ยืดอายุกระดาษเป็นถุงทนทาน ด้วยการ ‘RE’
โดย...จตุรภัทร หาญจริง กิจจา อภิชนรจเรข
โดย...จตุรภัทร หาญจริง กิจจา อภิชนรจเรข
“เรานำวัสดุใหม่มา ‘RE’ ให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ใช้งานได้จริง สวย ทน โก้ และสามารถยืดอายุวัสดุออกไปได้” นี่คือคำกล่าวของสองนักสร้างสรรค์ เจ้าของผลงานร่วมในผลิตภัณฑ์ตรา “RE” โดย ฝนเพ็ญนภา โชติเลอศักดิ์ (ผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่จบการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิจิตรศิลป์ สาขาจิตรกรรม) และ อ้อขวัญหทัย ตัณฑ์เกยูร (ที่ปรึกษาฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์/รีเทล แมเนเจอร์ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบทีซีดีซี)
ด้วยแนวคิดดังกล่าวทำให้ผมถึงกับตกหลุมรักถุงกระดาษหน้าตาน่าใช้เมื่อแรกเห็น คงเป็นด้วยวัสดุกระดาษที่ฝนบอกว่าเป็นกระดาษชนิดพิเศษสุดๆ ด้วยกระมัง
“พิเศษสุดจริงๆ ค่ะ เพราะมันเป็นกระดาษที่มีเส้นใยของผ้ากับพลาสติกผสมกันอยู่ วัสดุชิ้นนี้เลยเหนียว ทนทาน เบา กันน้ำ และฉีกไม่ขาด ตามปกติกระดาษนี้เอาไว้ทำเป็นซองพัสดุ อีกทั้งยังใช้ในอุตสาหกรรมใหญ่ เช่น ที่คลุมรถยนต์ ชุดกันสารเคมี และที่คลุมพวกงานก่อสร้าง”
กระดาษที่ฝนกล่าวมา คือกระดาษสีขาวของตรายี่ห้อ Tyvek ที่เป็นลิขสิทธิ์ของ Dupont อีกทั้งยังมีกระดาษสีน้ำตาลของตรายี่ห้อ Kraft Fabric Paper ที่ใช้ทำป้ายกางเกงยีนส์ เป็นวัสดุหลักในการทำผลิตภัณฑ์ตรา “RE” นี้อีกด้วย
“พอดีฝนทำงานแฮนด์เมดพวกผ้าอยู่แล้ว พอคิดอยากเปลี่ยนเป็นวัสดุอื่น ฝนเลยนึกถึงวัสดุกระดาษเหล่านี้ที่ฝนเห็นในเว็บไซต์ จากนั้นฝนก็พยายามหาตัววัสดุเหล่านี้มาทำ ซึ่งหายากมาก แต่ก็หาจนเจอค่ะ”
สำหรับการออกแบบ ฝนบอกผมว่า พยายามออกแบบถุงให้เป็นไปในรูปแบบถุงหิ้วที่คนคุ้นเคย ไม่อยากให้หวือหวามาก โดยใช้กระดาษสีน้ำตาลเป็นฐาน เพราะมันทานทนกว่า ทำให้ตั้งวางได้ดีกว่า บางแบบก็ใช้วัสดุกระดาษสีน้ำตาลล้วน ซึ่งอ้อก็ได้พูดเสริมว่า อยากให้มันเป็นผลิตภัณฑ์แบบเรียบๆ ที่ตัววัสดุสามารถขายตัวมันเองได้มากกว่า
“หลังจากที่ฝนตัดเย็บถุงกระดาษมาให้อ้อดู อ้อก็ต้องมีการตรวจงานแบบละเอียด ถ้าไม่ผ่านก็ให้ฝนกลับไปทำใหม่ เพราะอ้อมีภาพที่เห็นไว้แล้วว่ามันจะออกมาเป็นยังไง ซึ่งอ้อจะบอกฝนเสมอว่าเราต้องทำสินค้าเพื่อขายได้ ต้องคำนึงถึงการใช้งานได้จริง สวย โก้ ทนทาน อย่างคนไม่รู้จักวัสดุ จะเกิดคำถามว่าขาดมั้ย เปียกน้ำได้มั้ย ซึ่งเราก็ต้องบอกว่าลองเอาไปใช้ พอเขาเอาไปใช้งานแล้ว เขาก็รู้เองว่ามันใช้งานได้จริงตามที่เราบอก พอจะซื้อใช้คราวต่อไปก็ไม่ถามแล้ว ด้วยตัววัสดุมันสามารถขายตัวมันเองได้เป็นอย่างดี” อ้อ กล่าว
