ไม้ต้นดอกหอมบนป่าดิบเขาสูงของไทย
โดย...ม.ล.จารุพันธ์ ทองแถม
โดย...ม.ล.จารุพันธ์ ทองแถม
ทั้งจำปา จำปี เป็นไม้ต้นที่ดอกส่งกลิ่นหอม เป็นที่นิยมปลูกกันแพร่หลาย เป็นไม้ประดับสวนแบบไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ ดอกของพืชดังกล่าวจัดเป็นดอกเดี่ยวขนาดบานปานกลาง แต่ดูโดดเด่นสะดุดตา เพราะมีสีขาวอมเหลือง หรือสีม่วงแดง ทั้งจำปาและจำปีให้ดอกที่มีความแปลกกว่าดอกไม้อื่นที่ปราศจากกลีบรองกลีบดอก คงมีแต่กลีบดอกเพียงอย่างเดียว มักมี 9 กลีบ แต่อาจมีมากกว่านี้ก็ได้ เกสรเพศผู้มีจำนวนมากและอยู่ในตำแหน่งต่ำกว่าเกสรเพศเมีย
บนดอยสูง เช่น ดอยอินทนนท์ ที่เขตดอยผาตั้งในป่าทึบหลังบ้านพัก เราได้พบกับต้นมณฑาดอย ซึ่งอยู่ร่วมวงศ์เดียวกับ จำปี จำปาป่า คือ วงศ์แมกโนเลีย (Magnoliaceae) มันส่งกลิ่นหอมแรง เราเพาะเมล็ดขยายพันธุ์ไว้ได้หลายสิบต้น เพราะทั้งสกุลไม้มณฑาดอย (Magnolia) สกุลไม้จำปา (Michelia) สกุลไม้จำปีป่า (Paramichelia) และสกุลแมงลีเทีย (Manglietia) นี้ล้วนแต่เป็นไม้หวงห้าม
จำปีป่า หรือมณฑาดอย (Magnolia Henryi) นี้ จัดเป็นไม้หวงห้ามเพียงชนิดเดียว ไม้ชนิดนี้จัดเป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ บางต้นสูง 30–40 เมตร พืชสกุลแมกโนเลียอีกชนิดที่พบเป็นไม้ปลูกกันทั่วไป คือ ยี่หุบ (M.coco) จัดเป็นไม้พุ่มจากจีนที่มีการขยายพันธุ์จำหน่ายกันทั่วไปในสวนจตุจักร หาซื้อได้ไม่ยากนัก แต่ควรเลือกที่ปลูกให้ได้รับอากาศเย็นจึงจะออกดอกดก บนภูเขายังมีต้นไม้ขนาดเล็กสกุลจำปีอีกชนิด ได้แก่ จำปีเขา (M.craibiana) ซึ่งหาได้ไม่ง่ายนัก
จำปีป่า หรือมณฑาดอยนี้ บางคนเรียกว่า จำปีดง มันมีลำต้นสูงเปลาดูกลมกลึงงดงามดังลำเทียน วัดเส้นผ่านศูนย์กลางได้ตั้งแต่ 150–300 ซม. ขึ้นอยู่กับอายุของมัน เปลือกหุ้มลำต้นสีเทา มักพบช่องอากาศขนาดใหญ่สีน้ำตาลเข้ม ใบยาวรี เนื้อใบแข็งขนาด 10x30 ซม. บางครั้งขนาด 22x60 ซม. ปลายใบแหลมหรืออาจมนกลมก็ได้ ขอบใบเป็นคลื่น ดอกเกิดที่ส่วนยอด ดอกสีขาว เกสรตัวผู้มากมายเรียงซ้อนกัน ผลแข็งสีเขียว ภายในมีเมล็ดสีแดง 2 เมล็ด
ต้นมณฑาดอยจะออกดอกทุกปีในช่วงฤดูหนาว ผลแก่ในฤดูแล้ง เรามักพบมณฑาดอยริมลำธารในหุบเขาระดับสูง 800–1600 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
เนื้อไม้ต้นจำปีป่านิยมใช้ในงานก่อสร้างเฟอร์นิเจอร์และใช้ทำหีบศพ เนื้อไม้สีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อไม่หยาบ แต่เป็นมันเหนียว แต่อาจไสกบเลื่อย และตกแต่งง่าย ขัดชักเงาได้ดี จัดเป็นไม้หวงห้ามมิให้ตัดฟัน
สกุลไม้จำปี จำปา (Michelia) สกุลนี้ อาจพบทั้งไม้ต้นและไม้พุ่ม ใบรูปยาวรี รูปหอกยาว ขอบขนาด ดอกเดี่ยว เกิดตามง่ามใบ ดอกส่งกลิ่นหอม จัดเป็นดอกสมบูรณ์เพศ กลีบดอกมีจำนวน 6–12 กลีบ กลีบขนาดต่างกัน เกสรตัวผู้จำนวนมากในป่าประเทศไทยพบถึง 6 ชนิด แต่ถูกประกาศเป็นไม้หวงห้าม 4 ชนิด และอีก 2 ชนิด เป็นไม้ประดับ เช่น ต้นจำปีแขก (Michelia Figo) ซึ่งมาจากประเทศจีน ส่วนจำปี (Michelia Alba) นั้น เป็นไม้ต้นขนาดปานกลาง ดอกสีขาว เป็นไม้ต่างถิ่น (แพร่มาจากตอนกลางของเกาะชวา อินโดนีเซีย) ส่วนต้นจำปีหลวง (M.rajaniana) นั้น มีดอกสีขาว–ครีม พบในป่าดงดิบเขาที่ จ.เชียงใหม่ ระดับปานกลาง ต้นจำปีน้อย (M.floribunda) ดอกขนาดเล็กสีขาวครีม พบตามลำธารบนภูเขาระดับสูงปานกลาง ชาวบ้านเรียกว่าต้นจำปีป่า หรือแก้วมหาวัน ต้นขนาดปานกลาง พบตามป่าดิบเขาภาคเหนือ ออกดอกในฤดูร้อนทุกปี
ต้นจำปีดง (Michelia sp.) พบในป่าดิบเขาระดับสูง 1,200–1,300 เมตร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะคล้ายแก้วมหาวัน ผิดกันที่เกสรเพศเมียมีขนสีน้ำตาลอมแดงปกคลุม จำปี (M.maingayi) เป็นไม้พุ่มซึ่งปลูกกันทางภาคใต้และมาเลเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนัง ดังนั้นจึงเรียกกันว่า จำปีปีนัง แต่ปัจจุบันหาได้ยาก
จำปี (M.alba) ซึ่งถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในเกาะชวา อินโดนีเซียนี้ เป็นที่นิยมกันในบาหลี เพราะให้ดอกที่หอมเย็นชื่นใจ นิยมใช้บูชาเทพในศาสนาฮินดู ดอกใช้สกัดน้ำมันหอมสีเขียวที่มีสารเคมีลินาโลล (Linnalol) เมทิล–ยูจีนอล (Methyl–Eugenal) เมทิล–เอทิล–แอซิติก แอซิด (Methyl–Ethyl–Acetic Acid) และความหอมที่ได้มาจากเอสเตอร์ (Ester) ของมันนั่นเอง
จำปีนี้นอกจากให้ดอกหอมแล้ว ยังให้เนื้อไม้ที่มีคุณภาพสูงอีกด้วย ส่วนเรื่องของจำปาคงจะกล่าวถึงในโอกาสต่อไปครับ