posttoday

วิ่งทุย

03 พฤศจิกายน 2555

วิ่งรถในเมืองชลบุรีแลซ้ายแลขวากี่ทีก็ไม่เห็นจะมีแปลงนา จึงแคลงใจอยู่ว่างาน “วิ่งควาย” ในปีนี้ (พ.ศ. 2555) จะบันลือโลกอย่างชื่องานได้อย่างไร

โดย...กาญจน์ อายุ

วิ่งรถในเมืองชลบุรีแลซ้ายแลขวากี่ทีก็ไม่เห็นจะมีแปลงนา จึงแคลงใจอยู่ว่างาน “วิ่งควาย” ในปีนี้ (พ.ศ. 2555) จะบันลือโลกอย่างชื่องานได้อย่างไร

เมื่อวันที่ 26 ต.ค.-1 พ.ย. 2555 ทางกระทรวงวัฒนธรรม เทศบาลเมืองชลบุรี และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้จัดงานประเพณีวิ่งควาย จ.ชลบุรี “141 ปี กระบือไทย บันลือโลก” ซึ่งไฮไลต์เด็ด คือ วันที่ 29 ต.ค. ที่มีการแข่งขันวิ่งควาย ทำให้วันนั้นเป็นวันชุมนุมควายจากทั่วชลบุรี

ตอนแรกก่อนเข้างานสงสัยอยู่ว่าจะมีควายจากไหนมาแข่ง เพราะไม่เห็นมีแปลงนาสักผืน แต่เมื่อเดินเข้ามาในงานแล้วมันยิ่งแคลงใจเข้าไปใหญ่ เพราะควายเป็น “ร้อยๆ” ตัวยืนเคี้ยวเอื้องอยู่ในคอก แต่ละตัวมีขนาดใหญ่ คอหนา ตัวเขื่อง กีบเท้าสูงกว่าพื้นหลายนิ้ว ประมาณการได้เลยว่า ถ้ามันสะบัดเท้าถีบกระดูกซี่โครงต้องหักแน่นอน แต่กระบือไทยไม่ใจร้ายแบบนั้น พวกมันไม่มีทีท่าหงุดหงิดแม้อากาศจะร้อนมาก เอาแต่ยืนเคี้ยวเอื้องไปเรื่อย อุจจาระไปเรื่อย และเหล่สาวคอกข้างๆ ไปเรื่อย เพื่อรอเวลาลงสนามประลอง

วิ่งทุย

 

ควายที่ใช้วิ่งจะเป็นควายเพศผู้ โดยจะแบ่งการแข่งขันเป็นรุ่น ตั้งแต่รุ่นใหญ่ไปจนถึงรุ่นซูเปอร์จิ๋ว ซึ่งรุ่นที่น่าจะมันส์ที่สุดก็คือ รุ่นใหญ่ที่ถ่ายฟันมากกว่า 2 คู่ (อายุของควายจะแบ่งตามการหลุดของฟัน) เพราะพวกมันเคยมีประสบการณ์วิ่งมาแล้ว จึงรู้งานว่าเมื่อออกจากจุดสตาร์ตต้องตั้งหน้าตั้งตาวิ่งอย่างเดียว ถึงแม้ว่าบางตัวจะหนักเป็นพันกิโลและมีขาที่ไม่ยาวนัก แต่พวกมันทำความเร็วได้ดีถึงขนาดสามารถชนะนักวิ่งทีมชาติไทยได้แบบง่ายๆ

สิ่งที่น่ารู้ในงานวิ่งควาย คือ ตรงเส้นชัยจะมีควายเพศเมียยืนอยู่ เพื่อใช้เป็นตัวเบรกควายเพศผู้ที่วิ่งมาด้วยความเร็วสูง และคนที่บังคับควายเรียกว่า จ๊อกกี้ เขาจะนั่งอยู่บนบั้นท้ายควายและตีไม้เรียวลงบนผิวควาย เพื่อให้เกิดเสียงให้ควายตกใจแล้ววิ่งได้เร็วขึ้น ทั้งนี้การฟาดไม้ลงผิวหนังไม่ได้เป็นการทรมานสัตว์ เพราะผิวหนังควายหนาพอรับแรงไม้

วิ่งทุย

 

นอกจากงานนี้จะเป็นงานรวมควายแล้ว คนที่เล่นควายเป็นจะมองว่างานนี้เป็นแหล่งขุมทรัพย์มหาศาล เพราะควายตัวหนึ่งมีค่าตัวเป็นหมื่นถึงแสน ลบชุดความคิดว่าเกษตรกรต้องยากจนออกไปได้เลย เพราะถ้าเกษตรกรคิดที่จะขายควายแล้ว เขาจะรวยกว่ามนุษย์เงินเดือน แต่ส่วนใหญ่พวกเขาเลือกที่จะไม่ขายกัน เพราะเกษตรกรชลบุรีใช้ควายทำไร่อ้อย ไร่มัน และอนุรักษ์ไว้เพื่อประเพณีนี้โดยเฉพาะ

ประเพณีวิ่งควายปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 141 นับว่าเป็นประเพณีที่แสนยาวนาน ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปีในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 หรือก่อนวันออกพรรษาหนึ่งวันนั่นเอง ใครอยากใจเต้นรัวไปกับเสียงกีบกระทบพื้น สามารถมาเร้าใจกันได้ในปีหน้าที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองชลบุรี วันก่อนออกพรรษาหนึ่งวัน ที่เก่าเวลาเดิม