“สำหรับฝน ฝนยินดีและเต็มใจที่จะกลับไปแก้ไขงานให้ดีที่สุดค่ะ” ฝน เสริม
หากย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น อ้อเล่าให้ผมฟังว่า ฝนได้เข้าร่วมโครงการ “การสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์และความคิดสร้างสรรค์ ปี 25532555” (ซึ่งเป็นโครงการร่วมระหว่างกรมส่งเสริมกระทรวงอุตสาหกรรมกับศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ) มาตลอดทุกปี อย่างปีล่าสุดก็เข้ารอบ 100 คน แต่ไม่เข้ารอบ 50 คนสุดท้าย แต่อ้อก็ยินดีให้คำปรึกษาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ของฝนต่อไป
“คงเป็นเพราะอ้อเห็นตัววัสดุนี้แล้ว รู้สึกว่าวัสดุนี้นี่แหละตอบโจทย์ความต้องการของคนในปัจจุบันมากที่สุด เพราะคนต้องการที่จะใส่ของที่เวลาหิ้วหรือถือไปไหนต่อไปไม่หนักมือจนเกินไป อีกทั้งเมื่อตรวจดูวัสดุแล้วก็ค้นพบว่ามันทนทานกับทุกสภาพอากาศและทุกสภาพแวดล้อม เปื้อนหรือเลอะเทอะก็ซักล้างได้ ไม่ฉีกขาดเปื่อยยุ่ย อีกทั้งราคาก็ไม่แพงจนเกินไป ทำให้องค์ประกอบโดยรวมน่าสนใจ แต่ติดอยู่ที่หน้าตาในตอนแรกยังดูไม่ใช่ เพราะฝนทำมาแบบถุงกระดาษเป็นสีขาว หูหิ้วเป็นกระดาษสีน้ำตาล เราก็เลยคิดว่าทำหูหิ้วเป็นสายหนังดีกว่าไหม ถ้าเป็นกระดาษอย่างเดียวมันอาจไม่น่าสนใจในสายตาผู้บริโภค แต่พอฝนไปปรับแก้ให้หูหิ้วเป็นสายหนัง มันเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น พอคนจับ เขาก็เข้าใจได้ง่ายขึ้นว่านี่คือกระเป๋าที่ดูมีมูลค่า น่าถือ น่าใช้งาน”
ฝนกล่าวเสริมว่า ตอนแรกที่ทำผลิตภัณฑ์นี้มาเพื่อเข้าร่วมโครงการก็ทำมาในแบบของฝน แต่พอมาเจออ้อที่ยินดีเป็นที่ปรึกษาให้ และพยายามปรับแก้ตาม ฝนก็รู้สึกได้เองว่าผลิตภัณฑ์ดูเข้าตามากขึ้น
“ที่สำคัญคือ อ้อพยายามบอกฝนเสมอว่า ต้องเป็นถุงประดาษที่ใช้งานได้จริง และต้องทำเป็นเซต เพราะมันจะช่วยในเรื่องของการจัดวางให้ผลิตภัณฑ์ดูมีความหนักแน่นมากขึ้น” อ้อ กล่าว
หลังจากปรับแก้ผลิตภัณฑ์กันอยู่พอสมควร ในที่สุด ผลิตภัณฑ์ถุงกระดาษที่ RE สินค้าใหม่ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ก็ได้วางจำหน่ายที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ทยอยวางร้านลอฟท์สาขาต่างๆ และร้านอีโคช็อป อีกทั้งยังได้ไปจัดแสดงในงาน ThaiDanish Creative Design Exhibition ที่ประเทศเดนมาร์กอีกด้วย
“ตอนที่เราไปจัดแสดงที่นั่น เราประทับใจคนเดนมาร์กมาก เพราะตอนที่เขาเห็นผลิตภัณฑ์ของเรา เขาประทับใจมาก จนอยากเป็นเจ้าของและควักเงินซื้อแบบยินดีที่จะจ่าย” อ้อ กล่าวด้วยความประทับใจ
