุลาคม 2555

มีนักปรัชญายุคปฏิวัติอุตสาหกรรมคนหนึ่งกล่าวไว้ว่า บ้านและเฟอร์นิเจอร์คือเครื่องจักรของการอยู่อาศัย จริงไม่จริง

โดย...วันพรรษา อภิรัฐนานนท์

มีนักปรัชญายุคปฏิวัติอุตสาหกรรมคนหนึ่งกล่าวไว้ว่า บ้านและเฟอร์นิเจอร์คือเครื่องจักรของการอยู่อาศัย จริงไม่จริง ตอบกันเอาเอง แต่ความเห็นส่วนตัวคือ ไม่ว่ายุคไหน มนุษย์ก็ชื่นชอบที่จะเสพดีไซน์ของทุกสิ่ง บ้านหรือเครื่องเรือนก็ไม่ยกเว้น อย่างไรก็ตาม ในยุคโลกร้อน เดือนสิบเอ็ดน้ำนอง เดือนสิบสองน้ำท่วม อาจต้องเพิ่มคุณสมบัติเครื่องเรือนให้กันน้ำได้ น้ำท่วมแล้วไม่เจ๊ง ลอยหลุดทรุดโทรมมะนัง

คนพูดเรื่องนี้ได้ดีที่สุด ไม่พ้น พงศธร ทีฆธนานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดคคอร์ส ช้อยส์ เจ้าของแบรนด์ ดีเคบีบี (Dkbb) แบรนด์เฟอร์นิเจอร์บิลต์อินระดับเวิลด์คลาส ผู้คิดค้นนวัตกรรมแวลู อินโนเวชัน พลัส หรือ วีไอพลัส วัสดุกันน้ำที่ทำให้เฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นไม่ต้องกลัวน้ำ (ท่วม) อีกต่อไป

“ผมว่าเป็นเรื่องถูกที่ ถูกเวลา วีไอพลัสเปิดตัวได้จังหวะตอนน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ลูกค้าเราหลายคนน้ำท่วมบ้าน บางคนนั้นครัวจมอยู่ในน้ำร่วม 2 เดือน แต่เฟอร์นิเจอร์ในบ้านไม่เป็นอะไร ก็ได้ลูกค้านี่แหละบอกกันปากต่อปาก จนดีเคบีบีเป็นที่รู้จัก โดยเฉพาะในโซเชียลเน็ตเวิร์ก” พงศธร เล่า

ชื่อเสียงคือความหอมหวาน แต่กว่าจะถึงวันนี้ การเดินทางใช้เวลายาวนานกว่า 20 ปี เรื่องราวของดีเคบีบี อาจกล่าวได้ว่า เริ่มต้นขึ้นจากความลังเลสงสัยในตัวเอง ช่วงนั้นเป็นช่วงสอบเข้ามหาวิทยาลัย ความลังเลสงสัยในคณะที่เลือกสอบ และความกล้าที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยน แม้ในตอนนั้นเจ้าตัวเองจะยังไม่แน่ใจนัก

เกิดและโตที่อุดรธานี พงศธร เล่าว่า เขาเป็นเด็กต่างจังหวัด รู้ตัวตั้งแต่บ้านนอกว่าอยากเรียนสถาปัตยกรรม แต่เด็กต่างจังหวัดไม่มีโอกาสฝึกเรียนเขียนแบบ ก็เลยต้องเลือกสอบเข้าคณะอื่น ถัดไปอีกปี เพื่อนชวนไปสอบเป็นเพื่อน คราวนี้พงศธรเลือกคณะสถาปัตยกรรมหมดทุกอันดับ

แล้วเป็นยังไง เขาสอบติดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยสอบติดเป็นคะแนนสุดท้ายของคณะสุดท้ายที่เลือก เขาบอกว่า เจียมตัวมาก เพราะไม่มีพื้นฐาน ไม่เคยติวศิลป์ รวมทั้งที่บ้านโดยเฉพาะมารดาไม่สนับสนุน อยากให้เรียนเศรษฐศาสตร์ เกษตรศาสตร์ ซึ่งสอบติดและเรียนมาแล้วตั้งปีหนึ่ง

เรื่องเล่า (ไม่กลัวน้ำ) พงศธร ทีฆธนานนท์

 

“ผมจำได้ว่านั่งรถมาจากอุดรฯ ในวันสุดท้ายที่ถ้าเราไม่ไปลงทะเบียนวันนี้ก็หมดสิทธิ นั่งคิดตลอดทาง ในที่สุดก็ยกหูโทรศัพท์ไปขออนุญาตแม่ ขอเลือกทางชีวิตของตัวเอง และจะรับผิดชอบสิ่งที่เลือกด้วยตัวเอง ผมไปลงทะเบียน ไม่มีผู้ปกครอง ต้องหาเอาแถวนั้น ได้รุ่นพี่ซึ่งเป็นพี่ชายเพื่อนช่วยเป็นผู้ปกครองให้”