“แล้วเว็บไซต์ดีไซน์บูมก็คัดเลือกผลงานของฝนไปลงในเว็บไซต์ด้วยค่ะ วันที่ 2730 ต.ค.นี้ ฝนก็จะได้นำผลิตภัณฑ์นี้ออกแสดงและขายที่ประเทศญี่ปุ่นในงานโตเกียว ดีไซน์ วีก” ฝน กล่าวเสริมด้วยรอยยิ้มกว้างแห่งความภาคภูมิใจ
“อ้อเห็นฝนเดินทางมาได้ไกลมากขึ้นแล้วก็รู้สึกภาคภูมิใจ ฝนมาไกลได้ด้วยความมุ่งมั่นของเขาเอง ที่ทีซีดีซีเพียงแค่ให้คำแนะนำ ส่งเสริม และสนับสนุน ซึ่งที่นี่ก็ได้สร้างผู้ประกอบการที่สร้างผลงานได้จนสำเร็จมาแล้วหลายราย นี่ถือเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของเรา”
สำหรับผลิตภัณฑ์ถุงกระดาษรีไซเคิลนี้ หลังจากวางจำหน่ายมาได้สักระยะก็มีกระแสตอบรับที่ดี “มีทั้งคนไทยและคนต่างชาติที่ซื้อค่ะ สั่งทีละเยอะๆ แล้วไปติดโลโก้ของตัวเองเพื่อขายต่อก็มี หรือซื้อไปเพื่อเป็นของที่ระลึกแบบพรีเมียมก็มีเหมือนกัน” ฝนกล่าวต่อว่า สำหรับราคาจะกำหนดราคาเป็น 4 แบบ คือ ไซส์เอส ราคา 450 บาท ไซส์เอ็ม ราคา 550 บาท ไซส์แอล ราคา 650 บาท และไซส์ใหญ่สุด ราคา 750 บาท “แต่ฝนก็คิดเอาไว้ว่าในอนาคต ผลิตภัณฑ์ตัวนี้ยังสามารถออกแบบไซส์ใหญ่กว่านี้ได้อีกค่ะ”
อ้อ กล่าวเสริมว่า ตอนนี้ฝนก็ผลิตถุงและกระเป๋าที่มีซิปแล้ว แต่รอให้เข้าที่เข้าทาง คงได้ออกจากจำหน่ายในเร็ววัน
นอกจากการได้เห็นผลิตภัณฑ์รีไซเคิลที่ใช้งานได้จริง สวย โก้ ทนทาน และราคาย่อมเยา ผมยังได้เห็นแววตาแห่งความมุ่งมั่นตั้งใจของสองคนนี้ ที่อยากเห็นผลงานของตัวเองเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง เรามาช่วยกันทำให้ความอยากของทั้งสองเป็นจริงกันตั้งแต่วันนี้ดีไหม อย่างน้อยก็ได้สนับสนุนผลงานที่มาจากความตั้งใจของคนไทย “คนบ้านเดียวกับเรา”
ที่มาของชื่อผลิตภัณฑ์ ‘RE’
การรีที่นำวัสดุใหม่มาทำเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อยืดอายุการใช้งานของวัสดุให้ยาวนานขึ้น
(ล้อมกรอบ 2)
รีไซเคิลของเก่า ต้องไม่ทำให้เป็นขยะ
หากอยากรีไซเคิลของเก่า ต้องไม่ทำให้ผลิตภัณฑ์ดูเป็นขยะมากจนเกินไป ถึงแม้จะเป็นเศษวัสดุ ก็ต้องทำเศษวัสดุนี้ให้สวย ไม่ควรทำหยาบๆ เพราะคนจะไม่อยากหยิบ ไม่อยากซื้อไปใช้
(ล้อมกรอบ 3)
เคล็ดลับการรีไซเคิลทั้งของเก่าเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ และวัสดุใหม่ที่รีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่
1.ทำผลิตภัณฑ์ให้หน้าตาน่าซื้อน่าใช้ถูกใจท้องตลาด
2.ทำให้ลูกค้าเกิดคำถามให้น้อยที่สุด เคยชินกับหน้าตาของผลิตภัณฑ์ให้มากที่สุด
3.ไม่ควรทำให้ลูกค้าได้รับอันตรายจากความคมหรือความเก่าของผลิตภัณฑ์