พงศธร เล่าว่า เข้าห้องสมุดทุกครั้งที่ว่าง อ่านหนังสือและเข้มงวดกับตัวเองอย่างหนัก เนื่องจากเป็นหนึ่งในเจ็ดคนของคณะ ที่มีคะแนนท้ายสุดและออกอาการป้อแป้สุด สอบครั้งแรกได้เอฟรวด แต่ผลจากความพยายาม ผลการเรียนค่อยๆ ดีขึ้น ถือว่าเรารับปากกับพ่อแม่แล้ว ต้องทำให้ได้ ต้องยืนให้ได้

“เทอมแรกได้เกรด 3.6 ก็ยิ้มครับ สมกับที่ตั้งใจเรียน และกวดไล่ทันเพื่อนได้เสียที”

แม้จะพูดได้ว่าชอบการออกแบบ แต่มามั่นใจจริงๆ ก็คือตอนปี 3 กินนอนหลับไปคาที่ทำงาน ได้ตื่นนอนขึ้นด้วยกลิ่นไม้สักที่ลอยอวลอยู่ในบรรยากาศ เสียงเพื่อนบางคนกำลังเลื่อยไม้ ความรู้สึกตอนนั้นเองที่กระซิบบอกให้รู้ว่าเราเลือกถูกแล้ว เราชอบมันจริงๆ

ภาควิชาศิลปอุตสาหกรรมที่เรียน เป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งสอนเรื่องการคิด จบออกมาแล้วแม้จะยังไม่รู้ว่าจะยังไง แต่ชีวิตก็ดำเนินไป เก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ ก่อนจะเริ่มดำเนินธุรกิจของตัวเองที่บ้านเกิด ตั้งบริษัทผลิตเฟอร์นิเจอร์ ท่ามกลางคำวิจารณ์ของญาติพี่น้องว่า “เจ๊งแน่” (ฮา)

ไม่เจ๊งหรอก แต่ก็ลองผิดลองถูก คิดว่าวันนี้มีงาน พรุ่งนี้ช่างมัน บริษัทก็ค่อยๆ เดินมา ล้มบ้างเซบ้าง แต่ก็ลุกได้เสมอ มาเจอมรสุมใหญ่ตอนวิกฤตค่าเงินบาทช่วงปี 2540 ลูกค้าระวังการใช้จ่าย บอกลูกน้องว่า ต่อไปนี้ใครต่อเท่าไหร่ รับทำทุกราคา ขออย่างเดียวให้ลูกค้าเดินเข้ามาถามเท่านั้น

จนถึงปี 2553 พงศธร ตัดสินใจว่า ถึงเวลาแล้วที่จะเข้ากรุงเทพฯ ถึงเวลาขึ้นเวทีใหญ่ ช่วงนั้นงานเราเริ่มดี งานมากขึ้น ลูกค้ามากขึ้น ตลาดก็กว้างขึ้น การเปิดตัวแบรนด์ดำเนินไปภายใต้แนวคิดว่า จะทำผลิตภัณฑ์ให้ดีที่สุดได้อย่างไร ขณะเดียวกันคือการหาจุดขายที่แข็งแกร่ง หาพื้นที่ให้ตัวเองในตลาดใหญ่

“มากรุงเทพฯ ต้องมีไม้เด็ด เราตั้งใจจะทำแบรนด์ไม่บวมน้ำ ซึ่งเป็นปัญหาส่วนใหญ่ของเฟอร์นิเจอร์ครัว บังเอิญเป็นจังหวะที่กรุงเทพฯ น้ำท่วมใหญ่ แจ้งเกิดได้เพราะลูกค้าโพสต์รูปลงเน็ต แล้วเล่าลือไปในฐานะเฟอร์นิเจอร์กันน้ำ”

พงศธร เล่าว่า ใช้ชื่อดีเคบีบี เพื่อสื่อความครอบคลุมเฟอร์นิเจอร์ชุดหลักของบ้าน ได้แก่ คิทเช่น หรือชุดครัว บาธรูม ห้องน้ำและห้องนอน ส่วนคำว่าดี ล้อมาจากคำว่า ดี ในภาษาไทย ดีเคบีบีจุดเด่นคือไม่แพง เปรียบเทียบเฟอร์นิเจอร์คุณภาพเดียวกันกับต่างประเทศ แบรนด์ของบริษัทถูกกว่าประมาณ 3 เท่า แถมฟังก์ชันการใช้งานก็ตอบสนองลูกค้าดีกว่า

“ดีเคบีบี แบรนด์เล็กก็จริง แต่เราทำในสิ่งที่ทำได้ยาก และจะพยายามคิดค้น ทำในสิ่งที่ยากขึ้นและดีขึ้นเรื่อยๆ”